ผู้สื่อสารเรื่องราวว่า “การฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก”

ครั้งหนึ่งเราอาจสะใจหรือสมน้ำหน้าในความตายของตัวผู้ร้าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อเราดูหนังสักหนึ่งเรื่อง นั้นคือจุดเริ่มต้นสู่ความรู้สึกในโลกความเป็นจริงเช่นกัน สำหรับการตายของผู้ร้ายสักคนในชีวิตจริง คำถามว่าเรายังรู้สึกอย่างนั้นอยู่อีกไหม? บางคนรู้สึกปลอดภัยขึ้นเมื่อเห็นภาพข่าวว่ามีการวิสามัญโจรผู้ร้ายในโทรทัศน์ บางครั้งเราพลอยสะใจไปกับภาพการรุมประชาทัณฑ์ในขณะที่ตำรวจนำคนร้ายไปทำแผนรับสารภาพ

ช่องป้อมปืนสำหรับต่อสู้ศัตรูของจริง"การฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก"

 
ในช่วงสัก 15 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงในโลกของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนไป อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การสื่อสารที่ไร้พรมแดนในโลกอินเตอร์เน็ต ที่ทวีความเข้มข้นมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดพื้นที่สื่อสาร 3 ทางระหว่างผู้เสพ ผู้รับสาร และผู้ส่งสาร  พบได้ใน Facebook พื้นที่ของการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกมากมายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งโกรธเกรี้ยว ประณามหยามหยัน ดีใจ สมน้ำหน้า ด้วยความพยายามปั้นแต่งข้อความให้มีน้ำหนัก มีเหตุผลรองรับ ถ้อยคำโดนใจในกลุ่มเป้าหมายของตนเอง เราอาจไม่มีเวลาสับสนมึนงง เพราะเรากลายเป็นส่วนหนึ่งในผู้เสพ ผู้รับ และผู้ส่งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไปแล้ว และกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราอาจสนุกไปกับการฆ่ากันโดยรู้ตัวอยู่ลึกๆ
 
ความรู้สึกหวาดกลัว ความเคียดแค้นชิงชัง ของผู้คน เกิดขึ้นหลังจากได้รับฟังคำบอกเล่า รับข่าวสารทางสื่อ การเข้าไปติดตามข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ต บวกรวมกับสถานการณ์ตรงที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน นำสู่การพยายามหาทางออกในระดับปัจเจก เพราะปุถุชนโดยทั่วไปนั้น ความรู้สึกโดยสามัญย่อมเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ในความรู้สึกที่ทุกข์ใจ หรือคับข้องใจ โดยธรรมชาติ มนุษย์จึงดิ้นรนเพื่อความรู้สึกที่สบายกว่า จากความรู้สึกหนึ่งที่หายไป ทดแทนด้วยความรู้สึกใหม่เข้ามา นั้นคือกระบวนการปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์ความรุนแรงของจิตใต้สำนึกอย่างไม่รู้ตัว    
 
ความสนุกเป็นความรู้สึกหนึ่งที่เข้ามาทดแทน ความสนุกเกิดขึ้นเมื่อทราบข่าวโดนใจ แม้เป็นข่าวร้ายแต่มีความสะใจแฝงมาด้วย ความสูญเสียของฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ด้วยความรู้สึกชอบใจในความคิดว่านั้นคือเป็นหมู่พวกตนเอง ข้อความที่แสดงออกอย่างรุนแรงในเฟสบุ๊ค เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือครูเสียชีวิต โดยกล่าวว่านี้คือบทลงโทษที่สาสมแล้วสำหรับผู้รุกราน ถ้อยคำประณามหยามหยันของสมาชิกที่เป็นชาวไทยพุทธ(หัวรุนแรง)บางกลุ่มก็แสดงออกมาได้เผ็ดร้อนไม่น้อยไปกว่ากัน เมื่อปรากฏข่าวฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐสามารถสังหารฝ่ายแนวร่วม

จากการสังเกตข้อความและถ้อยคำโดยรวม การแสดงออกที่ชัดเจนว่า ในกลุ่มเฟสบุ๊คหน้า “กลุ่มติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้” แยกสมาชิกออกเป็น 2กลุ่มคนอย่างชัดเจน คือฝ่ายสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ กับฝ่ายสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการฯ ส่วนสมาชิกที่แสดงความคิดเห็นแบบเป็นกลาง ส่วนหนึ่งไม่สามารถทนกับแรงกดดันกับชุดข้อมูลที่นำมาลงได้ ส่วนใหญ่มักถูก 2 กลุ่มแรงส่งข้อความให้พิจารณาตัวตนว่า จุดยืนที่แท้จริงอยู่ข้างไหน มีความพยายามโพสข้อมูลเพื่อโน้มน้าวกันอย่าง “สนุกสนาน!”

 
อย่างไรก็ตามพื้นที่ในโลกอินเตอร์เน็ตถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น สามารถคัดกรองชุดข้อมูลที่น่าสนใจได้อย่างอิสระ การแสดงออกทางความรู้สึกของผู้คนในแต่ละกลุ่ม ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ความรู้สึกชิงชังระหว่าง 4 กลุ่มคน คือ ชาวไทยพุทธ(สยาม/ซีแย),ชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิม(นายู) เจ้าหน้าที่รัฐ และแนวร่วมขบวนการฯ ที่แสดงออกอย่างรุนแรงตรงไปตรงมา ถ้อยคำเสียดสีที่กระทบต่อ ความเชื่อ ความศรัทธา และอุดมการณ์รัฐชาติ นั้นคือเวทีสาธารณะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนที่ยังไม่มีองค์กรใดสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นในระดับนี้ได้
 
เมื่อมีข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งหนึ่ง ยกตัวอย่าง กรณีระเบิดรถทหารมีทหารเสียชีวิตได้รับบาดเจ็บ ในกลุ่มติดตามสถานการณ์มีเรื่องขึ้นมาพูดคุยครั้งหนึ่ง ช่องทางสื่อสาร โดย ผู้เสพสาร ผู้รับสาร ผู้ส่งสาร ในระดับชาวบ้าน วงคุยร้านน้ำชา วงคุยสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยที่สุดในกล่องความคิดที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ไม่นิยมใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตในการสื่อสาร หากอยู่ในกลุ่มพูดคุยที่ต่างความคิดก็มักระมัดระวังในการพูดคุย การสงวนท่าทีแบบชาวบ้านแสดงออกมาอย่างจริงใจ โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไม่คิดว่าพลังของชาวบ้านนั้น มีศักยภาพมากพอที่จะแสดงออกไปถึงสังคมโดยรวม หรือชาวบ้านเข้าใจว่าพลังภาคประชาสังคมยังไม่มากพอที่จะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ฆ่ารายวันที่เกิดขึ้นอยู่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว ถ้าหากตนเองประกาศจุดยืนในแนวทางที่ไม่อิงกับอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับผู้คนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรมภาคประชาสังคม เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหรือกระบวนการด้านสันติภาพนั้น เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือมีคนใกล้ชิดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หรืออย่างน้อยก็ได้รับผลกระทบด้วยต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเงื่อนไขจากอำนาจที่มาจากภายนอกพื้นที่มากกว่า ทางออกในการผ่อนคลายความรู้สึกกังวล ความเคียดแค้น และความเครียดสะสมจากสถานการณ์ แสดงออกมาในพื้นที่จำกัดของวงคุยเล็กๆ ในร้านกาแฟของชุมชน ในมัสยิดระหว่างเดินทางไปละหมาด วงคุยหลังทำบุญไว้พระ วงคุยของกลุ่มครูในโรงเรียน กลุ่มข้าราชการในหน่วยงานต่าง ซึ่งมีชุดข้อมูลที่ต่างกันออกไป และมีกรอบของความหวาดกลัวครอบอยู่อีกชั้นหนึ่ง

 
หากในพื้นที่เฟสบุ๊คใน ยกตัวอย่าง “กลุ่มติดตามสถานการณ์ชายแดนภาคใต้” ได้เกิดพื้นที่การถกเถียงกันอย่างร้อนแรง เต็มไปด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงอารมณ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจน ในความสะใจในการเสียชีวิตของฝ่ายทหารอันเป็นภาพสัญลักษณ์ของขั้วรัฐไทย เช่นเดียวกับกรณีการยิงชาวบ้านที่เป็นมุสลิม หรือกลุ่มผู้ที่คาดว่าเป็นแนวร่วม คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมาราวเป็นผู้ที่ร่วมก่อเหตุการณ์จริงๆ ของบรรดาสมาชิก ทำให้พื้นที่ดังกล่าววิวาทะประสาสะกันอย่างร้อนแรงในความรู้สึกนึกคิดที่มากกว่าโลกของความเป็นจริง
 
การสร้างน้ำหนักของข้อมูลเพื่อเพิ่มเหตุผลด้านบวกและลบในการตายของคนคนหนึ่ง เป็นเรื่องราวและหน้าที่ของคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นหรืออย่างไร? อย่างน้อยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือญาติพี่น้องของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนใกล้ชิด คนรักในครอบครัว ภรรยา สามี บุตร พ่อแม่ บุคคลใกล้ชิดเหล่านี้ เป็นตัวแทนในการรับรู้ในเรื่องราวที่สังคมบอกเล่า หากเขาเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมหรือเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เป็นประเด็นร้อนในการวิภาควิจารณ์โดยสังคมรวม ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลใกล้ชิดของผู้ตาย เรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ เรื่องส่วนตัวหรือสถานการณ์ ข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาแน่ชัด เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของบุคคลใกล้ชิดผู้ตาย

สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือการกระทำของบุคคลรอบข้างของบุคคลผู้ใกล้ชิดผู้ตาย เช่น ครูที่แสดงออกต่อนักเรียนที่พ่อเสียชีวิตในสถานการณ์ โดยข้อเท็จจริงบางส่วนที่ครูรับทราบ ว่าพ่อของเด็กที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นหนึ่งในแนวร่วมขบวนการฯ แน่นอน!ว่า ความรู้สึกหวาดระแวงของครูส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สอนนักเรียนคนดังกล่าว ซึ่งประเด็นนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของสื่อสาธารณะ สื่อจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างบทบาทหน้าที่กับความรับผิดชอบต่อแหล่งข่าว เครือญาติของผู้ได้รับผลกระทบ และ ผู้เลือกพื้นที่สื่อสารในโลกอินเตอร์ควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก และเราในฐานะผู้เสพสาร ผู้รับสาร และผู้ส่งสาร อาจกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการฆ่ากันทางความรู้สึก ที่สนุกกับความตายของใครสักคน ร่วมละเลงความรู้สึกบนหน้ากระดานความคิด โดยไม่คิดว่า วันหนึ่งความคิดของเราจะส่งผ่านไปถึงบุคคลใกล้ชิดของเขา ซึ่งอาจให้ผลทั้งร้ายและดี

 
ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมนั่งเครื่องบินกลับบ้านที่นราธิวาส มีโอกาสได้พบผู้บริหารโรงเรียนมัธยมท่านหนึ่งซึ่งเป็นสตรีมุสลิมเชื้อสายมลายู พึ่งเดินทางกลับจากการร่วมประชุมผู้บริหารการศึกษาที่จังหวัดอุดรธานี ท่านได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “เหตุการณ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อมีการยิงกลุ่มเจ้าหน้าที่ หรือชาวบ้านไทยพุทธ แล้วไม่นานมักมีเหตุยิงชาวบ้านมุสลิม ผู้ก่อเหตุหวังผลในการสร้างความแตกแยก” อาจเป็นมุมมองในฐานะผู้บริหารโรงเรียนมากกว่าความเป็นคนเชื้อสายมลายูมุสลิม ท่านได้กล่าวว่ามันหมดยุคของการกู้เอกราชแล้ว “เรากำลังเสียโอกาสในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเด็กๆที่คุณภาพการศึกษาอ่อนลงมาก น่าห่วงการทำงานของครูรุ่นใหม่ๆที่เป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ เรื่องความเข้มข้นของการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐาน” และประเด็นที่น่าสนใจคือการชักจูงเด็กรุ่นใหม่เข้าสู่ขบวนการ ด้วยโรงเรียนของรัฐไม่สามารถสร้างความมั่นใจในกระบวนการเรียนการสอนได้ เด็กเล็กๆที่อยู่ในช่วงประถมถึงมัธยมต้นกำลังถูกชักจูง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาส่วนหนึ่งกำลังเข้าสู่วงจรของเกมการฆ่า เขากำลังกลายเป็นผู้เล่นเกม ไม่ใช่แค่ผู้กดปุ่มออกคำสั่งเหมือนในคอมพิวเตอร์ และไม่ใช่แค่ ผู้เสพสาร ผู้สื่อสารและผู้ส่งสาร  
 
ชาวไทยพุทธในพื้นที่คนหนึ่ง เขาเคยเป็นคนที่ทำงานเพื่อส่วนร่วมในหมู่บ้านที่มีประชากรพุทธมุสลิมในสัดส่วน 30 :40 สามารถพูดได้สองภาษาคือไทยกับมลายูได้อย่างคล่องแคล่ว ในระดับที่สามารถเล่าเรื่องราว ทำหน้าที่โฆษกภาคภาษามลายูได้อย่างสนุกสนาน ในความสามารถตรงนี้จึงรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานปกครอง แต่ในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ต้นปี 2547 เขาถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส พักรักษาตัวในห้องICU ประมาณ ครึ่งเดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาไม่ออกจากบริเวณบ้านเป็นเวลาเกือบครึ่งปี เขาเลิกทำกิจกรรมเพื่อส่วนร่วม เก็บตัวอยู่ในบ้าน พออาการเริ่มทุเลาจึงเริ่มออกจากบ้าน แต่ความหวาดระแวงสูงมากกระทั่งพวกพ่อค้าเศษเหล็กรับซื้อของเก่าที่รู้ว่าพูดภาษามลายูหรือพูดไทยสำเนียงแปร่งๆ เขาจะไม่อนุญาตให้เข้ามาหาซื้อเศษเหล็กของเก่าในบริเวณรั้วบ้าน หลังจากนั้นไม่นานจึงเริ่มประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคง ขออนุญาตพกปืนและขอใช้วิทยุสื่อสาร พกติดตัวอยู่แทบทุกขณะกระทั่งเข้าห้องน้ำ วิทยุสื่อสารเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรับฟังการติดต่อของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ เกิดเหตุการณ์ที่ไหนโดยเสียงวิทยุรายงานออกมาสดๆ ตัวเลขของทหารตำรวจที่เสียชีวิต กับตัวเลขของฝ่ายขบวนการ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผ่านวิทยุ ซึ่งสามารถสร้างความรู้สึกหดหู่ใจ หรือความสะใจได้บ้างในวันที่ได้ข่าวว่ามีการวิสามัญผู้ก่อเหตุ “หนักไปข้างหน้า” คือเสียงสะท้อนต่อเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ซึ่งหมายความว่าเขาไม่เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถสงบโดยง่าย ในวิถีชีวิตประจำวันจึงต้องอยู่กันไปอย่างนี้ นั้นคือ พกปืนและระวังตัว และชีวิตที่หมกหมุ่นอยู่ในความรู้สึกที่เกิดจากข่าวสารสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
 
ในวันที่มีข่าวลอบยิงภารโรงและภรรยาเสียชีวิตขณะขับมอเตอร์ไซค์บนถนนสายบ้านโต๊ะเด็ง ตำบลโต๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส ช่วงปลายเดือนมกราคม 2556 ผมและตูแว ได้ดูภาพข่าวด้วยกัน ตูแวซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สะท้อนความรู้สึกว่า “ดูภาพ คนไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อนสามารถทำได้...แสดงให้เห็นอะไร?” นั้นเป็นคำถามที่เราสอบทานกันในคืนนั้น การสนทนาปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของผมกับตูแวเกิดขึ้นในทุกโอกาสไปประชุมแล้วพักห้องเดียวกัน จริงๆ แล้วตูแวเป็นนักเคลื่อนไหวสายประเด็นร้อน เขามีบทบาทนำในการเคลื่อนไหว จากช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ที่ร้อนขึ้น เขาเองกำลังหาทางออกสู่ความสงบเช่นกัน ด้วยการหาคำอธิบายให้กับพี่น้องและผู้ร่วมต่อสู้ ในประเด็นคำถามที่ว่า สันติภาพของใคร? ระหว่างรัฐไทย กับฝ่ายขบวนการ “นั้นหมายถึงคำอธิบายต่อนักรบปาตานีที่เสียชีวิตไป” คำอธิบายที่บอกว่า แนวคิดในเรื่องเอกราชนั้นมีกลุ่มคนที่ต่อสู้อยู่ชัดเจน แต่ไม่สามารถออกมาร่วมสร้างกระบวนการสันติภาพบนโต๊ะและเวทีพูดคุยได้ หลายครั้งที่ปีกฝ่ายการเมืองฉกฉวยเอาดอกผลที่หอมหวานของการต่อสู้ไป ฟังดูคล้ายชะตากรรมของทหารผ่านศึกที่ถูกทิ้งไว้อย่างไม่ใยดีทุกครั้งเมื่อสถานการณ์สู้รบยุติ

บทสนทนาที่ตูแวพยายามอธิบายว่า เป็นสิ่งที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก คือหลายคนต้องเผชิญกับทางสองแพร่งระหว่างอุดมการณ์กับชีวิตจริง ภาพคนบริสุทธิ์ ชาวบ้านที่ถูกยิง ถูกระเบิด เขาเล่าด้วยรู้สึกเป็นนัยๆว่าเหนื่อยใจ นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ ตูแวเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีประชุมในเวทีต่างๆ ผมมักเจอเขาในหลายเวทีสาธารณะ ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยองค์กรที่ขับเคลื่อนพื้นที่เวทีสาธารณะและสร้างพลังภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผมในฐานะคนพุทธในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมคือ คือ DEEPSOUTH ,สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ ,สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ในแต่ละกระบวนการสันติภาพนั้นเป็นโอกาสที่ได้พบกับผู้มีชุดความคิดมากมาย เวทีที่ทำให้รับรู้ความเจ็บปวดของคนสองกลุ่มคือพุทธกับมุสลิมในพื้นที่ ปรากฏการณ์เล็กๆที่เกิดขึ้นคือ การจับมือกันระหว่างผมกับตูแวเพื่อขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในฐานะคนธรรมดาสามัญ ที่เห็นว่า “การฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก”

 
ในความเป็นคนตายย่อมไม่มีสิทธิเอ่ยปากแก้ต่างให้กับตนเอง และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะความเคียดแค้นชิงชัง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายหรือทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจน ในม่านข่ายของเส้นลาก ที่ตรึงมุดความคิดไว้ด้วยปม 3 ปม คือ ความยุติธรรม ความจริง และความกลัว ซึ่งเราคาดว่าหากมีการขับเคลื่อนเวทีสาธารณะ นำเรื่องราวต่างๆมาเล่าสู่กันและกัน จากพื้นที่แคบๆในชุมชนของตนเอง และสื่อสาธารณะเช่นรายการวิทยุท้องถิ่น รายการโทรทัศน์ และที่สำคัญคือโลกอินเตอร์เน็ต สร้างพื้นที่เพื่อเชิญชวนผู้คนมาร่วมกันหาทางออกของปัญหามากกว่าการเลือกใช้ความรุนแรงอย่างสร้างสรรค์
 
อย่างไรก็ดี นี่คือสถานการณ์ใหม่ ในชุดความคิดเก่า คนทำงานด้านสันติภาพมากมายต้องพบกับความโดดเดี่ยวในชุมชนของตนเอง คำครหาว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จากกลุ่มคนหรือชุมชนที่คิดว่าเป็นพวกเดียวกันนั้นเอง ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดความอึดอัดใจและหว่าเหว่ทางความคิด เมื่อเขาไม่อาจรู้สึกสนุกกับการสูญเสียของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เขารู้สึกเจ็บปวดอย่างไม่ดัดจริต เมื่อได้ยินวงสนทนาที่สนุกสนานกับการฆ่ากันตาย บทเรียนจากการสร้างพื้นที่และเวทีสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก นั้นคือผลผลิตที่มากกว่าทฤษฎีหรือตำราเล่มใหม่ เพราะสายใยที่เกิดจากการชักนำผู้คนเหล่านี้มาพบกัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เขาอึดอัดคับข้องจากชุมชนของตัวเอง สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของกลุ่มคนผู้ไม่มีบทบาททางการเมืองมากนัก หรือกระทั่งกลุ่มคนที่เคยสนุกกับความสูญเสียของฝ่ายศัตรู พวกเขาจะได้รับบทบาทใหม่ในการบอกเล่าเรื่องราว ในข้อคิดเห็นจากมุมมองที่กว้างขึ้นจนหลุดขอบออกมาจากชุมชนของตน แต่เขาคือผู้เป็นปากเสียงในบทบาทที่ชุมชนหล่อหลอมมาโดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน และผู้คนอีกจำนวนมากจะสามารถต่อเชื่อม และรับหน้าที่ในฐานะผู้กำหนดบทบาทร่วมกัน ถ้าเขายังสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันได้อย่างสนุกใจ และคำถามที่ว่าเราสามารถพูดคุยกันอย่างปกติธรรมดาได้อย่างไร? ถ้าหากมีคนใกล้ชิดของเราเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าอันเจ็บปวดเหล่านั้น... เพราะการฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก.  
 
 
 
 
ที่มา: Deepsouth Watch

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท