Skip to main content
sharethis

ด้าน "สุุขุมพันธุ์" ระบุร่วมฝ่าวิกฤตมากมายกับคน กทม. ทั้งอุทกภัยและไฟ "เผาเมือง" และจะขอเดินหน้าต่อไป "สุหฤท" ชูทางเท้าปลอดภัย ขยะแลกสวนสาธารณะ "โสภณ" ขอวิจารณ์นโยบายผู้สมัครรายอื่น-เตรียมว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโชว์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วน "พงศพัศ" สรุปนโยบายจราจรไร้รอยต่อ หวังลดเวลาเดินทาง 20-30%

ตะลึงป้ายหาเสียง "วรัญชัย" แบบทำมือ ระบุลงสมัครเป็นครั้งสุดท้าย

ป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 2 (ที่มา: เฟซบุคคุณ Soma Cruz)

บรรยากาศการหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. นั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ผู้ใช้นามว่า Soma Cruz ได้โพสต์ภาพป้ายหาเสียงของ วรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครหมายเลข 2 ซึ่งเป็นกระดาษแข็ง เขียนหมายเลขด้วยสีแดง และติดรูปของตัวเองที่มุมขวาล่าง เขียนอักษรว่า "ผู้ว่า" โดยมีผู้กดไลค์ และแชร์เป็นจำนวนมาก อนึ่งวรัญชัย เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาหลายครั้ง สำหรับการลงสมัครครั้งนี้เขากล่าวกับ สปริงนิวส์ ว่า ตัวเขาเองไม่มีเงินที่จะทำป้ายแข่งขันกับผู้สมัครรายอื่น หวังเพียงให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหาเสียงของพวกเขาบ้าง โดยเขาจะนำเสนอเป็นผู้ว่าราชการที่จะคอยกระตุ้นและประสานให้รัฐบาลปรับปรุงและสร้างระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้คนกรุงเทพเต็มใจที่จะจอดรถไว้บ้าน และเปลี่ยนใจมาใช้รถสาธารณะแทน และการลงเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการลงสมัครครั้งสุดท้าย

 

สุหฤทชูทางเท้าปลอดภัย และขยะแลกสวนสาธารณะ

นโยบาย "ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า" ของสุหฤท สยามวาลา (ที่มา: Suharit Siamwalla)

ด้านสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17 ได้โพสต์ในเฟซบุค Suharit Siamwalla สดงนโยบาย "ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า" และระบุว่า "สำหรับผมแล้วทางเท้าคือการแสดงสิทธิ์พื้นฐานที่ประชาชนพึงมีครับ การจัดความปลอดภัยพื้นฐานเช่น ความขรุขระ จัดป้ายโฆษณาของกทม. และอื่นๆ ไม่ให้เกะกะ ขอทางเดินจากพ่อค้าแม่ขายให้อยู่รวมกันโดยเคารพสิทธิ์กัน และเราไม่ควรไปเดินบนถนนครับผมไม่เห็นด้วย"

 

คลิปอธิบาย "ขยะแลกสวนสาธารณะ" ของสุหฤท สยามวาลา

และก่อนหน้านี้ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16 ก.พ.) สุหฤท สยามวาลา ได้โพสต์ลงในเฟซบุค DJ Suharit Siamwalla เสนอนโยบาย "ขยะแลกสวนสาธารณะ" โดยมีคำอธิบายประกอบว่า "เราผลิตขยะกันเกือบวันละ 10,000 ตัน ผมเชื่อว่าเราน่าจะนำมันมาทำประโยขน์ทำเงินได้ครับ เป็นรายได้มหาศาลที่ทำทุกอย่างให้ขึ้นมาอยู่ในระบบและเริ่มนำรายได้นั้นมาเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะครับ และมีการแจ้งรายได้การขายอย่างชัดเจนครับ..."

 

โสภณขอวิจารณ์นโยบายผู้สมัครอื่นระบุมุ่ง "ติเพื่อก่อ" พร้อมเตรียมว่ายน้ำเจ้าพระยาโชว์

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้เผยแพร่บทวิจารณ์นโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลขอื่น โดยระบุว่า "ในช่วงหาเสียงนี้ ผมได้พบการแถลงนโยบายของผู้สมัครอื่นที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เกรงว่าหากนำไปปฏิบัติ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ กลายเป็น “เข้ารกเข้าพง” ไป ผมจึงขออนุญาตวิพากษ์วิจารณ์แบบ “ติเพื่อก่อ” ให้มีการคิดต่อเพื่อพัฒนานโยบายที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นการโจมตีบุคคลแต่อย่างใด"

"กรณีรถรางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ - หากเป็นรถรางแท้ๆ ที่มี “ราง” คงสิ้นเปลืองงบประมาณมาก และกีดขวางการจราจรยุคใหม่ หากเพื่อการท่องที่ใช้รถหน้าตาคล้ายรถราง ก็มีอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือกลางวันร้อนมากเหลือเกิน ควรให้มีช่วงกลางคืนที่การจราจรไม่หนาแน่น และเสริมด้วยการเปิดตลาดไนท์บาซาร์ที่ใหญ่และดีที่สุดในโลกในเกาะรัตนโกสินทร์ รอบสนามหลวง ศาลอาญาและคลองหลอด (โปรดดูแถลงการณ์ฉบับที่ 16) ผมยังขอเสนอให้ทำเรือท่องเที่ยวตามคลองโอ่งอ่างเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองหลอด อย่างนี้จะน่าจะมีความเป็นไปได้ น่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนมากกว่า"

"กรณีเพิ่มเส้นทางจักรยาน - มีข้อเสนอให้เพิ่มเส้นทางจักรยานอีก 30 เส้นทาง หรือบ้างก็ให้เพิ่มเส้นทางรอบถนนวงแหวนรัชดาภิเษกทั้งเส้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีผู้ใช้สักกี่คน ผมเสนอไว้ตั้งแต่ 27 มกราคม 2556 (ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 และต่อมาฉบับที่ 32) แล้วว่าให้ทำโซนจักรยานใจกลางเมืองเพื่อรณรงค์ให้เกิดการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรในชีวิตเป็นหลัก โดยทั้งนี้ต้องรณรงค์ต่อเนื่องด้วยการให้เช่ารถจักรยาน 40,000 คันใน 1,000 จุดจอดในเขตเมืองชั้นในและกลาง เมื่อจักรยานออกมามากๆ และมีการคุ้มครองในถนนใจกลางเมืองเพื่อความปลอดภัย ปริมาณรถยนต์ก็จะลดน้อยลง ทางจักรยานก็ไม่ต้องมีอีกต่อไป เพราะเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครได้กลายเป็น “เมืองจักรยาน” ที่แท้จริง"

และล่าสุดในเพจของโสภณ ได้ระบุว่าในเวลา 9.30 น. วันนี้ (20 ก.พ.) จะพาสื่อมวลชนไปดูปัญหาการปล่อยน้ำเสีย ที่เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี โดยระบุว่า "เจ้าพระยากลายเป็นที่ปล่อยน้ำเสีย และเดินเรือพาณิชย์ ประชาชนไม่ได้ใช้ สิ่งแวดล้อมเสียหาย ยิ่งกว่านั้นควรสร้างสะพานเพิ่มเพื่อกระจายความเจริญบนแนวคิดใหม่ที่ดูแลผู้ถูกเวนคืนอย่างดี ควรให้เกียรติและเคารพในสายน้ำ ผมจะลงว่ายน้ำและพยายามว่ายข้ามเจ้าพระยา ตามแนวคิดสากล urban swimming ร่วมสัมผัสเพื่อร่วมแก้ไขสภาพน้ำ"

 

"เสรีพิศุทธ์" ชูกรุงเทพฯ ปลอดภัย

นโยบาย  "BKK 011 กรุงเทพรหัสปลอดภัย" (คลิกเพื่อดูภาพที่นี่) (ที่่มา: Sereepisutht)

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11 เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ได้โพสต์ในเพจ Sereepisutht อธิบายนโยบาย "BKK 011 กรุงเทพรหัสปลอดภัย" ซึ่งเป็นนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยใน กทม. โดยอธิบายว่า "ผมนำรายละเอียดนโยบาย BKK011 มาอธิบายจะได้เห็นภาพกันครับ ที่เราจะเปลี่ยนจากกล้องCCTVเป็นIPTV โดยไม่ใช้สาย ไม่ใช่เสา และครอบคลุมทั่วกทม.นั้น เป็นระบบคลื่นไมโครเวฟ เพราะจริงแล้ว CCTV แบบเดิมล้าสมัย ไม่มีคนทราบมากนะครับว่าแบบเดิมนั้นใช่ครับกล้องถูกแต่สายไฟแพง คุณสมบัติของ IPTV คือบอกรูปพรรณ ลักษณะได้แม่นยำ ผ่านอินเตอร์เนต GPS กรุงเทพจะปลอดภัยขึ้นครับ ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ถ้าไม่มีคนโกง ไม่มีคนเอาเงินใส่กระเป๋าตัวเอง กรุงเทพมีงบประมาณพอครับที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างๆ ได้"

 

สุุขุมพันธุ์ระบุร่วมฝ่าวิกฤตมากมายกับคน กทม.และจะไม่ยอมแพ้ให้กับผู้คิดร้ายต่อกรุงเทพฯ

ด้านเพจของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์คลิป "เรามาไกลเกินกว่าจะตั้งต้นใหม่" และอธิบายว่า "เกือบสิบปีที่ตัวแทนจากปร­ะชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันสร้างกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ว่าฯ เรื่อยมา ผมได้สานต่อแนวคิด พัฒนาเมือง และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้อง กทม. จนผ่านวิกฤติต่างๆ มากมาย แต่กรุงเทพฯ ยังไม่ถึงจุดที่ฝันไว้ กรุงเทพฯ ยังสามารถเดินต่อได้อีก และผมจะพาทุกคนเดินหน้าต่อไป"

ทั้งนี้ในคำอธิบายของคลิปดังกล่าวระบุว่า "เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันสร้างเมืองใหญ่แห่งนี้ที่ชื่อกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เรื่อยมาจนถึง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งก็ได้สานต่อแนวคิด และการพัฒนา ให้กรุงเทพได้กลายเป็นมหานครที่สำคัญของโลกอย่างสมบูรณ์ จนได้รับรางวัลเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน เราผ่านวิกฤติไฟเผาเมือง เราผ่านวิกฤติมหาอุทกภัยที่ทำร้ายคนกรุงเทพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ลูกผู้ชายที่ชื่อสุขุมพันธุ์ก็เคียงบ่าเคียงไหล่คนกรุงเทพฯ ก้าวผ่านวิกฤติเหล่านั้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะกรุงเทพฯ คือบ้านของเขา คือเมืองที่เขารัก

เราจะไม่ยอมแพ้ให้กับผู้คิดร้ายต่อกรุงเทพ เราจะไม่ยอมให้อุปสรรคใดใดมาขัดขวางการเป็นมหานครแห่งอาเซียน เราจะไม่ยอมให้ประชาชนชาว กทม. ล้าหลังและก้าวไม่ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ เราจะไม่มีวันยอมให้พี่น้องชาว กทม. ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากภยันตรายหลากรูปแบบ ทั้งโดยธรรมชาติและไม่ใช่ธรรมชาติ เรายังไปไม่ถึงจุดที่เราฝัน แต่เราจะไม่หยุด เราจะเดินหน้าต่อไป ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อีกครั้ง เพื่อให้กรุงเทพฯ เดินหน้าต่อทันที"

 

"พงศพัศ" สรุปนโยบายจราจรไร้รอยต่อ หวังลดเวลาเดินทาง 20-30%

ด้านพงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์คลิป "สรุปนโยบายจราจร" และอธิบายว่า "สรุปนโยบายจราจร สู่เป้าหมายการลดเวลาเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนลง 20-30% ครับ"

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. เพจของพงศพัศ ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โดยระบุว่า "หลายๆท่านอาจสงสัยว่า รถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร คืนนี้ผมและทีมงานขอนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังครับ รถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยวเป็นระบบที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา มาเริ่มต้นกันที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ครับ

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย Monorail ในกัวลาลัมเปอร์ หรือ KL Monorail เปิดใช้เมื่อปี 2003 มีทั้งหมด 11 สถานี ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร มีราง 2 รางขนานกันลอยฟ้า เชื่อมต่อกันที่สถานีศูนย์กลางสามารถต่อไปยังรถไฟฟ้าอื่นๆได้ แนวเส้นทางผ่านใจกลางเมืองกัวลาลัมเปอร์ที่เป็นย่านการค้าสำคัญ โดยวิ่งด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนส่งผู้โดยสาร 3,120 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ให้บริการทุก 3-4 นาที ปัจจุบันชาวเมืองกัวลาลัมเปอร์ใช้บริการรถโมโนเรลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 40 บาท

สิงคโปร์ แม้มีรถไฟฟ้าสายหลักให้บริการอยู่แล้ว 4 สาย สิงคโปร์ก็ยังมีโมโนเรลเป็นระบบเสริมเชื่อมโยงถ่ายเทคนจากระบบหลัก หน้าตาก็คล้ายๆกับของกัวลาลัมเปอร์ สามารถขนส่งผู้โดยสารได้หลายหมื่นคนต่อวัน วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 25-30 บาท 

โมโนเรลในสิงคโปร์ ยังถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดโมโนเรลสายใหม่เส้นทางไปยังเกาะ Sentosa แห่ลงท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เปิดบริการมาแล้ว 2 ปี เป็นรถโมโนเรลรุ่นใหม่ล่าสุดและมีขนาดเล็กที่สุด เหมาะสมทั้งต่อจุดประสงค์การใช้งานและใช้งบประมาณที่ไม่สูงมากครับ

เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครชั้นนำของอาเซียนอย่างแท้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องศึกษาและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ทันสมัยทัดเทียมกับมหานครชั้นนำต่างๆของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วยกัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net