Skip to main content
sharethis

สำนักงานป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งครบรอบการก่อตั้งเป็นปีที่ 14เมื่อเดือนพฤศจิกายน  2555 จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ป.ป.ช. มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 3 ชุด คือชุดปี ปี 2542-2546, กรรมการชุดปี 2547-2549สิ้นสุดวาระก่อนกำหนด จากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้ง 9 แล้ว โทษจำคุกศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ฐานกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง

ชุดปัจจุบันเป็นป.ป.ช. ชุดที่ 3 กำลังจะครบวาวระในปี 2558 (ได้รับการแต่งตั้งปี 2549 และดำรงตั้งแหน่งเป็นเวลา 9 ปี ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542)

ป.ป.ช. ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้นไม่ใช่องค์กรใหม่ แต่เป็นองค์กรที่สืบเนื่องจาก ป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) เป็นองค์กรที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาจากองค์กรเดิม ซึ่งก่อนหน้านั้น ป.ป.ป.ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบนักการเมือง แต่ตรวจสอบเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่ได้ใช้ระบบไต่สวนอย่างปัจจุบัน  พร้อมทั้งมีประเด็นเรื่องความเป็นอิสระ เนื่องจากต้องขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีและมีหน้าที่เพียงทำข้อเสนอแนะเท่านั้น ป.ป.ป. จึงเป็นเพียงเสือกระดาษ

แนวคิดการปรับ องค์กรตรวจสอบอย่าง ป.ป.ป.มาสู่ ป.ป.ช. เกิดขึ้นในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีข้อเสนอใหม่ว่าให้เป็นองค์กรอิสระเหมือนกับการจัดตั้งองค์กรใหม่องค์กรอื่นๆ อย่าง กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการรัฐสภา

อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เขาบอกว่า ปัญหาคือแม้แต่การทำงานในลักษณะองค์กรอิสระ ก็ยังมีการแทรกแซงในการแต่งตั้งกรรมการ

“การเมืองเป็นผู้ที่พิจารณาว่าจะเลือกใคร มีพรรคการเมืองมามีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งให้มีอธิการบดีมาจากสถาบันการศึกษา ความจริงก็เป็นเรื่องดีที่เขาออกแบบเอาไว้ แต่จากการตรวจสอบของวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 พบว่า การทุจริตอันหนึ่งคือการแทรกแซงองค์กรอิสระในการแต่งตั้ง ซึ่งผู้มีอิทธิพลทางการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ต้องดูรายงานของวุฒิสภา ซึ่งเรื่องนี้เป็นหัวข้อสำคัญอันหนึ่ง”

สิ่งที่ท้าทายองค์การอิสระทีทำหน้าที่ตรวจสอบธรรมาภิบาลกลไกภาครัฐ ขณะเดียวกัน องค์กรอิสระในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ ถูกจับตาในฐานะที่ถูกแทรกแซงจากกรเมืองและเป็นเครื่องมือทางการเมืองในหลายครั้งหลายครา

นอกจากจะปรับเรื่องการทำงานให้ประสานกับประชาชนมากขึ้น ก็มีการตั้งปปช. ประจำจังหวัด หรือที่เรียกว่า ปปจ. ไปแล้ว 32 จังหวัด ซึ่งก็อาจถูกตั้งคำถามได้เช่นกันว่า จะมีกลไกอะไรตรวจสอบ ปปจ.  หาก มีความใกล้ชิดกับผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบในท้องถิ่น

นอกเหนือไปจากคำถามที่ว่า ปปช. จัดการรับมือกับคำร้องที่มีอยู่นับหมื่นคดีสะสมมาถึงปีนี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ คำถามสำคัญที่จะละเลยไปเสียไม่ได้ก็คือ การเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของภาครัฐนั้น พร้อมจะถูกตรวจสอบและตรวจสอบกันเองอย่างไร

000

วิชา มหาคุณ ภาพจาก วิกิพีเดีย

 

นอกเหนือจากเรื่องการแทรกแซงในการแต่งตั้ง ก็น่าจะมีการแทรกแซงการทำงานเช่นกัน

เห็นชัดเจนว่า มีความกดดันค่อนข้างรุนแรงมาก การกดดันที่รุนแรงที่สุดที่เราเผชิญอยู่ตอนนั้นคือ เขาหวาดระแวงว่าเราจะไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยหรือไม่ คล้ายๆ ว่ามันเป็นองค์กรทางการเมือง ป.ป.ช. ได้รับอำนาจค่อนข้างเต็ม ค่อนข้างมาก ผมก็รู้ตัวดีว่า อำนาจมากทำให้นักการเมืองกลัว เช่น การเป็นผู้ไต่สวนฝ่ายการเมือง ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นผู้ที่ถอดนักการเมืองได้โดยตรง เรื่องการไต่สวนก็ต้องเสนอไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้รับลูกต่อ แต่พอเราชี้มูล ผลสะเทือนในทางการเมืองมันเห็นชัดเจน เพราะเดิมไม่มีองค์กรใดกล้าแตะ มีแต่ศาลโดยตรง จากตำรวจก็ไปที่ศาล จากคดีที่เคยทำกันในอดีตก็คือ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พล.อ.สุรจิต จารุเศรนี ศาลฎีกาโดยท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นองค์คณะร่วมด้วย วินิจฉัยว่ามีความผิดต้องจำคุกเลย แต่พอมาถึงตอนนี้คล้ายกับว่าอำนาจเปลี่ยนผ่านจากตำรวจมาเป็นของ ป.ป.ช. เขาก็แทรกแซงค่อนข้างลำบากในแง่การไต่สวน

ใครเข้ามานั่งใน ป.ป.ช.แล้วก็เป็นอิสระ ใครจะฟ้องร้อง ใครจะดำเนินอะไรมันต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการในการไต่สวน กรรมการองค์กรอิสระต้องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้ดำเนินการแล้วถอดถอนต้องไปที่วุฒิสภา มีสองช่องทางนี้ เราจะเห็นได้ว่า ทาง ส.ส. รวบรวมรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 1 ใน 5 เพื่อดำเนินการเอาผิดทางอาญากับทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุด ถึง 2 ครั้ง ถ้าหากว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับเรื่องไว้ ตามกฎหมายแล้วกรรมการ ป.ป.ช. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เลย ถูก freeze ไว้เหมือนชุดที่แล้ว แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีความผิด แต่ให้รอลงอาญา ก็ถือว่าต้องพ้นตำแหน่งไปทั้งชุด เขาพยายามใช้ช่องนั้น แต่โชคดีว่าศาลฎีกาฯ ไม่รับการร้องทั้ง 2 กรณี ตอนนั้นถือได้ว่า อยู่บนเส้นด้าย ระหว่างอยู่หรือไป ช่วงนั้นก็มีแรงกดดันอย่างมหาศาล เพราะมีคดีที่ต้องให้เราวินิจฉัยหลายเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเขาพระวิหาร การสลายการชุมนุม 7 ตุลา ฯ และเรื่องอื่นๆ อีกเยอะเลย กระทบถึงนักการเมืองทั้งนั้น เรียกว่าเราชี้มูลความผิดระดับนายกรัฐมนตรีทั้งนั้น

ตลอดเวลา ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ทำจิตให้เป็นกลาง หวั่นไหวไปเรื่อยก็จะลำบาก มีบางท่านเหมือนกันบอกว่าดูโทรทัศน์ดูไม่ไหวเลย คล้ายๆ กับจะปลดเราเช้า ปลดเราเย็น ตอนนั้นเขาก็ควบคุมสื่อด้วย สื่อก็มีสองส่วน ส่วนหนึ่งก็อาจจะเชียร์แต่ไม่กล้าเชียร์ออกหน้าออกตา เพราะกลัวมวลชน

 

ประชาไท: การคุกคาม และผลกระทบจากการเมืองมีผลมากแค่ไหน

วิชา: เรื่องถูกคุกคามนี่ก็มีอยู่เป็นประจำ โทรศัพท์นี่มาจนผมต้องย้ายบ้าน ต้องไม่ให้เบอร์โทรศัพท์กับใครเลย ส่วนหนึ่งคือคนในบ้านอยู่ไม่เป็นสุข

การคุกคามนี้เป็นผลการเมืองหรือไม่ใช่การเมืองผมก็ไม่ทราบ แต่ไม่ได้ทำเรื่องอื่นนอกจากทำเรื่องพวกนี้ ในการทำงานที่เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือ การวิ่งเต้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา เขาไม่ได้วิ่งเต้นว่าจะเอาเงินมาให้หรืออะไร แต่ผ่านมาทางผู้เคารพนับถือบ้างอะไรบ้าง เป็นเรื่องปกติ เราก็ไม่ได้วิตกอะไร

ส่วนที่สำคัญอีกเรื่องคือ เรื่องการหาข้อมูล เพราะการทุจริตมันเกี่ยวกับผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล การจะแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่ตกค้างอยู่ตั้งนานแล้ว อย่างเรื่องคุณเสนาะ เทียนทอง คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เรื่องเกิดตั้งแต่ก่อนปี 2540 สนามกอล์ฟอัลไพน์ คนตายไปไม่รู้กี่คนแล้ว แม้แต่เจ้าอาวาสที่ยกที่ดินให้ก็เสียชีวิตแล้ว พยานก็เสียชีวิตไปเกือบหมด ผู้จัดการมรดกก็เสียชีวิต แล้วเราจะไปหาข้อมูลที่ไหน พอขอไปดูข้อมูลเก่าๆ ปรากฏว่าหายหมด นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานของ ป.ป.ช.

เราไม่สามารถจะชี้มูลหรือดำเนินการไต่สวนโดยจินตนาการเราได้ ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันตรายมาก ถ้าเราชี้มูลอะไรไปโดยไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักอย่างเพียงพอ ไปตายเอาดาบหน้าจะทำให้องค์กรนี้เสื่อมและพินาศ

 

ประชาไท: การคุ้มครองพยาน เป็นอำนาจที่เพิ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2550 มีส่วนช่วยในการทำงานไหม

วิชา: ก็เริ่มดีขึ้นในแง่ว่ารัฐธรรมนูญ 50 แล้วก็มาเขียนกฎหมาย ตัว พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในแง่ที่สามารถจะให้ความคุ้มครองพยานได้  แล้วก็มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ช่วง เดิมคดีเข้ามาเรารับทุกเรื่อง ต้องเป็นการไต่สวนหมด ซึ่งมันก็ทำให้เกิดความล่าช้า กระบวนการในขณะนี้คือ เราแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน เรายังไม่ได้รับเป็นเรื่องไต่สวน เรียกว่า pre-trial  เราสามารถลงพื้นที่ได้ โดยเฉพาะตอนนี้เพิ่ม ป.ป.ช.จังหวัดเข้าไป ฉะนั้น ป.ป.ช.ที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ก็จะได้รับมอบหมายให้แสวงหาข้อเท็จจริง แล้วเมื่อมีน้ำหนักเพียงพอที่จะไต่สวนได้เราถึงรับเป็นเรื่องไต่สวน มันทำให้งานเรามีการกลั่นกรอง ไม่อย่างนั้นเรื่องจะวิ่งเข้ามาที่นี่หมดแล้วเราก็ไม่มีทางขจัดออกไปได้ เพราะชาวบ้านเขาร้องเรียนมาเราบอกไม่รับ มีกระดาษแผ่นเดียว เป็นไปไม่ได้

 

ประชาไท: ป.ป.ช.มีครบทุกจังหวัดหรือยัง

วิชา: ตอนนี้มี 32 จังหวัด เดือนเมษายนนี่น่าจะครบทุกจังหวัด

 

ประชาไท: ตัวเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมามีความพร้อมแค่ไหน

วิชา: นี่คืออุปสรรคอันหนึ่งของการไต่สวน หรือแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะงานเราเพิ่มขึ้นแล้วเราต้องส่งไปคนไปต่างจังหวัด คนที่มีคุณภาพที่จะดำเนินการไต่สวนส่วนกลางก็ขาด ขาดอย่างมโหฬารเลย เพราะเราต้องส่งคนออกไปดำเนินการในพื้นที่ งานของพื้นที่ ของป.ป.ช.จังหวัดคือ 1.แสวงหาข้อเท็จจริง 2.งานป้องกัน  จัดสร้างเครือข่าย ให้การอบรมผู้คน สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้คนในส่วนภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็มี 3. งานตรวจสอบทรัพย์สินของข้าราชการส่วนภูมิภาคและนักการเมืองท้องถิ่น เราโอนงานอันนี้ให้ไป

ความจริงแล้วเราไม่ต้องการให้มี ป.ป.ช.จังหวัดเลยเพราะมันเสี่ยงเหมือนกันกับการถูกคุกคาม หรืออาจถูกแทรกแซง แต่ว่าเราจำเป็นต้องทำเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ก็จะพยายาม ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับงานไต่สวนโดยตรง อันนี้รัฐสภาก็เห็นชอบด้วย ให้เป็นงานสามด้านนี้ ถึงอย่างนั้น การที่เข้าถึงข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ทำให้เราต้องมีการตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดจะต้องมีการสรรหา ในช่วงเดือนเมษายน จะเริ่มชุดแรก 32 จังหวัด แล้วถัดไปก็อีก 44 จังหวัด เรายังไม่รู้ว่าจะเผชิญหน้ากับอะไรในการสรรหา รู้อยู่แล้วว่ามันมีหลายอย่าง เรื่องของการแทรกแซง การพยายามเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.จ.

 

ประชาไท: ถ้ามองในแง่ประสิทธิผล จากสถิติถึงปี 53 ป.ป.ช.มีคดี 7,000 กว่าคดี การกระจายออกไปน่าจะช่วยให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น

วิชา: อันนั้นคือสิ่งที่เราหวัง อย่างเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่ค้างอยู่ 30,000 กว่ารายการ ก็เห็นได้ชัดว่าเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันคนที่เราส่งไป ถ้าเขาต้านแรงของกรรมการที่เข้ามาดูแลไม่ไหว เพราะเป็นการกระจายอำนาจ เราไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้น แต่เราก็ต้องป้องกันหรือระวังไว้ก่อน พยายามให้มันราบรื่น คนที่เป็น ผอ.สำนักงานต้องเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดอยู่ได้ เพราะมีการเข้าถึงข้อมูลในระดับหนึ่ง คุณอาจได้รับการร้องเรียนให้ไปตรวจสอบเพราะมีเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ คนที่ร่ำรวยผิดปกติอาจเป็นญาติกับกรรมการ ป.ป.จ.ก็ได้ หรือเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เราพยายามให้ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้เขาวิตกกังวลเกินไป เราให้การอบรมพอสมควร ขณะนี้เรามีสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้การอบรม

 

ประชาไท: นอกเหนือจากอบรมแล้วมีเรื่องการตรวจสอบไหม

วิชา: มี มีการติดตามงาน มีหน่วยที่เรียกว่า ผู้ตรวจราชการของทางส่วนกลาง มีคณะกรรมการในการติดตามผลว่าทำงานเป็นอย่างไร ผอ.บางท่านหากทำงานไม่เข้าเป้า หรือทำงานไม่ดีเราก็โยกย้ายได้ เราไม่ได้ตั้งให้เป็น ผอ.เลย เราให้อยู่ในตำแหน่งรักษาการ เขาต้องตื่นตัวตลอดเวลา

 

ประชาไท: การอบรมโดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ มุ่งไปที่การอบรมเจ้าหน้าที่หรือมีกลุ่มเป้าหมายอื่นด้วย

วิชา: เรามีวิทยาลัย 4 แห่ง คือ วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นวิทยาลัยขั้นพื้นฐาน พัฒนาการป้องกันปราบปรามการทุจริต ในแง่การให้ความรู้กับข้าราชการใหม่ อบรมคนภายนอกหรือเครือข่าย เป็นเรื่องงทั่วไป 2.วิทยาลัยพัฒนาพนักงานไต่สวน เราเอาเจ้าหน้าที่ของเราอบรมเรื่องการไต่สวนโดยเฉพาะ ซึ่งจะรวมทั้งการตรวจสอบทรัพย์สินด้วย เพราะมันจะไม่เหมือนพนักงานสอบสวน การไต่สวน เราจะสอนว่าจะแสวงหาข้อเท็จจริงยังไง การลงไปพบกับพยานการให้ถ้อยคำจะฟังได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องทางเทคนิค 3.วิทยาลัยนักบริหาร ป.ป.ช. จะให้ความรู้กับนักบริหารของ ป.ป.ช.ทั้งระดับกลางและสูง และให้ความรู้กับคนภายนอกด้วย เรียกว่ายุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามการทุจริต ตอนนี้เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งจะมาจากหน่วยงานตรวจสอบและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานของ ป.ป.ช.ทั่วราชอาณาจักร รวมถึงเอกชนด้วย รุ่นละ 70 คน มาเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. การอบรมใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน สัปดาห์ละครั้ง โดยนำเคสที่มีอยู่แล้ว ที่เราไต่สวนและชี้มูลมาศึกษาว่าจะป้องกันได้อย่างไร และจะหาวิถีทางที่จะช่วยเหลือประชาชนที่เขาเดือดร้อนได้อย่างไร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในแง่ที่เราสามารถสร้างยุทธศาสตร์ป้องกันปราบปรามทุจริตขึ้นมาโดยส่งต่อให้หน่วยงานอื่นด้วย เช่น ก.ก.ต.  สตง. ส่งคนมา เราก็ให้เขากลับไปทำยุทธศาสตร์เรื่องนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือกัน เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เราเอาทั้ง 3 รุ่นมาสัมมนาสร้างเครือข่ายป้องกันปราบปรามทุจริต ทำให้เกิดเครือข่ายในแต่ละส่วน และตั้งชมรมนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามทุจริตให้เป็นที่ปรึกษาของสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดทุกจังหวัด จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น

 

ประชาไท: ส่วนของภาคเอกชน ประชาชนจะหนุนเสริมเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพราะยังมีกลุ่มที่สนใจประเด็นนี้ไม่มากนัก

วิชา: เรากระตุ้นให้เกิดมีภาคีเครือข่าย เช่น คุณดุสิต นนทะนาคร รับลูกแล้วไปจัดตั้งภาคีเครือข่าย คุณดุสิตเสียชีวิตแล้ว คุณประมนต์ สุธีวงศ์ (ประธานภาคีเครือข่ายต้านคอรัปชั่น)  ก็รับช่วงต่อ งานนี้ก็ขยายไปเรื่อยๆ เป็นองค์กรภาคีอันหนึ่ง เหมือนเป็น ป.ป.ช.ของภาคเอกชน เราก็ร่วมงานกันตลอด ข้อมูลมีอะไรก็จะส่งต่อกัน งานที่เห็นได้ชัดว่าเขามีส่วนสนับสนุนและทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งก็คือ การตรวจสอบเรื่องน้ำ ซึ่งเขาตามเรื่องทุจริตอันเกิดจากน้ำท่วม อันที่สองคือเรื่องข้าว เขาหาข้อมูลเรื่องจำนำข้าว แม้ว่ายังไม่เห็นชัดเจนว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ อย่างน้อยผู้ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องระมัดระวัง และเราสามารถเชื่อมข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน

ในด้านต่างประเทศ เรามีศูนย์พัฒนาบุคลากรระหว่างประเทศ ขณะนี้เราเชื่อมโยงกับอาเซียน มีการอบรมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ของต่างประเทศในลุ่มน้ำโขงมาครั้งหนึ่งแล้ว จัดไปเมื่อปีที่แล้ว ได้ประโยชน์มากเพราะเราได้เพื่อในลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าจากจีน เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา เขามารับรู้การทำงานร่วมกัน แล้วอาจจะต้องทำ MOU กันต่อไป จีนกับเวียดนามทำกับเราแล้วเรียบร้อย เราก็พยายามแสวงหาความร่วมมือต่อไป และจะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น นอกเหนือจากอาเซียนแล้ว เราก็จะทำ MOU กับภูฏาน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มองโกเลีย

เราเป็นองค์กรอิสระ เราสามารถจะดันงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ได้ แล้วข้อมูลบางอย่างเราก็ได้จากการแชร์ระหว่างประเทศ ประเทศเขาก็ขอความร่วมมือจากเราเหมือนกัน บางประเทศพบว่าคนของเขาที่มาอยู่เมืองไทยทุจริต เขาก็ให้เราตรวจสอบให้ หรืออย่างมีผู้ถูกกล่าวหา กรณีของฮ่องกง  เศรษฐีหนีมาอยู่เมืองไทย เขาอยากรู้ว่าอยู่ที่ไหนยังไง เราหาข้อมูลให้ได้ เรื่องติดตามก็เป็นเรื่องของเขาเอง แสดงให้เห็นว่ามันมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะเรื่องเงินไหลเข้าไหลออกนั้นสำคัญ การทุจริตเงินมันไม่อยู่ในประเทศอีกต่อไปแล้ว สมัยก่อนเราอาจไม่ค่อยสนใจเรื่องการจัดการทุจริตเพราะคิดว่าเงินมันอยู่ในประเทศ แต่วันนี้การทุจริตเงินมันออกนอกประเทศหมด เหมือนเลือดไหลออกหมด คนเลือดแห้งมันก็ตาย ฉะนั้น มันจึงมีกลไกด้านระหว่างประเทศที่เราต้องติดตาม และมีการปรับปรุงกฎหมาย อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ก็ระบุว่า เราต้องมีกฎหมายหลายอัน เช่น กฎหมายการปราบปรามการทุจริตด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ เราจะเข้าถึงข้อมูลธนาคารได้อย่างไร เขาจะให้การอบรมเรา อย่าง world bank ทำข้อตกลงกันแล้วเขาจะทำการอบรมเรา

 

ประชาไท: ช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระล้วนเป็นเป้าหมายในการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และวาทกรรมหลักสำหรับสังคมไทยตอนนี้ก็เป็นการเลือกระหว่างคนดีกับประชาธิปไตย เรื่องคอรัปชั่นยอมรับได้ ขอแค่นักการเมืองที่เราเลือกมา อยากสื่อสารอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้

วิชา: เรื่องทุจริตมันไม่อาจประนีประนอมกับใครได้ มันไม่ได้เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นคดีความทั่วๆ ไป ฆ่าเขาตายยังสามารถให้เงินเขา ชดเชยเยียวยาความเสียหาย แต่เรื่องการทุจริตเป็นเรื่องของรัฐ เป็นเรื่องของสังคมส่วนรวม ผมเข้าใจจุดนี้ได้ดีว่า ประชาชนส่วนหนึ่งจะเอนเอียงในทางชมชอบนักการเมืองที่ตัวเองรัก แต่ไม่มีประเทศไหนเขารอมชอมได้ถ้านักการเมืองที่รักเขาทุจริต เขาก็ต้องจัดการทั้งนั้น ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด มันไม่สามารถบอกว่า เบาๆ หน่อยได้ไหม มันทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการย่อหย่อน ลดโทษให้อย่างนี้เป็นอีกเรื่อง ไม่ใช่เป็นอำนาจของเรา

อีกอย่างหนึ่ง ผมตอนไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียที่ฮ่องกง เขาเชิญไปว่าให้มองมุมมองใหม่ว่า เรื่องการทุจริตต้องเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หมายความว่า การทุจริตมันทำให้มนุษย์ขาดสิทธิในความเป็นมนุษย์ สิทธิของเขาที่จะเข้าถึงอะไรต่ออะไร ก็ถูกปิดบังหมด สวัสดิการที่ควรจะทั่วถึงก็เข้ากระเป๋านักการเมืองหมด อันนี้เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคนทุกข์ยาก คนยากคนจนเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับการเกื้อกูล ซึ่งงบประมาณแผ่นดินต้องไปให้เขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ไหลเข้ากระเป๋านักการเมือง อันนี้เรียกว่า เอาคนยากคนจนเป็นเหยื่อ หมายความว่า ฉันช่วยคุณนะ ขณะเดียวกันก็มีเจตนาแฝงเร้น เขาเรียกว่า การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์ทับซ้อน Conflict of Interest  เอาเงินลงไปในพื้นที่บอกจะสร้างถนน สร้างฝาย แต่คิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าฉันจะมีส่วนแบ่งเพราะจะเอาบริษัทที่เป็นพรรคพวกไปรับเหมาทุกพื้นที่

อย่างตอนนี้เรากำลังตรวจสอบอยู่เรื่องฝาย ชัดเจนว่ามีการเก็บหัวคิว แล้วได้ของก็ไม่มีคุณภาพ มีการฮั้วประมูลกัน ฝายนี่ก็ไม่สามารถจะรับน้ำได้ เพราะไม่ได้มาตรฐาน และเรากำลังตรวจสอบอีกเรื่องคือเรื่องการขุดลอกคูคลองเพราะมันไม่สามารถจะรับน้ำได้เต็มที่ มีร้องเรียนว่ามีการฮั้ว ทุกลุ่มน้ำ แม่น้ำทุกสายเลย แล้วชาวบ้านจะได้อะไร หรือเรื่องการออกแบบการศึกษาเพื่อจะออกแบบบทเรียน พิมพ์แบบเรียนก็เข้ากระเป๋านักการเมือง คนที่พิมพ์แล้ว แล้วจะตกถึงมือประชาชนสักเท่าไร ที่เราไปประชุมที่ฮ่องกง หลายประเทศก็ลงมติร่วมกันว่าต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่าเรื่องการทุจริตนั้นกระทบกระเทือนกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

คนมักจะมองแยกระหว่างทุจริตกับสิทธิมนุษยชน แต่คนที่มาคุกคามสิทธิเราผ่านการทุจริตเรามองไม่เห็น มันซ่อนอยู่ในระบบการเมืองการปกครอง โครงสร้างอำนาจ ประชาชนก็เดินเข้าคูหาไปกากบาท ขณะเดียวกันเขาปูพรมไว้แล้วว่า งบประมาณที่ส่งลงไปในพื้นที่ก็เพื่อที่จะได้คะแนนเสียง

ยกตัวอย่าง คนจนที่ถูกยึดที่เพราะอะไร ตอนนี้ตรวจสอบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแต่เรื่องยึดที่หลวงมาเป็นของตัวเองทั้งนั้น ขณะที่ชาวบ้านที่จะทำกินกลับไม่มีที่ดิน แล้วชาวบ้านก็กลายเป็นเหยื่อของนกกระสา หมายความว่า เขาให้ชาวบ้านที่ยากจน ไปเลย เปิดป่าให้ พอยึดได้เขาก็ซื้อกลับมา แล้วใช้ สค.1 บิน บอกว่าพื้นที่นี้ได้ทำกินแล้ว ความจริงไม่ได้ทำกินเลยแค่เผาป่าเฉยๆ

 

ประชาไท: 15 ปีที่ผ่านมา การมีองค์กรอิสระ คิดว่าช่วยให้สังคมไทยให้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

วิชา: อย่างน้อยก็ทำให้คนตื่นตัวขึ้นแล้วก็รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เกิดแรงบันดาลใจสำหรับคนที่จะทำงานให้กับแผ่นดินหรือสังคม ส่วนหนึ่งก็มันเหมือนเป็นโมเดล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่านิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เพราะองค์กรตรวจสอบเขามาดูแล ไม่อย่างนั้นแล้วจะกลายเป็นทุจริตไม่เป็นไร ให้ฉันได้ประโยชน์ด้วยก็แล้วกัน ผมเชื่อว่าเป็นทิศทางนี้แน่นอนเพราะคนของเรามีความโน้มเอียงอยู่แล้ว ระบบของเราเป็นระบบอุปถัมภ์อยู่แล้ว เป็นระบบที่ครอบงำโดยอำนาจโดยแท้ ไม่มีทางเลือกอื่น เมื่อถูกครอบงำอย่างนี้ก็ต้องไปในทางนี้

วิธีที่จะต่อต้านหรือทำให้เกิดผลสำหรับองค์กรตรวจสอบ ไม่ใช่เรื่องการปราบอย่างเดียว เพราะปราบเท่าไรก็ไม่ได้ผล เราต้องใช้กระบวนการในการป้องกันให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า การป้องกันใช้ 2 วิธี คือให้ความรู้ แต่เดิมมาเราก็ให้ความรู้ไปเรื่อยๆ ก็ไมรู้ว่ารู้จริงหรือเปล่า จึงมีแนวทางอีกอันหนึ่งคือ preventive investigation การตรวจสอบในเชิงป้องกัน ซึ่งไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อเอาผิด แต่ตรวจสอบว่าโครงการนี้มีข้อบกพร่องอะไรหรือเปล่า แล้วให้ข้อแนะนำ คล้ายๆ เป็น Watch Dog ที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริต เขาเรียกว่าโครงการหมาเฝ้าบ้าน

 

ประชาไท: นอกเหนือจากภาคีเครือข่ายแล้วก็ไม่เห็นองค์กรอื่นๆ ป.ป.ช.อยากได้อะไรเป็นตัวหนุนเสริมการทำงาน

วิชา: ผมอยากให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งเราก็กระตุ้นให้มีแล้ว เครือข่ายประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด เขาพยามเชื่อมโยงกันอยู่แต่ยังไม่เข้มแข็ง ถึงต้องมีหน่วยที่ปรึกษา  การต่อต้านการทุจริตในเรื่องของสื่อ ความจริงที่เราตรวจสอบพบและชี้มูลไปหลายเรื่องมาจากสื่อนะ อย่างหนังสือพิมพ์ประชาชาติเคยนำเสนอหลายเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างสื่อเอเอสทีวี ไทยโพสต์ เขาก็เป็นต้นกำเนิดของเรื่องคลองด่านเลย เฉพาะฉะนั้นต้องเชื่อมโยงตรงนี้ เดลินิวส์ก็เรื่องรถดับเพลิง เขาเป็นคนเกาะติดข้อมูลนี้มาตั้งแต่แรกจนกระทั่งไปที่ศาลฎีกาได้

หลายๆ เรื่องมันมาจากสื่อ ดังนั้น สื่อต้องตระหนักถึงพลังอำนาจของตัวเองว่าเราจะช่วยเหลือกันในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างไร ในต่างประเทศเขาสื่อจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งมาก ขณะนี้ไม่ใช่สื่อที่เราเห็นอยู่ทั่วไป สื่อคือ social media พวกเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ เครือข่ายเยาวชนกลายเป็นพลังสำคัญมาก เครือข่ายเยาวชนที่มีอยู่ในพื้นที่จะเป็นพลังสำคัญ เราต้องให้ความรู้เขา มันต้องมีหน่วยที่เคลื่อนที่เร็ว เขาไปแล้วเขาเงียบๆ เพราะเยาวชนไม่มีใครสนใจ เห็นเบาะแสอะไร เขาส่งข้อมูลมา เห็นภาพทันที อย่างที่อเมริกาใต้ประสบความสำเร็จเรื่องการตรวจสอบการทุจริต โดยมีแหล่งข้อมูลที่สำคัญมาจาก social media เขาสร้างของเขาเอง เข้มแข็งมาก องค์กรต่างๆ ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เพียงแต่มีหน่วยรับเรื่อง

ป.ป.ช.เริ่มมีเฟซบุ๊ก แต่เราก็ไม่ได้กระโตกกระตากว่าจะทำในแง่ให้เขาช่วยหาข้อมูล เพียงแต่ให้ข้อมูลให้คนได้ติดตามเรื่องต่างๆ แต่ต่อไปผมก็บอกสื่อบางคนแล้วว่าต้องไปสอนเยาวชน

 

ประชาไท: ใครเป็นคนดูแลส่วนนี้

วิชา: เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ มันจะได้เชื่อมกับการอบรม การให้ความรู้ การเข้าถึงเยาวชน เป็นระบบ e-learning

 

ประชาไท: แล้วประชาชนหรือสื่อจะตรวจสอบ ป.ป.ช.ได้อย่างไร

วิชา: ได้เลย เพราะเรามีการแจ้งเบาะแส แจ้งข้อบกพร่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นคนตรวจ เรื่องเงินจะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรวจเป็นประจำ และยังสามารถจะร้องเรียนไปที่รัฐสภาได้ วุฒิสภาเป็นคนตรวจสอบเพื่อถอดถอน เข้าชื่อกันได้เลย 20,000 รายชื่อ (หัวเราะ) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net