ศิลปะแนวล้อเลียนการเมืองเบ่งบานช่วงก่อนเลือกตั้งในเคนย่า

เคนย่า ประเทศที่มีการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างผู้มีอิทธิพลต่างชนเผ่าจนเคยทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเชื้อชาติมาแล้วในปี 2007-2008 แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ต้องการต่อต้านอิทธิพลทางการเมืองเช่นนี้ผ่านศิลปะแนวล้อเลียนเสียดสีที่ผลิบานขึ้นท่ามกลางบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ผู้สื่อข่าวเจมส์ เรนล์ จากสำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานเรื่องศิลปะล้อเลียนการเมืองในประเทศเคนย่า ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 4 มี.ค. ที่จะถึงนี้

ในเนื้อความได้กล่าวถึงภาพกราฟฟิตี้การ์ตูนรูปอีแร้งในชุดนักการเมืองบนกำแพงของย่านกลางเมืองกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนย่า อีแร้งในรูปพูดจาเยาะเย้ยกลุ่มชนเผ่าที่ลงคะแนนเสียงให้เขา ขณะเดียวกันก็สื่อถึงการวิพากษ์วิจารณ์การลงคะแนนเสียงโดยคำนึงแค่เรื่องชาติพันธุ์เดียวกันและการทุจริตในการเมืองระดับชาติ

 ผลงาน 'อีแร้ง' ของ มวังกิ
ที่มา http://www.bbc.co.uk

การประท้วงเผาโลงศพเพื่อต่อต้านการเอื้อผลประโยชน์แก่ตนเองของนักการเมือง
ที่มา http://www.trust.org

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ากล่าวว่าประเทศเคนย่าเต็มไปด้วยสื่อล้อเลียนทางการเมืองช่วงหนึ่งเดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทั้งจากการ์ตูน, รายการโทรทัศน์ และศิลปะบนท้องถนน

เจมส์ แคมบา เจ้าของร้านของขวัญซึ่งตั้งอยู่ติดกับกำแพงกราฟฟิตี้บอกว่ามีข้อความซ่อนอยู่ในรูปนี้ เขาตีความรูปว่ามันได้สื่อถึงการที่รัฐบาลเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองขณะที่ประชาชนกำลังอดตาย "ภาพนี้เป็นการให้ความรู้ เมื่อคนเห็นมัน พวกเขาก็จะเรียนรู้ แล้วจะไม่ลงคะแนนแบบเดิมอีกต่อไป"

สาธารณรัฐเคนยาเป็นประเทศที่เคยปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวคือพรรคสันนิบาตชาติแอฟริกันเคนย่า (Kenya African National Union หรือ KANU) นานกว่า 28 ปี ในช่วงหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1963 ก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคในเดือน ธ.ค. 1991

พรรค KANU เข้าสู่อำนาจผานการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1964 โดยมีโจโม เคนยัตตา เป็นปธน.คนแรก ก่อนมีการสืบทอดอำนาจโดย แดเนียล อะรับ มอย และแดเนียลก็ได้รับตำแหน่งอีกครั้งจากคะแนนเสียงข้างมากหลังมีการเปลี่ยนแปลงระบอบแล้ว แต่ในการเลือกตั้งปี 2002 ผู้ได้รับชัยชนะกลายเป็น มไว คิบาคิ จากพรรค PNU ซึ่งข้อมูลจากทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยเปิดเผยว่าเป็นครั้งที่แสดงให้เห็น "บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองเคนยา"

อย่างไรก็ตามอัลจาซีร่าเปิดเผยว่าช่วงก่อนการเลือกตั้งวันที่ 4 มี.ค. ชาวเคนย่าต้องเผชิญกับความขัดแย้ง เรื่องบุคคล, เรื่องเชื้อชาติ และเรื่องนโยบาย นอกจากนี้แล้วยังบอกอีกว่า 'กลุ่มผู้สืบทอดอำนาจจากชนเผ่า' ได้หันมามีอำนาจโดยการลงสมัครประธานาธิบดีของเคนย่านับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ อาทิเช่น ไรลา โอดิงกา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มาจากชุมชนชาว Luo ส่วนอูฮูรู เคนยัตตา บุตรชายของโจโม มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเคนย่าคือชาว Kikuyu

ก่อนหน้านี้เคนย่าเคยเหตุการณ์ความไม่ลงรอยกันในช่วงการเลือกตั้งปี 2007 ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างเผ่าพันธุ์จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คนจนทำให้เคนย่าเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองก็ถือเป็นความมัวหมองของประเทศ โดยที่เคนยัตตายังต้องรอขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในเหตุการณ์ปี 2007-2008 ด้วย

'มวังกิ' ศิลปินข้างถนนผู้ได้แรงบันดาลใจจาก 'แบงค์ซี่'

บอนีฟาซ มวังกิ
ที่มา http://hotsecretz.blogspot.com

วิดีโอตัวอย่างรายการ The XYZ Show

บอนีฟาซ มวังกิ เจ้าของผลงานภาพสเปรย์อีแร้งในชุดสูทกล่าวว่าเขาต้องการต่อว่าทั้งนักการเมืองและผู้ลงคะแนน เนื่องจากตัวเก็งหลักๆ ของการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้คือ เคนยัตตาและโอดิงกา ต่างก็เป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มชนเผ่า

"พวกเขาถูกเลือกเข้ามาโดยคนโง่ คือทั้งตัวผมเองและชาวเคนย่าคนอื่นๆ ที่ยอมให้ฆาตกร, คนข่มขืน และนักปล้นชิงขึ้นสู่อำนาจ ผมไม่ได้อยากทำให้คนหัวเราะ ผมต้องการทำให้พวกเขาโกรธ เพื่อให้พวกเขาได้คิด" มวังกิกล่าว

มวังกิเป็นศิลปินข้างถนนผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปินข้างถนนรุ่นพี่อย่างแบงค์ซี่ (Banksy) ในประเทศอังกฤษเจ้าของผลงาน 'Love is in the Air' ซึ่งเป็นภาพผู้ประท้วงกำลังทำท่าขว้างดอกไม้ มวังกิเคยนำการประท้วงในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาโดยการให้ผู้ประท้วงเผาโลงศพ 221 โลง ชูและป้าย "ฝังอีแร้งไว้ด้วยคะแนนเสียงคุณ" เพื่อเป็นการต่อต้านกลุ่มนักการเมืองที่พยายามแก้กฏหมายให้เงินโบนัสหมดวาระกับตนเอง 107,000 ดอลลาร์ และให้ประโยชน์แก่ตนเองอย่างการจัดงานศพแบบรัฐพิธี

การ์ตูนล้อเลียน การสื่อสารที่เรียบง่ายและทรงพลัง

ขณะที่นักวาดการ์ตูนในหนังสือพิมพ์ดูจะใช้วิธีการจิกกัดที่เบากว่า การ์ตูนชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ The Star วาดภาพของเคนยัตตา และคู่หูของเขา วิลเลี่ยม รุโต สวมชุดนักโทษขณะกำลังใช้แผงควบคุมคอมพิวเตอร์ในคุก ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์ที่ผู้สมัครถูกถามอยู่เสมอว่า พวกเขาจะปกครองเคนย่าได้อย่างไรขณะที่ยังต้องรอขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งพวกเขาให้คำตอบที่น่าประหลาดใจมากคือบอกว่าพวกเขาดูแลจัดการเคนย่าได้ผ่านอินเตอร์เน็ตจากฮอลแลนด์

ก็อดเฟรย์ มวัมเปมบวา เป็นนักวาดการ์ตูนผู้มีประสบการณ์เป็นที่รู้จักในนาม 'กาโด' กล่าวว่าการ์ตูนเป็นสิ่งที่สื่อสารไปยังผู้อ่านได้เรียบง่ายและทรงพลัง "มันเข้าถึงง่าย ดูจริง และภาพๆ หนึ่งก็พูดได้เป็นล้านคำ แม้แต่คนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็มองภาพการ์ตูนแล้วเข้าใจความหมายง่ายๆ ได้"

กาโด ยังเป็นผู้ทำรายการ The XYZ Show ซึ่งเป็นรายการล้อเลียนการเมืองรายสัปดาห์โดยใช้หุ่นยางขนาดเท่าคนจริงทำล้อเลียนคนดังต่างๆ เช่นครั้งหนึ่งเคยล้อเลียนนายกรัฐมนตรีออกมาร้องเพลงแร็บแบบศิลปินฮิปฮอป Dr.Dre

รายการอีกตอนหนึ่งจัดเป็นฉากแต่งงานเพื่อล้อเลียนการร่วมมือทางการเมืองระหว่างเคนยัตตาและรุโต ซึ่งการร่วมมือกันของทั้งสองคนนี้เป็นเรื่องน่าตกใจมาก เพราะรุโตผู้ที่มาจากชนเผ่า Kalenjin ก็เคยถูกกล่าวหาเรื่องการอยู่เบื้องหลังการนองเลือดเช่นเดียวกับเคนยัตตาแต่ทั้งสองอยู่คนละฝ่ายกันในช่วงวิกฤติปี 2007-2008

เสรีภาพในการแสดงความเห็น และ 'อีแร้ง' ที่ต้องคำนึงถึงประชาชน

กาโดกล่าวว่าการล้อเลียนการเมืองเริ่มบูมในประเทศเคนย่าตั้งแต่เขาเริ่มเป็นนักวาดการ์ตูนลงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ก่อน 20 ปีที่แล้ว ในยุคนั้นเคนย่าอยู่ภายใต้การนำของปธน. แดเนียล อะรับ มอย ผู้นำเผด็จการที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตและละเมิดสิทธิมนุษยชน

"พวกเราก้าวกระโดดไปไกลกว่าเดิมมากและสามารถพูดในบางเรื่องที่เมื่อสิบปีที่แล้วไม่สามารถพูดผ่านโทรทัศน์ได้" กาโดกล่าว "แน่นอนว่ามันเคยมีการต่อสู้ แต่พวกเราก็เข้มแข็งขึ้นและขยายพื้นที่ให้กับการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น"

องค์กรเฝ้าระวังเรื่องเสรีภาพของสหรัฐฯ Freedom House ผู้ทำการวัดระดับเสรีภาพของประชาชนในประเทศต่างๆ ได้จัดให้เคนย่าเป็นประเทศที่ "มีเสรีภาพบางด้าน" ซึ่งถือว่าดีกว่าประเทศในทวีปแอฟริกาหลายประเทศ

แต่ขณะเดียวกันนักล้อเลียนเองก็ถูกวิจารณ์ เช่น รัฐมนตรีดาสมัส ออเตียโน กล่าวหาว่า The XYZ Show เอาคนดังมาล้อเลียนเพียงเพราะต้องการให้ทำเงิน

เรื่องราวการ์ตูนล้อเลียนของเคนย่าทำให้ แองเจลลิค พิธลูด ภริยาเอกอัครราชทูตสวิตเซอแลนด์ประจำกรุงไนโรบีเกิดความสนใจ และได้เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรรศการศิลปะล้อเลียนขึ้น โดยแองเจลลิคเคยประสบกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาปี 1994 มาก่อน เธอบอกว่าก่อนหน้าเหตุนองเลือดรวันดาไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น

"นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสิ่งที่นักเขียนการ์ตูนชาวเคนย่ากำลังทำถึงเป็นสิ่งที่กล้าหาญและมีความสำคัญ การเสียดสีประชดประชันที่เป็นเครื่องมือในการสร้างเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับประชาธิปไตย"

แม้ว่านักเสียดสีจะคอยจิกกัดระบบการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเท่าใดนัก จากการสำรวจโพลล่าสุดในเคนย่าเผยให้เห็นว่าเคนยัตตาและโอดิงกานำผู้ลงสมัครคนอื่นๆ อยู่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีสิ่งใดชี้วัดว่าใครจะชนะได้ในรอบแรก

จอย โบยา เจ้าของศูนย์ศิลปะ GoDown ในกรุงไนโรบีกล่าวว่า แม้ศิลปะแนวเสียดสีจะไม่สามารถเปลี่ยนผลการลงคะแนนของผู้คนในทันที แต่มันก็มีความสำคัญอยู่ลึกๆ ต่อการเมืองเคนย่า "นักการเมืองในตอนนี้เล็งเห็นแล้วว่าพวกเขาไม่สามารถวิ่งหนีจากประชาชนและจากสื่อได้ และพวกเราก็รู้สึกว่ามันมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน" จอยกล่าว

ทางด้านมวังกิกล่าวว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็ตามแต่เขาก็ยังจะทำงานในเชิงป่วนวัฒนธรรมต่อไป

"ข้อความของเรากำลังส่งไปถึงมวลชนและพวกเราก็ได้เปลี่ยนภาษาของประเทศ" จอยกล่าว "พวกเราไม่ได้เรียกนักการเมืองอีกต่อไปแล้ว พวกเราเรียกพวกเขาว่า 'อีแร้ง' หวังว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงตามที่เราต้องการได้"

เรียบเรียงจาก

Kenyan satire takes aim at 'corrupt leaders', Aljazeera, 18-02-2013

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลสาธารณรัฐเคนย่า จากเว็บไซต์ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

http://en.wikipedia.org/wiki/Kenya

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท