คปก.เปิดเวทีถกร่าง กม.หลักประกันธุรกิจเปิดทางนำทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกัน

พบกฎหมายหลักประกันในประเทศไทยมีแค่ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง เท่านั้น เพื่อความสะดวกในวงการธุรกิจเท่านั้น ต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้

 

8 มี.ค. 56 - ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยในงานเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... กับทรัพย์สินทางปัญญา”ณ ห้องประชุมศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศว่า การสัมมนาครั้งนี้จะเน้นไปที่การนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งจะพบว่าระบบกฎหมายหลักประกันในประเทศไทยมีเพียง 3 ประการ คือ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง หลักประกันอย่างอื่นนั้นเป็นเพียงความพยายามของนักกฎหมายที่จะต้องดัดแปลงข้อกฎหมายเพื่อความสะดวกในวงการธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก หรือรายย่อย มีต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ต่ำลง สามารถทำการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีหลักประกันในรูปแบบที่ 4 ขึ้น กล่าวคือ ให้สามารถนำสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าคงคลัง มาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ผู้รับหลักประกันยึดถือไว้ดังเช่นการจำนำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
ศ.ดร.กำชัย กล่าวว่า ผู้ประกอบกิจการสามารถนำกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้ เช่น กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กิจการร้านขายอาหาร รวมไปถึงการนำทรัพย์สินทางปัญญา อันมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรัพย์สินชนิดอื่นมาเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ ในเชิงนโยบาย ร่างฯ ฉบับนี้ มีผู้เห็นด้วยหลายภาคส่วน ทั้งวงการธนาคาร ภาคธุรกิจต่าง ภาคการเมือง รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้นำร่างฯ ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
 
นายบุญมา เตชะวณิช ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า การมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนี้เป็นแนวความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งตนเห็นด้วยมาตลอด และพบว่า ระบบกฎหมายไทยสมควรที่จะมีกฎหมายหลักประกันที่นอกเหนือจากค้ำประกัน จำนำ จำนอง ความสบายใจ ความเชื่อมั่นของผู้ที่จะให้สินเชื่อเท่านั้นมีความสำคัญ รวมทั้งกระบวนการบังคับคดีต้องน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้มีการบังคับคดีได้โดยง่ายเกินไป ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การตีราคาทรัพย์สินทางปัญญาว่าจะทำการตีราคากันอย่างไร มีแนวคิดว่าจะต้องทำการตีราคาในขณะที่ทำการบังคับ โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ ทางบัญชี
 
นายบุญมา กล่าวว่า หลักการใหญ่เห็นด้วยกับร่าง พรบ.นี้ แต่มีข้อสังเกตคือตามมาตรา 8 นั้นกำหนดไว้ว่าทรัพย์สินประเภทใดสามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ 5 ประเภท ในการนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิเด็ดขาดอย่างหนึ่ง โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ในกรณีของทรัพย์สินมีทะเบียน คำนิยามบอกว่า ทรัพย์สินมีทะเบียนคือทะเบียนกรรมสิทธิ์ แต่ทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีการจดทะเบียน ที่มีการจดลิขสิทธิ์นั้นเป็นการจดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
 
“ทั้งนี้ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีทะเบียนคุมง่ายกว่า แต่จะมีปัญหาในกรณีของการเพิกถอน ผู้ที่รับหลักประกันนั้นจะมีความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกเพิกถอน ทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีกรรมสิทธิ์ แต่ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าจะเขียนคำนิยามให้กว้างขึ้นได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามระบบการจัดเก็บทะเบียนนั้นในส่วนของทะเบียนกิจการต่างๆ อยู่ในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญานั้นอยู่มี่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าควรให้เป็นอีกหนึ่งนายทะเบียนหรือไม่”
 
นายบุญมา กล่าวด้วยว่า ยังมีปัญหาในเรื่องของลิขสิทธิ์ ซึ่งตามหลักแล้วไม่มีทะเบียน เป็นการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายโดยอัตโนมัติและในกรณีของความลับทางการค้า วิสัยของเจ้าของก็คงไม่อยากให้ใครรับรู้ นอกจากนี้การได้ทรัพย์สินไปในทางการค้าปกติ ควรจะมีการกำหนดหรือไม่ว่าหากมีการทุจริตนั้นจะไม่ได้ไปโดยปลอดหลักประกัน
 
ศาสตราจารย์(พิเศษ)วิชัย อริยะนันทกะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า สิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะหลักประกันการชำระหนี้ การค้าระหว่างประเทศในยุคแรกคือการค้าสินค้าที่มีรูปร่าง แต่ในปัจจุบันมูลค่าการค้าที่สูงมากคือ Intangible Property บริษัทใน Fortune 500 นั้นก็เป็นบริษัทที่ประกอบรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา หากระบบกฎหมายใดไม่สามารถนำทรัพย์สินประเภทนี้มาเป็นหลักประกันได้ก็จะเกิดปัญหา ทั้งระบบหลักประกันเดิมซึ่งมี 3 ประการนั้น ก็มีมาเป็นร้อยปีแล้ว
 
“การปฏิรูปกฎหมายไทยในอดีตนั้นเกิดจากความจำเป็นทั้งสิ้น เพียงแต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญามากนักในสมัยนั้น จึงยังไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ไม่ใช่ทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์”
 
ศาสตราจารย์(พิเศษ)วิชัย กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาต้องมีการบังคับอย่างรวดเร็ว ควรจะมีการแยกออกมาเป็นพิเศษ ขณะที่ปัญหาระบบจดทะเบียน เป็นปัญหาของราชการทั่วโลกสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีระบบทะเบียน เช่น ลิขสิทธิ์ ระบบจดทะเบียนหรือจดแจ้งลิขสิทธิ์ในอเมริกานั้นก็เกิดปัญหามาก ประชาชนมักจะอ้างอิงรัฐ ทั้งๆ ที่กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์คุ้มครองตั้งแต่มีการสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นมา เกิดปัญหาการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เช่น กรณีการจดลิขสิทธิ์กงเต๊ก จึงเห็นว่าไม่ควรสร้างระบบการจดทะเบียน จดแจ้งขึ้นมา เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดดำเนินการเป็นผลสำเร็จ
 
“การตั้งองค์กรการตีราคานั้น มีความเกาะเกี่ยวกับศาลทรัพย์สินฯ เนื่องจากการฟ้องคดีแพ่งนั้น ความเสียหายของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญานั้น การตีราคาจะต้องมีการใช้หลักวิชาบัญชีต่างๆ มาประกอบด้วย มิใช่เพียงแต่เป็นการใช้ดุลพินิจ”
 
ศ.ดร.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ศาสตราภิชาน ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่าหลักประกันซึ่งเกิดปัญหาขึ้น จะมีการเฉลี่ยกันอย่างไร เนื่องจากการบังคับคดีของทรัพย์สินทางปัญญานั้น มีความยุ่งยาก การตีราคานั้นสถาบันการเงินก็ยังไม่มีความเชี่ยวชาญพอในการตีราคาทรัพย์สินทางปัญญา
 
ศ.สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการสถาบันวิชาชีพกฎหมายชั้นสูงสภาทนายความ กล่าวว่าโดยหลักการเห็นว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะต้องใช้กฎหมายฉบับนี้ หากจะต้องออกกฎหมายเฉพาะอีกฉบับนั้นก็คงไม่มีความจำเป็น เพียงแต่จะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสม ซึ่งในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในขอบเขตของคำนิยามคำว่ากิจการอยู่แล้ว การซื้อกิจการนั้น รวมหมดทั้งทรัพย์ที่มีรูปร่าง เช่น เครื่องจักร และรวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาหรือแรงงานคนด้วย ในคำนิยามตามมาตรา 8 นั้น หากต้องการให้มีความชัดเจนมากขึ้นอาจจะทำการเขียนเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่ารวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาได้ด้วยหรือไม่ประเด็นปัญหา คือ กรณีที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญาแยกออกมาเป็นหลักประกันต่างหากจากกิจการได้หรือไม่
            
ศ.สุชาติ กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันมาก จึงมีปัญหาของตนเองโดยเฉพาะ เช่น ความลับทางการค้า มีหนังสือจดแจ้งเพียงรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น จะเป็นหลักประกันได้หรือไม่ สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อหรือไม่หากไม่ทราบรายละเอียด หากมีการเปิดเผยก็จะหมดสภาพการเป็นความลับทางการค้าไป การตีราคาความลับทางการค้าจะทำอย่างไร หรือในกรณีของ GI (Geographical Indication) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิของเฉพาะบุคคล แต่ GI นั้นเป็นสิทธิที่ยึดต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ แล้ว GI คืออะไร จึงมีประเด็นปฏิบัติอย่างมาก นอกจากนี้มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำการเขียนไว้ว่าจะต้องมีลักษณะร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะสามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ เช่น จะต้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการจดทะเบียนได้หรือไม่
 
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์  อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันนั้น โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถให้กู้ได้ทั้งหมด จะต้องมีการเขียนแผนธุรกิจมาประกอบการขอกู้ด้วย อาจอยู่ในคำนิยามของกิจการอยู่แล้ว ทั้งนี้จะเห็นว่าวัตถุประสงค์ของร่างฯ นี้ คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยอาศัยการนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันนั้นโดยหลักจะเป็นผู้ประกอบกิจการรายเล็กรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ รายใหญ่คงไม่นำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันมากนัก ส่วนการนำเครื่องหมายการค้าเป็นหลักประกันนั้นอาจจะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่จะมีปัญหาคือสิทธิบัตร เพราะสิทธิบัตรนั้นจะต้องมีการลงทุนอีกมากในวงเงินที่สูง อาจจะมีการตั้งองค์กรตีราคาหรือผู้เชี่ยวชาญในการตีราคา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท