Alienation: การสร้างสภาวะแปลกแยกโดยระบบทุนนิยม (ตอนที่ 2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รัฐทุนนิยมกับการสร้างสภาวะแปลกแยก

           
จากตอนที่ 1 อธิบายถึงการสร้างสภาวะแปลกแยกในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม และในตอนที่ 2 นี้เชื่อมโยงโครงสร้างทางการเมืองระดับบนหรือระบบรัฐว่าสัมพันธ์กับโครงสร้างระดับฐานอย่างไร รัฐเป็นตัวสร้างสภาวะแปลกแยกเหินห่างจากความเป็นมนุษย์ และปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างไร
 
จากการที่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่คอยสัญญากับประชาชนว่า ประชาชนจะมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เมื่อมองไปรอบๆ ตัว ช่างดูห่างไกลคือ เราเห็นอัตราการหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก การกดขี่ผู้หญิงและเด็ก การค้าหญิงบริการทั่วไป การใช้ความรุนแรง การติดยาเสพติด ปัญหาโรคติดต่อ ความเครียด เสียสุขภาพจิตและความรู้สึกแปลกแยก ความหดหู่ของผู้คนจำนวนมาก  ดังนั้นสิ่งที่มากไปกว่าความสำเร็จในชีวิต คือ คนจำนวนมากกำลังเผชิญกับความแปลกแยก ในขณะที่มีคนหลายคนไม่รู้สึกแปลกแยก แต่อาจมีแนวโน้มที่จะหลอกตัวเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บางทีมีความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความหมายเพราะมีมายาคติเกี่ยวกับบริบท/สภาพแวดล้อมและตัวตนของตัวเอง
 
ทำไมระบบทุนยังคงผลิตซ้ำสังคมแบบชนชั้นได้ จวบมาถึงยุคสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ข้างต้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ความแปลกแยกของมนุษย์ยังคงฝังรากลึกในสังคมชนชั้น (เออร์เนส แมนเดลและจอร์ช โนแว็ค.  The Marxist Theory of Alienation. New York: Pathfinder Press. 2nd edition, 1973, น.7) ที่ชนชั้นแรงงานถูกทำให้ไร้อำนาจในการตัดสินใจผลิตและเป็นเจ้าของผลผลิตร่วมกัน ส่วนชนชั้นนายทุนผูกขาดอำนาจการบริหารปกครองในภาคการผลิต และเป็นอภิสิทธิชน   ทั้งนี้มีรัฐ ชนชั้นผู้ปกครองช่วยรักษาสถาบัน ระเบียบ กฎหมายที่ให้อำนาจแก่ชนชั้นนายทุน สร้างความชอบธรรมและส่งเสริมการปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพในการผลิต และเพิ่มอัตราการขูดรีดผู้ใช้แรงงานมากขึ้นด้วย  
 
ระบบรัฐทุนนิยมเกี่ยวข้องกับสภาวะแปลกแยกอย่างไร
 
รัฐสมัยใหม่ประกอบด้วยสถาบันทางการเมือง สถาบันที่เกี่ยวข้องกับพลเมือง วัฒนธรรมและความเชื่อ แต่ยังประกอบด้วยระบบความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังทางสังคมที่พยายามถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ต่อสู้กันและผลผลิตของการต่อสู้ก็อยู่ในระบบรัฐสมัยใหม่ ซึ่งรัฐสมัยใหม่เป็นรัฐทุนนิยม เพราะมีกลไกอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อที่ครอบงำแรงงานให้มีรูปการจิตสำนึกผลิตซ้ำระบบทุนนิยม แม้จะมีการต่อสู้กันระหว่างชนชั้น แต่ก็มีการประนีประนอมกันได้เป็นช่วงๆ
 
จากรูปธรรม รัฐต้องการเงินภาษีจากนายทุน และมีผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะรัฐก็ผลิต หาเงิน สะสมทุนด้วย จึงมีกฎหมาย สถาบันค้ำจุนระบบทุนนิยม และไปเสริมสร้างสภาวะแปลกแยกให้แก่พลเมืองมากขึ้น  เนื่องจากรัฐใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตของพลเมืองมากเกินไป เสริมสร้างระบบการแบ่งงานกันทำ ใช้ระบบการจ้างงานยืดหยุ่น คนทำงานขาดความมั่นคง สังคมขาดการคุ้มครอง คนตกงาน ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤตมากกว่าพวกนายทุน
 
นอกจากนี้รัฐทุนนิยมยังส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่สร้างลัทธิบูชา/คลั่งสินค้า (Commodity fetishism) และความเชื่อบางอย่าง ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แปลกแยกเหินห่างซึ่งกันและกัน ทั้งนี้อยู่ภายใต้ฐานเศรษฐกิจแบบแบ่งงานกันทำ แบ่งเป็นสาขาวิชา ข้อมูลถูกแยกส่วน ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ แรงงานสมอง แรงงานไร้ฝีมือ ที่ทำให้สังคมมองแรงงานเป็นแค่เครื่องมือการผลิต แต่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในระบบการผลิต จากนั้นความเป็นอยู่ของทุนกับแรงงานก็แตกต่างเหลื่อมล้ำกันจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนั่นเอง
 
ลัทธิบูชาสินค้า คือ การแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่มีรากมาจากการค้าขายสินค้าในระบบตลาด ด้วยวิธีที่ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนถูกแสดงออกมาในลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ/วัตถุบริโภค เป็นความสัมพันธ์ในเชิงแลกเปลี่ยนระหว่างเงินและสินค้า ผู้ซื้อกับผู้ขาย นั่นคือ การแปลงลักษณะอัตวิสัย/นามธรรมของมูลค่าทางเศรษฐกิจไปเป็นตัววัตถุ สิ่งของที่คนเชื่อว่ามีค่าอยู่ในตัวอยู่แล้ว (โดยไม่ต้องไปสืบค้นหาที่มาของการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ ซึ่งจริงๆ มาจากการทำงานของแรงงาน)  พูดง่ายๆ คือ คนมักสัมพันธ์กันในระบบการซื้อขาย แลกเปลี่ยนในตลาด สนใจแต่เรื่องมูลค่าแลกเปลี่ยนหรือราคาตลาด แต่ไม่สนใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นถูกสร้างให้มีมูลค่าในระบบการผลิตอย่างไร ด้วยเหตุนี้การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในตลาดจึงคอยบดบังลักษณะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real economy) ที่เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบบการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานคือแก่นสารของระบบทุนนิยมนั่นเอง
 
 
ลัทธิบูชาสินค้า: ในระบบตลาด ผู้ผลิตและลูกค้ารับรู้ร่วมกันว่าจะต้องทำการแลกเปลี่ยนกันระหว่างเงินกับสินค้า  (ที่มาเว็บวิกีพีเดีย  http://en.wikipedia.org/wiki/Commodity_fetishism )
 
การที่รัฐเข้าไปค้ำจุนระบบทุนนิยม และตอกย้ำสภาวะแปลกแยกให้แก่ชนชั้นแรงงานและความแตกแยกทางชนชั้นมากขึ้น คือ การกีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วมในการเมือง การบริหาร การปกครอง การทำให้เป็นพลเมืองชั้นสอง การทำให้เป็นชายขอบ เพื่อไม่ให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ ทรัพยากร ปัจจัยการผลิตในการดำรงชีพและพัฒนาระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และรัฐยังมีบทบาทในการประนีประนอมการต่อสู้ระหว่างทุนกับแรงงาน อีกทั้งจัดตั้งและใช้กลไกปราบปราม (คุก ศาล ทหาร ตำรวจ) ในการจัดการ ทำลายขบวนการประชาธิปไตย
 
งานของอันโตนิโอ กรัมชี่ ได้อธิบายรัฐว่าเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังทางสังคมหรือชนชั้น ที่ประกอบด้วย 2 ชนชั้นคือ ชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง  (ชนชั้นปกครองหรือผู้มีปัจจัยการผลิต ประกอบด้วยนายทุนใหญ่ เจ้าที่ดินและนายทุนน้อยหรือนายทุนในชนบท ซึ่งครอบครองปัจจัยการผลิต  และชนชั้นผู้ถูกปกครองคือ ชาวนาและกรรมาชีพในความหมายที่กว้างคือทั้งคนงานในโรงงาน ช่างฝีมือ นักบวชและกลุ่มปัญญาชนด้วย)  แต่ชนชั้นปกครองเข้าถึงการใช้อำนาจบังคับ สร้างความยินยอมพร้อมใจเหนือผู้ถูกปกครอง และครอบงำด้วยอุดมการณ์ และไม่ต้องการที่จะถูกท้าทายจากกลุ่มพลังอื่นๆ นั่นหมายความว่า ในระบบรัฐเต็มไปด้วยนายทุน (ผู้บังคับบัญชา) มากกว่าแรงงาน (ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา)  นายทุนในคราบนักการเมืองรวยๆ ในพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายเอื้อให้เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ผลิต และสะสมทุนต่อไปได้ รวมทั้งองค์กร หน่วยงานรัฐที่ประกอบการ ข้าราชการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ บรรษัท ไต่เต้าและสะสมความมั่งคั่งเช่นกัน  แต่สิ่งนี้ถูกทำให้ชอบธรรม บดบัง บิดเบือนได้ด้วยกระบวนการกล่อมเกลา อบรมทางสังคม ด้วยความคิดความเชื่อทางอุดมการณ์อยู่เบื้องหลัง
 
กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐทุนนิยม
 
"อุดมการณ์" (Ideology) หรือ ทัศนคติ/มุมมอง/กรอบในการมองโลก ซึ่งความคิดและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นอุดมการณ์โดยทั่วไปจะถูกกำหนดขึ้นมาจากชนชั้นปกครอง สิ่งที่ถูกสั่งสอนกันมาในระบบทุนนิยม คือ การยอมรับระบบกรรมสิทธิ์เอกชน ความยากจนและการกดขี่เป็นเรื่องธรรมดา รัฐและพรมแดนเป็นเรื่องธรรมชาติ สถาบันกษัตริย์ ศาสนาเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผลประโยชน์ที่คนบางกลุ่มได้รับเป็นผลประโยชน์ของทุกคน หรือผลประโยชน์ของชาติคือผลประโยชน์ของทุกคน ที่เข้ากันได้กับแนวคิดลัทธิชาตินิยม กษัตริย์นิยม ที่วางกรอบคิดระบบรัฐรวมศูนย์การปกครองไว้ที่ส่วนกลาง
 
ในขณะเดียวกัน รัฐก็จะขจัดมุมมองที่ว่า เรามีความแตกต่างทางชนชั้น บดบังร่องรอยการแบ่งแยก ความขัดแย้ง การลุกขึ้นสู้ของชนชั้นผู้ถูกปกครอง เช่น ข่าวสารในสื่อของรัฐมักจะถูกขัดเกลาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง กล่าวคือ มีการนำเสนอข่าวสารแต่เฉพาะนักการเมืองระดับสูง ภาพความร่วมมือระหว่างผู้นำภาคธุรกิจ และความสามัคคีปรองดองกันระหว่างกลุ่มทางสังคมและชนชั้นต่างๆ ส่วนภาคการเมืองการต่อสู้ของประชาชนถูกทำให้เลือนลาง  ทว่า รัฐกลับก่อให้เกิดรอยร้าวระหว่างสองชนชั้นมากกว่าความปรองดอง
 
รอยร้าว ความแตกแยกระหว่างความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังทางสังคม/ชนชั้น 2 ชนชั้นนี้ แสดงออกมาในรูปแบบการทำสงครามกัน 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ สงครามแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด ที่ชนชั้นที่ถูกกดขี่ท้าทายการครองอำนาจของชนชั้นปกครอง และสงครามปะทะกัน ที่มักเกิดขึ้นในสังคมที่เปราะบาง ทว่าเป็นการต่อสู้ที่ไม่ยั่งยืนเพราะไม่สามารถครองใจคนได้นาน เนื่องจากเน้นการใช้กำลังบังคับฝ่ายตรงข้าม
กรัมชี่เสนอให้ชนชั้นกรรมาชีพใช้รูปแบบทำสงครามยึดพื้นที่ทางความคิดในประชาสังคม การบ่อนเซาะวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองในสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำ เช่น โรงเรียน สถาบันศาสนา สื่อมวลชน แม้แต่ในสหภาพแรงงาน และสร้างความรับรู้ใหม่ โลกใบใหม่ที่คนเท่าเทียมกันและเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เพื่อสร้างดุลยภาพทางอำนาจให้เหนือกว่ากับชนชั้นปกครอง
 
ในขณะที่ชนชั้นปกครองก็มีวิธีการสร้างดุลยภาพของอำนาจให้เหนือกว่า คือ การปฏิวัติเงียบเพื่อให้เกิดการปฏิรูปจากบนลงล่างโดยกีดกันคนส่วนใหญ่ออกไปจากอำนาจในระบบการเมืองเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะถูกท้าทายจากสังคม หรืออยู่ในภาวะวิกฤตศรษฐกิจ จึงต้องหาทางเอาตัวรอดจากการถูกต่อต้าน ด้วยการประนีประนอม แต่ก็พยายามรักษาและสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ด้วยการลดทอน ขัดขวาง ทำลายความเป็นเอกภาพของชนชั้นที่ถูกปกครองด้วย (วัชรพล พุทธรักษา. กลุ่มพลังทางสังคม: อันโตนิโอ กรัมชี่กับตัวแสดงทางการเมือง. ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ไม่ระบุปีที่พิมพ์)  แต่ กรัมชี่ก็เสนอว่า หากชนชั้นผู้ถูกปกครองต้องการเอาชนะ มีอำนาจเหนือกว่า ต้องต่อต้านการปฏิวัติเงียบหรือแนวคิดปฏิรูปของชนชั้นปกครองนี้ ด้วยการทำงานแนวร่วม ทำงานทางความคิดกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด
 
สรุปตรงนี้คือ เมื่อรัฐทุนนิยมถูกชนชั้นนายทุนเข้ามาใช้เพื่อปกป้องตัวเอง รักษาผลประโยชน์ในระยะยาว และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเองก็แสวงหาความมั่งคั่ง  รัฐจึงทำหน้าที่สลายความขัดแย้งทางชนชั้น บิดเบือน ป้องกันการเกิดการรวมตัวเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพที่จะเป็นอันตรายต่อระบบทุนนิยม และเมื่ออยู่ในสภาวะความขัดแย้ง ผู้มีอำนาจรัฐมักจะทำตัวเป็นกลางคอยไกล่เกลี่ย และบิดเบือนการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ  อย่างไรก็ตาม รัฐไม่สามารถครอบครองจิตใจของคนได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นเวลานานๆ เพราะในความเป็นจริงมีการต่อสู้ต่อต้านของประชาชนทั้งในระดับชีวิตประจำวันและระดับการเมือง
 
การครองใจผ่านสภาวะแปลกแยก
 
เมื่อมีการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ทำไมกรรมาชีพยังไม่สามารถเอาชนะได้ทั้งหมด เหตุหนึ่งคือ การถูกทำลายเอกภาพด้วยความคิด ความเชื่อ ความคลั่งที่ปลูกฝังกล่อมเกลามาอย่างยาวนานและเป็นประจำ แล้วทำไมประชาชนจำนวนมากถึงเชื่อนิยายของชนชั้นปกครอง ทำไมเขาครองใจคนจำนวนมากได้ ทำไมคนเชื่อว่า “ตลาด” มีพลังหรือชีวิตของมันเองที่เราต้องจำนนต่อ ทั้งๆ ที่ตลาดเป็นแค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำไมคนลืมว่ามนุษย์สร้างพระพุทธรูปด้วยมือของตนเองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา แต่หันมาเชื่อว่าพระพุทธรูปมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์วิเศษหลังจากที่ถูกสร้างขึ้นมา (ลั่นทมขาว. รากฐานและรูปแบบของ“อำนาจ”. เว็บไซด์องค์กรเลี้ยวซ้าย. 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555. http://turnleftthai.blogspot.com/2012/07/blog-post_18.html ) แล้วทำไมคนจำนวนมากในไทยเชื่อเรื่องความดีสูงสุดของกษัตริย์และราชวงศ์  ซึ่งการครองใจชนชั้นผู้ถูกปกครองดำรงอยู่ได้ เพราะด้วยสภาวะแปลกแยกที่ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทุกข์ทรมานกับการถูกลดทอนศักดิ์ศรี อำนาจในระบบเศรษฐกิจการเมืองของลัทธิทุนนิยม/เสรีนิยม ให้เสรีภาพ สิทธิพิเศษ อำนาจการต่อรองแก่นายทุนมากกว่า
 
งานของจอร์ช ลูคักส์ ว่าด้วยปรากฏการณ์ของจิตสำนึกจอมปลอมผ่านกระบวนการสร้างรูปธรรมจอมปลอม (Reification) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างสภาวะแปลกแยก  สภาวะแปลกแยกดังเช่นกรณีการแบ่งแรงงานสมองออกจากแรงงานมือเพื่อแบ่งแยกและปกครองเพื่อง่ายต่อการคิดคำนวณมูลค่าและค่าจ้างจากการผลิต  แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถแบ่งได้เพราะสมองกับสองมือเมื่อถูกแยกจะไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือการมุ่งสู่เป้าหมายแสวงหากำไรสูงสุดของนายทุนมากเกินไป แต่ไม่ใส่ใจวิธีการ กระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายว่าได้ไปกดขี่ขูดรีดผู้ผลิตหรือไม่ และมองมนุษย์ลูกจ้างเป็นเพียงแค่ปัจจัย/เครื่องมือการผลิตที่ถูกใช้เพื่อเป้าหมายของตัวเองหรือไม่  การที่ลูกค้ามุ่งสนใจแต่สินค้า โดยละเลยที่จะเข้าไปดูกระบวนทำงานและสภาพการจ้างงานของแรงงานว่าเป็นอยู่อย่างไร
 
การสร้างรูปธรรมจอมปลอมใส่ไปในหัวสมองของชนชั้นแรงงาน คือการที่ทุนทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นความสัมพันธ์กันในเรื่องของการค้า การตลาด หรือทำให้ความสัมพันธ์ของคนอยู่บนฐานของเรื่องเกี่ยวกับวัตถุที่ค้าขายแลกเปลี่ยนกัน  เป็นกระบวนการแยกต้นกำเนิดออกไป แล้วแทนที่ด้วยปรากฏการณ์ภายนอก แยกเปลือกออกจากแก่นแท้ ซึ่งเป็นการบิดเบือนจิตสำนึกของคนจากความเดียงสาไปสู่ความเพี้ยนสุดๆ
 
รูปธรรมจอมปลอมเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รับรู้ไปในทางที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริงของธรรมชาติ, ผลลัพธ์ของกฎจักรวาล หรือการแสดงเจตจำนงของเทพ รวมถึงการสร้างความต้องการที่จอมปลอม สร้างภาพว่าสินค้านั้นเป็นที่ต้องการที่มาจากภายในตัวมนุษย์ ที่ระบบกฎหมายของรัฐทุนนิยมสันนิษฐาน ทึกทักเอาเองว่าคนต้องการสินค้าจริงๆ และการร่างกฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบการสร้างสินค้าเช่นนั้น  และดังที่คาร์ล มาร์คซ์อธิบายศักยภาพของการสร้างรูปธรรมจอมปลอมว่า
 
ดอกเบี้ยที่เกิดจากทุน การบูชาสินค้าอย่างอัตโนมัติ มูลค่าสร้างได้ด้วยตัวมันเอง เงินสร้างเงิน เหล่านี้ถูกดึงออกมาให้อยู่ในสภาวะบริสุทธิ์ และตัดขาดออกจากผู้สร้างมัน ราวกับว่ามันสร้างตัวเองได้  ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนจึงถูกกลืนไปในความสัมพันธ์ของสิ่ง วัตถุ เงิน แทนที่ของการผันเงินไปเป็นทุน เรามองเห็นแต่รูปแบบที่ไม่มีเนื้อหา มีแต่เปลือกหุ้ม  เพราะการผันเงินเป็นทุนเป็นคุณลักษณะของเงินที่ก่อให้เกิดมูลค่าและดอกเบี้ย ราวกับว่ามันเป็นลักษณะของต้นลูกแพร์ที่ออกเป็นลูกแพร์ และผู้ที่ให้ยืมเงินขายเงินของเขา พอๆกับที่ดอกเบี้ยสร้างสิ่งต่างๆ  แต่ว่าไม่ใช่ทั้งหมด การทำงานของทุนอย่างที่เราเห็นมาตลอด นำเสนอตัวเองว่าเป็นแสงสว่างที่สร้างดอกเบี้ย แต่จริงๆ แล้วทุนในตัวมันเองคือ ทำให้เงินกลายเป็นทุนเพื่อใช้ประกอบการต่อไป เมื่อดอกเบี้ยเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลกำไร ของมูลค่าส่วนเกิน ที่นายทุนดูดออกมาจากแรงงาน แต่ในทางตรงข้าม ดอกเบี้ยเป็นผลผลิตจำเพาะของทุน เป็นสิ่งพื้นฐานแรกเริ่ม  ส่วนกำไรของผู้ประกอบการเป็นผลผลิตของกระบวนการผลิตซ้ำ  ดังนั้น  เมื่อเราเสพติดรูปแบบของเงินต่อเงิน  เราจะไร้ความหมาย  ดังนั้น ความวิปริตผิดเพี้ยนและการทำให้ความสัมพันธ์ทางการผลิตของคนถูกละเลยและเน้นเรื่องวัตถุ เป็นรูปแบบการทำงานของทุน  เป็นการสร้างมายาภาพของนายทุน และทุนก็จะถูกสะสม ผลิตซ้ำ สร้างให้ตัวเองมีอยู่อย่างอิสระ ตัดขาดจากกระบวนการผลิต/การทำงานของแรงงาน ทั้งๆที่เงิน กำไร ไม่ได้อยู่อย่างลอยตัว ผลลัพธ์ของกระบวนการผลิตแบบทุนเช่นนี้ คือ การแยกออกจากกระบวนการ และสร้างตัวตนที่อิสระ (Georg Lukacs. History & Class Consciousness : Reification and the Consciousness of the Proletariat ที่มา : http://www.marxists.org/archive/lukacs/works/history/hcc05.htm )
           
พูดง่ายๆ คือ กำไร ดอกเบี้ย ค่าเช่าถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติว่าเป็นผลตอบแทนของทุนและการลงทุน และค่าจ้างเป็นผลตอบแทนของแรงงาน ทุนจึงมองว่าไม่ได้ไปเอาเปรียบแรงงาน เพราะทุนสร้างผลตอบแทนเหล่านี้ขึ้นมาเอง
 
ลองนึกถึงภาพของธุรกิจการเงิน การเก็งกำไร ที่หลุดออกไปจากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงระดับราก เงินต่อเงินกลายเป็นทุน เป็นรูปแบบที่ผลิตซ้ำเพื่อนำไปสู่การขยายกิจการต่อไป
 
การสร้างรูปธรรมจอมปลอมเพื่อให้เกิดจิตสำนึกจอมปลอมของผู้คนร่วมสมัยแปลกแยกเพราะการผลิตที่มาจากผู้สร้างที่ได้รับเพียงค่าจ้างแต่ทว่าน้อยกว่ามูลค่าที่ตัวเองสร้าง นั่นคือ มูลค่าส่วนเกินเป็นที่มาของกำไร ดอกเบี้ย ค่าเช่า ที่ทุนได้ขูดรีดเอามาจากกระบวนการทำงานของแรงงาน ดังนั้น แรงงานต่างหากที่เป็นผู้สร้างทุน ไม่ใช่กำไร ดอกเบี้ย ค่าเช่าด้วยตัวมันเอง แรงงานสร้างมูลค่าที่มาจากการผลิตล้วนๆ เครื่องจักรสมัยใหม่ถ้าไม่มีคนทำงานกดปุ่ม บังคับก็ผลิตอะไรไม่ได้ ถึงจะอัตโนมัติเพียงใดก็ตาม แม้จะเอาหุ่นยนต์มาซ่อมแซมก็ต้องมีคนไปบังคับหุ่นยนต์อีกทีหนึ่ง
 
จากความสามารถในการสร้างรูปธรรมจอมปลอมของทุนคือ การทำให้ตัวเองแลดูมีบทบาทสำคัญกว่าใครในการสร้างมูลค่า ความร่ำรวย ความเจริญ ความรู้สมัยใหม่ให้แก่ประชาชน ประเทศชาติ จึงเป็นฐานคิดของทุนในการสร้างอำนาจเหนือกว่าแรงงาน ชนชั้นทุนจึงสร้างระบบรัฐ กฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการและเป็นหนึ่งเดียวกับโครงสร้างของทุน อีกทั้งโครงสร้างรัฐและทุนค่อนข้างคล้ายคลึงกันโดยพื้นฐานคือ มีรูปแบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นรากฐานของรัฐสมัยใหม่ เพื่อให้เข้ากันได้กับระบบโรงงาน เห็นได้จากระบบเวลาเข้า-ออกโรงเรียนมาจากระบบโรงงาน  ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวงธุรกิจก็เป็นแบบเดียวกันในรัฐสมัยใหม่  และเช่นเดียวกับในอดีตอำนาจของช่างฝีมือครัวเรือน ของชาวนาเจ้าของที่ดิน พระ อัศวินและศักดินาอยู่บนฐานความจริงที่ว่าเขาเองเป็นเจ้าของเครื่องมือ สินค้า แหล่งทุน เงิน หรืออาวุธเพราะเกื้อหนุนมาจากสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จในการทำงานในกองทัพ ในสถาบันการเมืองและในระบบเศรษฐกิจ หรือได้จากการทำงานในหน้าที่   ส่วนการพึ่งพาระดับบนของแรงงาน เสมียน ผู้ช่วยด้านเทคนิค ผู้ช่วยในสถาบันวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐ ทหารระดับล่าง ก็เทียบเคียงกันได้ คือ เครื่องมือ สินค้า แหล่งการเงินที่จำเป็นของทั้งสองฝ่ายเป็นไปเพื่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เพราะความอยู่รอดทางเศรษฐกิจอยู่ในมือของผู้ประกอบการ ผู้มีอำนาจทางการเมือง   ดังนั้น รัฐทุนนิยมจึงมีบทบาทแบ่งแยกชนชั้นระหว่างทุนกับแรงงาน และแรงงานกับรัฐให้แหลมคมขึ้น วิกฤตความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้นในรัฐรูปแบบนี้
 
การสร้างรูปธรรมจอมปลอมทำให้คนมีจิตสำนึกจอมปลอมอยู่ในหัวของชนชั้นกรรมาชีพผู้ถูกปกครอง ทำให้ขาดความมั่นใจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมชนชั้น ลูคักส์จึงเสนอให้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน สูงสุดคือการสร้างพรรคการเมืองเพื่อต่อสู้กับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง  กรัมชี่เสนอให้ต่อสู้ในชีวิตประจำวันเพื่อบั่นทอนรูปธรรมจอมปลอมและเอาจิตสำนึกจอมปลอมออกไปจากหัว  เพราะวัตถุ สินค้าไม่ใช่ตัวแทนของการดำรงอยู่ของสังคมแต่อย่างใด  การดำรงอยู่ของสังคมแท้จริงคือ การเคารพศักดิ์ศรีของคนทำงานเพื่อให้เขามีอำนาจในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและการเมือง และคือการคำนึงถึงสิทธิแห่งความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นฐานคิดสำหรับปรับปรุงรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง (สังคมนิยม) ต่อไป.
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท