Skip to main content
sharethis

 

ภาพจาก : กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

28 ก.พ. 56 เครือข่ายภาคประชาชนจาก 28 องค์กร ราว 300-400 คน นัดหมายชุมนุม และมีการเดินเท้าจากลานพระบรมรูปทรงม้ามายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางไปกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม เพื่อเริ่มต้นเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในวันที่ 6-7 มี.ค.นี้ โดยรัฐบาลกำหนดจะเร่งกระบวนการเจรจา เพียง 10 รอบ ใช้เวลา 1 ปีครึ่งเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเห็นชอบของรัฐสภาให้ทันการต่อสิทธิพิเศษทางการค้า (จีพีเอส) ระหว่างไทยกับยุโรปที่จะสิ้นสุดในปี 2557

ทางเครือข่ายได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะเจรจาฯ แสดงจุดยืนต่อข้อเรียกร้อง 5 ประการของทางเครือข่าย

  1. ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (ไม่ยอมรับทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ
  1. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
  1. ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
  1. ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า
  1. ให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล

ภายหลังการหารือระหว่างตัวแทนเครือข่ายประชาชนกับนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ทำให้ได้ข้อสรุปที่ยอมรับกันเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติได้แก่

  1. หลังจากที่มีการเจรจาความตกลงดังกล่าวในแต่ละรอบ จะมีการเปิดเผยข้อมูลการเจรจาและเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในปีนี้จะมีการเจรจากัน 3 รอบ
  1. จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตาม โดยจะให้มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
     
  2. ประเด็นที่ภาคประชาชนห่วงใยเป็นพิเศษ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา หรือสิทธิบัตรในทรัพยากรชีวภาพ (เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์)  เรื่องสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพแอลกอฮอล์และยาสูบ เรื่องนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ โดยจะให้มีคณะทำงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับทีมเจรจา

 

ภาพจาก : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net