Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 

 

ภาพ: prachatai.com/journal/2012/12/44390

            เป็นเหตุการณ์สะเทือนใจไปทั่วโลก กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนแซนดี ฮุค (Sandy Hook Elementary) ในเมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคมปีที่ผ่านมา จากการกราดยิงด้วยอาวุธปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ AR-15 ของ อดัม แลนซา ชายหนุ่มวัย 20 ปี ผู้ที่ถูกเลี้ยงมาพร้อมปืนจู่โจมอย่างโดดเดี่ยวกับผู้เป็นแม่ ซึ่งได้หย่าขาดจากพ่อของเขาที่เป็นถึงรองประธาน GE Capital, เกิดอะไรขึ้นในวันที่เขาตัดสินใจนำปืนจู่โจมคู่ชีพออกมาทำมาตุฆาต แล้วเดินออกไปก่อเหตุสังหารครูและนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวจนเสียชีวิตถึง 26 คน ก่อนเขาจะฆ่าตัวตายตาม

            ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โรงภาพยนตร์ Aurora ในรัฐโคโลราโด มีผู้เสียชีวิต 12 คน จนทำให้เกิดคำถามจากหลายคนว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมอเมริกา เมืองแห่งสิทธิเสรีภาพและโลกใหม่ที่ผู้คนใฝ่ฝันมาตั้งแต่ยุคแรก ซึ่งเดินตามแนวทางระบอบทุนนิยมเสรีเต็มที่มาอย่างยาวนาน ผู้คนกว่า 300 ล้านคนบนพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนั้นร่ำรวยขึ้นมาจากความมั่งคั่งในด้านต่างๆ ของแผ่นดินอินเดียนแดง และเติบโตเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกในด้านต่างๆ มาโดยตลอดจนกระทั้งทุกวันนี้ โดยเฉพาะในด้านการเงินการธนาคาร เทคโนโลยีและพลังงาน

            แต่โลกแห่งความมั่นคั่งในมิติด้านเดียวนี้เอง ได้พลัดพรากความเป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้นไปไม่มากก็น้อย ในระบอบทุนนิยมที่สร้างผู้คนเป็นปัจเจกและแปลกแยกทางสังคมมากขึ้นทุกขณะ โดยทุกคนต้องดิ้นรนขวนขวาย มือใครยาวสาวได้สาวเอา เพื่อเอาตัวรอดและมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ In God We Trust, เงินตราเป็นพระเจ้าที่ขาดไม่ได้ในแต่ละวันเพื่อนำมาจัดการความเป็นอยู่ของครอบครัวหนึ่ง จึงอาจไม่แปลกที่วิถีเหล่านี้ได้แยกพวกเขาออกห่างจากความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ทั้งในระดับสังคมครอบครัวใหญ๋และในระดับครอบครัวเดี่ยว, ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ก็เช่นกัน ผู้คนตื่นเช้ามาเพื่อไปทำงาน และตกค่ำกลับมาเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำนอนเพื่อรอตื่นมาไปทำงานในเช้าวันใหม่ ทุกๆ วัน จนความเป็นสังคมและความอบอุ่นของครอบครัวถูกแยกห่างออกไปและถูกให้ความสำคัญน้อยลง

            การสะสมทรัพย์สินในโลกทุนนิยมเต็มที่ย่อมสร้างความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางความแตกต่างในโอกาสทางสังคมและนโยบายของรัฐบาล สังคมทุนนิยมทั่วไปจึงไม่ปลอดภัยสำหรับผู้สะสมทรัพย์สิน อาชญากรรมมีแทบทุกที่ในอเมริกาและในประเทศที่พัฒนาแล้ว แน่นอน เมื่อเงินตราเป็นพระเจ้าที่ขาดไม่ได้ในแต่ละวัน พวกเขาจึงคิดแค่เพียงสะสมทรัพย์สินและหาวิธีการรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ให้ได้อย่างปลอดภัยเป็นหลัก สังคมที่โดดเดี่ยวในโลกทุนนิยมจึงรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ และเพื่อรักษาทรัพย์สินเหล่านั้น อเมริกาจึงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในโลกราว 270 ล้านคน จนว่ากันว่าในจำนวนคนทุกๆ 10 คนนั้น จะมีปืนในครอบครองถึง 9 กระบอกเลยทีเดียว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอาชญากรรมในสังคมอเมริกาจึงเกิดจากอาวุธปืนเป็นหลัก

            ในเมื่ออาวุธปืนคือสัญลักษณ์ของความรุนแรงในตัวเองอยู่แล้ว ตลอดจนสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่บางส่วนส่งเสริมความรุนแรงในมิติต่างๆ ผนวกกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ไร้แก่นสารของผู้คนที่อยู่กับตนเองมากกว่ากับสังคม ในโลกเสมือนทางอินเตอร์เน็ตผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ กับความรู้สึกที่ไม่ได้สัมผัสชีวิตและความรู้สึกที่แท้จริงของผู้คนในสังคมมากนัก ผสมกับการเข้าถึงอาวุธได้ง่ายของพลเมือง จึงไม่ยากเลยที่ใครก็ตามจะมีจิตใจนิยมความรุนแรงตั้งแต่ยังเด็ก และเติบโตมาพร้อมกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกเหมือนกับ อดัม แลนซา

            เหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกแต่อย่างใด และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์การสังหารหมู่โดยไร้เหตุผลขึ้นบ่อยครั้ง เหตุการณ์ที่สำคัญคือ การสังหารหมู่ที่โรงเรียน Columbine High School ในปี 2542 มีผู้เสียชีวิต 13 คน และเหตุการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดในอเมริกาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2550 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 คน ภายในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค และมือสังหารเชื้อสายเกาหลีใต้คนนั้นได้ฆ่าตัวตายตามเพื่อปลดปล่อยตนเองภายหลังจากก่อเหตุ

            เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้มีนโยบายที่จะผลักดันให้มีกฎหมายการควบคุมการครอบครองอาวุธปืนผ่านสภาภายในเดือนมกราคม 2556 เพื่อหยุดยั้งโศกนาฏกรรมที่เกิดจากอาวุธปืนในสังคมอเมริกาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ว่ากันว่าเรื่องนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะย่อมได้รับการต่อต้านอย่างหนักจาก สมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (The National Rifle Association – NRA) ซึ่งมีอิทธิพลสูงมากในสภา เพราะเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่รายหนึ่งของพรรคการเมืองอย่าง Republican ในขณะที่ผลประโยชน์ในด้านการค้าอาวุธของอเมริกานั้นมีมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ และสูงถึง 31,000,000,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2554 ยังไม่นับรวมธุรกิจของบรรษัทเอเจนซี่อื่นๆ ที่ควบคุมเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐในด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้พาญาติของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย 26 คนมาที่ทำเนียบขาว เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการผลักดันมาตรการควบคุมอาวุธปืนอย่างจริงจังตามนโยบายของโอบามา

            ในอเมริกานั้นมีสนามซ้อมยิงปืนไรเฟิลระยะไกลที่เข้าถึงง่ายในแทบทุกรัฐ เนื่องด้วยการเข้าถึงปืนไรเฟิลก็ง่ายเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกที่อาจมีคนอเมริกาหลายต่อหลายคนไม่ได้อยู่กับครอบครัวเป็นหลักมากเท่าใช้ชีวิตอยู่กับปืนและความรุนแรง

            สังคมทุนนิยมแบบอเมริกาและในประเทศพัฒนาเต็มที่แล้วในหลายๆ ประเทศ อาจจะไม่แตกต่างกันมากนักในเวลานี้ ที่สังคมแห่งความรุนแรงได้กระจายไปทั่วพื้นที่ต่างๆ ทั้งผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอาวุธปืนที่เกลื่อนเมือง (ยกเว้นบางประเทศที่มีกฎหมายจำกัดการครอบครองอาวุธปืนอย่างเข้มงวด เช่น ญี่ปุ่น) ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่แม้แต่เยาวชนก็ยังเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย และยิงกันตายบ่อยครั้งบนรถเมล์ประจำทางและหน้าร้านเหล้า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และไม่ใช่มีผลกระทบเฉพาะคนธรรมดาเท่านั้น เพราะแม้กระทั่ง ส.ส. หรือประธานาธิบดี ก็เคยโดนลอบสังหารมาแล้วเช่นเดียวกันในประวัติศาสตร์

            คงถึงเวลาที่โลกเราจะต้องควบคุมการครอบครองและการเข้าถึงอาวุธอย่างจริงจังเสียที, Gun Control หรือการจำกัดการถือครองอาวุธในอเมริกาจะสำเร็จหรือไม่ต้องลุ้นเอาใจช่วยกันต่อไป โดยเฉพาะพลเมืองอเมริกาจะต้องออกมาเรียกร้องและสนับสนุนรัฐบาลของเขาอย่างเต็มที่ เพื่อประกาศว่า หมดเวลาแล้วสำหรับความรุนแรง หมดเวลาแล้วสำหรับสงครามภายในและภายนอกซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนไปไม่มากก็น้อยในอดีต หมดเวลาแล้วสำหรับเศรษฐกิจที่แลกมาด้วยความตายของผู้คน มนุษย์ผลิตอาวุธสงครามออกมาทำไม, ถ้าไม่ใช่เพื่อประหัตประหารมนุษย์ด้วยกันเอง และขณะนี้ผู้คนทั่วโลกกำลังออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามาลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายอาวุธไปสู่ประเทศเผด็จการและทหารเด็ก ซึ่งผู้นำประเทศต่างๆ ได้มีวาระการประชุมร่วมกันเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 มีนาคมนี้

            ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยน่าจะนำนโยบาย Peace Zone ออกมาใช้อย่างจริงจัง ในการควบคุมอาวุธและตรวจตราการพกพาอาวุธปืนอย่างเต็มที่ อย่างน้อยอาจนำร่องในเขตกรุงเทพมหานคร หรือในบางพื้นที่, หากทำได้ เราคงมีสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น และลูกหลานของเราคงไม่ต้องพบกับโศกนาฏกรรมในคราวต่อไป.

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ตลาดนัดจตุจักร, 
สมาชิกอาสาสมัครและนักกิจกรรมจาก Amnesty International Thailand
ได้ร่วมกันทำกิจกรรม  “Global Action Week” โดยการเต้น OBAMA HARLEM SHAKE
เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามา ลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ
เนื่องด้วยในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ผู้นำของประเทศต่างๆ จะร่วมประชุมกันเพื่อเจรจาร่างสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ
ซึ่งจะมีผลในการหยุดไม่ให้อาวุธตกไปอยู่ในมือของเผด็จการและทหารเด็ก 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:
• มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 794,000 - 1,115,000 คน อันเป็นผลโดยตรงจากการขัดกันด้วยอาวุธในระหว่างปี 2532 – 2553
• โดยเฉลี่ยแล้วคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200,000 คนทุกปี โดยเป็นผลในทางอ้อมจากการขัดกันด้วยอาวุธ
• ประมาณว่าการฆ่าคนตายโดยบุคคลและแก๊งอาชญากรรมและด้วยการใช้ปืน คิดเป็นสัดส่วน 42% ของการสังหารทั้งหมด
• มีเพียง 35 ประเทศที่ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธทั่วไปในระหว่างประเทศ และมีเพียง 25 ประเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งมอบอาวุธอย่างแท้จริง
• ในปี 2553 มูลค่าการส่งมอบอาวุธทั่วไปในระดับโลกโดยคิดเป็นรายประเทศ รวมกันประมาณ 72,000 ล้านเหรียญ

แหล่งข้อมูล: Amnesty Internationa Thailand, องค์การสหประชาชาติ, TransArms, Uppsala Conflict Data Program, ปฏิญญาเจนีวา (Geneva Declaration)

http://www.oknation.net/blog/talkwithMetha/2013/03/11/entry-1

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net