เรื่องเล่าจากเวเนซุเอลา: ก่อนวันที่ ชาเวซ จะจากไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่องเล่านี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในประเทศเวเนซูเอล่า ระหว่างปี 2001-2002 และได้มีโอกาสกลับไปเวเนซุเอลาอีกครั้งหลังผ่านไป 11 ปี เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012 ที่ผ่านมา

ประเทศเวเนซุเอลาที่ฉันรู้จักเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เป็นยุคต้นของการปกครองประเทศโดยประธานาธิปดี  อูโก ชาเวซ ด้วยข้อจำกัดทางภาษาในช่วงต้น ทุกวันของการอยู่ที่นั้นจึงเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ภาษาให้มากขึ้นมากกว่าสนใจเรื่องราวทางการเมืองภายในประเทศ รู้เพียงแต่ว่าคนรอบข้างหลายคนไม่ชอบประธานาธิบดีคนนี้ จนกระทั่งฉันได้ย้ายเข้าไปอยู่ในครอบครัว Romero มีพ่อที่เป็น Chavista[1] คนเดียวในบ้าน ความสนใจอยากรู้เรื่องการเมืองภายในประเทศก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล ชาเวซ ในวันที่ 11 เมษายน 2002 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้นำในกองทัพบางส่วน และกลุ่มชนชั้นนำที่สูญเสียประโยชน์จากนโยบายปฏิรูปธุรกิจน้ำมันในประเทศ

ฉันยังจำคืนวันปฏิวัติได้ เพื่อนๆ ของครอบครัวต่างมาที่บ้านเพื่อนปลอบใจพ่อ พ่อฉันนิ่งเงียบ แต่แอบมากระซิบบอกฉันในฐานะคนนอกว่า เค้าเชื่อว่า ชาเวซ จะกลับมาในพรุ่งนี้ และไม่รู้ว่าพ่อฉันมีความสามารถหยั่งรู้อนาคตหรืออย่างไร เช้าวันรุ่งขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของทหารที่ภักดีและประชาชนที่ให้การสนับสนุน ชาเวซ ก็ปฏิวัติกลับมาได้จริงๆ และฉันก็รอดพ้นไม่ต้องถูกส่งกลับประเทศก่อนกำหนด

 11 ปีผ่านไป ฉันได้กลับไปเวเนซุเอลาอีกครั้ง หนนี้ฉันกลับไปด้วยความกระตือรือร้นอยากรู้ว่าหลังผ่านการปกครองที่ยาวนานของ ชาเวซ และโลกได้รู้จักเวเนซุเอลามากขึ้นผ่านผู้นำประเทศฝีปากกล้าและนโยบายประชานิยมอย่างสุดขั้ว เวเนซุเอลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร

 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวเนซุเอลา พลิกมาติดโผประเทศอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นของโลกแทนที่โคลอัมเบีย ซึ่งถ้าเป็นที่ เมืองการากัส เมื่องหลวงของประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใจเท่าไร เพราะมี "ชื่อเสีย" เรื่องความปลอดภัยและสลัมขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่ในเมืองเล็กๆ ไกลแสนไกลจาก เมืองการากัส การเดินทางไปไหนคนเดียวของฉันกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ ที่พ่อกับแม่ต้องกำชับย้ำแล้วย้ำอีกว่า อย่าเอาของมีค่าติดตัวไปด้วย ให้ไปแต่ตัว จะนั่งรถเมล์ก็ห้ามหยิบของมีค่าออกมา อย่าพูดภาษาต่างประเทศถ้าไม่จำเป็น ฉันสังเกตเห็นว่าหลายบ้านนิยมทำรั้วไฟฟ้าแรงสูงเพิ่มขึ้น และจ้างยามถือปืนมาคอยเฝ้าบ้านให้ในเวลากลางคืน ครอบครัวที่ฉันรู้จักและสนิทอย่างน้อย 2 ครอบครัว หัวหน้าครอบครัวถูกจับไปเรียกค่าไถ่และฆ่าทิ้ง

ไม่เพียงแต่ความปลอดภัยในชีวิตที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ระบบสาธารณูปโภคอย่าง "ไฟฟ้า" และ "น้ำประปา" ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน ในเมืองเล็กๆ ที่ฉันอยู่เป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าฝนตกหนักแปลว่า วันนั้นและอีกหลายๆ วันน้ำอาจจะไม่ไหล เนื่องจากประปาเมืองอยู่บนภูเขา ในเวลาที่ฝนตกหนักตะกอนจะเข้าไปอุดตันท่อส่งทำให้น้ำไม่ไหลลงมาด้านล่าง สถิติที่น้ำไม่ไหลนานสุดที่ฉันเคยเจอคือ 1 อาทิตย์ หลายบ้านที่ไม่มีถังเก็บน้ำ ก็พากันไปอาบน้ำในลำธารกลางเมืองกันอย่างคับคั่ง กลายเป็นเรื่องโจ๊กพูดคุยกันไปทั่ว แต่ปัญหาน้ำประปาไม่ไหลอาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเท่ากับปัญหาไฟฟ้าดับ โดยเฉพาะเมื่อไฟฟ้าสัมพันธ์กับเรื่องความปลอดภัย เพราะแม้ว่าจะผ่านมาหลายปีไฟฟ้าที่นี้ก็ยังดับอยู่บ่อยๆ เหมือนเคยและไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้า เป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกเรื่องหนึ่งในประเทศผลิตน้ำมันอันดับต้นของโลกและมีแหล่งทรัพยากรจำนวนมหาศาล ทว่ายังคงต้องเจอกับปัญหาไฟฟ้าดับอยู่ เพื่อนคนหนึ่งอธิบายให้ฟังว่า "ที่ไฟฟ้าดับบ่อยเพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องการจัดการพลังงานที่ชัดเจนและมักจะโทษไปที่รัฐบาลก่อนหน้านู้นว่าไม่ได้วางระบบที่ดีไว้เสมอ" 

ถึงอย่างนั้น ข้อดีอย่างหนึ่งของการอยู่ที่เวเนซุเอลาคือ ทุกคนที่ฉันรู้จักล้วนแล้วแต่เป็นคนที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนทางการเมืองกับคนที่คิดต่างได้เสมอ การพูดคุยเรื่องการเมืองถือเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในงานเลี้ยงก่อนที่อาหารจะถูกนำมาเสิร์ฟ ทุกคนจะหันเก้าอี้เข้าหากัน เพื่อพูดคุยถกเถียงตั้งแต่เรื่องการเมือง ราคาสินค้าข้าวของ เรื่องอัตราแลกเงินกันอย่างเมามันส์เสียงดังลั่น คงเพราะว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมีผลกระทบโดยตรงกับวิถีการดำเนินชีวิตชาวเวเนซุเอลา เช่น นโยบายควบคุมราคาสินค้าที่ทำให้จำนวนสินค้าในท้องตลาดลดลงอย่างมาก เช่น แป้งข้าวโพด (Harina de Maiz) ที่ใช้ทำอาหารประจำชาติของเวเนซุเอลาหรือแป้งที่ใช้ทำขนมปัง ซึ่งล้วนเป็นของหายากและมีการจำกัดจำนวนต่อหนึ่งครอบครัว ทำให้ขนมปังดีๆ ในเวเนซุเอลาหาทานยากมากขึ้น หลายร้านต้องปิดกิจการลงเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนและขายในราคาที่รัฐกำหนดได้  หรือการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดจำนวนเงินดอลลาร์ ที่ชาวเวเนซุเอลามีสิทธิ์ถือครองหรือมีสิทธิ์นำไปใช้ในต่างประเทศ บทสนทนาส่วนใหญ่จึงมักวนเวียนอยู่กับเรื่อง "ปากท้องของกิน” เหล่านี้ และเพราะในช่วงเวลาที่ฉันได้กลับไปถือเป็น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งที่สำคัญทางการเมือง เพราะในขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่าอาการป่วยของ ชาเวซ เป็นอย่างไร ทั้งประเทศจึงตกอยู่ในบรรยากาศของข่าวลือและการคาดการณ์ต่างๆ นานาถึงอาการของ ชาเวซ และอนาคตของประเทศหากไม่มี ชาเวซ

จนกระทั่งมาถึงวันนี้....วันที่ ชาเวซ จากเวเนซุเอลาไปจริงๆ

ฉันเห็นรายการทีวีไทยหลายช่องหรือบางบทความพูดถึง ชาเวซ และนโยบายต่างๆ ของ ชาเวซ ในทำนองแสนสวยงาม (Romanticize) หรือในสายตาของนักปฏิวัติหลายคนที่ยกให้ เวเนซุเอลาเป็นประเทศต้นแบบของรัฐสังคมนิยม ที่ต่อต้านบรรษัทต่างชาติและทุนนิยม มีโครงการฟื้นฟูและปฏิรูปเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมจากล่างสู่บน (Bottom-up) ที่เห็นผล ตัว ชาเวซ เองก็กลายมาเป็นฮีโร่ของใครหลายคนที่เกลียดชังอเมริกาและระบอบจักรวรรดินิยม

โดยส่วนตัวฉันเชื่อว่า ชาเวซ เป็นคนมีเจตนาที่ดีหลายอย่างในการพัฒนาประเทศ หลายคนที่ฉันรู้จักที่เป็น Anti-Chavista เองคิดเห็นเช่นนั้น แต่เมื่อประเทศขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียว และคนๆ เดียวกลายเป็นประเทศ ทำให้ปราศจากระบบการตรวจสอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพชีวิตของคนเวเนซุเอลาที่ควรดีขึ้นจากเงินจำนวนมหาศาลที่ได้จากการจำหน่ายน้ำมัน จึงยังไม่สามารถนำมาเติมเต็มหลุมขนมครกยักษ์บนถนนหรือทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยได้อย่างที่ ชาเวซ วาดหวังไว้ภายใต้ชื่อโครงการ “The Grand Mission” (Grán Missión) ที่เชื่อว่าจะช่วยทำให้ชีวิตคนเวเนซุเอลาทุกคนอยู่ดีมีสุขขึ้น

พี่ชายชาวเวเนซุเอลาของฉันเคยพูดไว้ว่า  "For the outsider, Venezuela is the revolutionist's dreamland but for Venezuelan people we just want to live well and walk on our street without worrying that someone is going to rob you" (สำหรับคนนอกภายนอก เวเนซุเอลาคือดินแดนในฝันของนักปฏิวัติ แต่สำหรับชาวเวเนซุเอลา สิ่งที่เราต้องการคือ มีชีวิตที่ดีและออกไปเดินบนถนนได้โดยไม่ต้องกลัวโดนใครปล้น) ท่ามกลางการวิเคราะห์ถึงอนาคตของเวเนซุเอลาที่ปราศจาก ชาเวซ ในสื่อต่างๆ  ฉันว่านี่คงเป็นสิ่งที่ชาวเวเนซุเอลาคาดหวังกับอนาคตของประเทศตัวเองมากที่สุด

 

! Viva la Revolución!

 

           

IMG_1884.jpg

* ภาพ Graffiti ในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าการประจำแต่ละรัฐของเวเนซุเอลา เมื่อเดือนธันวาคม 2012 ที่ผ่านมา โดยเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรค Partido Socialista Unido de Venezuela (PSUV) ของ ชาเวซ และพรรค Primero Justicia ของ เอ็นริเก คาปริเลส ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นเสมือนจุดชี้ชะตาว่า คนเวเนซุเอลายังคงเชื่อมั่นในตัวประธานาธิปดี ชาเวซ อยู่หรือไม่ หลัง ชาเวซ บินไปรักษาตัวที่คิวบาและไม่ได้ออกสื่ออีกเลยนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิปดีในเดือนตุลาคม ซึ่งผลก็ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนพรรคของ ชาเวซ อย่างท่วมท้น

 



[1] Chavista เป็นคำใช้เรียกแทนคนหรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบในตัวประธานาธิปดี อูโก ชาเวซ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท