Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



จิมมี่ ซาวิลล์ (Jimmy Savile) ผู้ดำเนินรายการจัดอันดับเพลงท็อปชาร์ตชื่อดังแห่งสหราชอาณาจักร และมีชื่อเสียงในการระดมทุนเพื่อการกุศล ต้องสูญเสียชื่อเสียงในยามที่หมดลม และประวัติศาสตร์ที่เขียนเกี่ยวกับเขาต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ เนื่องจากหลังจากที่ตายไปได้มีผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายออกมาเปิดโปงว่าได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากชายผู้นี้ ในขณะที่ผู้เสียหายเป็นเยาวชน

แม้จะมีการวิเคราะห์กันว่าสื่อสำนัก Sky News ซึ่งเป็นคู่แข่งกับ BBC News ได้พยายามขุดค้นเรื่องนี้เพื่อรุกไล่โจมตีทำลายชื่อเสียงของซาวิลล์ในฐานะภาพตัวแทน (Icon) ของสำนัก BBC แต่ด้วยการสอบปากคำและการดำเนินคดีของตำรวจพบว่าคดีดังกล่าวที่มีการร้องทุกข์เข้ามานั้นมีมูลความจริง และอาจนำไปสู่การขยายผลจับกุมและดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับล่วงละเมิดทางเพศเด็กทั้งเครือข่าย

จากเหตุการณ์นี้ได้สร้างผลสะเทือนไปยังผู้บริหารของสำนัก BBC ถึงขนาดต้องลาออกเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันจริยธรรมของ “การยืนอยู่บนความจริง” ของสำนัก BBC และป้องกันมิให้ลุกลามไปถึงขั้นการทำลายความน่าเชื่อถือของ BBC ในฐานะผู้ที่ล่วงรู้ความจริงแต่พยายามสมคบคิดกันปกปิดความจริง

จิมมี่ ได้รับเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตพลเมืองอังกฤษเนื่องจากได้รับการแต่งตั้งเป็น “ท่านเซอร์” (Sir James Wilson Vincent Savile, OBE KCSG) โดยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธ

สาเหตุที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสหราชอาณาจักรก็เนื่องด้วย จิมมี่ ซาวิลล์ มีภาพลักษณ์เป็น “ผู้ใหญ่ใจดี มีสำนึกสาธารณะ อุทิศตนเพื่อการกุศล และสนุกสนานมีอารมณ์ขัน” ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ชาวบริติชรักใคร่ ภาคภูมิใจ และถึงขั้นให้ความเคารพนับถือ ในงานพิธีศพและไว้อาลัยมีประชาชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง มีการเรียงแถวกันเข้าโค้งคำนับศพ และจัดพิธีกรรมไปทั่วประเทศ เมื่อข่าวการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชนแพร่สะพัดออกไปจึงกลายเป็นการตื่นตระหนกตกใจ เจ็บปวด และเกิดปฏิกิริยาโต้กลับเจ็บแค้นไปยังสำนัก BBC และการเขียนประวัติชีวิตของจิมมี่อย่างหนักหน่วง

หากมองในแง่ของข้อกฎหมายและการดำเนินคดีจะพบว่า ในช่วงที่เขามีชีวิต กฎหมายและรัฐไม่อาจทำให้เขาต้องรับผิดใดๆ ได้เลยแม้แต่น้อย เนื่องจากบารมีและภาพลักษณ์ในฐานะคนดัง มีจิตสาธารณะ ทำการกุศล ได้รับเกียรติระดับสูงจากราชวงศ์อังกฤษ สิ่งล้วนเป็นเกราะชั้นดีให้กับ “คนดี” ที่ชื่อ เซอร์จิมมี่ ซาวิลล์ ความตายและการเสื่อมลาภ ยศ สรรเสริญ จึงเป็นที่มาของการเปิดเผยความจริงในภายหลัง

ราคาของความจริงที่ถูกเปิดโปงนั้นสูงมาก เพราะความดีส่วนอื่นที่เขาได้เคยทำไว้ได้ถูกกลืนหายไปใต้ภาพลักษณ์ใหม่ของชายผู้วิปริตวิตถารและล่วงละเมิดเด็ก สิ่งที่ครอบครัวและองค์กรที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องต้องแบกรับนั้นก็มหาศาลเช่นกัน

ความจริงกับความตายจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความตายที่คนต้องการรู้ความจริง” และ “ความจริงที่ทำให้คนเปิดเผยตาย” หรือ “ความจริงที่คนเปิดเผยอาจจะตาย” ดังกรณีวิกิลีกส์ จูเลี่ยน แอสสาจน์ และพลทหารแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ซึ่งต้องสูญเสียอิสรภาพจากการเปิดเผยความลับ ซึ่งเอกสารที่เขานำมาเปิดเผยนั้น ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาและเช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรจะต้องเปิดเผยเมื่อผ่านพ้นไปครบ 50 ปี

หากมองไปที่ระบบกฎหมายข้อมูลข่าวสารของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเทียบกับระบบกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการของไทย จะพบว่ามีความแตกต่างอยู่ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเอกสารลับนี้ เนื่องจากระบบกฎหมายไทยไม่มีเรื่องเงื่อนไขเวลา หากเอกสารใดที่ไม่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงก็จะไม่สามารถเปิดเผยได้เลย ส่วนกระบวนการเรียกร้องให้เปิดเผยก็จะต้องมีการร้องไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ และอุทธรณ์มาเรื่อยจนถึงระดับชาติ หากยังไม่เปิดเผยก็ต้องฟ้องศาลปกครองให้บังคับคณะกรรมการให้ออกคำสั่งบังคับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลให้เปิดเผย

แต่ยังมีทางลัดในทางปฏิบัติคือ อาจมีการฟ้องร้องคดีอื่นที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานราชการนั้น เพื่ออาศัยอำนาจศาลในการบังคับให้เปิดเผยข้อมูลในเอกสารดังกล่าว หากไม่กระทบชื่อเสียงส่วนบุคคลในเรื่องส่วนตัว ก็สามารถนำมาเผยแพร่ต่อได้เมื่อปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาล

ดังนั้นการเข้าถึงความจริงในเชิงประจักษ์ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างเข้มข้นในรัฐไทย จึงจำเป็นต้องศึกษาคำพิพากษาต่างๆ และการผลักดันให้ศาลตีพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาในฐานข้อมูลอินเทอร์เน็ตในทุกระดับชั้นศาล ดังที่ปรากฏในฐานข้อมูลคำพิพากษาในต่างประเทศ จึงจะมีส่วนช่วยในการเข้าถึงความจริง และพัฒนาภูมิปัญญา ปลดเปลื้องความไม่รู้ในหลายแง่มุม นำไปสู่การถกเถียงในเชิง “ความคิดเห็น” มิใช่การถกเถียงในเรื่อง “ข้อเท็จจริง” ดังที่เป็นอยู่ในหลายกรณี เช่น ใครฆ่า ใครเผา ใครจ้าง ใครล้มโต๊ะ ใครป่วน ใครเริ่ม ฯลฯ และอีกหลายคดีความขัดแย้งในสังคมไทย

หรือเราจะต้องรอให้ครบ 50 ปีแล้วไปเอาเอกสารที่ทางการสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบันทึกไว้มายืนยันความจริง หรือแย่กว่านั้น คือ ต้องรอให้มีคนเสียสละต้องเผชิญโทษทางกฎหมายเพื่อนำข้อมูลลับทั้งหลายมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตดังกรณีวิกิลีกส์ ซึ่งความจริงเหล่านั้นมีต้นทุนสูงทั้งต่อผู้เผยแพร่ และการเข้าถึงของสาธารณชน การบังคับเผยแพร่ทุกคำพิพากษา (โดยปิดบังชื่อคู่กรณีในคดีส่วนตัว) ยังดีต่อการศึกษากฎหมายของประชาชนทั่วไปและผู้สนใจหาความจริงในหลายแง่มุมด้วย หรือใครกลัวความจริง?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net