Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาคมจุฬาฯ ตั้งคำถามกับความรักจากบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม โดย 'สุธาชัย' มอง ความรักที่เป็นเครื่องมือของ 'ชาตินิยม' และ 'ราชาชาตินิยม' เป็นความรักที่งมงาย ในขณะที่ 'ธเนศวร์ เจริญเมือง' วิเคราะห์ความรักต่อบ้านเมืองในวรรณกรรมของไทยว่าเหตุใดจึงไม่ยิ่งใหญ่เท่าชาติอื่นๆ 

 

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 56 กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอิสระในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อ “รัก ลั่น สนั่น เมือง” โดยมีวิทยากรประกอบด้วยสุริยาพร เอี่ยมวิจิตร์ นิสิตเอกภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
 
 
 
ความรุนแรงที่เกิดจาก 'องค์ความรู้'
 
สุริยาพร เอี่ยมวิจิตร์ มองว่าทฤษฎีวรรณกรรมสามารถนำมาใช้อธิบายสังคมได้ โดยชี้ให้เห็นความสลับซับซ้อนของมโนทัศน์เรื่อง “ความรุนแรง” กล่าวคือ ความรุนแรงไม่ได้มีลักษณะเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นในลักษณะ “ความรุนแรงเชิงองค์ความรู้” (Epistemic violence) ด้วย เช่น การควบคุมความคิด กระบวนทัศน์ วิธีมองโลก การมองคนอื่น และการมองตนเอง ถือเป็นการควบคุมที่ร้ายกาจและรุนแรงไม่ต่างกัน
 

ที่มาภาพ: PITV
 
สุริยาพรยกตัวอย่างพิธีสตีในอินเดียว่า เป็นพิธีซึ่งสตรีชาวอินเดียฆ่าตัวตายตามสามีที่เสียชีวิตของตนโดยกระโดดลงไปในกองเพลิง พิธีดังกล่าวมีรากฐานทางศาสนาฮินดูและแสดงออกซึ่งความเสียสละ และหน้าที่อันสูงส่งที่ผู้หญิงพึงมี เมื่ออังกฤษเข้ายึดอินเดียเป็นอาณานิคม อังกฤษได้ห้ามการประกอบพิธีนี้โดยการกล่าวหาว่าเป็นพิธีกรรมที่ป่าเถื่อน ต่อมาใน ค.ศ. 1829 ได้ออกเป็นกฎหมายห้ามทำให้การละเมิดมีบทลงโทษ
 
ในกรณีนี้ ผู้หญิงอินเดียดูเหมือนว่าโชคดีที่มีชายผิวขาวมาช่วยให้พ้นจากพิธีกรรมอันป่าเถื่อน แต่สุริยาพรเห็นว่า การกระทำของอังกฤษนั้น อันที่จริงแล้วเสมือนการนำกรอบความคิดตนเองไปตัดสินคนอื่น สุดท้ายความพยายามของชาวอังกฤษในการจะหยุดความรุนแรงในเชิงร่างกาย กลับกลายเป็นความรุนแรงในเชิงองค์ความรู้ กล่าวคือ เห็นว่าชุดความรู้ของตนนั้นจริงแท้และถูกต้อง โดยมิคำนึงถึง “เสียง” หรือรากฐานทางศาสนาและความคิดของสตรีฮินดูเหล่านั้นเลย
 
กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้ต้องการให้ความชอบธรรมกับพิธีสตี หากแต่ต้องการเสนอว่า ความรุนแรงเชิงองค์ความรู้นั้นเกิดจากการทำให้เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งกลายเป็นเรื่องเล่าหลักเพียงเรื่องเดียวหรือกลายเป็นความจริงแท้เพียงเรื่องเดียวต่างหาก
 
สำหรับกรณีของไทย เหตุการณ์ในบ้านเราปัจจุบัน มีความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดจากการเชื่อว่าสิ่งที่เชื่ออยู่เป็นความจริงที่ไม่อาจตั้งคำถาม ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงเชิงความรู้ในการจำกัดความรู้ ผ่านการศึกษา ผ่านหนังสือ ผ่านสื่อ ผ่านกฎหมาย ที่ทำให้เราไม่สามารถคิดต่าง ตั้งคำถามกับชุดความคิดบางอย่างที่วาทกรรมกระแสหลักเชื่อว่ามันคือความจริง
 
ความรุนแรงเชิงองค์ความรู้อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ใหญ่และสูญเสียมากกว่านั้น ในบ้านเรามีความรุนแรงเชิงองค์ความรู้หลายอย่าง เราดูเหมือนเสรีแต่จริง ๆ แล้วเราถูกจำกัดไม่ให้เข้าถึงข้อมูลหลายอย่าง นอกจากนี้ การยึดถืออะไรด้านเดียวอาจทำให้สิ่งที่เรารักพังพินาศ ในสังคมเรามีความพยายามจะปกป้องสถาบันโดยการจับสถาบันใส่กรงแก้ว แล้วไม่เปิดพื้นที่ให้เสียงที่เห็นต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หากคิดดูดี ๆ แล้วไม่ใช่ส่งผลเสียต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่เราปกป้องอาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
 
ความรักปฐมภูมิและความรักทุติยภูมิจากแง่มุมประวัติศาสตร์
 
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เริ่มการเสวนาด้วยการเปิดเพลง “รักหนึ่งในหัวใจ” ของรังสี บุษยา และชี้ให้เห็นว่าเนื้อเพลงนั้นได้กล่าวถึงความรักที่พัฒนาเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก ต่อมาเป็นหนุ่มสาว แต่ทั้งหมดยังมีรักหนึ่งที่มั่นคง คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
 
ที่มาภาพ: PITV
 
สุธาชัยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ประเด็น
 
ประเด็นแรก ความรักแบบปฐมภูมิ
 
ความรักนั้นแบ่งได้เป็นความรักแบบปฐมภูมิและแบบทุติยภูมิ สำหรับแบบปฐมภูมินั้น คือ อารมณ์ความผูกพันที่มนุษย์มีต่อกัน ซึ่งมักหมายถึงความรักแบบหนุ่มสาว ว่ากันในเชิงชีวภาพ ถือว่าความรักเป็นสัญชาติญาณ เป็นเครื่องมือในการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ถ้าไม่สืบพันธุ์ก็สูญพันธุ์
 
แต่ความรักก็ไม่ใช่เรื่องของความปรารถนาเพียงอย่างเดียว ความรักยังเกี่ยวข้องกับความอิจฉาและความเศร้าด้วย นอกจากนี้ ในหนังสือเรื่อง “The Art of Loving” ของ Erich Fromm ยังได้อธิบายว่าความรักไม่ใช่เรื่องความรู้สึกอย่างเดียว แต่ความรักคือการกระทำหรือการแสดงออกที่ต่อเนื่องมายาวนาน
 
ความรักมีความสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปะ วรรณกรรม และเพลง จำนวนมาก หากไม่มีความรักอาจไม่มีแรงบันดาลใจ ความรักจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงกับศิลปะของมนุษยชาติ 
 
ประเด็นที่สอง ความรักในมิติประวัติศาสตร์
 
สุธาชัยยกตัวอย่างสังคมต่าง ๆ สมัยศักดินาเพื่อชี้ให้เห็นว่าความรักแบบปฐมภูมินั้นไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใด เริ่มที่สังคมจีนสมัยศักดินา มีอิทธิพลขงจื๊อครอบงำ มีความเชื่อเรื่องการบูชาบรรพบุรุษและทำตามหน้าที่ ทำให้ความรักส่วนตัวหมดความสำคัญ การแต่งงานจึงขึ้นกับความเหมาะสมในสายตาของบิดามารดา คือความรักแบบคลุมถุงชน ความรักเช่นนี้สะท้อนในวรรณกรรม เช่น ความรักในหอแดง และ “บ้าน” ของปาจิน (หลี่ เหยา ถัง)
 
สำหรับในยุโรปนั้น ความรักปฐมภูมิไม่มีความหมายในสมัยกลางเพราะเน้นความรักพระเจ้า ต่อมาในสมัยฟื้นฟูวิทยาการ (Renaissance) เริ่มมีการรื้อฟื้นความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ภายใต้แนวคิดมนุษยนิยมบ้าง อย่างไรก็ตาม ความรักแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันนั้น เกิดตอนปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งแนวคิดแบบโรแมนติก (Romantic) เฟื่องฟู ในช่วงนี้เกิดการแพร่ขยายของนวนิยายสมัยใหม่ทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมัน เพราะฉะนั้น ความรักจึงเป็นปรากฏการณ์ของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ไม่ใช่สมัยกลาง
 
ในสังคมไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน ในสมัยศักดินาความรักแบบปัจเจกแทบไม่มีความหมาย ในวรรณคดีแทบไม่พรรณนาความรักเลย พระรามแทบไม่พูดเรื่องความรักต่อนางสีดาเลย อิเหนาเผาบ้านเมือง ขุนแผนมีแต่บทอัศจรรย์ ส่วนเรื่องกากีโดนข่มขืนอย่างเดียว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากองค์ความรู้ที่ครอบงำอยู่คือพุทธศาสนาซึ่งความรักว่าลุ่มหลง กามตัณหา ราคะ เห็นได้จากพระเวสสันดรนั้นไม่สนใจนางมัทรีในทางโลก หากแต่มุ่งบรรลุธรรม
 
สำหรับในประเทศไทย ความรักอย่างที่เราเข้าใจนั้น เริ่มปรากฏในวรรณกรรมของรัชกาลที่ 6 เช่น มัทนะพาธา และ เวนิสวาณิช แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่ได้แพร่หลายมากนัก จนกระทั่งหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 และชนชั้นกลางขึ้นสู่อำนาจมากขึ้น เราจึงพบนิยายที่มีความรักเป็นแกนเรื่อง เราจะเห็นได้ว่าช่วงทศวรรษที่ 2480 ได้มีการให้รางวัลแก่นวนิยายเป็นครั้งแรก คือเรื่อง “น้องสาว”
 
ต่อมา อิทธิพลของสังคมนิยมทำให้เกิดความรักที่ “ก้าวหน้า” ซึ่งอยู่บนฐานของการเคารพกันและกันของชายหญิง ไม่กดขี่ทางเพศ คัดค้านความรักศักดินาที่กดขี่หญิง รักประชาชน และคัดค้านรักเสรีของนายทุน ความรักแบบนี้เป็นที่นิยมหลัง 14 ตุลาฯ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ใน พ.ศ. 2519 มีหนังสือ เรื่อง “ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า” ตีพิมพ์ เนื้อหาชี้ว่าต้องเสียสละความรักส่วนตัวให้อุดมการณ์รับใช้ประชาชน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีงาม ถึงตอนนั้นความรักปัจเจกจึงจะพัฒนาไปในทางที่ถูก
 
สุดท้ายในส่วนนี้ สุธาชัยสรุปว่ายุคสมัยทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงความรัก และความรักเป็นไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย
 
ประเด็นที่สาม ความรักแบบทุติยภูมิ
 
หลังจากที่กล่าวถึงความรักแบบปฐมภูมิแล้ว สุธาชัยก็ได้กล่าวถึงความรักแบบที่สอง คือความรักแบบทุติยภูมิ ซึ่งหมายถึงความรักที่เกินขอบเขตความรักหนุ่มสาวหรือคนสองคน เป็นต้นว่าความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
 
ความรักแบบทุติยภูมินั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือชาตินิยมทุกประเทศจะยกระดับความรักทุติยภูมิให้เหนือส่วนตัว แม้แต่รักพ่อแม่ก็น้อยกว่าความรักแบบทุติยภูมิ คือความรักบ้านเกิดเมืองนอน เราจึงเห็นว่าผู้คนในสังคมจะถูกกล่อมเกลาให้รักชาติบ้านเมืองให้ตายแทนได้ 
 
ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ปลุกชาตินิยมขึ้นมาสำเร็จ ชาตินิยมนั้นได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าความภักดีกับกษัตริย์แบบเดิม เดิมทีความภักดีต่อกษัตริย์นั้นไม่เน้นความรัก แต่เน้น “อาสาเจ้าจนตัวตาย รับใช้นายจนพอแรง” เป็นการให้ข้างเดียวแก่เจ้านายโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ลักษณะนี้แตกต่างกับชาตินิยมเพราะในกรณีของชาตินิยมนั้น คนรู้สึกเป็นเจ้าของชาติบ้านเมือง ความรักความผูกพันความเป็นเจ้าของทำให้ตายเพื่อชาติได้
 
ในกรณีของไทย จะเห็นว่าเพลงและละครหลวงวิจิตรวาทการจะมีลักษณะชาตินิยมแทบทุกเรื่อง เราจะเห็นว่าถึงแม้ตัวละครมีความรักแต่สุดท้ายต้องสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง ในบางกรณีแม้จะต้องสู้กับคนที่รัก ก็ต้องทำให้ได้เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง
 
เราจึงเห็นว่า ชาตินิยมเป็นพลังสำคัญที่ใช้ความรักแบบทุติยภูมิเป็นเครื่องมือ และความรักแบบปฐมภูมิถูกลดความสำคัญลงไป
 
ต่อมา มีการเปลี่ยนอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเข้ากับชาติ เรียกว่าราชาชาตินิยม เดิมนั้นความจงรักภักดีเน้นแค่ความภักดี แต่ในความหมายใหม่นั้นต้อง “รัก” ด้วย กล่าวคือ ต้องรักกษัตริย์ยิ่งกว่าความรักส่วนตัว เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ เพราะใครด่าบิดามารดาเราอาจยอม แต่หากด่ากษัตริย์ต้องเข้าคุก นอกจากนี้ จะเห็นว่าความรักส่วนตัวเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความรักที่มีต่อกษัตริย์นั้นต้องบังคับให้คนอื่นรักเหมือนเราด้วย หากไม่รักนั้นยอมไม่ได้ ถึงขนาดลุกขึ้นฆ่าคนได้ เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งนักศึกษาถูกสังหารเพราะถูกกล่าวหาว่าไม่รัก ไม่ภักดี
 
สุธาชัยเห็นว่า ความรักแบบนี้มีปัญหา งมงาย ไม่ได้อยู่ในหลักเหตุและผล ในความเป็นจริงแล้วความรักเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องบังคับคนอื่นให้รัก นอกจากนี้ ในกรณีบิดามารดาหรือคนรัก หากเขาทำไม่ถูกเราอาจท้วงติงได้ แต่กรณีกษัตริย์เรากลับท้วงไม่ได้
 
สังคมไทยเราสร้างความรักแบบผิด ๆ มาช้านาน เราพยายามสร้างความรักโดยอธิบายว่ากษัตริย์ดีอย่างเดียว ทุกคนต้องรักแบบนี้ ใครรักไม่ตรงไม่ได้ ดังนั้น เราต้องสร้างความรักแบบใหม่ซึ่งมีเหตุผล ไม่บังคับกัน เราต้องเชื่อว่าถ้าสถาบันซึ่งคงไว้ซึ่งคุณงามความดี ยังไงคนก็รัก เสียงนกเสียงกาโค่นไม่ได้ การมีคนไม่รักก็ไม่ได้แปลว่าทำให้เสื่อมหรือล้ม
 
โดยสรุป ต้องเลิกบังคับความรักแล้วพูดความจริง แล้วสังคมไทยจะน่ารักกว่านี้ ไม่ต้องจับใครเข้าคุก
 
ความรักต่อ 'บ้านเกิดเมืองนอน' ในวรรณกรรมไทย
 
ธเนศวร์ เจริญเมือง ตั้งคำถามว่าทำไมความรักต่อบ้านเกิดเมืองนอนของไทยนั้นไม่ยิ่งใหญ่เท่าชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาในแง่วรรณกรรม
 
ที่มาภาพ: PITV
 
ธเนศวร์เห็นว่า สาเหตุน่าจะเป็นเพราะสยามเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ถูกครอบงำโดยชนชั้นนำว่าเราเป็นเอกราช ทำให้ไม่มีขบวนการชาตินิยมและสถานการณ์การเมืองที่รุนแรง ซึ่งอาจเร่งเร้าจินตนาการที่นำไปสู่วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายได้ ตัวอย่างในกรณีนี้เห็นได้ในบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์เรื่อง “กษัตริย์สีหนุ” ที่ชี้ให้เห็นว่ากษัตริย์สีหนุนั้นเป็นผู้นำชาตินิยมรุ่นสุดท้ายที่เพิ่งเสียชีวิตไป แต่เมื่อมองในบริบทของสังคมไทยแล้ว ไทยกลับไม่เคยมีผู้นำชาตินิยมที่ยิ่งใหญ่เช่นนั้นเลย
 
นอกจากนี้ ธเนศวร์ยังสันนิษฐานว่า ความรักต่อบ้านเกิดเมืองนอนนั้น อาจจะไม่เกิดในไทยเพราะไทยไม่ได้มีความแร้นแค้นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและประสบกับภัยพิบัติ เมื่อเทียบกับจีน เกาหลี และญี่ปุ่น จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ผลิตวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะพวกเขาอยู่กับความทุกข์ยากทางธรรมชาติและการแย่งชิงแก่งแย่งทรัพยากร ประชาชนจึงต้องลุกขึ้นมาสู้กับภัยพิบัติเหล่านี้ และทำให้สร้างสรรค์วรรณกรรมที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้
 
ต่อมา ธเนศวร์ได้เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “ความรัก” อันเกี่ยวข้องกับดินแดนภาคเหนือ ธเนศวร์เริ่มจากเรื่องราวของจ้าน้อยสุขเกษมกับมะเมียะซึ่งต่อมาได้รับการแต่งเป็นเพลง กรณีนี้เราจะเห็นว่าความรักของหนุ่มสาวทั้งสองนั้นถูกระบบการเมืองบีบให้พรากจากกัน
 
กรณีถัดมาคือ เจ้าดิลก ซึ่งเป็นดุษฎีบัณฑิตคนที่ 2 ของไทย เป็นโอรสของรัชกาลที่ 5 กับพระนางเจ้าทิพย์เกสร เมื่อสำเร็จการศึกษาจากเยอรมันก็กลับมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงเกษตร ต่อมาไม่นานมารดาได้เสียชีวิตและคู่หมั้นของตนได้จมน้ำเสียชีวิต ด้วยความโศกเศร้าและความขัดแย้งกับองค์กษัตริย์ ทำให้พระองค์ปลงพระชนม์ตนเอง
 
เรื่องถัดมาคือกรณีกบฏพญาผาบ เกิดขึ้นจากการที่รัฐสยามเรียกเก็บภาษีเงินสดจากชาวนาแทนที่การเก็บภาษีร้อยชักสิบแบบเดิม การเก็บภาษีเช่นนี้ถือว่ากดขี่มาก ทำให้ผญาผาบนำกำลังชาวนาในบริเวณ อ. สันทราย จ. เชียงใหม่ ในปัจจุบันลุกขึ้นสู้
 
อีกกรณี คือกรณีเจ้าดารารัศมี ซึ่งมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 13 พระองค์อยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลาประมาณ 20 ปี แล้วจึงกลับไปเชียงใหม่ แม้จะได้รับอิทธิพลจากกรุงเทพฯมากแต่ก็ยังรักษาวัฒนธรรมภาคเหนือบางอย่างเอาไว้ เช่น ภาษา อาหาร ผ้าซิ่น เป็นต้น จนกระทั่งเมื่อสิ้นพระชนม์ สยามก็รุกคืบเชิงวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมของภาคเหนือแทบจะไม่เหลืออยู่
 
กรณีสุดท้ายคือ กรณีเจ้าจันทร์ผมหอม หญิงสาวไม่สามารถแต่งงานกับชายคนรักได้ เพราะบิดาหวังสะสมกำลังต่อสู้กับสยาม เจ้าจันทร์จึงถูกบังคับให้แต่งงานกับพ่อค้าแม่สัก เพื่อเอาเงินไปสู้เพื่อแผ่นดิน โดยที่บิดาไม่เคยพูดเรื่องความรักแผ่นดินกับลูกเลย
 
ในช่วงท้าย ธเนศวร์ได้กล่าวว่ากระบวนการที่แปรความรักที่เรามีต่อกันไปสู่ความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองของแต่ละยุค สิ่งแวดล้อมที่กดดันมากนั้น อาจนำไปสู่อัจฉริยภาพทางวรรณกรรม (Literary genius) ได้ นอกจากนี้ ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีโดดเด่น ดังนั้นเราอาจจะทำวรรณกรรมไทยให้ยิ่งใหญ่ได้ อีกทั้งหากมีระบบการศึกษาที่แข็งแรง ก็อาจจะปลุกเร้าอะไรดี ๆ ให้กับสังคมได้ด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net