Skip to main content
sharethis

เอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการจาก ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งคำถามถึงมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพต่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในกรณีการเผยแพร่ข่าว"นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม"ในรายการ "ข่าวเด่น ประเด็นใต้"

****************************************

เนื่องจากการนำเสนอรายงานข่าววันที่ 24 กุมพาพันธ์ 2556 ในรายการ "ข่าวเด่น ประเด็นใต้" หัวข้อการนำเสนอช่วงรายงานข่าว คือ "นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม"  การเสนอข่าวข้างต้นได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่พอใจให้กับกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาที่พยายามเปิดพื้นที่ในการเสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ทางออก โดยสันติวิธีต่อปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  

ด้วยเหตุข้างต้นจึงขอให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) โปรดพิจารณาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะข้างต้น ดังนี้

1.เนื้อหาหลักของการนำเสนอข่าวข้างต้นมุ่งไปที่ประเด็นกลุ่มนักศึกษาที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งในพ้ืนที่และนอกพื้นที่ ทั้งนี้พุ่งเป้าไปที่นักศึกษาที่จบการศึกษามาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอธิบายโครงสร้างการจัดองค์กรมวลชนในสถาบันอุดมศึกษา ของ BRN-Coordinate ( กลุ่มขบวนการฯที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทย ) มามีจุดเชื่อมโยงกับนักศึกษา ลักษณะการเสนอข่าวแบบเหมารวม ทั้งนี้การนำเสนอโครงสร้างข้างต้นกลับไม่พบแหล่งที่มาของข้อมูลการอ้างอิงใดๆ

2.การอ้างถึงงานสัมมนา หัวข้อ “มะรอโซ จันทรวดี (และพรรคพวก) กบฏรัฐสยามหรือวีรบุรุษนักรบปาตานี” ณ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา การรายงานข่าวได้ทำหน้าที่ "ตัดสิน" ว่าการจัดงานครั้งนี้ได้ "เบี่ยงเบน" เชิงตั้งคำถามว่า ผู้เสียชีวิตกับวีรบุรุษหรือนักรบ ? ซึ่งในรายงานข่าวกลับไม่พบการรายงานสรุปการอภิปรายสัมมนาข้างต้น แม้กระทั่งการสัมภาษณ์วิทยากรหรือผู้เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว ก็ไม่ปรากฎในรายงานข่าว  ทั้งๆที่เป็นเวทีสาธารณะที่ได้ให้สื่อต่างๆไปเข้าร่วมสังเกตและนำเสนอรายงานได้

3.มหาวิทยาลัยทุกแห่ง(ควรจะ)เป็น "พื้นที่สาธารณะ" สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีทรรศนะทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ก็สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ตราบเท่าที่ไม่ใช้ความรุนแรงตัดสินกัน ฉะนั้น "สื่อสาธารณะ" อย่าได้กังวลวิตกว่ามหาวิทยาลัยจะล่มสลายด้วยกลุ่มนักศึกษาที่คิดต่างจากรัฐ เพราะการคัดเลือก/สำเร็จ การศึกษาของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มีตัวชี้วัดที่ผลการเรียน ไม่ใช่ทรรศนะทางการเมือง  ด้วยหลักคิดข้างต้น ก็อยากให้ "ทีวีสาธารณะ" เป็นพื้นที่สาธารณะดั่งเช่นมหาวิทยาลัย

4.ในมหาวิทยาลัยบ่อยครั้งก็จะเห็นเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาพักทานข้าวมื้อเที่ยงและซื้อกับข้าวที่โรงอาหาร ฉะนั้นสื่อสาธารณะไม่มีความจำเป็นและหน้าที่ที่จะดึงมหาวิทยาลัยให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่คนทุกคน

5.การนำเสนอรายงานข่าวข้างต้นอาจทำให้กิจกรรมนักศึกษาของกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมและเวทีวิชาการ ต้องพบกับความยากลำบากในการจัดงานครั้งต่อๆไป เพราะอาจจะสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในเรื่องการสนับสนุนการอภิปรายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆที่สื่อสาธารณะควรมีบทบาทหน้าที่สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศของการอภิปรายเวทีวิชาการ งานสัมมนา ที่จัดขึ้นด้วยกลุ่มปัญญาชน นักศึกษา

6.การนำเสนอข่าวข้างต้น ทำให้เสียภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนใต้ อาจจะส่งผลถึงผู้ปกครอง นักเรียน ต่างพื้นที่ ที่ไม่กล้าเข้ามาศึกษา อาจทำให้สังคมพหุวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยหายไป ทั้งๆตลอดที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้สร้างกลไกสนับสนุนและประคับประคองให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษาในพื้นที่และนอกพื้นที่ โดยใช้พ้ืนที่มหาวิทยาลัย

7.ขอให้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ได้ออกมาชี้แจงประเด็นข้อมูลการนำเสนอรายงานข่าวข้างต้น เพราะหากไม่ชี้แจงใดๆอาจจะส่งผลต่อมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ที่จำเป็นต้องเคร่งครัดกับหลักการ ความเที่ยงธรรม และความรับผิดชอบที่สูงกว่าสื่อทางเลือก/สื่อออนไลน์และสูงกว่ากระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายต่างๆที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ความรุนแรงแห่งนี้



ด้วยความนับถือ
เอกรินทร์ ต่วนศิริ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
27 กุมภาพันธ์ 2556



หมายเหตุประชาไท:
คลิกเพื่อชมรายงานข่าวได้ที่ http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/tpbs/2013-02-24/19/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net