Skip to main content
sharethis

 

ผู้หญิงเก่งสามคน ได้พูดคุยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากความรุนแรง
 
 
มีการคาดการณ์ว่าประชาชนอย่างน้อยครึ่งล้านเสียชีวิตจากอาวุธปืนทุกปี และยังมีผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่ต้องเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 200,000 คน ซึ่งเป็นผลในทางอ้อมจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธ และเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายอาวุธขนาดเล็กอย่างไร้การควบคุมดูแล
 
และสำหรับทุกชีวิตที่สูญเสียไปจากการสู้รบ ยังมีอีกหลายชีวิตที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกทรมาน ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ถูกทำร้าย ถูกทำให้สูญหาย ถูกลักพาตัว หรือต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ มากกว่านั้นคือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การมีงานทำ บริการด้านสุขภาพ และการศึกษา
 
หลายล้านคนเป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและอีกหลายพันองค์กร รวมทั้งผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนพยายามรณรงค์ให้รัฐบาลทั่วโลกสนับสนุนสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) เพื่อกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายอาวุธ
 
ผู้หญิงสามคนได้พูดคุยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากความรุนแรง
 
แมเร็น อากัตซา-บูกาชี (Marren Akatsa-Bukachi): “ผู้ชายคนเดียวที่มีปืนก็สามารถข่มขืนคนได้ทั้งหมู่บ้าน”
 
แมเร็น อากัตซา-บูกาชี เป็นผู้อำนวยการบริหารของหน่วยงานสนับสนุนเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิงในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก (Eastern African sub Regional Support Initiative for Advancement of Women - EASSI) ซึ่งทำงานกับผู้หญิงที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรง
 
“ผู้ชายและผู้หญิงได้รับผลกระทบจากอาวุธแตกต่างกัน
 
“ในแอฟริกา มักมีการใช้ปืนเพื่อให้สามารถข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงอ่อนแอ ผู้หญิงยังได้รับผลกระทบตอนที่สามีเสียชีวิตหรือพิการเนื่องจากอาวุธขนาดเล็ก เพราะพวกเธอต้องรับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัวแทน
 
“ตัวดิฉันเองก็ได้รับผลกระทบจากการใช้อาวุธขนาดเล็ก ดิฉันมาจากเคนยา และที่ผ่านมาครอบครัวดิฉันได้เคยถูกคนที่ถือปืนบุกเข้ามาปล้นในบ้านถึงสองครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาสี่ชั่วโมง พวกเขาจับเรามัด คว่ำหน้าลงกับพรม ข่มขู่เรา คุกคามเราด้วยปืน พวกเขาเอาทุกอย่างที่เราหามาได้ไป
 
“ดิฉันโชคดีที่ไม่ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็ยังรู้สึกขมขื่นใจ ทุกวันนี้ดิฉันอยู่ในประเทศยูกันดา แม้ว่าก่อนนอนแต่ละคืนจะรู้สึกร้อนมาก แต่ดิฉันก็ต้องจะปิดล็อกประตูและหน้าต่างทุกบาน แม้แต่ประตูห้องนอน ใครล่ะที่อยากจะมีชีวิตแบบนั้น
 
“เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธ ในแอฟริกา เราไม่รู้ว่าอาวุธเหล่านั้นมาจากที่ไหน
 
“เราจำเป็นต้องป้องกันประเทศที่มักมีการใช้ความรุนแรงทางเพศ ไม่ให้เข้าถึงอาวุธขนาดเล็ก
 
“ในการละเมิดสิทธิผู้หญิง คุณไม่จำเป็นต้องใช้ปืนถึงร้อยกระบอกหรอก “ผู้ชายคนเดียวที่มีปืนก็สามารถข่มขืนคนได้ทั้งหมู่บ้าน”
 
“ทุกวันนี้เราจัดอบรมในประเด็นชาย-หญิงในเขตทะเลสาบใหญ่ เป็นการทำงานที่ช้ามาก เราจัดอบรมให้พวกเขา แต่ก็ไม่สามารถอยู่ต่อเพื่อดูว่าพวกเขานำความรู้ไปใช้อย่างไร ในประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกา มันเหมือนการเดินไปข้างหน้าสองก้าว และถอยหลังหนึ่งก้าว
 
“เป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเรามี ในเนื้อหาทุกหมวดของสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธจะต้องมีประเด็นชาย-หญิงด้วย”
 
มาเรียม (Mariame): “มีคนที่ถูกสังหารในทุก ๆ ที่”
 
สองปีหลังวิกฤตหลังการเลือกตั้งในไอวอรี่โคสต์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงยังดำเนินต่อไป ทั้งการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การควบคุมตัวและการทรมานอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายที่กระทำต่อผู้ที่ต้องสงสัย หรือเชื่อว่าให้ความสนับสนุนกับอดีตประธานาธิบดีโลรองต์ บักโบ (Laurent Gbagbo) ผู้ทำการละเมิดส่วนใหญ่เป็นทหารของรัฐบาล (FRCI) สารวัตรทหาร และกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากรัฐอย่างเช่น กลุ่มดูโซ (Dozos) มาเรียมอาศัยอยู่ในไอวอรี่โคสต์ และเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธปืน สมาชิกในครอบครัวของเธอต้องเปลี่ยนชื่อทุกคน เพื่อความปลอดภัย
 
“ตอนที่พวกดูโซเข้ามาในพื้นที่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 (และมีปืนเล็กยาว (Kalashnikovs) เป็นอาวุธ) ทุกคนต้องหนีไปอยู่ในป่า เรารู้ว่าพวกเขาเป็นพวกดูโซ เพราะพวกเขาใส่เสื้อแบบคนพื้นเมือง ตอนนั้น ดิฉันและสามีพร้อมลูกหกคน พวกเราหนีไปพร้อม ๆ กัน แต่ต่อมาต้องแยกกัน ดิฉันไปกับลูกสามคน สุดท้ายเราไปจนถึงค่ายที่พักพิงซึ่งลูกพี่ลูกน้องของสามีดิฉันอาศัยอยู่
 
“พวกเขาเริ่มเปิดฉากยิง เราไม่รู้ว่าใครเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน แต่มีคนที่ถูกสังหารในทุก ๆ ที่ ลูกชายอายุสี่ขวบของดิฉันพลัดหลงไป ตอนที่ลูกชายพยายามหาพวกเราและตะโกนเรียก เขาก็ถูกพวกนั้นยิง แต่เพื่อรักษาชีวิตของลูก ๆ อีกสองคนไว้ เราจึงตัดสินใจหลบหนี
 
“เราหนีไปพบกับผู้ชายสองคน คนหนึ่งมีปืน อีกคนหนึ่งมีมีดดาบ คนที่มีมีดดาบจับตัวดิฉันไว้ แต่คนที่มีปืนบอกว่าอย่าเพิ่งฆ่าดิฉัน เรามาข่มขืนเธอก่อน พวกเขาทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ดิฉันรู้สึกอ่อนแรงมากเพราะไม่ได้กินข้าวมาสามวันแล้ว
 
“ลูก ๆ ร้องไห้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ชายเหล่านั้นปล่อยดิฉันและจากไป
 
“สุดท้ายดิฉันหาจนพบสามี และเขาได้ไปยังที่ที่ดิฉันถูกข่มขืน และได้พบกับศพลูกชาย ในวันนั้น พวกติดอาวุธสังหารชาวบ้านอย่างน้อยสิบคนในหมู่บ้าน รวมทั้งผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งครรภ์เก้าเดือน
 
“พวกเขายิงลูกสาวอายุ 12 ขวบของดิฉัน ยังมีกระสุนสองนัดที่ฝังอยู่ในหัวของเธอ และอีกหนึ่งนัดที่แขน แพทย์ไม่สามารถเอาออกได้ ถ้าไปกระทบกับอะไรสักหน่อย เลือดกำเดาของเธอก็จะไหล แค่โดนแสงแดดแรง ๆ เลือดกำเดาก็ไหลเหมือนกัน และเธอมักมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง เราไม่มีปัญญาส่งเธอไปรักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั้ง ๆ ที่จำเป็นได้
 
“ตอนที่สงครามเริ่มขึ้น ทุกอย่างในชีวิตเราก็จบลง กลุ่มติดอาวุธบุกเข้ามาโจมตีทุกหมู่บ้าน พวกเขามีทั้งมีดดาบและปืน บางคนยังมีขวาน ถ้าพวกเขารู้ว่าคุณเป็นเผ่าเกร่า (Guere) (เผ่าพื้นเมืองที่ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนนายบักโบ) พวกเขาก็จะฆ่าคุณ”
 
อีมา เปเรซ กิล (Irma Pérez Gil): “การสังหารผู้หญิงมักเป็นผลมาจากการใช้อาวุธขนาดเล็ก ซึ่งซื้อหาได้จากตลาดมืด”
          
อีมา เปเรซ กิล นักรณรงค์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เม็กซิโก เป็นส่วนหนึ่งของทีมนักเจรจาซึ่งทำหน้าที่ล็อบบี้สนธิสัญญาซื้อขายอาวุธในเวทีองค์การสหประชาชาติ
          
“เมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้วในการประชุมสหประชาชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอสนธิสัญญาที่เสนอโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อควบคุมการซื้อขายอาวุธระดับโลก เราได้เข้าร่วมในการประชุมใหญ่ ได้รับฟังความเห็นของแต่ละประเทศ และในช่วงพัก เราได้ขอเข้าพบบรรดาเอกอัครราชทูตทั้งหลายเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะของเรา
          
“การประชุมมีขึ้นสี่สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อย มีสีสันและน่าสนใจมาก เพราะว่าสุดท้ายแล้วในที่ประชุมได้อภิปรายเนื้อหาฉบับร่างของสนธิสัญญาอย่างละเอียด ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย การประชุมบางวันยืดเยื้อไปจนถึงตีสองครึ่งก็มี
          
“ในวันสุดท้าย ในช่วงที่นายโอบามากังวลกับการรณรงค์เพื่อเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สอง ทางเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า พวกเขาต้องการเวลามากกว่านี้เพื่อพิจารณาเนื้อหาก่อนให้ความเห็นชอบ ในขณะที่จีน รัสเซีย และแม้กระทั่งคิวบาก็สนับสนุนจุดยืนของสหรัฐฯ ทำให้การเจรจาล่มลง
          
“มีการกำหนดการประชุมครั้งใหม่ที่องค์การสหประชาชาติในเดือนมีนาคม 2556 นี้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย
          
“ในที่ประชุมสหประชาชาติ กระบวนการต่าง ๆ ดูเหมือนจะยืดเยื้อและยากลำบาก แต่สุดท้ายเราก็จะได้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลผูกพัน หากมีการลงมติรับรอง และหวังว่าจะยั่งยืนไปตลอดกาล
          
“ข้อบทอย่างหนึ่งในร่างสนธิสัญญาระบุไว้ว่า กรณีที่ประเทศหนึ่งจะส่งออกอาวุธ พวกเขาจะต้อง (will) “พิจารณา” ใช้มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธที่ตนส่งออก ถูกนำไปใช้เพื่อก่อความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องการให้ในเนื้อหาใช้คำว่า “จำเป็นต้อง” (shall) ดำเนินมาตรการมากกว่า
          
“เป็นปัญหาใหญ่มากในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น อเมริกากลาง เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัวและการสังหารผู้หญิงมักเป็นผลมาจากการใช้อาวุธขนาดเล็ก ซึ่งซื้อหาได้จากตลาดมืด
          
“เช่นเดียวกับสนธิสัญญาอื่น ๆ สนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้เป็นเวทย์มนต์วิเศษ แต่ถ้ามีเนื้อหาเข้มงวดก็จะช่วยให้โลกปลอดภัยขึ้น”
 
---
ปกิณกะ
- มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 794,000 - 1,115,000 คน อันเป็นผลโดยตรงจากการขัดกันด้วยอาวุธในระหว่างปี 2532 – 2553
- โดยเฉลี่ยแล้วคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200,000 คนทุกปี โดยเป็นผลในทางอ้อมจากการขัดกันด้วยอาวุธ
- ประมาณว่าการฆ่าคนตายโดยบุคคลและแก๊งอาชญากรรมและด้วยการใช้ปืน คิดเป็นสัดส่วน 42% ของการสังหารทั้งหมด
- มีเพียง 35 ประเทศที่ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธทั่วไปในระหว่างประเทศ และมีเพียง 25 ประเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งมอบอาวุธอย่างแท้จริง
- ในปี 2553 มูลค่าการส่งมอบอาวุธทั่วไปในระดับโลกโดยคิดเป็นรายประเทศ รวมกันประมาณ 72,000 ล้านเหรียญ
 
แหล่งข้อมูล: องค์การสหประชาชาติ, TransArms, Uppsala Conflict Data Program, ปฏิญญาเจนีวา (Geneva Declaration)
 
ที่มา: 
Women explain why an arms trade treaty can save many lives (amnesty.org, 7 March 2013)
http://www.amnesty.org/en/news/women-explain-why-arms-trade-treaty-can-save-many-lives-2013-03-07
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net