ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี (จบ)

 

หลังจากที่ทางกองบรรณาธิการ ปาตานี ฟอรั่มได้นำรายงานจากเวที ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี (1)  ตอนแรกเผยแพร่ไปแล้ว เนื้อหาของตอนแรกก็จะเป็นทัศนะต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของสื่อ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง รวมทั้งประชาชน ซึ่งในตอนที่ 2 ตอนจบนี้ ทางปาตานี ฟอรั่มจะนำเสนอมุมมอง ทัศนะ เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ของทนาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมไปถึงประเด็นสำคัญเพิ่มเติม เริ่มต้นที่มุมมองขอเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะกรณีของมะรอโซและ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
 
มะรอโซ มีคดีอยู่เท่าไหร่ ?
 
พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ของมะรอโซ มีคดีที่เป็น ป วิอาญาอยู่ 10 หมาย และหมาย พ.ร.ก. อีก 3 หมาย สำหรับอาวุธปืนที่มะรอโซใช้ก่อเหตุนั้น ทางกองพิสูจน์หลักฐานได้ทำการพิสูจน์ปอกกระสุนแล้วว่า ใช้ก่อเหตุมาแล้วทั้งหมด 35 คดี ซึ่งคดีทั้งหมดนี้เริ่มต้นในปี 2549 ล่าสุดเป็นคดีของครูชลธี
 
การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด?
 
ในมุมมองส่วนตัว การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะมีความยากกว่าการดำเนินคดีในแบบปกติทั่วไป เพราะไม่สามารถที่จะสอบสวนเพื่อเชื่อมโยงไปหาผู้อื่นอีกได้
 
ต่อมาในส่วนของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่จะต้องได้รับการคุ้มครองในแง่ของ พ.ร.บ. ความมั่นคง และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก คำถามที่จะมีต่อคนกลุ่มดังกล่าวนี้ว่าเป็น “ทนายโจร” หรือไม่ คำถามเหล่านี้ได้ถูกตั้งขึ้นต่อกลุ่มทนายความมุสลิม ซึ่งลักษณะการทำงานของกลุ่มทนายความมุสลิมเป็นอย่างไร และลักษณะของกฎหมายในจังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ ม. 21 เป็นเช่นใด
 
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ในมุมมองของผู้ทำงานด้านกฎหมายต้องยอมรับเลยว่า เราถูกขนานนามว่าเป็น ทนายโจร ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ในการเริ่มทำคดี แต่อย่างจะเห็นให้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่จะต้องมีความเสมอภาคในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน เรามีความพยายามที่จะนำความขัดแย้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและดีที่สุด โดยพื้นฐานแล้วประชาชนทุกคนสามารถที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้ ในส่วนของคดีที่บาเจาะ ไม่อยากให้มองไปที่เพียงแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ แต่จะให้มองย้อนไป ทำไมมะรอโซถึงเดินมาถึงจุดนี้ได้ จากปี 49-56 มะรอโซถูกกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างไรบ้าง มะรอโซถูกหมายจับป. วิอาญาถึง 10 หมายจะสู้คดีได้อย่างไร มีตัวอย่างจากหลายคดีเช่น จำเลยถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อสู้กันมา 3 ปี ศาลยกฟ้อง กำลังจะออกจากเรือนจำ หมายที่ 2 มา ซึ่งหากเป็นลักษณะเช่นนี้จำเลยต้องต่อสู้คดียาวนานถึง 7 ปี ฉะนั้นในส่วนนี้กระบวนการยุติธรรมต้องกลับมาทบทวน การที่บุคคลหนึ่งมีหมายจับถึง 10 หมายจะเป็นการผลักเขาไม่ให้กลับมาแล้ว
 
ต่อมาในกรณีของหมายฉุกเฉิน ซึ่งผู้ที่ถูกหมายเรียกดังกล่าวนี้เป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย ไม่ถึงกับเป็นผู้ต้องหา แต่สิทธิของผู้ต้องสงสัยกลับเลวร้ายกว่าผู้ต้องหาเสียอีก เพราะว่าคำว่า “ผู้ต้องสงสัย” ไม่ได้มีหลักประกันสิทธิในรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องสงสัยไม่มีสิทธิจะพบกับทนายความได้ในลักษณะโดยลำพัง
 
ทางด้านคดีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน ณ วันนี้ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาศูนย์ทนายความมุสลิมรับผิดชอบคดีมาทั้งสิ้น 600 กว่าคดี พิพากษาไปแล้วกว่า 400 คดี แต่ทุกวันนี้มีคดีลดลงเพราะว่ามีการสั่งไม่ฟ้องค่อนข้างเยอะ เพราะว่าขาดพยานหลักฐาน ส่วนใหญ่แล้วคดีถูกยกฟ้องถึงร้อยละ 70 หรืออาจจะมากกว่านั้น
 
มาตรา 21 จากพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในมุมมอมของทนายความ มองในลักษณะอย่างไร
 
มาตรา 21 จาก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ต้องใช้ควบคู่กับมาตรา 15 ซึ่งในมาตรานี้ได้ระบุไว้ว่า ในเขตพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ สถานการณ์เช่นนี้ถึงจะใช้มาตรา 21 ได้ แต่เมื่อจะนำมาตรา 21 มาใช้มันจะติดอยู่กับมาตรา 15 บุคคลที่จะเข้าข่ายในมาตรา 21 มีอยู่ชุดเดียวเท่านั้นคือ บุคคลที่เป็นผู้ต้องหา ผู้ต้องหาหมายถึง ผู้ที่ถูกหมาย ป.วิอาญา ผู้ที่ถูกหมายฉุกเฉิน แต่สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยไม่มีสิทธิ์ในมาตรา 21 ประเด็นสำคัญทั้งหมดของมาตรา 21 ผู้ต้องหาต้องรับสารภาพว่าเขาได้กระทำความผิด และพนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนและสรุปว่า สิ่งที่ผู้ต้องหาทำลงไปนั้น เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะหลงผิด และการที่นำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการทางมาตรา 21 นี้มันก็จะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้ต้องหาด้วย หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็ต้องเดินตาม ป.วิอาญาต่อ
 
ประเด็นสำคัญอีกประการในการเสวนาครั้งนี้คือเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้มะรอโซ รวมทั้งคนอื่นๆ ถูกผลักเข้าไปสู่ขบวนการ โดยที่คุณปกรณ์ได้กล่าวในประเด็นนี้ไว้ว่า การทำหน้าที่ของศูนย์ข่าวอิศราในกรณีตากใบ ได้มีการนำรายงานมาเผยแพร่ทุกครั้งในวันครบรอบเหตุการณ์ ซึ่งจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอดนั่นก็คือ ต้องมีการรื้อคดี ต้องสอบสวนหาคนผิด ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ประมาท แต่ครั้งนั้นได้มีคนตาย มีบาดเจ็บเป็นร้อย เหตุการณ์ครั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าเป็นต้นตอสำคัญต่อความรู้สึกที่ต่อต้านรัฐ ซึ่งรัฐได้จุดชนวนขึ้นมา ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะมานั่งคุยกันเพื่อที่จะยุติชนวนดังกล่าวนี้
 
ในมุมของสื่อตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มา ความเข้าใจต่อสถานการณ์ในภาคใต้ดีขึ้นหรือไม่ ?
 
ในเรื่องของสถานการณ์ภาคใต้ ผู้สื่อข่าวมีเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ได้ดีขึ้น และเริ่มมองต้นตอของปัญหามากยิ่งขึ้น แต่การพัฒนาทางเทคโนโลยี รวมทั้งวิธีการใหม่ๆ ของสื่อเช่น สังคมออนไลน์ การรายงานด้วยความเร็ว โดยไม่สนใจความถูกต้องของข้อมูล ตรงนี้เองเป็นแรงกดดันของสื่อที่ทำงานได้ยาก  ในช่วง 1-2 ปีหลังสื่อมีการทำข่าวที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น มีการคุยกับเจ้าหน้าที่ คุยกับชาวบ้าน คุยกับผู้เสียหาย รวมทั้งคุยกับบุคคลที่สามเพื่อหาทางออก แต่ปัญหาการแข่งขันเรื่องความเร็วยังเป็นปัญหาที่สำคัญอยู่ เพราะว่าจะทำให้การรายงานข่าวเกิดความผิดพลาด
 
ทั้งหมดนี้คือ  ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ที่ปริศนาทั้งหมดถูกถ่ายมาในมุมมองของสื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ซึ่งข้อเสนอจากเวทีนี้ก็คือ ให้ยุติความรุนแรงทั้งสองฝ่าย นำไปสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี (1)
 
ที่มา:  Patani Forum
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท