'ยิ่งลักษณ์-พงศพัศ' บุกราบ 11 หาเสียง - 'สุหฤท' ยันเลือก 17 ได้ 17 - ไม่ทำให้เสียงแตก

'ยิ่งลักษณ์-พงศพัศ' บุกราบ 11 หาเสียง - 'สุหฤท' ยันเลือก 17 ได้ 17 - ไม่ทำให้เสียงแตก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์โพสต์คลิปขอบคุณหลังยอดไลค์ 2.38 แสน - โฆษิตออก 'เจาะข่าวตื้น' กับจอห์น วิญญู ด้าน "โสภณ พรโชคชัย" ประเมินราคา "สวนลุมพินี" ชี้กรุงเทพฯ ต้องคิดสร้างบ้านแปงเมืองอย่างมืออาชีพ แนะให้สร้าง Garden City - ให้สร้างตึกสูงแบบเว้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่สีเขียว

 เสรีพิศุทธ์โพสต์คลิปขอบคุณหลังมียอดไลค์ 2.38 แสน

สำหรับบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 3 มี.ค. นี้นั้น ล่าสุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 ได้โพสต์ขอบคุณผู้สนับสนุน หลังจากเฟซบุค https://www.facebook.com/sereepisutht มียอดคลิปไลค์กว่า 2.38 แสนไลค์ โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โพสต์ท้ายคลิปว่า

"เทคโนโลยีมีบทบาทกับเรามากขึ้นทุกวัน ผมก็เป็นอีกคน หนึ่งที่พยายามจะเรียนรู้และทำความเข้าใจ กับช่องทางสื่อสารเหล่านี้ ... เฟซบุ๊ค เป็นเสมือนช่องทางลัดที่ทำให้ เพื่อนๆ น้องๆ ได้เดินมาเจอกับผม แม้จะเป็นเพียงโลกออนไลน์ แต่ผมก็ได้รับรู้แนวคิดใหม่ๆ ข้อเสนอแนะหลายๆ อย่างอยู่เสมอ มุมมองจากคนเพียงคนเดียว เปลี่ยนโลกไม่ได้หรอกครับ' ทุกๆ ปัญหา ทุกๆเรื่องราว ที่ทุกคนร่วมแบ่งปันกันมา นับตั้งแต่วันแรกที่ผมมีแฟนเพจ เริ่มต้นจากเพียง 1ไลค์นั้น เปรียบเสมือนกำลังใจและมีคุณค่าต่อผมมากคร­ับ และผมขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้กันมา จนวันนี้ ที่มีจำนวนไลค์มากกว่า 200,000 ไลค์ นั้นทำให้ผมได้รับรู้ว่า พวกเรา ทุกคน ยังรักและห่วงใยกรุงเทพ และพร้อมที่จะช่วยกันพัฒนาให้เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ต่อไป" "ขอบคุณทุกกำลังใจ ที่มีให้กันมาโดยตลอด หนึ่งเสียงของคุณ กับอีกหนึ่งใจของผม มาร่วมสร้าง กรุงเทพฯที่น่าอยู่ด้วยกันนะครับ"

นอกจากนี้เมื่อวานนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังโพสต์สเตตัสพร้อมคลิปย้ำนโยบาย "4 ปี ซ่อม สร้าง" ด้วยว่า "เปลี่ยนกรุงเทพได้จริง กับนโยบายที่ทำได้จริง ไม่เพ้อฝัน เลือกผม เสรีพิศุทธ์ เบอร์ 11 กับนโยบาย 4 ปี ซ่อม สร้าง"

 

"จอห์น วิญญู" สัมภาษณ์โฆษิต สุวินิจจิต ออก "เจาะข่าวตื้น"

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา รายการ "เจาะข่าวตื้น" ดำเนินรายการโดยนายวิญญ วงศ์สุรวัฒน์ หรือ "จอห์น วิญญู" ได้เชิญนายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 10 อดีตผู้บริหารสปริงนิวส์มาออกรายการ โดยมีการตอบคำถามเคลียร์หลายประเด็นทั้งเรื่อง ทั้งเรื่องที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นผู้สมัครนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยระบุว่าที่ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งบทบาทสื่อ และการเป็นที่ปรึกษาให้กับหลายพรรคการเมือง หลายหน่วยงานราชการ ทำให้เห็นปัญหา และอยากจะเข้ามาแก้ไข โดยก่อนหน้านี้รายการ "เจาะข่าวตื้น" เคยสัมภาษณ์สุหฤท สยามวาลา และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มาแล้วด้วย

 

สุหฤทยันกา 17 ได้ 17 ไม่เสียงแตก ไม่แย่งคะแนนใคร 

ด้าน สุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 17 นั้น เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ได้โพสต์สเตตัสพร้อมแผนผัง แสดงเป้าหมายของคะแนนที่ตั้งเป้าหมายว่าจะได้จากผู้สนับสนุน และจั่วหัวในแผนผังว่า "ขออภัยที่ทำให้เสียงแตก อย่าขัดแย้งกันเพราะผม ผมชนะได้โดยไม่ต้องไปแย่งคะแนนของใคร" และระบุในคำบรรยายภาพว่า "กา 16 ได้ 16 กา 9 ได้ 9 และผมมีวิธีที่ กา 17 ได้ 17 คนในกรุงเทพฯไม่ได้มีแค่คนเลือกสองพรรคใหญ่ครับ อย่าให้ผมไปอยู่ในความขัดแย้งนั้นเลยครับ ผมจะขายนโยบายจนวันสุดท้ายและอยากให้ท่านเลือกผู้ว่าฯที่นโยบาย ความเห็นทางการเมืองของทุกท่านถูกหมดเห็นไม่ตรงกันได้แต่ไม่ต้องทะเลาะกัน แต่อย่าห้ามสิทธิ์คนเลือกทางที่ไม่ตรงกับคุณ เขามีสิทธิ์เท่ากับคุณ ต่างคนต่างเชียร์ไป ตอนนี้คนที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจนคนสองล้านคนที่หายไปและหนุ่มสาวที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งจะเป็นคนหักปากกาเซียนทุกสำนัก ออกมากันเยอะๆครับ ส่งข้อความที่ท่านต้องการจริงๆถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองบ้าง ไม่ใช่พูดอะไรกับเราก็ได้ครับ จบเรื่องเสียงแตกนะบัดนี้ครับ เริ่มต้นความกล้าที่จะก้าวไปทำในสิ่งที่เชื่อ ผมลุยเต็มที่ สู้โว้ย !!!!"

และเมื่อวันที่ 28 ก.พ. สุหฤท ได้โพสต์คลิป "เสียงแตก" ความยาว 1.26 นาทีอีกครั้งหนึ่งด้ว และยังโพสต์ภาพป้ายหาเสียงที่ทำด้วยถังขยะ โดยจุดแรกที่มีการนำไปวางคือบริเวณทางเท้าใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT กำแพงเพชร

 

ยิ่งลักษณ์-พงศพัศเข้าราบ 11 หาเสียงกำลังพล

ส่วนนายพงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 9 จากพรรคเพื่อไทยนั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) เฟซบุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพ นายพงศพัศ พงษ์เจริญ พร้อมด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางปวีณา หงสกุล เข้าไปหาเสียงในกรมทหารราบที่ 11 รอ. โดยมีกำลังพลรอต้อนรับและมอบดอกกุหลาบให้กับผู้สมัครด้วย นอกจากนี้เฟซบุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีการโพสต์ภาพบรรยากาศการหาเสียงช่วยผู้สมัคร ที่สวนลุมพินีเมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 1 มี.ค. นี้ด้วย

 

"โสภณ พรโชคชัย" ประเมินราคา "สวนลุมพินี" เสนอให้กรุงเทพฯ สร้าง Garden City

ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) ได้เดินทางไปหาเสียงที่สวนลุมพินี และเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 46 "หาเสียงส่งท้าย ตีค่าสวนลุมพินี เร่งสร้างเพิ่ม" ลงในเฟซบุค "ดร.โสภณ พรโชคชัย" ด้วย

โดยในแถลงการณ์ระบุว่า

"เช้าวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 4 ได้ออกหาเสียงภาคสนามในส่วนของตนเองในครั้งสุดท้าย ณ สวนลุมพินี ได้พบปะกับพี่น้องประชาชน รวมทั้งเยาวชนและผู้สูงวัยในสวนลุมพินี พร้อมพาผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ผู้สูงวัยในสวนลุมพินีอีกด้วย

ในการนี้ ดร.โสภณ ได้ประมาณการมูลค่าของสวนลุมพินีไว้คร่าว ๆ 37,800  ล้านบาท หรือตกเป็นเงินตารางวาละ 262,000 บาท ซึ่งแม้จะถูกกว่าราคาที่ดินที่สีลมที่ประเมินไว้ที่ 1,200,000 บาทต่อตารางวา แต่ก็นับว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก และยังเอื้อให้มูลค่าที่ดินโดยรอบเพิ่มสูงขึ้นด้วยเพราะการดำรงอยู่ของสวนลุมพินี ดังนั้นจึงควรที่จะหาทางพัฒนาสวนสาธารณะโดยเฉพาะในเขตเมืองเพิ่มขึ้น เพื่อลดความตึงเครียดและเพิ่มความสุขแก่ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร

รายละเอียดการคำนวณเป็นดังนี้:

1. เริ่มต้นที่การประมาณการจำนวนผู้ใช้สวนลุมพินีวันละประมาณ 12,000 คน (ปกติ 8,000 – 10,000 คน และวันเสาร์อาทิตย์ประมาณ 12,000 – 15,000 คน ทั้งนี้สอบถามจากสำนักงานสวนลุมพินี

2. ถ้าไม่มีสวนลุมพินี ประชาชนอาจต้องไปใช้บริการที่อื่น โดยเฉพาะภาคเอกชน ทั้งนี้ประมาณการค่าใช้จ่ายตกเป็นเงินวันละ 200 บาทต่อวัน แต่สวนลุมพินีเปิดให้ใช้ฟรี

3. ดังนั้นวันหนึ่ง ๆ การใช้สวนลุมพินีมีมูลค่ารวม 2.4 ล้านบาท (12,000 คน ๆ ละ 200 บาท) หรือปีละเป็นเงิน 876 ล้านบาท

4. หากคิดจากอัตราผลตอบแทนที่ 3.5% เพราะแทบไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ในการดำเนินการสวนลุมพินีนี้ มูลค่าการใช้สวนลุมพินีจะเป็นเงิน 25,028.57 ล้านบาท (โดยคิดจากสูตรว่า มูลค่าเท่ากับรายได้หารด้วยอัตราผลตอบแทน หรือ 876 ล้าน หารด้วย 3.5%)

5. ยิ่งกว่านั้นการมีสวนลุมพินี ยังก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเติมแก่อสังหาริมทรัพย์โดยรอบ โดยประมาณการว่าโดยรอบสวนลุมมีระยะทาง 3,040 เมตร  แม้ในความเป็นจริงจะมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งอยู่ แต่หากสมมติให้สามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นเชิงพาณิชย์ได้ อสังหาริมทรัพย์ที่หันหน้าเข้าทางวิวสวนลุมพินีก็ย่อมมีมูลค่ามากกว่า

6. หากพื้นที่ 70% ของระยะโดยรอบ 3,040 เมตร หรือ 2,128 เมตรสามารถสร้างอาคารได้ และสร้างอาคารประมาณว่าลึก 100 เมตร ก็จะสามารถสร้างอาคารได้ 212,800 ตารางเมตร

7. หากการก่อสร้างสามารถสร้างได้ 10 เท่าของพื้นที่ก่อสร้าง ก็เท่ากับจะสามารถสร้างไดถึง 2,128,000 ตารางเมตร  

8. หากประมาณการว่า 60% ของพื้นที่ดังกล่าวสามารถนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์ได้ ก็จะมีพื้นที่ขายหรือให้เช่าได้ 1,276,800 ตารางเมตร ส่วนที่เหลือใช้เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลาง โถงลิฟท์ และอื่น ๆ

9. ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานในพื้นที่นี้ควรเป็นเงินประมาณตารางเมตรละ 100,000 บาท หากประมาณการคร่าว ๆ ว่า การได้อยู่ใกล้หรือมีวิวสวนลุมพินี น่าจะมีมูลค่าล้ำกว่ากัน 10% ก็เท่ากับว่าค่าการอยู่ใกล้หรือการมีวิวเป็นเงินตารางเมตรละ 10,000 บาท

10. ดังนั้นด้วยพื้นที่ 1,276,800 ตารางเมตร ณ ตารางเมตรละ 10,000 บาทที่เป็นส่วนล้ำของการอยู่ใกล้หรือได้วิวสวนลุมพินี ก็จะเป็นเงิน 12,768 ล้านบาท

11. มูลค่าของสวนลุมพินี จึงเป็นเงินเบื้องต้นประมาณ 37,796.57 ล้านบาท (ข้อ 4 + ข้อ 10) และโดยที่สวนลุมพินีมีขนาด 360 ไร่ จึงตกเป็นเงินตารางวาละ 262,476 บาท

นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการให้เช่าต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้คิดไว้ในรายละเอียดในที่นี้  จึงจะเห็นได้ว่า สวนลุมพินีนั้นมีมูลค่ามหาศาล แม้จะต่ำกว่ามูลค่าของราคาที่ดินเพื่อการพาณิชย์ทั่วไปก็ตาม การดำรงอยู่ของสวนลุมพินี ยังช่วยเพิ่มพูนมูลค่าแก่อสังหาริมทรัพย์ใกล้เคียงอีกเป็นจำนวนมาก หากไม่มีสวนลุมพินี มูลค่าทรัพย์สินโดยรอบอาจจะลดลงไประดับหนึ่ง 

จากมูลค่าเบื้องต้นที่ 262,000 ล้านบาทนี้ ชี้ว่า หากทางราชการนำสถานที่ราชการใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะเพิ่มเติม ก็จะคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากพิจารณาถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนที่หากเจ็บป่วยเพราะไม่ได้ออกกำลังกายเพียงพอ จะเกิดความสูญเสียกว่านี้มากนัก  สวนลุมพินีสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ควรมีเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งในใจกลางเมือง

ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ควบคุมอาคาร ควรกำหนดผังเมืองให้สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ใจกลางเมือง โดยให้สร้างได้ 15-20 เท่าของขนาดที่ดิน ให้ขึ้นอาคารสูง ๆ แต่ให้เว้นพื้นที่โดยรอบให้มาก ก็จะทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองได้อีกมาก กลายเป็น Garden City เช่น สิงคโปร์ ที่ออกแบบเมืองให้มีความหนาแน่นสูง (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) แต่กรุงเทพมหานครของไทยเรากลับเป็นแบบตรงกันข้ามคือแออัดแต่ไม่หนาแน่น มีจำนวนประชากร 3,600 คนต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่สิงคโปร์มีสูงถึง 7,000 คน และนครนิวยอร์คมีสูงถึง 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร เป็นต้น

เราต้องคิดวางแผนและสร้างบ้านแปงเมืองอย่างมืออาชีพเสียที่"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท