Skip to main content
sharethis

การตายของมะรอโซ จันทรวดี แกนนำก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คนสำคัญ ในเหตุการณ์บุกโจมตีฐานทหารหน่วยนาวิกโยธินที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 พร้อมกับพวกอีก 15 คน สร้างความสนใจ (หรือสะใจ) จากสังคมไทยต่อปัญหาความเป็นไปในชายแดนใต้อีกเหตุการณ์หนึ่ง

โดยเฉพาะความสนใจในตัวของมะรอโซเอง ซึ่งสื่อหลายสำนักได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ญาติหรือคนในครอบครัวของมะรอโซ ทำให้ทราบถึงมูลเหตุที่มาของการจับอาวุธสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเกี่ยวโยงจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547

ทว่าในมุมมองของฝ่ายรัฐอาจมองไปอีกทางหนึ่ง หากไม่มีเหตุการณ์ตากใบมะรอโซกับพวกก็ยังคงเดินหน้าก่อเหตุต่อไปอยู่ดี ซึ่งข้อมูลจากฝ่ายรัฐระบุมะรอโซมีหมายจับติดตัว 18 หมาย ปืนประจำกายที่ตรวจยึดได้ข้างศพพบว่า เคยใช้ก่อเหตุถึง 35 คดี ตั้งแต่ปี 2548 มีผู้เสียชีวิตจากปืนกระบอกนี้ถึง 25 คน ตามคำชี้แจงของ พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

ชีวิต ‘มะรอโซ’ ในมุมเจ้าหน้าที่รัฐ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงรายหนึ่งในพื้นที่มองว่า การตายของมะรอโซ ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมะรอโซไม่ใช่ “นับเบอร์ วัน” ของพื้นที่

เจ้าหน้าที่คนเดิม ระบุว่า ยังมีคนที่อยู่เหนือกว่ามะรอโซ ก็คือแกนนำขบวนการ พวกนี้จะอยู่สบาย ปล่อยให้มะรอโซกับพวกซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ระดังล่างของโครงสร้างขบวนการก่อความไม่สงบเป็นคนจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่เดือนร้อนและต้องอยู่อย่างยากลำบากก็คือมะรอโซกับเพื่อน รวมทั้งครอบครัวและญาติพี่น้อง เพราะฉะนั้น มะรอโซกับพวกคือเหยื่อนั่นเอง ส่วนบรรดาแกนนำอยู่อย่างสบาย มีรถ มีบ้านหลังใหญ่โต ส่งลูกเรียนต่างประเทศ

“มะรอโซ มีเชื้อสายเป็นลูกหลานชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อมาอาศัยอยู่ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้เรียนหนังสือในอำเภอบาเจาะและได้รับแนวคิดต่อต้านรัฐที่อำเภอบาเจาะด้วยเช่นกัน มะรอโซกับพวกคือเหยื่อของสังคมที่มีการบ่มเพราะให้ใช้แต่ความรุนแรง บวกกับมะรอโซกับเพื่อนๆ ก็เป็นวัยรุ่น ซึ่งมีความห้าวอยู่แล้ว เมื่อได้จับอาวุธแล้วจะเป็นอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้มองว่า เหตุสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นปัจจัยทำให้มะรอโซ รวมทั้งคนอื่นๆในหมู่บ้าน เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐ เพราะพวกเขาได้รับการบ่มเพาะมาก่อนหน้านั้น หากไม่มีเหตุการณ์ตากใบ ความรุนแรงที่เกิดจากคนกลุ่มนี้ก็ต้องมีอยู่

เจ้าหน้าที่คนเดิม เล่าด้วยว่า ความเป็นจริงมะรอโซน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบก่อนปี 2547เสียอีก เช่น เหตุคนร้ายปล้นปืนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อปี 2545 ช่วงนั้นมะรอโซมีอายุเพียง 20 ปี

ชื่อของมะรอโซ เริ่มติดหูเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ช่วงปี 2548 หลังจากเกิดเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่รัฐใกล้ๆหมู่บ้านของเขาในปีเดียวกัน จากนั้นเจ้าหน้าที่เริ่มติดตามตัวเขามาตลอด กระทั่งมีหลักฐานเพิ่มว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบอีกหลายคดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งทีมตามล่าเขาโดยเฉพาะ แต่เป็นที่รู้กันในหน่วยงานความมั่นคงว่าจะต้องตามล่าตัวเขาให้ได้ เพราะมีชื่อของเขาอยู่ในฐานข้อมูลคดีความมั่นคงอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องนำตัวดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้ แต่ที่ยังไม่สามารถจับได้ เพราะคนร้ายมีความชำนาญในพื้นที่ สามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง

“มะรอโซก็ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ ส่วนพ่อแม่ ภรรยาและลูกของเขาก็อยู่อย่างยากลำบาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าตรวจค้นบ้านของเขาเป็นประจำ แต่ที่จริงเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมครอบครัวเพื่อให้ช่วยกล่อมมะรอโซให้ออกมามอบตัว และต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม หากมะรอโซออกมามอบตัว เจ้าหน้าที่ก็จะดูแลอย่างดี เมื่อไม่มอบตัว สุดท้ายต้องจบลักษณะอย่างที่เห็น ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายขบวนการต้องมีการปลุกระดมประชาชนในพื้นที่ต่อไปและต้องหาแกนนำคนใหม่มาทดแทน”

ไม่เพียงการเข้าตรวจค้นเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปเยี่ยมที่บ้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวของของเขาเป็นประจำด้วย โดยเฉพาะน้อยชายของมะรอโซที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อแพทย์แล้วเพื่อจะนำตัวไปรักษา

ทางออกจากเจ้าหน้าที่รัฐและญาติ
เจ้าหน้าที่คนเดิม ระบุว่า “กุญแจสำคัญที่เป็นปัญหาในพื้นที่นี้ คือ แกนนำขบวนการก่อความไม่สงบพยายามสร้างความแตกแยกในสังคมไทย โดยปลุกปั่นประชาชนในพื้นที่ให้ต่อต้านรัฐ ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าจะทำให้พื้นที่ตรงนี้เกิดความสงบสุขได้ ต้องให้ประชาชนและผู้นำทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อต่อต้านแกนนำขบวนการเหล่านั้นให้ออกจากพื้นที่ไป และประชาชนอย่าไปฟังในสิ่งที่บรรดาแกนนำเหล่านั้นพูดหรือปลุกปั่น”

“ผมต้องการให้สื่อนำเสนอว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่เบื่อกับเหตุไม่สงบที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบแล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีบุกโจมตีฐานทหารที่คนร้ายถูกวิสามัญเสียชีวิต 16 ศพ แต่กลับนำเสนอว่ามีประชาชนบางส่วนบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ ส่วนกรณีคนร้ายบุกโจมตีฐานพระองค์ดำแตกละเอียด ประชาชนก็ด่าเจ้าหน้าที่รัฐอีกว่าไม่มีประสิทธิภาพ”

เรื่องที่เกิดขึ้นทหารไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเลย เพราะคนที่ตายก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ทุกคนที่เสียชีวิตเป็นคนไทยทั้งนั้น

นางรุสนี แมเลาะ ภรรยามะรอโซ
จะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น คงไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องของรัฐบาลโดยตรงที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่แนวทางการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างไรนั้น รัฐจะต้องรู้ปัญหารากเหง้าในพื้นที่ก่อน โดยเฉพาะเรื่องความอยุติธรรม ตนเชื่อว่าหากพื้นที่ตรงนี้มีความยุติธรรมจริง ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะมีความยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อมีการจับกุมชาวบ้านซ้ำซาก จับไปแล้วก็ไปซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกาย แล้วจะให้ชาวบ้านเชื่อมันในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net