Skip to main content
sharethis

8 มีนาคม 2556 เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ปี 2013 ธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) เผยผลสำรวจล่าสุดว่าในขณะนี้ ทั่วโลกมีสตรีที่กำลังก้าวเข้าสู่บทบาทผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โดย 24% ของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงนั้น มีสตรีเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจาก 21% เมื่อปี 2012 และ 20% เมื่อปี 2011

อย่างไรก็ดี ประเทศกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงเวลาที่ผ่านมา
มีความคืบหน้าของบทบาทสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงช้ากว่าเอเชียและตะวันออกไกลซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูง ทั้งนี้ แกรนท์ ธอร์นตัน สนับสนุนให้ธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วก้าวตามให้ทันกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ และควรเล็งเห็นผลประโยชน์จากการที่มีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากยิ่งขึ้น
 
ข้อมูลจาก IBR ระบุว่า 24% ของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกมีสตรีเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจาก 21% เมื่อปี 2012 และ 20% เมื่อปี 2011 อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ G7 อยู่รั้งท้ายประเทศอื่นๆ โดยมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเพียง 21% เปรียบเทียบกับ 28% ในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC และ 32% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจน 40% ในกลุ่มประเทศบอลติก
 
สุมาลี โชคดีอนันต์ กรรมการอาวุโสส่วนงานตรวจสอบบัญชีของ แกรนท์ ธอร์นตันประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งมีการขยายตัวของเศรษฐกิจสูง มีทีมงานผู้บริหารระดับสูงที่มีความหลากหลาย โดยอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก หรือ 32% และ 29% ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับที่สูงยิ่งกว่า โดยอยู่ที่ 36% ทั้งนี้ สตรีกำลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และนำมาซึ่งความสมดุลในขั้นตอนการตัดสินใจ ตลอดจนความราบรื่นในการบริหารองค์กร เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศกลุ่ม G7 ก็ยังต้องก้าวตามให้ทันและยอมรับบทบาทของสตรี ตลอดจนเสริมทรัพยากรบุคคลที่สำคัญนี้ให้แก่องค์กรเพื่อให้เกิดการเติบโตในระยะยาวและความสามารถในการทำกำไร”
 
ในการนี้ ประเทศญี่ปุ่น (มีสตรีดำรงผู้บริหารระดับสูง 7% ซึ่งอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในทั่วโลก), สหราชอาณาจักร (19%) และสหรัฐอเมริกา (20%) อยู่รั้งท้าย 8 ประเทศที่มีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงน้อยที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มเศรษฐกิจเหล่านี้ยังมีระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำสุด โดย GDP ในประเทศญี่ปุ่น (1.9%) ในสหราชอาณาจักร (-0.1) และในสหรัฐอเมริกา (2.2%) เมื่อปี 2012 นั้นมีการเติบโตในระดับต่ำ ในทางกลับกัน ประเทศที่มีสตรีดำรงผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 51% ส่วนการขยายตัวของ GDP เมื่อปี 2012 คาดว่าอยู่ระหว่าง 7-8%
 
ส่วนประเทศที่ติดอันดับ 10 ประเทศที่มีสตรีดำรงผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากที่สุดยังรวมถึงลัตเวีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูง 
 
สถานการณ์ดังกล่าวนั้นมีความชัดเจนยิ่งขึ้นหากพิจารณาจากภาพรวมของคณะกรรมบริษัท โดยกลุ่มประเทศ G7 มีคณะกรรมการบริษัทที่เป็นสตรีเพียง 16% เปรียบเทียบกับ 26% ในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC และ 38% ในกลุ่มประเทศบอลติก
นอกจากนี้ รายงาน IBR ยังเปิดเผยเกี่ยวกับสายงานที่นำเสนอโอกาสที่ดีที่สุดและด้อยที่สุดสำหรับสตรีในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทและจุดสูงสุดของหน้าที่การงาน
 
สายงานที่นำเสนอโอกาสที่ดีที่สุ
รายงาน IBR นำเสนอว่าสายงานที่สตรีจะมีโอกาสก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดได้แก่ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (Chief Finance Officer) ของธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) ในประเทศจีน
 
• ในจำนวนธุรกิจที่มีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทที่สตรีมีโอกาสสูงที่สุดที่จะดำรง ตำแหน่งคือตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (31%)
• กลุ่มธุรกิจที่มีอัตราส่วนของสตรีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากที่สุดได้แก่ธุรกิจด้านสุขภาพ (45%)
• ประเทศที่มีอัตราส่วนของสตรีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากที่สุดได้แก่ประเทศจีน (51%)
 
สายงานที่นำเสนอโอกาสที่ด้อยที่สุด
ในทางกลับกัน รายงาน IBR เปิดเผยว่าสายงานที่สตรีจะมีโอกาสน้อยที่สุดในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดได้แก่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล (Chief Information Officer) ของธุรกิจเหมืองแร่หรือการก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่น
 
• ในจำนวนธุรกิจที่มีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทที่สตรีจะมีโอกาสที่ดำรงตำแหน่งน้อยที่สุดคือตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล (6%)
 
• กลุ่มธุรกิจที่มีอัตราส่วนของสตรีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงต่ำที่สุดได้แก่ธุรกิจเหมืองแร่หรือการก่อสร้าง (19% ทั้ง สองกลุ่มธุรกิจ)
 
• ประเทศที่มีอัตราส่วนของสตรีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ต่ำที่สุดได้แก่ประเทศญี่ปุ่น (7%)
 
จุฬาภรณ์ นำชัยศิริ ผู้อำนวยการด้านธุรกิจการเงิน (Corporate Finance) แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประเทศจีนเป็นเพียงประเทศเดียวจากทั่วโลกที่กว่าครึ่งของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดนั้นมีผู้บริหารสตรีดำรงอยู่ และสิ่งที่น่าประทับใจยิ่งไปกว่านั้นคือในปี 2011 ประเทศจีนมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเพียง 34% เท่านั้น
 
“ในช่วงสัปดาห์ที่เราเฉลิมฉลองวันสตรีสากล รายงานของเรายังได้นำเสนอข้อเท็จจริงว่าหลายประเทศยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าในเรื่องการยอมรับบทบาทของสตรี โดยประเทศญี่ปุ่นอยู่รั้งท้ายประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นมาเช่นนี้ตั้งแต่ที่เรา
ริเริ่มการสำรวจ IBR มาตั้งแต่ปี 2004 ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยนานับประการที่ขวางกั้นสตรีในประเทศญี่ปุ่นให้ก้าวข้ามอุปสรรคและขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจญี่ปุ่นมีทีมงานผู้บริหารระดับสูงที่ขาดความสมดุลและความหลากหลายที่จำเป็นต่อการผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”
 
นอกจากนี้ รายงาน IBR ยังนำเสนอว่าอัตราส่วนของสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในแต่ละกลุ่มธุรกิจนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ดำรงโดยผู้บริหารสตรีในธุรกิจด้านสุขภาพ (45%) นั้นมีจำนวนมากกว่าธุรกิจก่อสร้างหรือเหมืองแร่ (19%) ถึงกว่าสองเท่า 
 
เมเลยา ครูซส์ กรรมการส่วนงานภาษีของ แกรนท์ ธอร์นตันประเทศไทย กล่าวว่า “การที่มีสตรีจำนวนมากขึ้นที่มีความก้าวหน้าในสายงานธุรกิจด้านสุขภาพ มากกว่าสายงานการก่อสร้างหรือเหมืองแร่ซึ่งมีสตรีทำงานอยู่น้อยอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะว่าการที่มีสตรีดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงควรมีความสำคัญยิ่งกว่าการนับจำนวนสตรีที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เนื่องจากสตรีควรได้รับผลตอบแทนในเรื่องความสามารถ และแม้ว่าเส้นทางที่จะก้าวสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงานในบางกลุ่มธุรกิจและบางภูมิภาคนั้นยากลำบากยิ่งกว่าเส้นทางอื่น แต่ทุกธุรกิจย่อมจะได้รับประโยชน์จากการที่มีความหลายหลายยิ่งขึ้นในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ประเทศไทยเองก็นำประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง สำหรับธุรกิจในประเทศไทยแล้วจะพบว่าตำแหน่งที่มักจะมีสตรีเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบคือตำแหน่ง CEO โดยอยู่ที่ 49% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก” 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net