Skip to main content
sharethis

(8 มี.ค.56) เครือข่ายองค์กรแรงงานหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มูลนิธิเพื่อนหญิง เดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี นอกจากนี้ยังมีคนงานจากสหภาพแรงงานต่างๆ ที่ถูกเลิกจ้าง ร่วมเดินขบวนและเรียกร้องให้แก้ปัญหาด้วย อาทิ สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง, คนงานบริษัทลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต, สหภาพแรงงานเจเนรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม), สหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์

ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการสตรี เป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมี ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ให้เพิ่มจำนวนศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งปรับคุณภาพบริการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงทำงาน 2. ขอให้รัฐบาลลงสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ฉบับที่ 183 เรื่องการคุ้มครองความเป็นมารดา และ 3. ขยายสิทธิประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงให้สำนักงานประกันสังคมที่เป็นอิสระและกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกันในคณะกรรมการประกันสังคม


กรรมการสิทธิฯ ประกาศเจตนารมณ์เป็น 'องค์กรปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน'
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเห็นชอบให้นำกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ.2555 มาใช้บังคับแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. พร้อมประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรที่ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดการคุกคามทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศ โดย วิสา  เบ็ญจะมโน  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคล ระบุว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายสำคัญในการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากลปีนี้ด้วย

อนึ่ง ตามกฎ ก.ร.ข้อที่ 4 ที่ระบุว่า ข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้ใดกระทำการประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้ต่อข้าราชการด้วยกัน หรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ  ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในหรือนอกสถานที่ราชการโดยผู้ถูกกระทำมิได้ยินยอมต่อการกระทำนั้น  หรือทำให้ผู้ถูกกระทำเดือดร้อนรำคาญ  ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ  ตามข้อ 3 (9)  คือ
1. การกระทำการด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ  เช่น การจูบ การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง  เป็นต้น
2. กระทำการด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น วิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย  พูดหยอกล้อ  พูดหยาบคาย  เป็นต้น
3. กระทำการด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ  เช่น การใช้สายตาลวนลาม  การทำสัญญาณ หรือสัญลักษณ์ใด ๆ เป็นต้น
4. การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่ส่อไปในทางเพศ  เช่น  แสดงรูปลามกอนาจาร  ส่งจดหมาย  ข้อความ  หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น  เป็นต้น
5.  การแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ

 

 

ส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net