Skip to main content
sharethis

นักวิจัยด้านดนตรีจากคอมพิวเตอร์ใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์จากโปรแกรมช่วยวิเคราะห์การทำงานที่วัดจากคลื่นสมองของผู้ฟังเพลงหลังจากนั้นจึงปรับแต่งเพลงเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกมีความสุขจากเสียงเพลง เปิดทางต่อการช่วยรักษาโรคซึมเศร้าและการนำไปใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพลีมัธ ในอังกฤษ กำลังพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถวิเคราะห์การทำงานของสมองขณะฟังเสียงเพลง และแต่งเพลงขึ้นใหม่เพื่อทำให้ผู้รับฟังรู้สึกมีความสุข ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่าซอฟท์แวร์โปรแกรมแต่งเพลงที่พวกเขาพัฒนาสามารถปรับเปลี่ยนสภาพอารมณ์และช่วยในการลดความเครียดรวมถึงต่อสู้ดับโรคซึมเศร้าได้

โครงการวิจัยชิ้นนี้นำโดย ดร. เอดดูอาโด มิรันดา ศาตราาจารย์และนักแต่งเพลงจากศูนย์สหวิทยาการเพื่อการวิจัยด้านดนตรีจากคอมพิวเตอร์ (ICCMR) ของมหาวิทยาลัยพลีมัธ และ ดร. สลาโวเมียร์ นาสุโตะ ศาตราจารย์จากทีมวิจัยไซเบอร์เนติกส์ มหาวิทยาลัยเรดดิง

ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคของปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยการให้คอมพิวเตอร์เล่นเพลงและวิเคราะห์การทำงานของสมองผู้ฟังเพื่อตรวจวัดอารมณ์ เมื่อได้การตรวจวัดอารมณ์มาแล้ว คอมพิวเตอร์ก็จะสร้างเสียงดนตรีใหม่ขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนอารมณ์ของผู้ฟัง

โดยเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้จัดแสดงคอนเสิร์ทในชื่อ 'Symphony of Minds Listening' ซึ่งเป็นการนำมูวเมนท์ที่ 2 ของบทเพลงซิมโฟนี่หมายเลข 7 ซึ่งประพันธ์โดยบีโธเฟนมา 'รีมิกซ์' ปรับแต่งใหม่ ให้เป็นไปตามผลการสแกนสมองของอาสาสมัคร 3 คน ได้แก่นักเต้นบัลเลย์คลาสสิค, ทหารผ่านศึกสงครามอ่าว และตัวดร. มิรันดาเอง พวกเขารับผลการสแกนสมองด้วยระบบการสะท้อนคลื่นแม่เหล็ก (fMRI) ขณะกำลังฟังเพลง

"พวกเราทราบว่าดนตรีส่งผลต่ออารมณ์ของเรา แต่เรายังไม่รู้ว่ามันทำได้อย่างไร" ดร.มิรันดากล่าว "พวกเราต้องการทราบว่าจังหวะหรือเมโลดี้ในเพลงมีผลต่อการกระตุ้นอารมณ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง หรือส่วนประกอบใดในดนตรีที่ทำให้เกิดรูปแบบเฉพาะในการส่งสัญญาณจากสมอง โครงการของเราคือการสร้างระบบใหม่ในการประพันธ์เพลง"

มิรันดากล่าวถึงผลการสำรวจคลื่นสมองพบว่าแต่ละคนก็มีวิธีการฟังเพลงต่างกันไป เช่นนักเต้นบัลเลย์คลาสสิคจะพบการทำงานในสมองส่วนการสั่งการหรือมอเตอร์คอร์เท็กซ์ (motor cortex) สูงมาก เพราะนักบัลเลย์จะตีความดนตรีตามความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายของตัวเธอเอง

จากการที่นักวิจัยเรียบเรียงจังหวะและเมโลดี้ของเพลงซิมโฟนี่ขึ้นมาใหม่ตามการทำงานของสมอง พวกเขาพบว่าเพลงที่เรียบเรียงจากข้อมูลสมองของนักบัลเลย์มีจังหวะแตกต่างจากบทเพลงเดิมมากที่สุด ขณะที่ฉบับที่เรียบเรียงจากข้อมูลสมองของมิรันดามีทำนองประสานต่างจากเดิมมากที่สุด

ทีมวิจัยเปิดเผยอีกว่าดนตรีปรับเปลี่ยนอารมณ์ที่แต่งโดยคอมพิวเตอร์อาจนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้ เช่น นำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้าแทนการใช้ยา นอกจากนี้แล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมบันเทิงได้ เช่น ในภาพยนตร์หรือในงานโฆษณา โดยการใช้เพลงที่ตรงกับความต้องการเร้าอารมณ์ของผู้ชม

แต่นักดนตรีผู้ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คนอาจกังวลว่าจะถูกคอมพิวเตอร์แย่งงานเอาได้

มิรันดาได้ทำนายอีกว่าผลการวิจัยของเขาจะกลายเป็นการปฏิวัติวงการฮอลลิวูด โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์วิเคราะห์สีหน้าของตัวละครในภาพยนตร์ จากนั้นระบบก็จะดำเนินการแต่งเพลงซาวน์แทร็กให้กับภาพยนตร์อย่างรวดเร็ว มิรันดาบอกว่าถ้าหากผลการทดลองของเขาออกมาแล้วเขาจะนำเสนอเรื่องนี้ให้กับทั้งอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงและด้านสุขภาวะ

เจสซี่ แวร์ นักร้องผู้เข้าชิงรางวัลบริทอวอร์ดกล่าวว่า โครงการณ์นี้น่าตื่นเต้นและอยากเห็นว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ขณะเดียวกันเจสซีก็หวังว่ามันคงไม่ถึงขั้นทำให้นักดนตรีไม่มีงานทำ "จากประสบการณ์ของฉันในฐานะนักร้องคนหนึ่ง ฉันคิดว่านักดนตรีเองก็มีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจและทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกต่างๆ ได้"

"เช่นตอนที่ฉันทำกับข้าวอยู่ฉันจะชอบฟังเพลงแจ๊ซ" เจสซีกล่าว "มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ"


เรียบเรียงจาก

Computer designed by scientists to compose music which makes the brain feel happy, The Independent, 22-02-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net