Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การจับอาวุธต่อสู้ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมผู้ประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ และการปิดล้อมยิงถล่มมัสยิดกรือเซะตลอดระยะเวลาเก้าปีที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องในพื้นที่เป็นตลอดมา

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ความพยายามของนายกรัฐมนตรีไทยทั้งหลายที่ผ่านมาที่ต้องการแสวงหาความสงบสุขมาสู่พื้นที่ภาคใต้ ล้วนแล้วประสบกับความล้มเหลวมาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ได้เกิดคำถามไปยังรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า สัญญาพันธกิจแนวทางที่มีต่อนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เพื่อที่จะกอบกู้ความสงบสุขกลับคืนมาให้กับคนในพื้นที่ให้ได้

ก่อนที่จะมีการทำข้อตกลงเจรจาสันติภาพร่วมกันระหว่างกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลไทยในครั้งนี้ ณ เมืองปูตราจายา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จริง ก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ด้วยกัน ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ได้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลจากกรุงเทพ จำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขในทางการเมืองที่มีความยั่งยืนโดยที่มาเลเซียเป็นคนช่วยประสานอำนวยความสะดวกให้

รัฐบาลไทยเองก็คงอาจจะได้เห็นบ้างแล้วว่า ทางการฟิลิปปินส์ได้ใช้มาตรการใดที่สามารถเจรจาสันติภาพหาข้อยุติร่วมกันกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโรได้สำเร็จ จนกระทั่งนำมาซึ่งการเกิดขึ้นเขตปกครองพิเศษแห่งประชาชนชาวโมโรได้ในที่สุด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง

ด้วยสัญญาในการทำข้อตกลงเจรจาเพื่อสันติภาพร่วมกันดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถหาทางออกได้

ทางรัฐบาลไทยเองก็ควรที่จะศึกษาเรียนรู้จากบทเรียนเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ด้วย ที่ท้ายที่สุดแล้วขบวนการอาเจะห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka : GAM) ที่ในที่สุดก็ได้เห็นพ้องต้องกัน ที่จะยอมลดข้อเรียกร้องของตนเองจากเดิมที่ต้องการความเป็นเอกราชอย่างเดียวเท่านั้น โดยยินยอมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียเช่นเดิม

ทางรัฐบาลไทยเองก็คงจะเดินมาถูกทางแล้ว ที่ได้พยายามนำกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทยเข้าสู่โต๊ะเจรจา ทั้งยังเป็นนิมิตรหมายที่ดีอีกด้วยที่มาเลเซียได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเป็นฝ่ายผู้ช่วยประสานงานในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้

ทางกรุงเทพเองก็คงจะพอเข้าใจได้แล้วว่า ความพยายามและนโยบายที่เคยได้ปฏิบัติกันมาในอดีต ในการที่จะจัดการกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ล้วนแต่ประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความล้มเหลวในการหาทางออกของปัญหา เป็นเพราะว่า ทางกรุงเทพเองไม่ค่อยมีความจริงใจที่จะให้มีการพูดคุยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ตรงกันข้ามชอบที่จะใช้มาตรการทางการทหารในการหยุดยั้งเอาชนะการต่อสู้ของคนมุสลิมภาคใต้ด้วยซ้ำ

หากย้อนดูแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้นำไทยหลายๆ ท่านก่อนหน้านี้ จะไม่ค่อยให้ความหวังกับสังคมมุสลิมภาคใต้มากนัก ถ้าเทียบกับท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนปัจจุบัน

ท่านต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้เกิดความสงบสุขให้ได้ เพราะท่านเองก็คิดว่า สังคมมุสลิมนั้นยังไม่ลืมบาดแผลอันโหดร้ายที่เกิดจากน้ำมือของทักษิณ ชินวัตร พี่ชายเขาเอง ที่ได้กระทำต่อกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ เพื่อต้องการที่จะเอาชนะใจมวลชน ท่านมิได้เพียงแค่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่เป็นเหยื่อจากสถานการณ์ความรุนแรงอย่างเดียว หากแต่ยังต้องการที่จะสร้างยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อให้สันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่โดยเร็ว

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เพื่อต้องการสนองตอบในเรื่องการกระจายอำนาจ (autonomi) ให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนอย่างที่ท่านได้สัญญาไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

ในการพยายามเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยบนโต๊ะเจรจา เหมือนอย่างที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เคยได้ทำกับประชาชนชาวโมโร เราเชื่อว่า ปัญหาของชาวมุสลิมทางภาคใต้ของไทยก็น่าจะสามารถยุติลงได้เช่นกัน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า บ่อยครั้งที่กระบวนการสร้างสันติภาพมักจะพบกับความสะดุดกลางคัน หากเป็นเป็นเช่นนั้น ทั้งสองฝ่ายควรหลีกเลี่ยงในการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ตรงกันข้าม ทั้งสองฝ่ายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยคนกลาง (ผู้ประสาน) อย่างมาเลเซีย เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย

ความจริงแล้วยังมีอีกมากที่รัฐบาลไทยเองจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่า เพราะเหตุใดพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

หากพูดถึงปฐมฤกษ์ สาเหตุแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทย หลายคนมักจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุจะมาจากการที่สังคมมลายูในพื้นที่มีความรู้สึกไม่พอใจ

จะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลเองยังไม่เข้าใจอย่างดีพอ ต่อปัจจัยและสิ่งที่เป็นความต้องการของสังคมมลายูมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

ปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น เมื่อทางกรุงเทพเองยังไม่ค่อยเข้าใจต่อความต้องการที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตลักษณ์ของคนมลายู การไม่ยอมรับภาษามลายู ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและการพัฒนาพื้นที่

ลองคิดดู นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตากใบและที่มัสยิดกรือเซะ การลงทุนในพื้นที่ก็ไม่เกิดขึ้น และนักท่องเที่ยวก็ได้ลดลงไปด้วย

นับตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าว พื้นที่ภาคใต้ของไทยก็ต้องประสบกับเหตุการณ์การลอบวางระเบิดและปฏิบัติการทางทหารโดยกลุ่มขบวนการที่ต้องการล้างแค้นมาโดยตลอด

การที่รัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นออกมาเซ็นสัญญาทำข้อตกลงการเจรจาสันติภาพในครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของการเจรจาสันติภาพที่เคยจนตรอกมาแล้วอีกด้วย เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ให้ได้

รายละเอียดบางส่วนจากเอกสารการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งที่ผ่านมา ก็คือ ได้ร้องขอให้ทางกลุ่มขบวนการลดเป้าหมายที่ต้องการเอกราชของตนเองลง และจะถูกตอบแทนด้วยการนิรโทษกรรมให้ทั้งหมด เศรษฐกิจจะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และการเพิ่มงบประมาณบริหารพื้นที่ให้มากขึ้น

ทางการไทยก็พร้อมที่จะยกเลิกมาตรการทางทหาร และยังได้เรียกร้องให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำการวางอาวุธเพื่อเป็นการยุติการใช้อาวุธและระเบิดที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่

นับตั้งแต่ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามที่จะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอด ด้วยการมุ่งเน้นไปที่เรื่องการศึกษา การสร้างอาชีพและการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่

ท่านยิ่งลักษณ์เอง คงจะทราบดีว่า การใช้มาตรการทางทหารเพื่อเอาชนะการต่อสู้ของคนมุสลิมนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยังได้สร้างความสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดูเหมือนว่า ทางรัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะนำแบบอย่างการจัดการเรื่องชาติพันธุ์ตามแบบอย่างของมาเลเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ประเทศของเรา (มาเลเซีย) ได้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดีในการจัดการเกี่ยวกับปัญหาชนชาติพันธุ์ที่มีสามกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในรัฐซาบาห์และรัฐซาราวัก

ด้วยเหตุนี้ การใช้แนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนา สมควรเป็นอีกหนึ่งทางเลือก หากว่ารัฐบาลไทยต้องการที่จะเห็นสันติภาพความสงบสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่ ประเด็นศาสนาและด้านภาษา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้กับทุกชาติพันธุ์ได้ใช้สิทธิของตนเอง ยิ่งไปกว่านนั้น รัฐไทยจะต้องส่งเสริมในสถานศึกษาด้วยซ้ำ

ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ในการพยายามของรัฐบาลไทยที่จะให้ประชาชนชาวมลายูมุสลิมทางภาคใต้ลืมรากเหง้าศาสนาและภาษาของพวกเขา เพราะว่าการพยายามดังกล่าว มีแต่จะต้องล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ความจริงแล้วมาเลเซียเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการเมืองภายในของไทยแต่อย่างใด แต่วันนี้เมื่อถูกร้องขอมา เราก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

รัฐบาลมาเลเซียเองมีความกังวลมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย แต่เพื่อความสงบร่มเย็นของประเทศเพื่อนบ้าน ถึงจะต้องการหรือไม่ต้องการมันก็เป็นความรับผิดชอบของเราอยู่ดี

ในขณะเดียวกันแนวทางที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดที่ติดชายแดนไทย- มาเลเซียอีกด้วย หากมาเลเซียสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับพี่น้องแถวชายแดนทางภาคใต้ของไทยได้ ผลพลอยทั้งหมดก็จะตกแก่ทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน

รัฐบาลมาเลเซียเองก็ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อยุติเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่มีความยืดเยื้อกันมาเป็นเวลายาวนาน

ท่านนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะนาจิบ รอซัค เองก็เชื่อว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างคู่กรณีในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความสงบสุขที่ยั่งยืนสู่พื้นที่ได้อย่างแน่นนอน

ซึ่งทั้งสามฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายขบวนการเอง และตัวแทนของมาเลเซีย ควรที่จะริเริ่มแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย เพราะผลของมันสามารถยังประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายได้ อีกแนวทางหนึ่งก็คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องช่วยกันกำหนดรูปแบบร่วมเพื่อไปสู่ชัยชนะร่วมกัน

อิสลามในมาเลเซียเองไม่ได้สอนเกี่ยวกับวิถีแห่งความรุนแรง แต่สอนเกี่ยวกับความเรียบง่าย(ความเป็นกึ่งกลาง) ซึ่งเป็นสิ่งที่มาเลเซียใคร่ขอความร่วมมือกันในการทำงานกับบรรดาผู้นำศาสนาในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

 

ที่มาของต้นฉบับภาษามาเลย์ :
http://www.utusan.com.my/utusan/Rencana/20130302/re_01/Komitmen-di-selatan-Thai

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net