Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เกริ่นนำ
เป็นธรรมดาที่ความเหลื่อมล้ำจะมีอยู่ในสังคมไทย รายงานวิจัยต่างๆ มักจะชี้ชวนเช่นนั้น  ซึ่งคำว่า “คนกรุง” กับ “คนบ้านนอก” ยังถูกใช้และผลิตซ้ำอยู่เสมอในสังคมชนบท ถึงแม้ว่า ชาวบ้านนอกเขตเมือง (ตามทฤษฎีการพัฒนาเมืองและผังเมือง) ซึ่งต่อสู้และรับมือกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจนลืมตาอ้าปากได้จะไม่อยากใช้คำว่า “คนบ้านนอก” แล้วก็ตาม  แต่ชาวบ้านบางส่วนที่แร้นแค้นจริงๆ ที่ยังมีความลำบากจนถึงขั้นกระเสือกกระสนทางการเงิน ยังรู้สึกว่าตนเองเป็น “คนบ้านนอก” อยู่ และเมื่อสภาพความเป็นอยู่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ ไม่ว่าจะเพราะความขี้เกียจ (แบบที่หลายคนกล่าวหา) หรือจนใจในความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่แตกต่างมากเกินไปก็ตาม ดูเหมือนว่า “ไม้บรรทัดวัดสังคม” ของคนกรุงกับคนบ้านนอกจะใช้มาตรวัดคนละมาตรกัน สังเกตได้จากผลการเลือกตั้ง แนวคิด และการแสดงออกทางสังคม
 
เนื้อหา
“ไม้บรรทัดวัดสังคม”  คือ การให้คุณค่าต่อเหตุการณ์ต่างๆ ของบุคคลหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นร่องรอยความคิดและการประกอบสร้างชุดความคิดที่มีต่อสังคม ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อถูกสถาปนาด้วยอำนาจของกลุ่มที่ครองอำนาจหลักในสังคม กล่าวคือ การพัฒนาไม้บรรทัดวัดสังคมของคนๆเดียว ให้กลายเป็น กลุ่มคนที่ใช้ไม้บรรทัดเดียวกัน อาศัยอำนาจที่จะกำหนดคุณค่าและความหมายของชุดความคิดจนกลายเป็นวาทกรรม เมื่อเป็นแบบนี้ ถ้าเราสมมติว่า ไม้บรรทัดวัดสังคมของคนกลุ่มหนึ่ง ถือว่า ความตายของเพื่อนร่วมสังคมที่คิดต่าง ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาจัดการอย่างทันทีทันใดเท่ากับปัญหาอื่น แบบนี้ เราจะเห็นว่า ชุดความคิดนี้ย่อมขัดกับ ไม้บรรทัดวัดสังคมของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถือว่า ความตายของเพื่อนร่วมสังคมที่คิดต่าง เป็นสิ่งที่สำคัญและการวัดอย่างหลังอาจสอดคล้องกับไม้บรรทัดของพวกนักคิดอัตถิภาวะนิยมทั่วโลกก็เป็นได้ แต่ใครจะสน?
 
“คนกรุง” คือ ชนชั้นที่ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานโดยตรง กล่าวคือ ไม่ต้องปากกัดตีนถีบมากนัก (ยกเว้นแต่จะกัดปากและถีบตีนตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวกสบายทางเทคโนโลยี) ฉะนั้น “คนกรุง” จึงต้องรับตำแหน่ง “ชนชั้นสูง” และ “ชนชั้นกลาง” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะ “คนบ้านนอก” ยังไม่มีแม้แต่สิทธิในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขั้นพื้นฐานด้วยซ้ำเป็นต้น ปัจจัยสี่ หรือ ปัจจัยห้าอย่างเงิน ที่กว่าจะเจียดมาถึง จากน้ำย่อยของระบบนายทุน ตัวอย่างนี้จะชัดเจนขึ้น ถ้าสังเกตว่า อย่างไรก็ตาม “คนกรุง” ก็ยังทำงานในห้องปรับอากาศหรืออย่างน้อยในที่มีกำบัง มีขนส่งมวลชนหรือรถส่วนตัวบริการ เพื่อให้ได้เงินมาสำหรับเลี้ยงชีพต่อเดือนในหลักหมื่น โดยที่ไม่ต้องมีหนี้สินอะไร ถ้าไม่สร้างหนี้หรือคิดเรื่องภาษีสังคม กลับกัน “คนบ้านนอก” ต้องสร้างหนี้เสียก่อนด้วยการกู้เงินจากสถาบันหรือนิติบุคคลใดก็ได้มาลงทุน และเพื่อให้ได้เงินหลักหมื่นก็จำเป็นต้องอดทนตรากตรำทำงานท่ามกลางสภาพที่ไม่มีอะไรบริการ บ่อยครั้ง คนบ้านนอกบางคน พยายามเลียนแบบคนกรุงบ้างในเรื่องของภาษีสังคม ผลที่ตามมาคือการก่อคดีและอาชญากรรม เนื่องมาจาก ปัจจัยความเหลื่อมล้ำเป็นที่ตั้ง มีวรรณกรรมและเพลงมากมายถ่ายทอดชีวิตคนบ้านนอกที่ถูกสังคมเมืองทำร้าย
 
“คนบ้านนอก” จึงเป็นไปอย่างที่คนบ้านนอกพูดถึงตัวเอง คือ ขาดโอกาส จุดหนึ่งที่คนบ้านนอกโดนโจมตี คือ ไม่แสวงหาโอกาสอย่างชาญฉลาด แต่ประเด็นเรื่องนี้ มักถูกส่งต่อและบิดเบือนความหมายจนกลายเป็นสรุปว่า “คนบ้านนอกโง่” และ “คนบ้านนอกเอาเงินซื้อได้ในทางการเมือง” เรื่องนี้น่าเจ็บปวดตรงที่ ข้อความที่ดูถูก (เพราะคิดว่าเป็นความจริง) ถูกผลิตซ้ำมากพอจนรั่วไปถึงหูคนบ้านนอกเอง และนั่นทำให้เกิดความคิดสะท้อนกลับมายังคนกรุงว่า “คนบ้านนอกอย่างฉันไม่ได้โง่” นั่นเป็นการตอบโต้กันระหว่างคนกรุงกับคนบ้านนอก และเหตุการณ์นี้ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมโลก แต่สิ่งที่ต่างคือรูปแบบที่ล้าหลังเมื่อเทียบกับพัฒนาการเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศอื่น  
 
ฉะนั้น คนกรุงยังครอบครองพื้นที่กระแสหลักส่วนใหญ่ในสังคมทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น เสียงที่ดังกว่า คือ อำนาจสื่อสารที่อยู่ปลายนิ้วสัมผัส ชาติพันธุ์และศาสนากระแสหลักซึ่งเป็นที่มาของความภาคภูมิใจ จึงไม่แปลกอะไรที่จนแล้วจนรอดไม่ว่าคนกรุงจะแก้ต่างให้กลุ่มของตนอย่างไรหรือดูมีภาพลักษณ์แค่ไหน ก็จะมีชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงเสมอที่แสดงออกอย่างไม่ฉลาดนัก มิหนำซ้ำยังผลิตซ้ำวาทกรรมให้เห็นว่า ลึกๆแล้วฉันเหยียด เขมร ลาว หม่อง แขก รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่คิดว่าไม่ใช่ “ไทย” ประเด็นนี้ โดยตัวมันเองมีความลักลั่นย้อนแย้งสูง เพราะใครก็สามารถหาตัวอย่างค้านได้ทันทีว่าแล้ว “เจ๊กจีนล่ะ?” (ซึ่งมักเป็นนายทุนและเจ้านาย) จึงกลายเป็นว่า ชนชั้นกลางไทยคร่อมอยู่ระหว่างความตระหนักรู้ในตน กับ ความการแสดงบทบาทหลอกๆ ทางสังคม ซึ่งมักสวนทางกัน ตามหลักคิดว่า “น้ำขุ่นไว้ในน้ำใสไว้นอก” โดยลืมไปว่า “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด”
 
ความคิดเห็นที่มีต่อชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา แม้จะมิได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของคนกรุงก็ตามที แต่อย่างน้อยที่สุด ก็อาจเป็นภาพเบลอๆ ของคนกรุงก็เป็นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยหลักฐานทางสถิติว่า ไม้บรรทัดของฉันไม่เหมือนไม่บรรทัดของพวกเธอ(คนบ้านนอก) ฉันเป็นเมืองหลวง เป็นไม้บรรทัดที่วัดได้ว่าอะไรคือการต่อสู้กับอสัตย์อธรรมในแผ่นดินนี้แต่เพียงกลุ่มเดียว นี่ไม่นับข่าวลือที่ว่า คนกรุงเจ้าของไม้บรรทัดบางส่วนยอมโกงเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ แต่เรื่องเหล่านี้ จับมือใครดมไม่ได้อยู่แล้วในเมืองกรุง เช่นเดียวกับทุกเรื่องของคนกรุง มีใครจะอยากเล่าว่าตัวเองและครอบครัวมีหนี้สินมากเท่าไร เพื่อซื้อสังคมให้ตนเองอยู่ เรื่องนี้เป็นข่าวลือกันในชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ท่ามกลางนักการเมือง พ่อค้า นายทุน ซึ่งผู้ที่เอาเรื่องนี้มานินทาต่อก็อาจไม่ต่างอะไรจากไพร่หรือทาส เมื่อหลายร้อยปีที่แล้วก็เป็นได้ในแง่พฤติกรรม 
 
เพราะแนวโน้มที่รักการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะทาสนินทานายนี้เอง ที่ผลิตซ้ำมากพอ ทำให้พฤติกรรมดังกล่าวของคนกรุงกลายเป็นไม้บรรทัดวัดสังคมไปเสียแล้ว ดูเหมือนว่า ความไม่รักในเหตุผลแต่รักที่จะมีอารมณ์รักชังระหว่างนายกับบ่าว กลับเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่ค่อยต่างอะไรจากบรรทัดฐานเดิมสักเท่าไรนัก แนวโน้มพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งและซับซ้อนค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมาจากการก่อเหตุของบรรดาชนชั้นสูงหลายๆ คนในระดับลูกหลาน ความแปรปรวนทางอารมณ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในการเลี้ยงดูชี้ให้เห็นว่ากระบวนการผลิตไม้บรรทัดอาจมีปัญหาตั้งแต่เบ้าหลอมของมัน สิ่งที่บิดเบี้ยวและผิดปรกตินี้ค่อนข้างแตกต่างกับความเป็น “คนบ้านนอก” ซึ่งรักก็ว่ารัก เกลียดก็ว่าเกลียด อย่างไรก็ตาม เราก็ควรยอมรับความจริงว่า ภาพตัวแทนของสิ่งต่างๆ มันพร่าเลือนเหลือเกิน เพราะอะไรๆ ก็ถูกทำให้ไม่ชัดเจนทั้งนั้นในเรื่องเหล่านี้ สิ่งเดียวที่ชัดเจนคือ มีการตัดสินด้วยไม้บรรทัดชนิดต่างๆ และเมื่อไม้บรรทัดของใครควบรวมกับอำนาจ “ความตายและการกดขี่ปวงประชาภายใต้ไม้บรรทัดเดียวก็เกิดขึ้น”
 
สรุป
ไม้บรรทัดของคนกรุงกับคนบ้านนอกย่อมไม่เหมือนกันไม่ว่าในทางใด ไม้บรรทัดของคนกรุงมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยพฤติกรรมหรือฆาตกรรมอำพราง ไม้บรรทัดของคนกรุงแยบยลและดำมืด แต่แปลกที่ไม้บรรทัดของคนกรุง วัดไปที่ใด เพื่อนมนุษย์ที่ล่วงลับไปก็ไร้ค่า แม้แต่ เพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนไม่ใช่คน ดูเหมือนว่า ไม้บรรทัดนี้อาจเต็มไปด้วยความบ้าคลั่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้รูปลักษณ์ที่สวยงาม หรือบางทีไม้บรรทัดนี้อาจไม่ได้ใช้วัดคุณค่าอะไรของมนุษย์ แต่อาจจะถูกหล่อหลอมและผลิตมาเพื่อวัดความเป็นความตายของมนุษย์ ว่าใครสมควรตาย และ ใครสมควรอยู่ อาศัยวาทกรรมบงการของผู้ผลิตไม้บรรทัดในเงามืดซึ่งเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าเป็นใคร โปรดอย่าเข้าใจผิด เพราะผู้ผลิตไม้บรรทัดย่อมเป็น  “นายทุน” , “นายทาส” เพื่อชนชั้นที่ถูกกดขี่ต้องน้อมรับการกดขี่ต่อไป เพราะความดีความชั่ว มีเพียงไม้บรรทัดกระแสหลักเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนด คนบ้านนอกไร้การศึกษาจะไปรู้อะไร? 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net