'จอน อึ๊งภากรณ์' ขึ้นเบิกความคดี 'ปีนสภา' ชี้สนช. ไม่มีความชอบธรรม

ระบุการคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายของสนช. เมื่อปี 50 จำเป็น เพราะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชี้สนช. ยังถือว่า 'บุกรุก' มากกว่าเพราะมาโดยไม่ชอบธรรมแต่ทำหน้าที่แทนประชาชน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 56 จอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยในคดีที่นักเคลื่อนไหวจำนวน 10 คน ปีนรั้วสภาเพื่อคัดค้านการผ่านกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2550 ได้ขึ้นเบิกความที่ห้อง 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาพิเษก ถึงข้อเท็จจริงและเจตนา โดยกล่าวว่า การคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากมองว่า กฎหมายที่สนช.ผ่าน อาทิ พ.ร.บ. ความมั่นคง จะสถาปนาอำนาจของทหาร และกระทบต่อประชาธิปไตยของไทย 

ทั้งนี้ นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ รวมนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมอีก 10 คน อาทิ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ฯลฯ ถูกตั้งข้อหาฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว  
 
จอน เบิกความว่า การผ่านกฎหมายของสนช. ในช่วงปี 2550 เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรมด้วยหลายเหตุผล ทั้งจากที่มาของสนช. ซึ่งมาจากรัฐบาลทหาร สมาชิกส่วนใหญ่มาจากส่วนของราชการ มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่มาจากภาคประชาชน หรือระยะเวลาของการพิจารณากฎหมายที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อีกทั้งในระหว่างการพิจารณากฎหมาย ก็ไม่มีองค์ประชุมของสมาชิกที่ครบตามกำหนด  
 
ทั้งนี้ ในระยะเวลาที่สนช. เปิดสมัยประชุม ระหว่างวันที่ 23 ต.ค 50- 21 ธ.ค. 50 มีการผ่านกฎหมายทั้งสิ้น 215 ฉบับ ซึ่งถูกวิจารณ์จากบางส่วนว่า เป็นการเร่งพิจารณากฎหมายที่เร็วผิดปรกติ 
 
ในการชุมนุมคัดค้าน จอนกล่าวว่า มีจุดประสงค์เพื่อคัดค้านการผ่านกฎหมายหลายฉบับ ที่สำคัญคือ พ.ร.บ. ความมั่นคง ที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายความมั่นคงมากเกินไปจนละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน อาทิ กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายการจัดการน้ำ ที่โอนสิทธิของการจัดการทรัพยากรจากชุมชนมารวมศูนย์ไว้ที่รัฐ นอกจากนี้ ยังมีพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่ให้อำนาจการบริหารจัดการสูงสุดอยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลกระทบเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ และค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น 
 
เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้พยายามทำการคัดค้านการผ่านกฎหมายของสนช. แล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะด้วยการ ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อโฆษกของสนช.ในขณะนั้นคือมีชัย ฤชุพันธ์ุ เพื่อแสดงการคัดค้านการผ่านร่างกฎหมาย การขอเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ และการจัดชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา
 
อย่างไรก็ตาม จอนกล่าวว่า สมาชิกของสนช. มิได้ปรากฎว่าจะเอาข้อคัดค้านและข้อเสนอไปรับฟังประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายแต่อย่างใด แม้แต่การเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์เพื่อหารือ ก็ได้รับคำตอบจากนายกฯ ว่า ทางกลุ่มผู้คัดค้านสามารถมีข้อเสนอแนะได้ แต่ทางรัฐบาลคงจะให้ผ่านกฎหมายพ.ร.บ. ความมั่นคง เนื่องจากเป็นความต้องการของฝ่ายกองทัพ จึงไม่สามารถหยุดยั้งได้ 
 
ในวันที่ 12 ธ.ค. 50 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปีนรั้วสภา มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมมาร่วมคัดค้านจากหลายเครือข่ายราว 1,000 คน และราว 11 นาฬิกา ผู้ชุมนุมบางส่วนราว 100 คน ได้ใช้บันไดพาดรั้วรัฐสภาและปีนข้าม เพื่อเข้าไปนั่งประท้วงบริเวณหน้าห้องประชุมของสนช. และส่งเสียงคัดค้าน ทำให้ต่อมา สนช. ต้องยุติการประชุมในที่สุด 
 
เมื่อทนายจำเลยซักถามว่า คิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสร้างความเสียหายและใช้ความรุนแรงหรือไม่ จอนตอบว่า คิดว่าเป็นวิธีการแสดงออกที่สันติเพื่อแสดงการคัดค้านการผ่านกฎหมายโดยผู้ที่ไม่ชอบธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องร้ายแรง และอย่างการชุมนุมของสมัชชาคนจน ก็ใช้วิธีที่คล้ายกันคือการปีนรั้วสภา ในต่างประเทศก็ใช้วิธีแบบนี้เพื่อคัดค้านการกระทำต่างๆ ของรัฐเป็นเรื่องปรกติ 
 
"สนช. เองไม่มีความชอบธรรม ผมคิดว่าเขาเองบุกรุกมากกว่าเรา เพราะเข้าไปทำงานของประชาชนโดยได้รับการแต่งตั้งจากผู้ใช้กำลังประทุษร้ายประเทศชาติ พวกผมมามือเปล่า ไม่ได้ทำร้ายใคร" เขากล่าว และเสริมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ต่างบัญญัติไว้ว่า การต่อต้านการยึดอำนาจที่ไม่ถูกต้องด้วยวิธีสันติ ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ 
 
ทั้งนี้ จะมีการสืบพยานจำเลยรวม 24 ปาก ระหว่างวันที่ 19 ก.พ. 56- 14 มี.ค. 56 (เว้นวันจันทร์) ประกอบด้วย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สื่อมวลชนในเหตุการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และนักสันติวิธี  
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท