ข้อสังเกตกรณี “พระธรรมทูตไทย”ในอเมริกา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
กาลมาฆะบูชาปี 2556 ที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน ทำให้คิดว่า น่าที่จะมองกันถึงบทบาทโดยทั่วไปของพระสงฆ์ไทยในอเมริกา ซึ่งท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่น่าจะถูกเรียกตามบทบาทหน้าที่ว่า “พระธรรมทูต” เพราะมีหน้าที่ในการเผยแผ่หลักพุทธธรรมของพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับการฝึกฝนตนเองตามหลักธรรมวินัย 
 
ความจริงแล้วหากจะพูดกันเรื่อง(งาน)พระธรรมทูตในอเมริกาแล้วย่อมเป็นเรื่องที่หลากหลายมาก ภาพการมององค์กรสงฆ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะองค์กรสงฆ์ในอเมริกาของคนไทยที่อยู่เมืองไทยและไม่เคยมาสัมผัสชีวิตประจำวันในอเมริกา อาจนึกไม่ออกมา “ชีวิตพระไทย” ในต่างแดนอย่างอเมริกามีความเป็นอยู่อย่างไร
 
ผมคิดเองว่า คนไทยในเมืองไทยส่วนมากจินตนาการชีวิตอเมริกันในแง่ของความอลังการด้านความเป็นอยู่เชิงวัตถุ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งก็ไม่น่าจะผิดนัก แต่แล้วพระไทย ซึ่งมี “วัตรปฏิบัติเป็นการเฉพาะ” อยู่ได้ด้วยธรรมวินัย ในวิถีนักบวชจะอยู่กับสังคมหรือชุมชนอเมริกันอย่างไร  อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเกิดความสงสัยขึ้นว่า “พระไทยในอเมริกาออกบิณฑบาตกันหรือไม่?”
 
นอกเหนือไปจากความเป็นอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่ผมเชื่อว่า ชาวพุทธทั่วไปไม่ว่าที่ไหนก็ตามเป็นห่วง คือ วัตรปฏิบัติ(ปฏิปทา)ของพระสงฆ์ในต่างประเทศเป็นอย่างไร ดำรงตนอย่างเหมาะสมกับสมณสารูปมากน้อยขนาดไหน สามารถปฏิบัติในธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด หรือว่าต้องหลิ่วตาตามวัฒนธรรมฝรั่งในกรอบกฎหมายอเมริกัน 
 
กฎหมายอเมริกันกำหนดให้วัดหรือองค์กรสงฆ์เป็นประเภทองค์กรไม่หวังผลกำไร(nonprofit organization) และรัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวในการกำหนดนโยบายด้านศาสนา(secular state)  แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบของกฎหมายองค์กรไม่หวังผลกำไรทั่วไปเหมือนกับองค์กรไม่หวังผลกำไรอื่นๆ กฎหมายอเมริกันถือว่าการนับถือลัทธิศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจก จึงให้สิทธิเสรีภาพเต็มที่ เพียงแต่อย่าไปละเมิดสิทธิคนอื่นหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเป็นพอ ดังนั้น วัดไทยแต่ละวัด ก็คือ หนึ่งองค์กรไม่หวังผลกำไรองค์กรหนึ่งนั่นเอง 
 
คงไม่สามารถระบุจำนวนวัดไทยในอเมริกาอย่างชัดเจนได้  เนื่องจาก  3  สาเหตุหลัก  คือ 1) การจัดตั้งวัดในอเมริกาเป็นเรื่องเอกเทศ ใคร(กลุ่ม)ใดก็สามารถจัดตั้งตามกฎหมายได้  2) มีการจัดตั้งวัดหรืออ้างว่าเป็นวัดไทย เชิงองค์กรเถื่อนจำนวนหนึ่ง(ไม่จดทะเบียนองค์กรตามกฎหมายอเมริกัน) และ 3) การจัดตั้งวัดไทยจำนวนไม่น้อย ไม่ขึ้นต่อการบริหารและกำกับของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา(The council of Thai Bhikkhus in the U.S.A.) ซึ่งเป็นองค์กรดูแลวัดไทยและพระไทยอย่างเป็นทางการ(และเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการที่เชื่อมไปยังสายการบริหารคณะสงฆ์ในเมืองไทย โดยมีแกนหลักอยู่ที่มหาเถรสมาคม) ทำให้ข้อมูลตัวเลขจำนวนวัดไทยที่แท้จริงไม่สามารถเก็บรวบรวมได้ทั้งหมด (ตัวเลขของวัดไทยในอเมริกา ซึ่งรวบรวมโดยสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ประกอบด้วยวัดฝ่ายมหานิกาย จำนวนประมาณ 91 วัด และฝ่ายธรรมยุตนิกาย จำนวนประมาณ 25 วัด- ดูใน ทำเนียบวัดไทยในต่างประเทศ: คณะมหานิกาย และคณะธรรมยุต ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม )
 
ที่สำคัญ ประเด็นดังกล่าวกลับมีความซับซ้อนลงไปกว่านี้อีก เพราะวัดไทยและพระไทยทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายอเมริกัน ซึ่งเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับ “การปฏิบัติตามวินัยสงฆ์” ไม่เหมือนกฎหมาย(พ.ร.บ.)คณะสงฆ์ขอ’ไทยที่เชื่อมโยงอำนาจรัฐกับองค์กรสงฆ์ ,กฎหมายอเมริกันเกี่ยวข้อง(บังคับ)ต่อองค์กรไม่หวังผลกำไรในส่วนของกฎระเบียบ(bylaw)ขององค์กรที่ต้องร่างขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งสำหรับความเป็นองค์กรสงฆ์ที่สมบูรณ์ในบริบทเถรวาท(แบบไทย)ที่ยึดถือวินัยสงฆ์เป็นหลักแล้วถือว่า กฎระเบียบ(bylaw)นี้มีนัยสำคัญต่อการปฏิบัติตามกรอบวินัยสงฆ์น้อยมาก และเป็นเหตุให้ความเป็นองค์กรกลางดูแลกำกับพระสงฆ์ในอเมริกา ของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ไม่ต่างอะไรจาก “เสือกระดาษ”
 
เมื่อเป็นดังนี้ (หากคิดตามมุมมองของเถรวาทไทย) จึงทำให้เกิดปัญหาในดูแลและบริหารจัดการวัดและคณะสงฆ์ในอเมริกาอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งคณะสงฆ์ดังกล่าว ย่อมหมายถึง“พระธรรมทูต” ที่ส่วนใหญ่ถูกส่งไปจากเมืองไทย  จึงขอตั้งข้อสังเกตต่อความเป็นไปของพระธรรมทูตไทยในอเมริกา ดังนี้
 
1.พระธรรมทูตไทยส่วนหนึ่ง(และน่าจะเป็นส่วนมากด้วยซ้ำ)ไม่สามารถปรับตัวเชิงการเรียนรู้วัฒนธรรมอเมริกัน โดยเฉพาะในเรื่องของวัฒนธรรมภาษา เรื่องนี้นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)เองเคยยอมรับว่า ภาษาที่จะใช้ในการสื่อสารกับประชาชนในประเทศนั้นๆ ทำให้เกิดปัญหาต่อการเผยแผ่พุทธศาสนา โดยประเด็นหลักๆ ของมาตรฐานความรู้ของพระธรรมทูต คือต้องมีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะการเผยแผ่พุทธศาสนา ต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งมีความรู้เรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศต่างๆด้วย(ดูใน ไทยรัฐ: สำนักพุทธฯเสนอกรอบมาตรฐานพระธรรมทูตต่างแดน)
 
2.ปัญหาจากการกำหนดมาตรฐานความรู้ คุณสมบัติของพระธรรมทูตที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศยังไม่ชัดเจน และถึงแม้การกำหนดมาตรฐานความรู้และคุณสมบัติของพระธรรมทูตจะชัดเจนเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาในการดูแลควบคุมพระธรรมทูตที่ประพฤตินอกลู่นอกทางวินัยสงฆ์อยู่ดี เพราะคณะสงฆ์อยู่ในระบบกฎหมายอเมริกัน(ในประเทศอเมริกา) ขณะที่กฎหมายไทยและระเบียบบังคับของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ไม่สามารถเอื้อมถึง การณ์จึงเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากพระสงฆ์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือบ้าง ไม่ได้รับความร่วมมือบ้าง(ส่วนใหญ่ใช้ได้เพียงมาตรการเดียวคือ การไม่ออกหนังสือรับรองการต่อวีซ่าให้พระสงฆ์รูปที่ไม่ให้ความร่วมมือนั้น)
 
3.พระธรรมทูตส่วนหนึ่ง มุ่งหวังสถานะการเป็นผู้มีถิ่นฐานถาวรในอเมริกา(บุคคลผู้ถือใบเขียว-permanent resident/green card) ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางสู่การใช้ชีวิตในอเมริกาอย่างถาวร ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเป็นพลเมืองอเมริกันต่อไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมการอาศัยสถานภาพสงฆ์ เป็นใบเบิกทางสู่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าที่จะเกื้อกูลต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาจริงๆ ส่วนใหญ่พระธรรมทูตประเภทนี้เมื่อสมประสงค์แล้วก็สิกขาลาเพศออกไปเป็นฆราวาสประกอบอาชีพการงานต่างๆ นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรทั้งในส่วนของคณะสงฆ์และส่วนของรัฐที่มีการลงทุนสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพระธรรมทูต  
 
4.มีวัดไทยในอเมริกาที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร(วัดเถื่อน)อยู่เป็นจำนวนหนึ่ง โดยเกิดขึ้นจากความประสงค์ของพระธรรมทูตเองที่แยกตัวออกไปจากวัดที่ตนเองเคยสังกัด อีกกรณีหนึ่งเกิดจากแรงศรัทธาจากชาวพุทธฆราวาส พระธรรมทูตจำนวนหนึ่งโดยการสนับสนุนของญาติโยม ได้ดัดแปลงบ้านเป็นสำนักสงฆ์ กระทำกันเองด้วยความรู้เท่าหรือไม่รู้เท่า โดยไม่ได้คำนึงถึงภาพลักษณ์ขององค์กรสงฆ์โดยรวม เกิดเป็นสำนักสงฆ์เถรวาท(ไทย) ยากแก่การกำกับควบคุมโดยสมัชชาสงฆ์ไทยฯ หรือแม้แต่การดูแลจากสงฆ์ด้วยกันเอง
 
5.จากประวัติศาสตร์ขององค์กรสงฆ์ไทยในอเมริกา การที่พระธรรมทูตได้สถานะการมีใบเขียว(green card) หรือเป็นพลเมืองอเมริกัน ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า จะเป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกในการเผยแผ่พุทธศาสนาเสมอไป หากแต่พระสงฆ์กลุ่มนี้จำนวนหนึ่งกลับมีแนวโน้มสิกขาลาเพศ เพื่อใช้สิทธิการทำงานและสิทธิความเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างเต็มรูปแบบ
 
6.พระธรรมทูตที่ไปจากเมืองไทยมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ หนึ่ง  กลุ่มที่เดินทางไปโดยการสนับสนุนหรือไปโดยภายใต้การอำนวยการของหน่วยงานของคณะสงฆ์ไทยและของรัฐบาล เช่น มหาเถรฯ กองงานพระธรรมทูต เป็นต้น   กับ สอง คือกลุ่มพระสงฆ์ที่เดินทางไปโดยการสนับสนุนหรือการอำนวยการของสำนัก(วัด)ต่างในประเทศไทยเป็นผู้จัดส่งไป ทั้งหมดแม้ได้ชื่อว่าเป็นพระธรรมทูตเหมือนกัน แต่ในแง่ของการกำกับดูแลขององค์กรสงฆ์อย่างสมัชชาสงฆ์ไทยฯแล้ว กระทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะมีที่มาและสายการบังคับบัญชาที่แตกต่างกันไป
 
7.พระธรรมทูตไม่มีการปฏิบัติต่อวินัยสงฆ์อย่างเป็นมาตรฐานกลาง เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านต่างๆในอเมริกาไม่เหมือนเมืองไทย  เช่น วัฒนธรรม ภูมิอากาศ ทำให้วัตรปฏิบัติด้านวินัยของสงฆ์บางอย่างที่ปกติใช้กันอยู่ในเมืองไทย ไม่สามารถใช้ได้ในอเมริกา เช่น การบิณฑบาต การครองจีวร การปฏิสัมพันธ์กับสีกา การขับรถ การฉันตามบ้าน เป็นต้น การณ์จึงเป็นไปในลักษณะของการที่พระธรรมทูตแต่ละรูปเลือกปฏิบัติเอาแล้วแต่สะดวกโดยไม่มีมาตรฐาน(เกณฑ์) กลางกำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามในอันที่จะเรียกศรัทธามหาชน  
 
8. พระธรรมทูตไทยส่วนใหญ่การไม่ได้มีส่วนร่วมปฏิสัมพันธ์กับชุมชนอเมริกัน แต่กลับขลุกอยู่กับชุมชนไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความเป็นอยู่ในลักษณะดังกล่าว ไม่น่าจะถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์การเผยแผ่พระสัทธรรมในต่างประเทศ แม้ข้อดีจะเป็นในแง่การเผยแผ่และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย แต่เป้าประสงค์หลักในการนำเสนอหลักพุทธธรรมต่อชุมชนอเมริกันได้ถูกเบี่ยงเบนออกไปเหลือแค่วงแคบๆ คือ ในชุมชนไทย-ลาวเท่านั้น ขณะที่การเผยแผ่ศาสนาของชาวพุทธฝ่ายวัชรยานได้ผลมากกว่า เพราะเข้าถึงชุมชนอเมริกัน (ส่วนหนึ่งดูใน สัมภาษณ์อดีตพระสันติกโร โดยพระไพศาล วิสาโล)
 
9.เมื่อระบบการเมืออเมริกันแยกรัฐออกจากศาสนา ความสนใจ ศึกษาและปฏิบัติในลัทธินิกายต่างๆ ย่อมเป็นไปอย่างกว้างขวางและเสรี ,พุทธศาสนานิกายเถรวาท(แบบไทย) เป็นเพียงหนึ่งในหลายลัทธินิกายนั้น รวมถึงในบรรดาพุทธนิกายด้วยกัน
 
10.ยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระสงฆ์และองค์กรสงฆ์ไทยในฐานะของการทำหน้าที่พระธรรมทูตในอเมริกาเชิงการประเมินผลว่าได้ผลมากน้อยอย่างไร มีอุปสรรคอย่างไรบ้าง และทางออกควรเป็นอย่างไร
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท