Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกริ่นนำ

นักโทษชายวาเลนตีนูส (Valentinus) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ นักบุญวาเลนไทน์ (St.Valentine) เป็นภาพตัวแทน (Representative) ของ “เทศกาลแห่งความรัก” ซึ่งประวัติความเป็นมาของเขาได้เล่าถึง การถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยวิธีตัดศีรษะด้วยข้อหาขัดคำสั่งของจักรพรรดิโรมัน [1] ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่า ประวัติความเป็นมาของวาเลนตีนูส มีความคลุมเครือและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อยู่หลายส่วน อย่างไรก็ตาม การสังหารหมู่แบบไม่มีเหตุผล (Great Persecution) [2] ตามบันทึกในประวัติศาสตร์โรมันก็มีอยู่จริง เป็นไปได้ว่า วาเลนตีนูส ในฐานะนักบวชชาวคริสต์อาจเป็นเหยื่อรายแรกๆ ของความอยุติธรรมนั้น ซึ่งวีรกรรมของเขาคงทำให้หลายคนเกิดความประทับใจจนเป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมาในลักษณะตำนาน นั่นคือ ความกล้าหาญที่จะขัดคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยความรักและมนุษยธรรม
 

อธิบายภาพ : มรณกรรมของแซงต์แวล็องติน โดย ภราดาแว็งซองต์ เดอ บูเว่ส์
(Martyrdom of Saint Valentine by Vincent de Beauvais) ประเทศฝรั่งเศส ปี 1335

เนื้อหา


บันทึกชีวประวัตินักบุญ (Hagiography) ในยุคกลางเล่าว่า [3][4] วาเลนตีนูส ถูกจับกุมเพราะละเมิดคำสั่งยกเลิกการแต่งงานและการหมั้นในกรุงโรม ซึ่งประกาศโดยจักรพรรดิเกลาดีอูสที่ 2 (Claudius II) เพราะเวลานั้น เกลาดีอูส รู้สึกว่า โรมประสบปัญหาเรื่องกำลังพล ทำให้พาลคิดว่า ชายชาวโรมันที่มีครอบครัวแล้วอาจไม่สมัครใจที่จะออกไปทำศึกสงครามก็เป็นได้ คงเป็นการดีกว่าที่จะสนับสนุนให้ชายชาวโรมันเป็นโสด (ห้ามมีครอบครัว) เพราะ ในยามศึกสงครามหรือมีการเรียกระดมพล คนเหล่านี้จะได้ไม่มีพันธะให้ต้องเป็นห่วง ฉะนั้น การแต่งงานหรือการหมั้นจะเป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสั่งนี้

แต่ “การแต่งงานหรือหมั้น” ในโลกทัศน์ของคนโบราณเป็นเครื่องหมายของความรักที่ชัดเจนที่สุด ฉะนั้น ในฐานะชาวคริสต์ วาเลนตีนูส ย่อมเชื่อว่า คำสั่งพิสดารนี้ย่อมขัดต่อความรักและธรรมชาติของมนุษย์ จากบันทึกดังกล่าว เราเข้าใจได้ง่ายว่า เขาไม่แยแสต่อคำสั่งนี้เลย พร้อมกันนั้น คงสนับสนุนให้มีการแต่งงานหรือหมั้นต่อไป ที่สุดแล้ว เขาถูกจับและถูกตัดสินในประหารชีวิตราวปี 269 (ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด) ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลของเกลาดีอูสที่ 2 (268-270)

วาเลนตีนูส จะเป็นแค่หนึ่งในหลายร้อยมรณสักขี (Martyrdom) ในยุคเบียดเบียน หากไม่มีบันทึกอีกเล่มหนึ่งที่ให้รายละเอียดว่า วาเลนตีนูสไม่ใช่นักบวชธรรมดา แต่เป็นถึงสังฆราชแห่งเมืองอินแตรแรมนา(Bishop of Interamna) ทางทิศใต้ของแคว้นอุมเบรียอีกด้วย (ตอนกลางของประเทศอิตาลีในปัจจุบัน) และในฐานะผู้นำ เขาถูกจับ ซึ่งบันทึกนี้ได้ระบุรายละเอียดลงไปว่า เขาถูกกักบริเวณในบ้านผู้พิพากษา ชื่อ อัสเตรีอูส (Asterius) ที่นั่น เขากับอัสเตรีอูสได้มีการอภิปรายกันเกี่ยวกับเรื่องของพระคริสต์ สุดท้าย อัสเตรีอูส (Asterius) ท้าให้เขาช่วยรักษาลูกสาวที่ตาบอดและถ้าทำสำเร็จเขาจะยอมทำอะไรก็ได้ที่วาเลนตีนูสต้องการ ซึ่งการรักษาดวงตาของลูกสาวผู้พิพากษาก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ตำนานเล่าว่า ผู้พิพากษาท่านนี้ได้เข้ารีต (Baptism) ตามความต้องการของวาเลนตีนูส และปลดปล่อยนักโทษชาวคริสต์ที่จับกุมมาทั้งหมด แต่ทว่า วาเลนตีนูส ก็โดนจับกุมอีกครั้ง คราวนี้ เขาถูกส่งตัวไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิเกลาดีอูสที่ 2 และจากการที่เขาไม่ยอมเปลี่ยนศาสนามานับถือเทพเจ้าตามคำเชิญชวนของเกลาดีอูสนี้เอง จึงมีผลให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยวิธีตัดศีรษะ ที่ นอกประตูแฟลมมีเนีย (Porta Flaminia) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คริสตศักราช 269 [5] เข้าใจว่า จดหมายฉบับสุดท้ายที่เขาส่งถึงจูเลีย (Julia) ลูกสาวของอัสเตรีอูส ที่ลงท้ายว่า “จากวาเลนไทน์ของเธอ” (From your Valentine) คงเกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้ [6]

ไม่ว่ารายละเอียดปลีกย่อยของเรื่องเล่าจะเป็นอย่างไร แต่อนุภาคหนึ่งที่คงไม่เปลี่ยนแปลง คือ วาเลนตีนูสถูกจับกุมคุมขังเนื่องจากขัดคำสั่งของจักรพรรดิ และไม่ว่าด้วยข้อหาอะไรก็ตาม เขาถูกตัดสินให้รับโทษคือประหารชีวิต สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากเหตุการณ์นี้ คือ ข้อสันนิษฐานว่า วาเลนตีนูส รักที่จะขัดคำสั่ง และสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ ความรักที่จะขัดคำสั่งนั้น ชอบด้วยความรักและมนุษยธรรมหรือไม่? จากปูมหลังทางประวัติศาสตร์ (Historical Background) ร่วมสมัยกันกับวาเลนตีนูส ทำให้เราเข้าใจได้ว่า “ความรักที่จะขัดคำสั่งของเขาชอบด้วยความรักและมนุษยธรรม” นั่นคือ คำสั่งของจักรพรรดิโรมันไม่ชอบด้วยความรักและมนุษยธรรม เป็นต้น การลิดรอนสิทธิในการแต่งงานด้วยเหตุผลทางทหาร หรือ การห้ามไม่ให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาภายในรัฐ

เช่นเดียวกับ พระเยซูผู้เป็นที่มาของแรงดลใจ วาเลนตีนูส “รักที่จะขัดคำสั่งและยอมตายเพื่อยืนยันความคิดของตน” เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า วิถีชีวิตของวาเลนตีนูส ไม่แตกต่างจาก พระเยซูผู้ซึ่งเขายกให้เป็นอาจารย์นัก เพราะในบันทึกเกี่ยวกับประวัติพระเยซู (Gospel) พระองค์ก็ขัดคำสั่งของกฎหมายศาสนายูดายอยู่หลายครั้ง และที่สุด พระองค์ก็สิ้นพระชนม์เพื่อยืนยันอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของตนเหมือนกัน ที่จริง วิถีชีวิตลักษณะนี้ในยุคใหม่ก็ยังปรากฏขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการกำเนิดของวาทกรรมที่ว่า “อารยะขัดขืน” (civil disobedience) ที่มีตัวแบบสำคัญ เช่น คานธี หรือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เหล่านี้ เป็นเครื่องหมายของ ความรักที่จะขัดคำสั่งเพื่อยืนยันว่ามีบางอย่างไม่ชอบด้วยความรักและมนุษยธรรมนั่นน่าจะเป็นวิธีคิดของวาเลนตีนูสและอีกหลายคนที่ได้รับแรงดลใจมาจากบันทึกประวัติพระเยซู แต่ในสายตาของชนชั้นปกครองแล้ว พฤติกรรมแบบนี้อันตราย และถ้าเป็นไปได้จำเป็นต้องกำจัดอย่างรวดเร็วเพื่อความมั่นคงของฐานอำนาจ

ฉะนั้น ความตายของวาเลนตีนูส จึงไม่ใช่ภาพของความรักหวานชื่นเลยแม้แต่น้อย ที่จริง ความตายของเขาและเช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ต้องตาย เป็นความขมขื่นล้ำลึกของเหตุการณ์ที่มนุษย์กระทำการข่มเหงมนุษย์ด้วยกันเพราะอำนาจ (Authority) สมมติว่า จูเลีย (Julia) มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์และทั้งสองรักกันจริงๆ เราคงสะเทือนใจว่า ความรักของทั้งคู่ ดูเหมือนจะเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่ระทมขมขื่นไม่น้อย เพราะความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งๆที่หัวใจของจูเลีย ทราบดีว่า วาเลนตีนูส เป็นคนอย่างไร ชวนให้ขมขื่นอย่างล้ำลึกกับพฤติการณ์ที่ลุแก่อำนาจของจักรพรรดิและบรรดาชนชั้นปกครอง ที่หวังจะกระทำการอยุติธรรมทุกอย่างเพื่อรักษาความมั่นคงและมั่งคั่ง โดยไม่สนใจความรักและมนุษยธรรม ฉะนั้น การยืนยันของวาเลนตีนูสที่ว่า “ฉันคือวาเลนตีนูสของเธอ” จึงยิ่งกรีดลึกลงไปในหัวใจของหญิงสาวที่ครั้งหนึ่งเคยตาบอดและบัดนี้ผู้ที่ช่วยเปิดตาให้เธอ เพราะ คนที่เธอรักและเธอมองเห็นเป็นคนแรก กลับถูกพิพากษาอย่างไม่เป็นธรรม น่าเสียใจที่เหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นเสมอแม้ในศตวรรษที่ 21


สรุป

ท่ามกลางความรื่นเริงของเทศกาลที่ถูกประกอบสร้างว่าเป็น “เทศกาลแห่งความรัก” ท่ามกลางการจับจ่ายใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อเฉลิมฉลองความรักที่ล้นเกินด้วยเงินและการปนเปรอ กว่าพันปีมาแล้วที่เสียงร่ำไห้เนื่องมาจากการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก เพราะถูกพิพากษาอย่างไม่เป็นธรรมยังคงร่ำร้องอยู่ ซึ่งเสียงของหัวใจที่แตกสลายเหล่านั้น น้อยคนที่จะสนใจหรือแม้กระทั่งอธิษฐานภาวนาให้ เพราะถือว่า “รักจะขัดคำสั่งเอง ช่วยไม่ได้”

 

อ้างอิง

[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Claudius_Gothicus
[2] http://www.fourthcentury.com/notwppages/persecution-timeline.htm
[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Saint_Valentine
[4] http://www.catholic.org/saints/saint.php?saint_id=159
[5] http://www.folklore-society.com/resources/Valentines.pdf
[6] http://www.catholic.org/saints/saint.php?saint_id=159
                

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net