ความตายและความทรงจำ: ฮูโก ชาเวซ ทหาร-ผู้นำปฏิวัติ สู่ประธานาธิบดี 4 สมัย

ประธานาธิบดีเวเนซูเอลาเสียชีวิตลงแล้วจากโรคมะเร็ง ด้วยวัย 58 ปี เตรียมจัดงานศพในกรุงคาราคัสศุกร์นี้ นักวิเคราะห์คาดการเสียชีวิตของชาเวซอาจเปลี่ยนดุลอำนาจในละตินอเมริกา 

 

6 มี.ค. 56 - ประธานาธิบดีเวเนซูเอลา ฮูโก ชาเวซ เสียชีวิตลงแล้วในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาราคัส เมืองหลวงของเวเนซูเอลา หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็งกว่าหนึ่งปี โดยรองประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ได้ประกาศผ่านทางโทรทัศน์แห่งชาติในคืนวันอังคารว่า ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เสียชีวิตลงแล้วในเวลา 16.45 น. ของวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา 
 
มีรายงานว่าเขาเสียชีวิตจากสภาวะการหายใจติดเชื้อ โดยก่อนหน้านี้เขาได้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งหลายครั้งที่โรงพยาบาลในประเทศคิวบา เขามิได้ปรากฏตัวในสาธารณะเลยเป็นเวลา 3 เดือน หลังการผ่าตัดฉุกเฉินในประเทศคิวบาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา
 
พิธีงานศพมีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์นี้ (8 มี.ค.) และมีกำหนดไว้ทุกข์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในขณะที่หลายประเทศในละตินอเมริกาประกาศไว้อาลัย โดยรัฐบาลคิวบาประกาศให้มีการไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน รวมถึงรัฐบาลอาร์เจนตินา, เปรู, โบลิเวีย และเอกวาดอร์ ซึ่งให้มีการไว้อาลัยอย่างเป็นทางการเช่นกัน 
 
ประธานาธิบดีฮิวโก้ ชาเวซ (1954-2013)
 
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเวเนซูเอลากล่าวว่า ในระหว่างนี้ รองประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร จะดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 30 วัน
 
ทั้งนี้ ฮูโก ชาเวซ เป็นประธานาธิบดีเวเนซูเอลาที่อยู่ในตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่ปี 1999 โดยชนะการเลือกตั้งทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ปี 1998, 2000, 2006 และ 2012 ซึ่งเขาชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 56, 60, 63 และ 54.4 ตามลำดับ 
 
รองประธานาธิบดีมาดูโร กล่าวด้วยว่า การป่วยด้วยโรคมะเร็งของชาเวซ เป็นการวางแผนของรัฐบาลสหรัฐ หรือ "ศัตรู" ของเวเนซูเอลา ซึ่งเล่นเกมสกปรกเพื่อโจมตีเวเนซูเอลา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่สหรัฐโต้ทันควันว่าไม่มีมูล อย่างไรก็ตาม รองประธานาธิบดีกล่าวว่า คณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ จะสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของชาเวซว่าเกี่ยวข้องกับแผนการของสหรัฐหรือไม่
 
โดยก่อนหน้านี้หนึ่งวัน เวเนซูเอลาได้เนรเทศเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐหนึ่งคน ในข้อหาวางแผนบ่อนเซาะทำลายประเทศ 
 
รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้แถลงถึงการเสียชีวิตของชาเวซว่าเป็น "ช่วงเวลาที่ท้าทาย" และชี้ว่าสหรัฐยังคงสนับสนุนประชาชนชาวเวเนซูเอลาและพัฒนาความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับรัฐบาลเวเนซูเอลา 
 
“ประวัติศาสตร์บทใหม่ของเวเนซูเอลาได้เริ่มขึ้นแล้ว...สหรัฐฯ ยังคงมีนโยบายสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป” ประธานาธิบดีโอบามากล่าว
 
นักวิเคราะห์มองว่า การเสียชีวิตของชาเวซ อาจะทำให้ดุลอำนาจทางการเมืองในละตินอเมริกาเปลี่ยนแปลงไป โดยจะเคลื่อนมาสู่ประเทศที่มีจุดยืนกลางๆ แทน นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา เวเนซูเอลาได้ขายน้ำมันในราคาต่ำกว่าตลาดให้กับประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะในแถบแคริบเบียน 
 
จากทหาร-กบฎ สู่ผู้นำปฏิวัติประเทศสังคมนิยม 
 
วิถีการบริหารประเทศของประธานาธิบดีชาเวซ นำมาซึ่งความคิดเห็นที่ทั้งชอบและเกลียดเขาไปพร้อมๆ กันจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนโยบาย "สังคมนิยมในศตวรรษที่ 21" ทำให้เขาดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ "การปฏิวัติแบบโบลิวาร์" นำมาสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้เป็นของรัฐ เพิ่มงบประมาณสวัสดิการด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาล และลดขีดความยากจนในประเทศ รวมถึงการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ การให้มีสภาแห่งชาติ
 
การวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาอย่างถึงพริกถึงขิงโดยเฉพาะเรื่องการทำสงครามในตะวันออกกลาง ทำให้ชาเวซสร้างพันธมิตรกับผู้นำหลายประเทศในละตินอเมริกา และการใช้ทรัพยากรน้ำมันในประเทศอย่างเกิดประโยชน์ก็ทำให้เขาสามารถยกระดับประเทศในหมู่ประชาคมนานาชาติ
 
ในขณะที่ฝ่ายค้านชาเวซ มักโจมตีเรื่องการปกครองที่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการมุ่งสร้างรัฐพรรคเดี่ยว และการเล่นงานผู้ที่เห็นต่างในประเทศ 
 
ฮูโก ชาเวซ เกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 1954 ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของรัฐบารินา ประเทศเวเนซูเอลา เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน โดยบิดาและมารดาทำงานเป็นครูในโรงเรียน
 
เขาเข้าเรียนในโรงเรียนแดเนียล โอ เลียรี่ ในเมืองบารินา ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการทหารในกรุงคาราคัส ณ ที่แห่งนั้น เขาได้เริ่มต้นศึกษาประวัติชีวิตของผู้นำปฏิวัติอย่างซีมอง โบลีวาร์ ผู้นำทางทหารและการเมืองชาวเวเนซูเอลา ซึ่งมีบทบาทนำการปฏิวัติในละตินอเมริกาเพื่อปลดปล่อยจากอาณานิคมของสเปนในช่วงศตวรรษที่ 18 และเช กัววารา ผู้นำปฏิวัติสายมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนติน่า ซึ่งส่งผลต่อความคิดทางการเมืองของเขาอย่างมากในเวลาต่อมา 
 
หลังจากที่เขาเรียนจบด้วยระดับเกียรตินิยมในปี 1975 ความคิดทางการเมืองของเขาเริ่มก่อเกิด และเชื่อว่ากองทัพควรมีบทบาทในรัฐบาลพลเรือนเพื่อการพิทักษ์ชนชั้นล่างในสังคม 
 
ต่อมา เขาถูกส่งไปทำงานในหน่วยปราบปราบการก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยายามทำการโค่นล้มประธานาธิบดีคาร์ลอส อังเดรส เปเรซ แต่ก็มิได้ให้ความสนใจมากนัก และใช้เวลาไปกับการอ่านวรรณกรรมฝ่ายซ้ายเป็นจำนวนมาก ในช่วงนั้น การคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพ ทำให้เขากลับเกิดความเห็นใจกลุ่มก่อความไม่สงบ
 
ในปี 1981 เขาถูกส่งไปสอนในวิทยาลัยการทหารที่ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นนักเรียน และเผยแพร่ความคิดทางการเมืองต่อไปยังนักเรียนการทหารรุ่นต่างๆ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาของเขาทราบเรื่อง เขาจึงถูกย้ายไปยังรัฐอปูเร
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1992 ชาเวซ ภายใต้ "ขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์" ทำการรัฐประหารประธานาธิบดีเปเรซ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และการประท้วงที่แพร่หลายในประเทศ แต่การรัฐประหารดังกล่าวทำไม่สำเร็จ หลังจากมีผู้เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บอีก 60 คน ชาเวซก็มอบตัว และถูกจำคุก
 
การรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง 9 เดือนถัดมา ด้วยการนำของคนใกล้ชิดของเขา แต่ว่าก็ล้มเหลวอีกครั้ง โดยในครั้งนั้นกลุ่มกบฏสามารถยึดสถานีโทรทัศน์ และเผยแพร่วีดีโอเทปของชาเวซซึ่งประกาศการล่มสลายของรัฐบาลทางสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว 
 
ในปี 1994 ชาเวซได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เขาก่อตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า "ขบวนการแห่งสาธารณรัฐที่ 5" และเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากทหารมาสู่นักการเมืองอย่างเต็มตัว ชาเวซลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1998 และชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 56 โดยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลางเวเนซูเอลาอย่างท่วมท้น 
 
เขาเริ่มใช้นโยบายปฏิรูปสังคมต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาการรักษาพยาบาลฟรี และการอุดหนุนค่าอาหารสำหรับคนยากจน ในขณะเดียวกันได้เปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนด้วยการทำรายการทางโทรทัศน์และวิทยุเพื่ออธิบายนโยบายต่างๆ และให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องที่อยากจะถาม 
 
เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2000 อีกครั้ง ด้วยคะแนนร้อยละ 59
 
จากนั้นไม่นาน ความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐก็ลดลงถึงจุดต่ำสุด เมื่อเขาโจมตีรัฐบาลสหรัฐว่า "ต่อสู้การก่อการร้ายด้วยการก่อการร้าย" ซึ่งหมายถึงการทำสงครามในอัฟกานิสถานหลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 ก.ย. 2001 ในขณะที่ชนชั้นกลางในประเทศเริ่มโจมตีชาเวซว่า จะทำให้ประเทศไปสู่ประเทศพรรคเดี่ยว 
 
ในช่วงต้นปี 2002 ชาเวซได้พยายามแปรรูปอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศให้เป็นของรัฐ เกิดการนัดหยุดงานและประท้วงครั้งใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งกองทัพได้ใช้โอกาสนี้ทำการรัฐประหารชาเวซในวันที่ 12 เม.ย. 2002 อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้สนับสนุนชาเวซ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนออกมาประท้วง ทำให้ชาเวซกลับเข้ารับตำแหน่งเดิมเพียงสองวันถัดมา 
 
ในปี 2006 เขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 63 และได้ทำการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งประชาชนรับรองในประชามติด้วยคะแนนร้อยละ 54 ในช่วงนั้นชาเวซได้ผูกมิตรกับผู้นำประเทศฝ่ายซ้ายต่างๆ ในละตินอเมริกาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ประณามการบุกโจมตีลิเบียของสหรัฐในปี 2011 
 
ชาเวซเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองไม่ได้เป็นศัตรูของโอบามา แต่ก็ไม่ชอบนโยบายที่มีลักษณะจักรวรรดินิยมในวอชิงตัน โดยหลายปีก่อนหน้านี้ ระหว่างการประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ชาเวซได้เรียกอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐว่า "ปีศาจ" ต่อหน้าเขา 
 
ในปัจจุบัน เวเนซูเอลา นับเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจที่เท่าเทียมมากที่สุดในทวีปละตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลภายใต้การนำของชาเวซได้เผชิญปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อัตราอาชญากรรมที่พุ่งขึ้นสูง และการคอรํรัปชั่นในรัฐบาลที่ยังคงแพร่หลาย 
 
ปัญหาสิทธิมนุษยชน ด้านมืดที่ยังถูกจับตา 
 
ในขณะเดียวกัน วันที่ 5 มี.ค ที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ย้ำถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในเวเนซูเอลาที่ยังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะการข่มขู่และดำเนินคดีต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง การแทรกแซงองค์กรตุลาการ รวมถึงการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน 
 
ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้ยกตัวอย่างกรณีของผู้พิพากษามาเรีย ลัวร์เดส อาฟีนี ที่มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคนหนึ่ง หลังจากที่เขาถูกจำคุกมาแล้ว 3 ปี โดยชาเวซได้กล่าวประณาม และเรียกร้องให้จำคุกผู้พิพากษาคนดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี ต่อมา เธอถูกดำเนินคดี และถูกคุมขังเป็นเวลากว่า 1 ปี ก่อนการไต่สวนได้เริ่มขึ้น หลังจากคำวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก เธอถูกย้ายมาคุมขังในบ้าน และการไต่สวนคดียังคงดำเนินอยู่ แต่อาฟีนี่ปฏิเสธที่จะขึ้นศาล เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับการไต่สวนที่เป็นธรรม 
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ 6to Poder และจับกุมผู้อำนวยการและประธานของหนังสือพิมพ์ในข้อหาสร้างความเกลียดชังต่อสาธารณะ เนื่องจากตีพิมพ์บทความที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของชาเวซ และผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกรณีอื่นๆ ก็ถูกดำเนินคดีในลักษณะที่คล้ายกัน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท