Skip to main content
sharethis

14 ก.พ. 56 ศาลอาญา รัชดาภิเษก เวลา 9.40 น. ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ อช.4/2555 ซึ่งอัยการร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของตำรวจ-ทหารกับผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53

ก่อนการไต่สวน ธวัชชัย สาละ บิดาของผู้เสียชีวิตได้ยื่นคำร้องขอถอนการแต่งตั้งนายเจษฏา จันทร์ดี และ พีระ ลิ้มเจริญ เป็นทนายความ โดยอ้างว่า ไม่รู้จักกับทนายความทั้งสองคนมาก่อน สร้างความประหลาดใจให้กับอัยการ และทนายความทั้ง 2 คนอย่างมาก ซึ่งศาลอนุญาตตามคำร้อง ทั้งนี้ นายเจษฎาและทีมทนายความ เป็นทนายฝั่งผู้เสียหายในกรณีการไต่สวนการตายหลายราย เช่น ฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพญี่ปุ่น, วสันต์ ภู่ทอง, ทศชัย เมฆงามฟ้า, จรูญ ฉายแม้น, สยาม วัฒนานุกูล ซึ่งทั้งหมดเสียชีวิตในการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย.53

ธวัชชัย บิดาพลทหารณรงค์ฤทธิ์ให้การว่า ตนเองมีอาชีพทำนา บ้านอยู่ใน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เสียชีวิต โดยผู้เสียชีวิตเป็นบุตรชายคนโต จบการศึกษาชั้น ปวส. สาขาช่างไฟฟ้ากําลังที่ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 3 พ.ย. 52 ผู้เสียชีวิตได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการทหารที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ และถูกย้ายมาที่ค่ายสุรสีย์ จ.กาญจนบุรี ในเวลาต่อมา ก่อนหน้านี้ติดต่อกับผู้เสียชีวิตเสมอ แต่ในวันเกิดเหตุไม่ทราบมาก่อนว่า ผู้เสียชีวิตถูกย้ายเข้ามาประจำการอยู่ในกรุงเทพ

ธวัชชัยเบิกความต่อว่า วันที่ 28 เม.ย. 53 เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. ขณะที่ตนเองยู่ในบ้านพัก วรรณาพร ชุมเสนา น้องสาวของภรรยาโทรศัพท์มาแจ้งข่าวว่า บุตรชายของตนเองถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน กรุงเทพ หลังจากนั้น 2 วันตนและญาติจึงเดินทางมาที่วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน เพื่อมาร่วมงานฌาปนกิจศพของผู้เสียชีวิต โดยในงานฌาปนกิจศพ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. มอบเงินเยียวยาให้กับครอบครัวของตนเองเป็นเงินกว่า 100,000 บาท

นอกจากนี้ครอบครัวของตนเองยังได้รับเงินเยียวยาจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ อีก 200,000 บาท และกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ซึ่งเป็นหน่วยทหารต้นสังกัดของผู้เสียชีวิตยังมอบเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนให้กับตนเองและภรรยารายละ 6,300 บาทไปตลอดชีวิต และยังสัญญาที่จะรับบุตรสาวซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ใน ม.ราชภัฏสวนสุนันทา คณะพยาบาลศาสตร์ เข้ารับราชการในตำแหน่ง "ร.ต." ด้วย ขณะนี้บุตรสาวของตนเองได้รับทุนการศึกษาเดือนละ 10,000 บาทจาก พล.ร.9 จนกว่าจบการศึกษา

ต่อมาทหารนำศพของบุตรชายของตนเองกลับมาบำเพ็ญกุศลที่วัดแถวบ้านของครอบครัวของตนเองทางเครื่องบิน และมีการพระราชทานเพลิงศพให้กับผู้เสียชีวิต ส่วนตัวไม่ทราบว่าใครเป็นคนสังหารบุตรชายของตนเอง แต่ตนเองไม่คิดติดใจที่จะดำเนินคดีใดๆ ต่อผู้กระทำ

นายชัยพร คำทองทิพย์ เบิกความว่า มีอาชีพรับจ้างทั่วไป บ้านอยู่ใน อ.ยางคำ จ.ขอนแก่น วันที่ 28 เม.ย. 53 ทำงานเป็นช่างเชื่อมโลหะอยู่ในร้านจำหน่ายมุ้งลวดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของญาติ แถว ถ.ปรีดี พนมยงค์ เขตวัฒนา โดยเพิ่งทำงานที่นี่ได้เพียง 7-8 วันเท่านั้น ช่วงเช้าพี่สาวของตนเองโทรศัพท์มาสั่งให้ไปดูแลมารดาซึ่งเข้าร่วมการชุมนุม นปช. ตนจึงซ้อนมอเตอร์ไซด์ของเพื่อนซึ่งทำงานอยู่ในร้านข้างๆ ไปร่วมการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เวลาประมาณ 8.00 น. จากนั้นพยายามเดินตามหามารดา แต่หาไม่พบ แต่พบเพื่อนบ้านของมารดาจึงสอบถาม แต่ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นมารดา เมื่อ นปช. เคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกราชประสงค์ ตนเองจึงเข้าร่วมการเดินขบวน โดยอาศัยรถกระบะของผู้ชุมนุมไปด้วย

เวลา 11.00 น. ขบวนผู้ชุมนุมเดินทางมาทาง ถ.วิภาวดีรังสิต ฝั่งขาออก เมื่อนั่งรถกระบะมาถึงปั้มก๊าซแห่งหนึ่งก็ไม่สามารถเดินขบวนต่อไปได้ เนื่องจากตำรวจ-ทหารตั้งบังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางถนนไว้ ตนเองจึงลงจากรถมายืนดูเหตุการณ์อยู่บนฟุตบาทหน้าปั้มก๊าซ ช่วงนั้นสังเกตว่า ตำรวจ-ทหารตั้งบังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางเฉพาะถนนฝั่งขาออกเท่านั้น ส่วนฝั่งขาเข้านั้นไม่มีการตั้งบังเกอร์ขัดขวางแต่อย่างใด และยังสังเกตอีกว่า ตำรวจยืนเรียงแถวอยู่ด้านหน้าของบังเกอร์ โดยมีเพียงโล่-กระบองเท่านั้น แต่ทหารยืนอยู่หลังบังเกอร์โดยมีอาวุธหลายชนิด เช่น ปืนลูกซองยาว และ M16

ต่อมามีการตะโกนด่าทอจากทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งผู้ชุมนุมมีการยิงหนังสติ๊ก และขว้างปาสิ่งของ เช่น ขวดน้ำพลาสติก และก้อนหินใส่ตำรวจ-ทหาร ต่อมาตนก็ได้ยินเสียงปืนมาจากฝั่งตำรวจ-ทหาร และเห็นทหารยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม

ผู้ชุมนุมบางคนถูกยิงที่ไหล่ และแขนจนเป็นรอยช้ำ จึงเข้าใจว่าผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนยาง ต่อมาทหารเริ่มกระจายกำลังเพื่อโอบล้อมผู้ชุมนุม ช่วงนั้นได้ยินเสียงปืนตลอดเวลา บางครั้งได้ยินเป็นชุด บางครั้งได้ยินเป็นครั้งๆ และเห็นทหารอยู่บนสะพานลอย และสะพานขึ้นทางยกระดับดอนเมือง บนสะพานลอยมีแผ่นป้ายโฆษณาปิดอยู่บนรั้ว ตนเองเห็นทหาร 2-3 นาย นอนราบกับพื้น และเล็งปืน M16 มาที่ผู้ชุมนุม

ช่วงบ่ายมีผู้หญิงถูกยิงที่ขาซ้ายจนเลือดไหล ตนจึงรีบวิ่งเข้าไปช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล ต่อมามีผู้ชายถูกยิงที่แขนจนเลือดออกบนเกาะกลางถนนจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ชายคนนั้นอีก แต่ตนถูกยิงเข้าที่กรามด้านขวา ขณะนั้นรู้สึกชา แต่ไม่มีเลือดไหล เห็นทหารสวมชุดพรางพันผ้าพันคอสีฟ้า และถือปืนลูกซองหลายคนยืนอยู่ฝั่งตำรวจ-ทหาร ซึ่งห่างจากตนเองประมาณ 20 เมตร ในตอนนั้นเสียงดังมาจากทุกทิศทาง และเห็นผู้ชุมนุมซึ่งอยู่ด้านหลังขว้างปาสิ่งของ หลังจากนั้นก็เริ่มมีเลือดไหลออกมาจากบาดแผลที่กรามจึงวิ่งไปหารถมูลนิธิซึ่งจอดอยู่ในบริเวณนั้น รถมูลนิธิจึงพาตนเองไปส่งโรงพยาบาลภูมิพลเพื่อทำการรักษา เมื่อแพทย์ตรวจบาดแผลจึงบอกว่า กระดูกขากรรไกรหัก และไม่สามารถผ่าตัดเอากระสุนออกได้ เนื่องจากกระสุนเหล่านี้อยู่ใกล้กับเส้นประสาท ตนต้องพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 6 วัน ก่อนถูกส่งตัวกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านพักใน จ.ขอนแก่น ทุกวันนี้ยังมีกระสุนฝังอยู่กราม 1 นัด และคออีก 1 นัด

เขาระบุด้วยว่า ต่อมาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 60,000 บาท และสำนักพระราชวัง 5,000 บาท ส่วนการเสียชีวิตของพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ นั้นไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงเขา เนื่องจากเวลานั้นตนเองถูกส่งไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

หลังการไต่สวนช่วงเช้าเสร็จสิ้น นายธวัชชัยบิดาผู้ตายได้ขอให้ศาลถอนการเป็น "ผู้ร้องร่วม" ในคดีนี้ที่เขาได้ยื่นคำร้องไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งศาลอนุญาตตามคำร้อง ส่งผลให้เขาเป็นเพียง "พยาน" ในคดีนี้เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ร้องร่วมอีกต่อไป

ช่วงบ่ายพยานอีกคนหนึ่งขึ้นเบิกความ คือ นายไพโรจน์ ไชยพรม ให้การว่า ปัจจุบันว่างงาน บ้านอยู่ใน อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม ก่อนวันที่ 28 เม.ย. 53 ทำงานเป็นลูกจ้างในร้านข้าวแกงแห่งหนึ่ง แถว ถ.สีลม และเคยเดินทางเข้าร่วมการชุมนุม นปช. หลายครั้งที่สี่แยกราชประสงค์ และ ถ.สีลม วันที่ 28 เม.ย. 53 ได้เข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เช้าโดยขึ้นรถกระบะของผู้ชุมนุมเดินทางไปถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ถูกตำรวจ-ทหารสกัดกั้นอยู่ เมื่อถึงที่เกิดเหตุเห็นทหารสกัดกั้นผู้ชุมนุมไม่ให้ผ่าน และมีการปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่าย ตนจึงลงจากรถกระบะเพื่อดูการปะทะ เห็นทหารใส่ชุดลายพราง และพันผ้าพันคอ แต่ไม่แน่ใจเป็นสีอะไร และไม่แน่ใจว่ามีตำรวจอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ เนื่องจากขณะนั้นเกิดความชุลมุน นอกจากนี้ยังเห็นผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินใส่ทหาร และเห็นทหารยิงปืนลูกซองใส่ผู้ชุมนุม

ต่อมามีผู้ชุมนุมถูกยิงที่แขนบนเกาะกลางถนนจนเลือดไหลจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือ แต่ก็ถูกยิงสกัดจากทหาร ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนหลายนัดจึงต้องวิ่งไปหลบอยู่หลังเสาตอม่อของทางยกระดับดอนเมือง ไม่กี่นาทีต่อมาตนก็ถูกยิงที่ขาซ้ายจนล้มลงกับพื้น โดยเป็นการยิงมาจากฝั่งทหาร แต่ไม่เห็นหน้าของผู้ยิง ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมพยายามจะเข้ามาช่วย แต่ก็ถูกยิงสกัดไว้จนไม่สามารถเข้ามาได้ ตนจึงแข็งใจลุกขึ้น โดยหันหลังให้กับฝั่งทหาร และพยายามวิ่งหลบหนีออกมา แต่ก็ถูกยิงซ้ำจากด้านหลังทะลุท้องจนล้มลงอีกครั้ง ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยเหลืออุ้มตนออกจากที่เกิดเหตุก่อนหมดสติ

เขากล่าวว่า เมื่อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลภูมิพลนั้นก็ไม่ทราบว่าสลบไปกี่วัน แต่แพทย์ผ่าตัดนำกระสุนออกจากบาดแผลจนเป็นแผลเป็น ปัจจุบันยังคงเจ็บแผลเป็นบางครั้ง แม้จะสามารถเดินได้ แต่ไม่สามารถทำงานหนักได้ ต่อมาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 60,000 บาท อย่างไรก็ตาม ยังประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่ยิง

พีระ ลิ้มเจริญ ทนายความผู้ร้องร่วมที่ถูกถอนให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกแปลกใจที่ผู้ร้องร่วมยื่นคำร้องขอถอนตนเองและเจษฎาออกจากการเป็นทนายความในครั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะถูกถอนจากการเป็นทนายความในคดีนี้ แต่ก็ยอมรับว่าไม่เคยพูดคุยกับผู้ร้องร่วมเลย เหตุที่มาเป็นทนายความในคดีนี้เพราะการประสานงานจากมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 แต่ที่ผ่านมาผู้ร้องร่วมจะติดต่อผ่าน น.ส.นันณิศา คงจันทร์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยทนายความตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net