Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปทีดินภาคอีสาน (คปอ.) และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ 1 ใน 10 เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ รับทุนสนับสนุนการทำงานมูลนิธิโกมลคีมทอง

 
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.56 ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 256 ครั้งที่ 39  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ได้มอบทุนสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ จำนวน 10 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ชุมชมโคกอีโด่ย จ.สระแก้ว 2.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) 3.สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
 
4.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5.กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีตอนล่าง 6.กลุ่มฅนรักบ้านเกิด ต.ทุ่งเขาหลวง จ.เลย 7.กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร 8.กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเชียงทา จากกรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร 9.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ 10.เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
 
นางบัวลา อินอิ่ม หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ที่มาร่วมงานในวันนี้กล่าวว่าเงินที่ได้รับจำนวน 50,000 บาทเพื่อสนับสนุนการต่อสู้นี้ ถือเป็นความภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งของเครือข่ายฯ ที่ได้รับรางวัลในการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน โดยส่วนตัวรู้จัก ครูโกมล คีมทอง มาจากการได้อ่านหนังสือถึงประวัติพอได้ความว่า เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อสังคม เสมือนเป็นอิฐก้อนแรกที่ถมทางให้คนรุ่นหลังได้ก้าวเดิน
 
นางบัวลา กล่าวด้วยว่า บนเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านกว่า 30 กว่าปี และในช่วงเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมา ภายหลังเข้าไปยึดที่ดินกลับคืนมา เมื่อ ปี 52 นั้น สมาชิกชุมชนบ่อแก้ว ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบริหารจัดการองค์กรประชาชนอย่างสำคัญ ขณะเดียวกัน เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ประชาชนในท้องถิ่นอำเภอคอนสาร นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย รัฐบาล หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า มีแต่การยืนหยัดต่อสู้อย่างอดทนเท่านั้นที่จะฝ่าข้ามความอยุติธรรม ไปสู่สังคมที่เป็นธรรมได้
 
ทั้งนี้ นางบัวลาเป็นหนึ่งในอีกชาวบ้านกว่า 200 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ายึดที่ดินไปปลูกยูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 กว่า  4,401 ไร่ ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพ กลายเป็นแรงงานรับจ้าง บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย เพราะไม่มีที่ดินทำกิน จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม กระทั่ง 17 ก.ค.52  ได้เข้ามายึดพื้นที่ทำกินเดิมกลับคืนมา และปักหลักในพื้นที่จัดตั้ง หมู่บ้านบ่อแก้ว ที่ ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ขึ้นมา เป็นเหตุที่ทาง อ.อ.ป. นำมาเป็นข้ออ้าง และดำเนินคดีกับชาวบ้านรวม 31 ราย ให้ออกไปจากพื้นที่ ล่าสุดคดีดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ของศาลจังหวัดภูเขียวได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.55 ว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก
 
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ทำกินเดิมมาโดยตลอด และได้ร่วมกันประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบโฉนดชุมชนในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เพื่อให้มีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิในที่ดิน กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน อีกทั้งในโอกาสครบรอบ 3 ปี ในวันที่ 17 ก.ค.2555 ชุมชนบ่อแก้วได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในชุมชน เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้สามารถพึ่งตนเองได้
 
นอกจากนั้น ในวันดังกล่าวได้มีการมอบโล่ประกาศบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง 4 คน คือ 1.ประยงค์ ดอกลำไย ด้านสิทธิมนุษยชน 2.ณิชชญา น้อยแก้ว ด้านการศึกษา 3.พุทธิพร ลิมปนดุษฎี ด้านสาธารณสุข และ 4.กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการปาฐกถาโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 ครั้งที่ 39 โดย เพียรพร ดีเทศน์ ในหัวข้อ “เขื่อนข้ามพรมแดน ทุนข้ามชาติ คำถามถึงธรรมาภิบาลอุษาคเนย์”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net