Skip to main content
sharethis

 

เรามักได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอว่า “ระบบการศึกษาของไทยสอนให้เด็กท่องจำ” หรือ “ระบบการศึกษาของไทยทำให้เด็กคิดไม่เป็น” แต่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่า “คิดเป็น” และเราจะหลุดพ้นจากการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ท่องจำ” ได้อย่างไร

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักการศึกษาจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นักการศึกษาสมัยใหม่ เป็นอีกคนหนึ่งพยายามจะหาคำตอบในเรื่องนี้

 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ภูมิศรัณย์ จบปริญญาเอกทางด้านการศึกษา จากมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกา  นอกเหนือจากเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์แล้ว เขายังทำวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของการศึกษาในหลายมิติ โดยเขาเน้นในส่วนของระบบข้อสอบ สิ่งที่นักเรียนทุกคนในยุคนี้ต้องเผชิญปีละหลายครั้ง และที่โด่งดังมากคงหนีไม่พ้น O-NET

O-NET เป็นข้อสอบวัดผล "การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ของระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 มีทั้งหมด 8 วิชาคือ 1.ภาษาไทย 2.สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 3.ภาษาอังกฤษ 4.คณิตศาสตร์ 5.วิทยาศาสตร์ 6.สุขศึกษาและพลศึกษา 7.การงานอาชีพและเทคโนโลยี 8.ศิลปะ และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คะแนนสอบ O-NET ต้องใช้ยื่นเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาผ่านระบบ Admission ด้วย ซึ่งระบบนี้จะนำคะแนนจากส่วนต่างๆ คือ เกรด (GPA) + คะแนนสอบ O-NET + คะแนน Gat, Pat มารวมกันเป็นคะแนนเต็ม 30,000 คะแนน โดยแบ่งสัดส่วนถึง 30% หรือ 9,000 คะแนนให้กับ O-NET

นอกจากระบบ Admission แล้วยังมีระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ โดยต้องสอบวิชาสามัญ 7 วิชา คือ 1.วิชาภาษาไทย 2.วิชาสังคมศึกษา 3.วิชาภาษาอังกฤษ 4.วิชาคณิตศาสตร์ 5.วิชาฟิสิกส์ 6.วิชาเคมี 7.วิชาชีววิทยา เพื่อใช้คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อตามเงื่อนไขของคณะ และสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมระบบเคลียริ่งเฮาส์อีกต่างหาก

ในการพูดคุยกับภูมิศรัณย์ เขาเริ่มต้นเท้าความว่า ข้อสอบนั้นเป็นปลายทางส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างเยาวชนแบบที่สังคมต้องการ ซึ่งในยุคปัจจุบัน "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" เป็นแนวคิดของนักการศึกษาในระดับสากลที่ได้รับการยอมรับกันแล้วว่าเป็นทักษะสำคัญสำหรับเยาวชน การประเมินความสามารถในการทำข้อสอบหรือความรู้ทางวิชาการอย่างเดียวเหมือนในอดีตไม่เพียงพออีกต่อไป แต่เด็กต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดวิเคราะห์ได้ ที่เรียกว่า Critical Thinking และต้องมี Non-Cognitive Skills อื่นๆ ด้วย มี EQ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงมีความรู้ทั่วไปที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่อง Financial Literacy (ความสามารถในการเข้าใจความรู้พื้นฐานในเรื่องการเงิน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน - เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์) เรื่องทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ข้อสรุปของเขาคือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องพัฒนาการเรียนในห้องเรียนเพื่อนำไปสู่ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” และหากเราต้องการให้การเรียนการสอนเป็นไปในแนวทาง “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” เราต้องออกแบบข้อสอบให้มันสอดคล้อง ทำให้ครูไม่ใช้วิธีการสอนให้ท่องจำเหมือนเดิม

แนวคิดนี้อาจยังดูห่างไกลนักเมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า อย่างข้อสอบ O-NET ที่เป็นประเด็นโด่งดังแทบทุกปี เช่นเดียวกันกับปีนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อสอบ

 

จาก : แก๊งค์เด็กแอดฯ : Admission Fanclub

 

“เหตุผลของการปรับเปลี่ยนข้อสอบ เพื่อให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น ลดการเดาข้อสอบ แต่ สทศ. มีคำอธิบายไหมว่า ข้อสอบที่ออกมาใช้หลักอะไรในการคิดวิเคราะห์ แล้วการคิดวิเคราะห์นี้ตายตัวจนสามารถออกมาเป็นข้อสอบแบบช้อยส์ได้เลยหรือ ยกตัวอย่างที่ว่าปลูกฝังความเป็นไทยควรดูละครเรื่องใด? คนหนึ่งคนอาจตีความหมายของคำว่าความเป็นไทยต่างกัน มีกรอบความคิดและจินตนาการของคำว่า "ความเป็นไทย" ต่างกัน เมื่อมีกรอบความคิดที่ต่างกันหรือทัศนะที่แตกต่างกัน เหตุผลในการเลือกคำตอบนั้นๆ ย่อมแตกต่างกันไปด้วย บางคนอาจจะเลือกกี่เพ้าก็ได้ หากเขามองว่าความเป็นไทยของเขาคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม"

ณัฎฐณิชา เหล็กกล้า นักเรียน ชั้น ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี แสดงความเห็นถึงตัวอย่างข้อสอบโอเน็ตอันเป็นที่โด่งดังใน social network

 

 

จาก : แก๊งค์เด็กแอดฯ : Admission Fanclub

 

สอดรับกับความเห็นของภูมิศรัณย์ว่า มาตรฐานข้อสอบที่ยังไม่ดีมากนักอาจเกิดจากข้อจำกัดด้านบุคลากร

“จริงๆ การออกข้อสอบค่อนข้างเป็นศาสตร์ที่ต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง ถ้าจะให้ดีก็จะควรจบด้านนี้โดยตรง คือด้านการวัดและประเมินผลการศึกษา”

ภูมิศรัณย์กล่าวว่า ข้อสอบที่ดีควรเป็นในลักษณะที่เรียกว่า Literacy-Based Test หรือ ข้อสอบที่เน้นวัดความเข้าใจ ซึ่งสามารถทำเป็นข้อสอบช้อยส์หรือข้อสอบแบบตอบบรรยายก็ได้ แต่การทำสอบจะต้องใช้ความเข้าใจในเนื้อหาและอาจต้องประยุกต์กับหลายๆ ศาสตร์ ไม่ใช่ข้อสอบแบบ Content-Based อีกต่อไป ยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ หากเป็นข้อสอบแบบ Content-Based จะมีลักษณะที่ถามตรงตัว บทนี้สูตรเป็นอย่างไร ใส่ตัวแปรแล้วตอบ ตามสูตรเลย แต่ Literacy-Based ก็อาจจะประยุกต์เข้ากับเรื่องราวในสถานการณ์จริงเลย เช่น พิซซ่า 2 ชิ้น เส้นผ่านศูนย์กลางต่างกัน ราคาต่างกัน  ซื้อชิ้นไหนถึงจะคุ้มกับเงินที่เสียไปมากที่สุด หรืออย่างข้อสอบวิทยาศาสตร์ก็อาจจะให้อ่านบทความวิทยาศาสตร์ มีการผสมผสานความรู้ในเรื่องต่างๆ แล้วให้นักเรียนทำความเข้าใจเพื่อตอบคำถาม ตัวอย่างข้อสอบแบบนี้ในระดับสากล คือ ข้อสอบ PISA ทำโดย OECD อ่านแล้วรู้สึกว่า ต้องใช้ทั้งความรู้และความคิด

 

ตัวเลขอื่นๆ บอกอะไรได้มากกว่า คะแนนสอบ

ภูมิศรัณย์ ยังกล่าวถึงภาพรวม “คะแนน” สอบด้วยว่า ตัวเลขคะแนนสอบเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้บอกอะไรมากนัก และไม่สามารถทำให้เกิดการวิเคราะห์เพื่อหาจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเก็บข้อมูลอื่นๆ ของนักเรียน ครู หรือโรงเรียนด้วย เพื่อที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการศึกษาของประเทศ

เช่น อาจจะให้นักเรียนทำแบบสอบถามว่ามีพื้นเพมาอย่างไร ฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร ใช้เวลาอ่านหนังสือกี่ชั่วโมง ที่บ้านมีหนังสือกี่เล่ม นอกจากนี้ก็อาจจะสำรวจว่าโรงเรียนมีสภาพอย่างไร มีห้องสมุดไหม เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว เราก็นำมาประเมินผลว่าเด็กทำคะแนนสอบได้เยอะเพราะปัจจัยใด แค่ไหน อย่างไร นำมาสู่ข้อสรุปว่า ควรจะจัดการศึกษาอย่างไร หรือควรจะให้โรงเรียนมีทรัพยากรอะไร เด็กควรอ่านหนังสือวันละกี่โมง เป็นต้น

ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีระบบการเก็บข้อมูลตรงนี้เพื่อดูบริบทต่างๆ แต่ประเทศไทย จะเก็บผลลัพธ์เพียงแค่ว่านักเรียนของจังหวัดนี้ได้คะแนนสอบ O-NET เท่าไร แต่ละวิชานี้มีคะแนนเฉลี่ยเท่าไร ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่าไร หรือเรียงเป็นจังหวัดว่าจังหวัดไหนได้คะแนนเยอะสุด ภาคไหนได้คะแนนเยอะสุด ซึ่งตัวเลขเพียงเท่านี้ไม่ได้บอกอะไรนัก เพราะไม่ได้กล่าวถึงบริบทว่าเด็กที่คะแนนสูงเขามีลักษณะอย่างไร ที่บ้านเขาเป็นอย่างไร ฐานะเป็นอย่างไร ที่สำคัญ สาธารณชนก็เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ยาก นักวิจัย ปัญญาชนทั่วไปที่เขาอยากจะศึกษาก็ลำบาก

นอกจากนี้เวลารัฐจะวางแผนยุทธศาสตร์ก็วางตัวชี้วัดในลักษณะที่ว่า คะแนนเฉลี่ยปีที่แล้วเท่าไร ปีนี้ต้องได้คะแนนเท่าไร ต้องเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความจริงแทบจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าคะแนน O-NET แต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน ข้อสอบก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบในลักษณะนั้นได้ด้วยซ้ำ แต่ควรจะเอามาใช้ในแง่ของการดูความไม่เท่าเทียมกันมากกว่า เน้นดูค่าความเบี่ยงเบน เช่น ปีนี้คะแนนโรงเรียน A อยู่ห่างจากคะแนนเฉลี่ยของประเทศเท่านี้ ถ้าปีถัดมาเขาอยู่ห่างจากค่าเฉลี่ยของประเทศน้อยลง ก็แปลว่าเขามีพัฒนาการมากขึ้น แบบนี้จะมีสมเหตุสมผลมากกว่า

นักการศึกษาแห่งสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ยังยกตัวอย่างในต่างประเทศว่า จะเน้นการทำโครงงานโดยมีพื้นฐานจากความรู้ในสาขานั้นๆ มากกว่าเรื่องข้อสอบ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ก็อาจจะให้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ วิชาภาษาก็อาจจะมีให้ค้นคว้าทำรายงานและออกมานำเสนอ โดยระบบประเมินจะเป็นลักษณะ Portfolio คือ เวลาส่งการบ้านแต่ละครั้งหรือจะส่งโครงงานแต่ละชิ้น ครูก็จะต้องบันทึกว่าเป็นอย่างไร วิจารณ์ว่าควรแก้ไขในส่วนไหน แล้วครั้งต่อๆ ไปได้แก้ไขเพิ่มเติมอะไรบ้าง มีพัฒนาการมากน้อยเพียงไร ทุกอย่างถูกเก็บเป็นฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ แต่สำหรับประเทศไทยระบบแบบนี้อาจทำได้เพียงบางโรงเรียนที่เป็นระดับแนวหน้า

 

ครูต้องเก่ง และครูต้องได้ดี

หากเราดูการจัดอันดับการศึกษาในระดับสากล ซึ่งจัดทำโดย Pearson บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการศึกษา จะพบว่า ประเทศเกาหลีใต้ได้อันดับ 2 แม้ประเทศเกาหลีใต้จะไม่ได้มีแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิด "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" ยังเน้นการเรียนแบบท่องจำ มีชั่วโมงเรียนที่ยาวนาน แต่เกาหลีใต้มีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเหมือนหลายๆ ประเทศที่มีอันดับการศึกษาดี คือ วัฒนธรรมที่เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและการทำให้ครูเป็นอาชีพที่มีสถานะสูงในสังคม จนสามารถดึงดูดคนเก่งมาเป็นครูได้

 

อันดับการศึกษาของแต่ละประเทศ : ในส่วนของ Cognitive Skill จะวัดจากคะแนนสอบ PISA, TIMSS, PIRLS

ซึ่งเป็นข้อสอบแบบ Literacy-Based Test

 

ประเด็นเรื่องผลการเรียนจึงแยกกันไม่ออกกับเรื่องคุณภาพของครู ภูมิศรัณย์ย้ำถึงเรื่องนี้โดยยกตัวอย่างกรณีประเทศฟินแลนด์ ซึ่งแม้จะไม่มีชั่วโมงเรียนอันยาวนานเท่าเกาหลีใต้ ไม่มีการสอบมาตรฐาน  พูดอย่างง่ายคือไม่มีการสอบ O-NET เหมือนของประเทศไทย การบ้านไม่เยอะ แต่สิ่งที่โดดเด่นและเป็นจุดร่วมกับเกาหลีใต้คือ คุณภาพของครูที่โดดเด่น เน้นการ ช่วยเหลือ’ ให้เด็กเข้าใจและสามารถประยุกต์บทเรียนได้ มีการแผนการฝึกฝนอบรมครู (Professional Development) ครูจะให้เวลากับเด็กในห้องเรียนมาก ครูพร้อมที่จะสอนและริเริ่มทำโครงการต่างๆ เด็กเรียนแบบมีความสุข ไม่ได้เรียนหนักมากเกินไป ผลลัพธ์คือคะแนนเด็กออกมาดี

เขาเห็นว่า หากพิจารณาประเทศที่มีคะแนนสูงจะพบว่าครูของประเทศนั้นๆ จะเป็นคนระดับชั้นนำของประเทศ ยกตัวอย่างรูปธรรมเช่น การสอบเข้าวิทยาลัยครูของประเทศไต้หวันยากพอๆ กับการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ต้องเป็นระดับหัวกะทิของประเทศถึงจะเป็นครูได้ หรือกรณีครูมัธยมในสิงคโปร์ก็เป็นผู้ที่มีการศึกษาดี จำนวนมากจบการศึกษาจาก Oxford Cambridge หรือ Harvard

ในตอนท้าย เขายังให้ข้อสังเกตอีกว่า ประเทศเหล่านี้ล้วนให้สวัสดิการครูดีมาก และภายในสังคมก็ถือว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก ไม่มีประเทศไหนที่นักเรียนได้คะแนนสูง แต่เงินเดือนครูต่ำ เช่น ครูไต้หวันได้เงินเดือนพอๆ กับวิศวกร สำหรับประเทศไทยจะดูเหมือนว่าเงินเดือนครูจะสูง แต่สิ่งที่เห็นนี้ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งจะปรับกันเมื่อไม่นานมานี้เอง อีกทั้งครูที่ได้รับเงินเดือนสูงก็เป็นคนที่อยู่ในวิชาชีพมาสักระยะหนึ่งแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลตอบแทนทั้งด้านการเงินและด้านสังคมของอาชีพครู ยังไม่น่าสนใจพอจะดึงดูดให้คนเก่งๆ แย่งกันเข้ามาในวิชาชีพครูได้

 

TDRI : 2554

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net