บันทึกจากสนาม: เส้นทางโรฮิงญา ตอนที่ 1 การเข้ามาในเมืองไทย

ภูมิหลังเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาในพม่า

          ชาวโรฮิงญาเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่และมีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของรัฐอาระกัน หรือยะไข่ของพม่าซึ่งเป็นเขตแดนติดกับบังคลาเทศ  “โรฮิงญา” มาจากชื่อ "Rohang" หรือ "Rohan" ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่มีภาษาเป็นของตนเอง ในช่วงศตวรรษที่ 9 – 10 อาณาบริเวณนี้ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ “ยะไข่” เป็นชนชาติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮินดูและชาวมองโกลด้วย นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ชาวโรฮิงญาได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายการแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษ และได้พยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ค.ศ. 1947 ได้ก่อตั้งกองกำลังต่อสู้ด้วยอาวุธพร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากจีนและปากีสถาน ทำให้ชนกลุ่มนี้ไม่เป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลพม่ามาตราบเท่าทุกวันนี้

          หลังรัฐประหารใน ค.ศ. 1962 รัฐบาลพม่าได้ออกมาตรการจำกัดเสรีภาพของโรฮิงญาและมีความพยายามที่จะขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากประเทศ ด้วยวิธีการต่างๆ และไม่ยอมรับสถานภาพความเป็นพลเมืองของชนชาติโรฮิงญา ใน ค.ศ. 1970 ได้ออกพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉุกเฉินโดยกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องมีใบรับรองการลงทะเบียนแห่งชาติ (NRCs) แต่ชาวโรฮิงญาจะได้รับเฉพาะบัตรลงทะเบียนในต่างประเทศ (FRCs) ทำให้นายจ้างและหน่วยงานท้องถิ่นไม่ยอมรับ สถานภาพของชาวโรฮิงญาในฐานะพลเมืองพม่า ในค.ศ. 1977 – 1978 ชาวโรฮิงญามากกว่า 200,000 คนหลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลพม่าเข้าไปในบังคลาเทศ แต่ต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากในค่ายอพยพที่ค็อกบาซาร์ ในที่สุดผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดได้หวนกลับคืนถิ่นเดิม

การอพยพครั้งใหญ่  ค.ศ. 1991 – 1992

          เมื่อรัฐบาลทหาร (SLORC) ยึดอำนาจใน ค.ศ. 1988 นโยบายของพม่าที่มีต่อ ชาวโรฮิงญาแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆเลย ตัวอย่างเช่น ภายใต้จากบทบัญญัติกฎหมายสัญชาติ ค.ศ. 1982 ผู้เป็นพลเมืองพม่าจะต้องสืบสาวความเป็นพม่าจากบรรพบุรุษพม่าตั้งแต่ ค.ศ.1823 ลงมา จึงจะได้รับการพิจารณาสถานะพลเมือง ดังนั้นชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นพลเมืองและถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน  รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาและเสรีภาพอื่นๆ

          ค.ศ. 1991-1992 ชาวโรฮิงญาถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ถูกฆ่า ข่มขืน และทรมานโดยทหาร ถูกบังคับให้ทำงาน  เช่นไพร่ส่วยอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงหลบหนีเข้าไปลี้ภัยในค่ายค็อกบาซาร์ บังคลาเทศถึง 260,000 คน

วันที่ 28 เมษายน 1992 รัฐบาลพม่าและบังคลาเทศลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมทวิภาคีที่จะยอมรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่สามารถสร้าง "ที่อยู่อาศัยโดยสุจริต" ในพม่าและที่ส่งกลับโดยสมัครใจอย่างปลอดภัย และในปี 1993 บังคลาเทศและพม่าร่วมกับ UNHCR ได้ลงนามข้อตกลงในการส่งกลับผู้ลี้ภัยกว่า 50,000 คน 

          ช่วงเวลา ปี 1992 – 1993 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัย (UNHCR) ถอนตัวออกจากทุกค่ายเพื่อประท้วงการส่งกลับดังกล่าว การส่งกลับถูกกำหนดให้สิ้นสุดในเดือนธันวาคมปี 1995  แต่ภัยธรรมชาติ และความไม่สงบทางการเมืองในพม่าทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่เต็มใจที่จะกลับบ้าน ได้ชะลอกระบวนการพิจารณาส่งกลับผู้ลี้ภัย จำนวน 35,000 คนยังคงอยู่ในค่ายอพยพ  และสถานการณ์โดยรวมในรัฐอาระกัน ไม่ดีขึ้น ชนกลุ่มน้อยยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและภัยประหัตประหารจากเจ้าหน้าที่รัฐ  เนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติและไม่ยอมรับความเป็นพลเมือง จึงไม่ได้รับสิทธิในการเดินทาง รวมทั้งการเข้าถึงบริการของรัฐ ในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อย ชายโรฮิงญาเสี่ยงต่อการจับกุม การฆ่า การบังคับใช้แรงงาน  ถูกขูดรีดภาษีอากร ในปี 1999  ชาวมุสลิมพม่ามากกว่า  20,000 คน ได้เข้าพักพิงลี้ภัยในบังคลาเทศและมีผู้ลี้ภัยใหม่ทุกวัน การปราบปราม การบังคับใช้แรงงานและการจับกุมโดยพลการอย่างรุนแรงทำให้มุสลิมพม่าเกือบล้านคนได้กลายเป็น “คนพลัดถิ่นภายในประเทศ”

การเข้ามาเมืองไทยของชาวโรฮิงญา

                 การจากสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย พบว่ามีการเข้ามาตั้งแต่ 30 ปีก่อน เช่น นายกาลัม กับเพื่อนรวม 3 คนหนีการเกณฑ์แรงงานแบบไพร่ส่วยของทางการพม่า ได้เดินเท้าเก็บผลไม้ป่าแทนอาหารใช้เวลาหลายเดือนจนมาถึงเมืองเมียวดี ก็ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเมยขึ้นฝั่งแม่สอด

             ในช่วงเวลาต่อมา กลุ่มชายฉกรรจ์โรฮิงญาจะเตรียมเรือพร้อมเสบียงอาหารน้ำและน้ำมันจำนวนหนึ่งเพื่อผ่านทางน่านน้ำอันดามันไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า การมีชีวิตที่แร้นแค้นในบ้านเกิด โดยมาเป็นแรงงานรับจ้างในสวนยางพารา

การเข้ามาเมืองไทยของชาวโรฮิงญาจะอยู่ในช่วงหลังคลื่นลมมรสุมสงบลง ระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มโรฮิงญาเหล่านี้จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะในปีนี้กลุ่มโรฮิงญา ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน เตรียมที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อขึ้นฝั่งที่ จ.ระนอง และนับว่าเป็นครั้งแรกที่การอพยพผ่านเข้ามาในคราวนี้มีเด็กอ่อน ทารก เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีและผู้หญิง(รวมทั้งหญิงมีครรภ์แก่)ติดสอยห้อยตามมาเป็นจำนวนมากด้วย เนื่องจากในปี 2555 ที่ผ่านมา ในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ชาวโรฮิงญามีปัญหากระทบกระทั่งกับชาวยะไข่ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ และนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในลักษณะการกีดกันทางชนชาติ มีการเข่นฆ่า ทำร้ายและเผาผลาญบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา  จนไม่อาจอยู่ในถิ่นเกิดได้อีกต่อไป ต้องหนีภัยลงเรือจากเมืองมองโด .เกาะซันดามา ,เมืองมีบุง,เมืองปกจู้,เมืองซักตู้,เมืองซิตตเหว่ ,เจาก์ตาว ว่า “ไปที่ใดก็ได้แล้วแต่พระผู้เป็นเจ้า” ดังข้อมูลจากปากคำของคนเหล่านี้ที่ได้เล่าให้เจ้าหน้าที่กสม.บันทึกไว้

ข้อมูลจากฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อเดือน ต.ค. 2555 ผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน ประกอบกับการที่รัฐบาลพม่าได้ควบคุมการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชุมชนชาวโรฮิงญา ทำให้มีชาวโรฮิงญาราว 104,000 คน ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องอาหาร ที่พัก และการดูแลสุขภาพ มีผู้อพยพภายในประเทศ (Internally displaced persons - IDP) 75,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 40 แห่งในเมืองซิตตเหว่ และเจาก์ตาว

สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวในประเทศไทย นั้น ปรากฏตามลำดับ ดังนี้

 

ปีที่เข้ามา

สถานการณ์การเข้ามาของชาวโรฮิงญา

2542

มกราคม 2542 มีกระแสข่าวผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่สื่อต่างชาติ และกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ต่อสายตาชาวโลก ว่า ทหารเรือไทยกระทำการผลักดันกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาอย่างทารุณกรรม โดยปล่อยทิ้งให้ลอยเรืออยู่กลางทะเล

2549

กองทัพเรือ ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ด้านฝั่งทะเลอันดามัน ได้ตรวจพบการหลบหนีเข้าเมือง และจับกุมชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก

จำนวนชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับชาวโรฮิงญาที่เข้ามาทั้งหมดเป็นผู้ชายและนับถือศาสนาอิสลาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยตั้งข้อสังเกตว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาอาจจะมีส่วนเกี่ยวพันกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

2550

กองทัพเรือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จับกุมชาวโรฮิงญาได้ 1,158 คน พร้อมเรือ 21 ลำ

การดำเนินนโยบายจับกุมและผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาออกนอกน่านน้ำ เป็นนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต

2551

ธันวาคม 2551 กองทัพเรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานของหมู่เกาะสุรินทร์ว่า พบกลุ่มชาวโรฮิงญา จำนวน 205 คน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนแยก 1 เป็นหน่วยอำนวยการหลักในการแก้ไขปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมายกลุ่มชาวโรฮิงญาด้านพื้นที่จังหวัดระนองและพังงา

2552

มกราคม  2552 กองทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตรวจพบผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญา จำนวน 78 คน ที่ปากน้ำระนอง รวมยอดคนต่างด้าวผิดกฎหมายกลุ่มชาวโรฮิงญาถูกกักตัว ณ อาคารควบคุม ผู้ต้องกักด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง เพื่อรอการกำหนดนโยบายส่งตัวกลับจำนวนทั้งสิ้น 86 คน

กุมภาพันธ์ 2552 ชาวโรฮิงญา ถูกกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ตัวแทนสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยได้เข้ามาตรวจสอบประวัติความเป็นมาและบันทึกถิ่นที่อยู่ สอบถามประวัติครอบครัว บิดา มารดา อาชีพ ได้พิมพ์ลายนิ้วมือของ ทุกคน และบันทึกเหตุการณ์ที่ชาวโรฮิงญาเดินทางโดยเรือ ชาวโรฮิงญาได้ตอบว่าเจ้าหน้าที่ทหารไทยทำร้ายพวกตนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

มีนาคม  2552 สถานเอกอัครราชทูตบังคลาเทศ มาพิสูจน์สัญชาติและจากการตรวจสอบสถานะบุคคลพบว่ามีชาวโรฮิงญาสัญชาติบังคลาเทศ จำนวน 29 คน ซึ่งได้ดำเนินการส่งกลับประเทศบังคลาเทศเรียบร้อยแล้ว คงเหลือผู้ต้องกักกลุ่มชาวโรฮิงญา  ณ  อาคารควบคุมผู้ต้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง จำนวน 57 คน

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน ของทุกปี ตรวจพบกลุ่มชาวโรฮิงญา ที่เดินทางมากับเรือจะมีแต่เพศชายในวัยฉกรรจ์เป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยพบว่ามีผู้หญิงหรือเด็กเล็กมากับเรือ จำนวนที่พบในแต่ละครั้งประมาณ 50 – 100 คน

ชาวโรฮิงญามีเป้าหมายเดินทางไปประเทศที่สามโดยใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย เพื่อหางานทำ

กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นชาวบังคลาเทศ จำนวน 29 คน ถูกส่งตัวไปกักตัว ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร

กลุ่มชาวโรฮิงญาอีกกลุ่มที่เหลืออีก จำนวน 49 คน ถูกควบคุมตัวไว้เพื่อรอการดำเนินการของรัฐบาลไทยซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลพม่า

 

มิถุนายน  2552 ชาวโรฮิงญาในกรุงเทพมหานครได้แจ้งข่าวว่า นายอับดุล ซาลัม อายุประมาณ 20 ปี ได้เสียชีวิตในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง

 

กรกฎาคม  2552 ชาวโรฮิงญาจึงได้ขอความช่วยเหลือต่อองค์กรสิทธิมนุษยชน จัดทำหนังสือขอให้รัฐบาลไทยระงับการส่งตัวกลับไปยังพม่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวโรฮิงญา

กันยายน  2552 ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง กลุ่มชาวโรฮิงญามักถูกตรวจพบพร้อมพาหนะเรือขนาดประมาณ 30 ฟุต โดยกองทัพเรือภาคที่ 3

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับคำร้องเรียนและลงตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายอับดุล ซาลัม อายุ20 ปี และนายฮามมะ ดูละ อายุ 15 ปี ได้เสียชีวิตในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง(รายละเอียดปรากฏตามรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 49/2554 ซึ่งพบว่าในที่สุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1  รายหลังจากถูกส่งตัวจากห้องกักตม.ระนองไปยังห้องกักตม.สวนพลู) จากการตรวจสอบของกสม.พบว่ามีผู้ต้องกักชาวโรฮิงญาอยู่ในห้องกักตม.สวนพลูถึง 78 คน ซึ่งถูกกักไว้นานเกือบ 2 ปี เพราะไม่อาจส่งกลับประเทศต้นทางได้ สร้างความเครียดแก่คนเหล่านี้เป็นอย่างมาก และตม.ก็เป็นภาระในการดูแลแตกต่างจากผู้ต้องกักที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายรายอื่นๆที่ถูกกักไว้ไม่เกิน 30 วันก็จะถูกส่งกลับคืนประเทศต้นทางได้

หลังจากกสม.ได้ประสานความช่วยเหลือในการประกันตัวชาวปากีสถานนิกายอมาดียะห์ได้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีนโยบายให้ปล่อยชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ โดยผลักกลับบริเวณชายแดนด้านตะวันตกและให้ถือว่าชาวโรฮิงญานั้นต้องการผ่านทางไปประเทศอื่น จึงควรช่วยเหลือให้อาหาร น้ำและน้ำมันตามหลักมนุษยธรรม

2554

โรฮิงญาทะลักเข้าไทยในช่วง พ.ย. 2554 - ก.พ.2555 แล้วกว่า  2,000คน พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบจากกลุ่มใหญ่ เป็นทะลักในรูปแบบกลุ่มย่อย

2555

กลุ่มผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาในช่วงตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2554 ถึง 2555 พบมีการดำเนินการแล้วรวม 28 ครั้ง มีชาวโรฮิงญาที่หน่วยงานเข้าควบคุมและสกัดกั้นพร้อมผลักดันออกนอกเขตอาณาจักรไทยรวม 2,177 คน

2556

ณ วันที่ 25 มกราคม  2556 จำนวน 1,390  คน โดยแยกรายละเอียดสถานที่ควบคุมตัวชาย-หญิง-เด็ก ปรากฏตามตารางที่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสรุปไว้ โดยกักตัวชาวโรฮิงญาในห้องควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ปาดังเบซาร์ พังงา ระนอง บ้านแรกรับของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และที่สถานีตำรวจต่างๆในพื้นที่ จ.สงขลาเพื่อรอนโยบายจากรัฐบาลไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับชาวโรฮิงญาเหล่านี้

ณ วันที่ 28 มกราคม 2556 จำนวน 1,486 คน ตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตม.ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯที่ห้องประชุม 709 และเจ้าหน้าที่สมช.แจ้งว่า ต้องกักตัวไว้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรอนโยบายของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกเหนือจากความผิดฐานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองพ.ศ.2522

31 มกราคม 2556 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการควบคุมชาวโรฮิงญาไว้ชั่วคราว โดยกักตัวไว้ไม่เกิน 6 เดือนว่า ไม่ถือเป็นการยกระดับ แต่เป็นการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลชั่วคราว ซึ่งหากเกิน 6 เดือนต้องให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) รับไปดูแล ไทยยังยืนยันจะไม่มีการตั้งศูนย์อพยพ ส่วนที่ชาวโรฮิงญาอพยพเข้าไทย เพื่อหลบหนีเข้าประเทศมาเลเซียนั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของยูเอ็นเอสซีอาร์และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ สมช.ได้ประสานไปแล้วทางหนึ่ง ทางยูเอ็นเอสซีอาร์ก็ต้องช่วยประสานมาเลเซียอีกทางหนึ่งด้วย เพราะถือเป็นประเทศที่ 3 ส่วนการอพยพเข้าไทยมากขึ้น ก็ต้องควบคุมให้มีการรวมตัวกันเป็นจุดๆ ไม่ให้มีการกระจัดกระจายเพื่อความเรียบร้อย ทั้งนี้ สำหรับจำนวนชาวโรฮิงญาล่าสุดที่เข้ามาในไทยมีจำนวน 1,400คน เราช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม คือ ให้น้ำ ให้อาหาร แล้วผลักดันออกนอกประเทศ

ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาว่า ขณะนี้มีผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาที่สามารถขึ้นฝั่งได้ และถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบและจับกุมจำนวน 1,752คน แบ่งเป็นชาย จำนวน 1,442 คน หญิงและเด็ก จำนวน 310คน โดยทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522โดยจัดระเบียบให้ผู้ต้องหาชายอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลาและจังหวัดใกล้เคียง สถานีตำรวจในพื้นที่ จ.สงขลา ส่วนผู้หญิงและเด็กอยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.สงขลา ทั้งนี้ได้กระจายอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่สถานที่ในสังกัด สตม. จำนวน 1,177คน สถานที่นอกสังกัด สตม.จำนวน 265 คน พื้นที่พักเด็กฯ (ผู้หญิงและเด็ก) จำนวน 310 คน

 

ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ยอดผู้ต้องกักชาวโรฮิงญาทั้งหมดมีจำนวน 1,759 คนตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตม.ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สงขลา

การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 กลุ่มคณาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม และนิสิตนักศึกษา เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาสารคามร่วมกันลงนามเรียกร้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา

โดยข้อเรียกร้องมี 3 ข้อ คือ

          ประการแรก   ขอเรียกร้องให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของรัฐสภา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั้งของไทยและสากล เข้ามีบทบาทในการเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาโดยเร่งด่วน โดยกดดันให้รัฐบาลไทยยุตินโยบายและปฏิบัติการที่เป็นการผลักดันชาวโรฮิงญากลับพม่า  เพราะชาวโรฮิงญาแตกต่างจากผู้อพยพหรือแรงงานข้ามชาติกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาเป็นคนไร้รัฐ การผลักดันพวกเขาออกนอกประเทศกลับไปยังพม่าจะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และหากพวกเขาหลบหนีออกมาอีกครั้งก็จะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียชีวิตระหว่างหลบหนีหรือไม่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์อีก

สำหรับนโยบายในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา รัฐไทยต้องให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการของรัฐไทยต่อชาวโรฮิงญาเป็นกรณีเฉพาะ

          ประการที่สอง ขอเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเข้ามีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า โดยกดดันให้รัฐบาลพม่าและชาวพม่ากลุ่มอื่น ยุติการปราบปรามเข่นฆ่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆต่อชาวโรฮิงญาโดยทันที และให้การช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั้งที่ยังอยู่ในประเทศพม่าและที่หลบหนีออกมา รวมทั้งที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยเร่งด่วน หากประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเพิกเฉยต่อชาวโรฮิงญา  ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่าประชาคมอาเซียนเป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวโดยไม่ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาคมอาเซียนเอง

          ประการที่สาม ขอให้สังคมไทยร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลไทยดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 อย่างจริงจัง รวมทั้งทำการรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยโดยเร่งด่วน สำหรับกรณีของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่ภาคใต้ใน ขณะนี้ ขอให้สังคมไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พวกเขาโดยเร่งด่วน โดยไม่มีอคติทางศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ถือว่าชาวโรฮิงญา คือเพื่อนร่วมโลกของเรา ภายหลังจากมีการเผยแพร่และรณรงค์ผ่านเฟซบุ๊ก มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า  25,000 คนภายในวันเดียว

ท่าทีของรัฐบาลไทยและนักวิชาการต่อปัญหาการจับกุมชาวโรฮิงญา ปรากฏตามรายงานของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2556 หน้า 10 ว่า

                   เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 นายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” กรณีชาวโรฮิงญาอพยพหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ต้องตีความแบบนั้น และทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมายไทย แต่การดูแลเบื้องต้นตกลงกันได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้งบประมาณให้การสนับสนุนไปก่อนในระยะสั้น ส่วนระยะยาวต้องมีการพูดคุยกันกับองค์กรระหว่างประเทศด้วยว่าจะเข้ามามีบทบาทได้มากน้อยเพียงใด และจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างที่จะต้องพิสูจน์หรือแยกกลุ่มออกมาด้วยว่ากลุ่มนั้นจะมีโทษหรือไม่ หรือเป้นกลุ่มที่มีภัยต่อประเทศหรือไม่ โดยต้องทำทุกอย่างตามขั้นตอน ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยสั่งให้ทุกหน่วยงานดูแลให้ความสะดวก ให้การรักษาพยาบาลโดยยึดหลักมนุษยธรรม การจะผลักดันผู้ตกยากลำบากออกไปทันทีเลยคงไม่ใช่สิ่งที่ต้องการทำ ส่วนการจะให้สถานที่พักพิงนั้น คงต้องพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร อย่างองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และกาชาดสากล (ICRC) นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรยูนิเซฟ

                   นายสุรพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องชาวโรฮิงญานี้อาจจะเกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยถูกกล่าวหาจากสังคมโลกจนอาจจะต้องตกระดับ ที่ทางสหรัฐอเมริกาออกมาระบุว่าอยู่ในระดับ 2 ต้องเฝ้าระวัง หรือระดับ 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้ง สิ่งทอ หรืออื่นๆ ไปยังประเทศยุโรปหรืออเมริกา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ดังนั้น จึงต้องมีการแยกแยะเรื่องนี้ออกมา โดยตนได้เรียนกับผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ว่าเรื่องขบวนการค้ามนุษย์จะต้องปราบให้หมด และกรณีที่มีชาวโรฮิงญากลุ่มนี้หลบหนีเข้ามานั้นปรากฏว่ามีคนให้สถานที่พักพิง หรือตามที่เขาให้ข่าวว่ามีการใช้รถขนอำนวยความสะดวกต่างๆ เหล่านี้อาจจะเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ เพราะไปเรียกเงินจากพวกเขา และนำไปกักขังไว้ ดังนั้นต้องดูเรื่องเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องการค้ามนุษย์นั้น ประเทศไทยได้ยื่นรายงานแผนการต่างๆ ที่จะดำเนินการปราบปราม ซึ่งทางอเมริกาก็ยินดีที่จะช่วยไม่ให้ปรับระดับ ให้อยู่ที่ระดับ 2 เฝ้าระวัง เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

                   รศ.ดร.ปณิธาน  วัฒนายากร อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิของไทยประจำอาเซียน กล่าวว่า มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่า ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้ามาเชื่อมโยงกับขบวนการค้าแรงงานและการค้ามนุษย์ ซึ่งในทางกฎหมายต้องจับกุม โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องเร่งปราบปรามการค้ามนุษย์ และสกัดกั้นไม่ให้ชาวโรฮิงญาลักลอบเข้ามาอีก เนื่องจากยังมีแนวโน้มที่ชาวโรฮิงญายังคงทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากปัญหาการสู้รบในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า แม้ว่าปลายทางจะลั้ยไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ก็ต้องฝานไทย แต่ไทยไม่มีสถานภาพที่จะรับชาวโรฮิงญาในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ เพราะไม่ได้เป็นภาคีของสหประชาชาติในเรื่องผู้ลี้ภัย เพียงแต่ยึดหลักมนุษยธรรมการช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น ที่สำคัญไทยจะต้องยืนยันให้ชัดเจนว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและอยู่ในสถานภาพที่ต้องส่งกลับ

                   รศ.ดร.ปณิธานฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาขณะนี้คือการส่งกลับ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและศาสนา หากส่งกลับไปแล้วชาวโรฮิงญาได้รับอันตรายก็จะถูกมองในแง่ลบ และถูกต่อต้านจากองค์กรต่างๆ และในทางตรงกันข้ามหากไทยไม่สามารถผลักดันไปอยู่ในประเทศที่ 3 ได้ และไม่สามารถสกัดกั้นกลุ่มใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้ เพราะทราบว่าได้รับการดูแลจากไทยเป็นอย่างดี ชาวโรฮิงญาก็จะยิ่งลักลอบเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลก็ยืนยันแล้วว่าจะปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็ต้องส่งกลับ ดังนั้น ทางออกคือไทยจะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นตอของปัญหาโดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่า ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการประสานงานผ่านอาเซียน และมีการประชุมกันที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงจะต้องคุยกับอินเดียและบังกลาเทศด้วย เพื่อให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา แต่ขณะนี้จะต้องสกัดกั้นไม่ให้มีกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก

                   ด้านนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือต้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้โดยฝ่ายเดียว และไม่สามารถใช้เวทีเพื่อเจรจาทีละฝ่าย สองฝ่ายได้ เพราะเป็นปัญหาทั้งภูมิภาคสมควรจะหาเวทีที่มีประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางมาพูดคุยกัน โดยภาระจะตกเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ แม้ว่าประเทศไทยพร้อมจะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของประชาคมโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกกดดันจนไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย หรือไม่มีทางเลือก หรือไม่ให้คนอื่นเข้ามาร่วมรับรู้ กระทรวงการต่างประเทศน่าจะจัดหรือหาเวทีให้ทุกฝ่ายยอมรับว่า ปัญหาชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข

                   ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยในอนาคตจะกลายเป็นศูนย์ถาวรและมีผู้หลบหนีเข้าเมืองมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ฯ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องรีบเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามารับทราบว่า จะมาคาดหวังว่าประเทศไทยจะรับภาระในทุกเรื่องไม่ได้

                   วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์  อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป. กล่าวถึงการช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้รัฐบาลแบ่งเป็น 3 ระยะ คือต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ และต้องทำไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้ครบจะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรม และชาวโรฮิงญาเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ โดยระยะที่ 1. ต้นทาง คือชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองจากประเทศพม่า และประเทศบังกลาเทศ ทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ จึงอยากให้รัฐบาลไทย เจรจากับทั้ง 2 ประเทศให้ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง เพื่อลดปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานและลดปัญหาให้กับประเทศไทย และประสานความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อช่วยเจรจาต่อรองกับทั้ง 2 ประเทศ

                   นายชวนนท์ฯ กล่าวต่อว่า ระยะที่ 2. เป็นส่วนกลางทาง เมื่อชาวโรฮิงญาลักลอบเข้ามาในประเทศไทยควรต้องมีระบบจัดการที่ดี เช่น การช่วยเหลือให้ชาวโรฮิงญามีงานทำ โดยลงทะเบียนกลุ่มแรงงานและหางานที่ประเทศไทยไม่มีคนทำงาน เช่น แรงงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือแต่ต้องจัดโซนนิ่งให้ชาวโรฮิงญาอยู่ในพื้นที่เฉพาะ นอกจากนี้ด่านตรวจคนเข้าเมืองต้องมีความเข้มงวดให้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดเสี่ยง และระยะที่ 3. รัฐบาลควรประสานขอความร่วมมือกับสหประชาชาติ และยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อหาประเทศที่ 3 ที่มีความพร้อมในการรับชาวโรฮิงญาเข้าไปอยู่ในประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการและควรทำอย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นชาวโรฮิงญาจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และจะไม่สามารถหาประเทศที่ 3 ให้เขาไปได้

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ ของสภาทนายความได้จัดงานเสวนา "โรฮิงญา หนีเสือปะจระเข้ : อนาคตและทางออกสำหรับประเทศไทย"เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556สรุปข้อคิดเห็น และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

1.รัฐบาลไทยควรประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสถานการณ์โรฮิงญา  รวมทั้งสถานทูตพม่า บังกลาเทศ และมาเลเซีย ให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องบทบาทและทิศทางการแก้ปัญหา  ทั้งควรจัดให้มีการประชุมในระดับภูมิภาคเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันด้วย 

2.รัฐบาลควรให้ UNHCR มีบทบาทในการคัดกรองชาวโรฮิงญาว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่  โดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับคนเชื้อชาติอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของประเทศไทย

3.รัฐบาลควรให้ UN และองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาอย่างเต็มรูปแบบ  โดยเฉพาะเรื่องสัญชาติของชาวโรฮิงญา  เพื่อการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้เพราะปัญหาสถานการณ์ชาวโรฮิงญามิได้มีเฉพาะในประเทศไทย  แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลายประเทศอีกด้วย

4.จัดหาประเทศที่ 3 เพื่อเป็นทางเลือกให้ชาวโรฮิงญากรณีที่พบว่าเป็นผู้ลี้ภัย

5.จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราวแก่ชาวโรฮิงญา  โดยไม่ให้ใช้ตม. เพราะพวกเขาไม่ใช่คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย  แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่

6.รัฐบาลไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรแถลงนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ทั้งมิติการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน และปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งนี้เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2555 กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติดูแลรับผิดชอบปัญหาชาวโรฮิงญา แต่ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไร

7.รัฐบาลไทยควรดำเนินการปราบปรามขบวนการนำพาและขบวนการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด ทั้งนายหน้าคนไทย คนพม่า คนบังคลาเทศ และเจ้าหน้าที่ไทยที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

8.จัดหาและฝึกอบรมล่ามแปลภาษาให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันความเสี่ยงจากการแทรกแซงของขบวนการค้ามนุษย์ต่อผู้เสียหาย

9.ให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรฮิงญาด้วย

10.มีระบบการส่งกลับชาวโรฮิงญาที่มีการติดตามผลด้วย

11.ให้รัฐบาลกำชับและตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายในเรื่องการผลักดันอย่างจริงจัง

12.รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำข้อมูลเรื่องสถานการณ์ชาวโรฮิงญาในประเทศไทยมาใช้ในการแก้ปัญหา

คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร จัดประชุมเรื่องโรฮิงญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 โดยเชิญสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าชี้แจง การซักถามจะมุ่งพยายามเชื่อมโยงปัญหาความมั่นคงกับการที่ชาวโรฮิงญาเข้าไปเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ชี้แจงว่า ชาวโรฮิงญาไม่ได้ถูกบังคับแต่สมัครใจเข้ามาในเมืองไทย จึงไม่เข้าองค์ประกอบฐานความผิดการค้ามนุษย์ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ชี้แจงในมิติหลักสิทธิมนุษยชนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 จึงนิยามคนกลุ่มนี้เป็น “ผู้หลบหนีเข้าเมือง” ไม่ใช่ผู้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ และไม่ใช่ผู้หนีภัยประหัตประหารตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 เพราะประเทศไทยไม่ได้ให้การรับรองอนุสัญญาฉบับนี้  ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้จะถูกกักไว้อย่างน้อย 6 เดือน  เพราะไม่สามารถปล่อยกลับประเทศต้นทางได้เหมือนคนหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติลาว กัมพูชาและพม่าโดยทั่วไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในห้องกักด่านตม.สะเดา ปาดังเบซาร์ บ้านพักเด็กสงขลา ห้องกักด่านตม.กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บ้านพักเด็กประจวบคีรีขันธ์  ห้องกักด่านตม.ระนอง ห้องกักด่านตม.พังงา และบ้านพักเด็กสตูล และได้นำข้อเท็จจริงขึ้นมาหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เมื่อวันที่28 มกราคม 2556 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 (รายละเอียดรายงานสถานการณ์ความจริงที่โหดร้ายของทหารนาซาการ์ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐอาระกัน   มิตรภาพจากทหารคะฉิ่น และชาวประมงไทยระหว่างการล่องเรือ   ความทารุณจากนายหน้าค้ามนุษย์ในแผ่นดินไทยและประเด็นข้อค้นพบจากผู้อพยพชาวโรฮิงญาทั้งชาย หญิงและเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 8 – 18 ปี  จะนำเสนอในตอนต่อไป “หลักมนุษยธรรมกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อ ชาวโรฮิงญาของคนไทย” )

 

หมายเหตุผู้เขียน  : เกศริน  เตียวสกุล เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้ทำหน้าที่เลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระเป็นประธาน  ผู้เขียนได้สนใจศึกษาปัญหาของชาวโรฮิงญาตั้งแต่ ปี 2552 เมื่อครั้งตรวจสอบคำร้องเรียน กรณีมีผู้เสียชีวิต 2 รายในห้องกักตม.ระนอง  จนขณะนี้ได้ลงไปสัมภาษณ์ผู้อพยพกลุ่มนี้ตามห้องกักตม.และบ้านพักเด็กและผู้หญิงต่างๆ และกำลังทยอยเรียบเรียงข้อมูลรวมทั้งแปลเอกสารที่คนเหล่านี้เขียนเล่าเหตุการณ์ด้วยภาษาพม่าไว้

 

12 กุมภาพันธ์ 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท