Skip to main content
sharethis


11 มี.ค.56 มีการสัมมนาสาธารณะ "ชีวิตกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ – ครุ่นคิดจากประสบการณ์ของฟูกูชิมะ" ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย Mekong Watch (แม่โขงวอทช์) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จากนั้นเกิดคลื่นสึนามิ สูงถึง 40.5 เมตร และเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ โดยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อยสามเครื่องได้รับความเสียหาย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิชิเกิดระเบิดขึ้น ประชาชนที่อาศัยในรัศมีใกล้เคียงถูกสั่งอพยพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 15,881 คนจากภัยพิบัติ และมีผู้สูญหาย 2,668 คน


การเตือนภัยที่ไม่เกิดขึ้น
ยูกะ คิคุจิ จาก แม่โขงวอทช์ กลุ่มเอ็นจีโอญี่ปุ่นซึ่งสนใจในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงสถานการณ์ความเสียหายหลังเกิดอุบัติเหตุฟูกูชิมะว่า การกระจายของสารกัมมันตรังสีนั้นไม่ได้กระจายเป็นวงกลม แต่ไปตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ โดยในเว็บโรงไฟฟ้า TEPCO ระบุว่ามีผู้ประสบภัยที่อพยพออกนอกพื้นที่ทั้งสิ้น 71,966 คน ขณะที่หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน รายงานว่ามีทั้งสิ้น 160,000 คน

ขณะที่งบประมาณในการกำจัดกัมมันตรังสี ในช่วงปี 2011-2013 เป็นเงินราว 5.117 แสนล้านบาท ซึ่งไปตกกับบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ โดยที่เป็นเพียงการนำหน้าดินปนเปื้อนออกมากองแยกไว้เท่านั้น โดยยังไม่รู้ว่าจะไปเก็บที่ไหน

ด้านการเตรียมการป้องกันภัยพิบัติจากกัมมันตรังสีของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น พบว่า ก่อนภัยพิบัติไม่ได้มีการฝึกชาวบ้านอย่างจริงจัง เมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว รัฐบาลได้ประกาศขยายพื้นที่อพยพออกไปเรื่อยๆ จาก 3-10 กม. เป็น 20 กม. และ 20-30 กม. ในอีกสิบวันถัดมา ทั้งนี้ ต่อมาพบว่า รัฐบาลมีระบบเครือข่ายคาดการณ์ผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีอย่างรวดเร็วขณะฉุกเฉิน (SPEEDI) ซึ่งคาดการณ์ได้ใกล้เคียงกับความจริงขณะเกิดอุบัติเหตุฟูกูชิมะ แต่รัฐบาลไม่เปิดเผยต่อประชาชนเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความโกลาหล อย่างไรก็ตาม กลับมีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้กองทัพอเมริกา และเนื่องจากข้อมูลไม่ชัดเจน ทำให้มีคนอพยพหนีไปในทิศทางที่ปริมาณรังสีมาก

ยูกะกล่าวว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมะ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยสนับสนุนเวียดนามในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งกังวลว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น จะส่งผลต่อการแพร่ของมลภาวะผ่านระบบนิเวศน์ของลุ่มแม่น้ำโขงในวงกว้าง


กัมมันตรังสีที่กำจัดไม่เสร็จ
โนบุโยชิ อิโต ซึ่งขณะเกิดเหตุ เป็นผู้ดูแลศูนย์ฝึกอบรมด้านการเกษตรในหมู่บ้านอิเทเทะ อ.โซมะ จ.ฟูกูชิมะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ถูกปนเปื้อนจากกัมมันตภาพรังสี เล่าว่า หมู่บ้านอิเทเทะห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ 30-50 กม. ขณะเกิดเหตุ รู้สึกถึงแผ่นดินไหวไม่มากนัก จากนั้นคนในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบราว 1,200 คนอพยพมาที่นี่ โดยในวันที่ 21 มี.ค.53 รัฐบาลจ้างนักวิชาการมาบอกว่าที่นี่ปลอดภัย ทั้งที่วันเดียวกัน คนในหมู่บ้านตรวจพบสารไอโอดีนในน้ำประปา จึงสั่งปิดน้ำประปาและแจกน้ำดื่มแทน โดยสาเหตุที่หมู่บ้านอิเทเทะถูกปนเปื้อน เพราะวันที่ 15 มี.ค. ลมเปลี่ยนทิศเข้าแผ่นดิน เมฆที่มีสารปนเปื้อนพัดมา ฝนตกและกลายเป็นหิมะ ทำให้สารในอากาศตกลงมา

เขาบอกด้วยว่า จากที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลย คนในหมู่บ้านที่เดิมอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ต้องอพยพ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ส่วนมากที่เหลืออยู่จะเป็นผู้สูงอายุ ที่แอบกลับไปนอนในหมู่บ้าน เพราะที่พักฉุกเฉินที่รัฐจัดให้นั้นคับแคบ ขณะที่อิโตเองเทียวไปเทียวมา

ขณะที่การกำจัดกัมมันตรังสีของรัฐบาลนั้น อิโต เล่าว่า มีการตักหน้าดินออกวางกองไว้ในพื้นที่ที่รัฐบาลบอกว่าเป็น 'ที่ชั่วคราวของชั่วคราว' ซึ่งก็คือจะเก็บไว้ 3 ปี ก่อนจะย้ายไปเก็บในที่ชั่วคราวอีก 30 ปี ซึ่งเขามองว่าเฉพาะดินในพื้นที่ชั่วคราวของชั่วคราวนี้ก็มหาศาลแล้ว การจะสร้างที่เก็บดินนาน 30 ปี ดูแล้วไม่น่าจะสร้างเสร็จได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้วิธีเอาผ้ามาเช็ดกระเบื้องหลังคาทีละแผ่น จึงเชื่อว่าไม่มีเทคโนโลยีหรือเคมีอะไรที่จัดการกัมมันตรังสีได้ เพราะแม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังจัดการด้วยวิธีนี้ และก่อนหน้านี้ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีปิดเตาโดยใช้เวลา 30-40 ปี นั่นเท่ากับยังไม่มีเทคโนโลยีจัดการได้ในตอนนี้

อิโต ตั้งคำถามกับคำพูดที่ว่าต้นทุนนิวเคลียร์นั้นถูกกว่าจริงหรือไม่ เพราะยังไม่ได้รวมค่าเชื้อเพลิง ค่าจัดการขยะจากโรงไฟฟ้า รวมถึงค่าปิดเตาเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือหมดอายุด้วย ขณะที่สุดท้ายประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายผ่านค่าไฟฟ้าและภาษี

อิโต ทิ้งท้ายว่า แม้เหตุการณ์ผ่านมาสองปีแล้ว กลับยิ่งสับสนมากขึ้น เพราะหากเกิดแต่สึนามิและแผ่นดินไหว ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังวางแผนได้ อาจแค่ก่อสร้าง แต่เมื่อเกิดการปนเปื้อน ผู้คนต่างก็เครียด เพราะไม่เห็นอนาคต ไม่มีใครตัดสินใจได้ว่าจะเอายังไง จะกลับบ้านได้ไหม และไม่ใช่ชาวบ้านตัดสินใจคนเดียว แต่ต้องฟังรัฐบาลและหมู่บ้านด้วย นอกจากนี้ คนอายุน้อยก็ไม่กลับไปที่บ้านอีกแล้ว มีเพียงคนชราที่อยากกลับ ต่อไป 10-20 ปีข้างหน้า อนาคตของหมู่บ้านก็คงไม่มีแล้ว


ความกดดันจากสภาพสังคม
ด้านพรศิริ ชีวาพัฒนานุวงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ระหว่างการทำวิจัยเรื่องทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเพื่อชุมชนท้องถิ่น กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น ว่า ชาวฟูกูชิมะที่อยากย้ายออกจากพื้นที่ ไม่สามารถทำได้เพราะมีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเท่าตัว ขณะที่การเปลี่ยนงานก็ทำได้ลำบาก เพราะญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนงานปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ทั้งยังมีปัญหาด้านสังคม ที่อาจถูกสังคมไม่ยอมรับ หาว่าละทิ้งถิ่นฐาน ทำให้อาจไม่ได้รับความช่วยเหลืออีก จะแสดงความเห็นหรือแสดงความคิดเห็นต่างก็เกรงจะก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชน โดยผู้ที่ให้ข้อมูลกับเธอนั้นค่อนข้างกังวลกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากการแสดงความเห็น

พรศิริ เล่าว่า ครูคนหนึ่งในฟูกูชิมะต้องการจะย้ายออก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากครูใหญ่ ด้วยเหตุผลว่า ครูจะต้องทำหน้าที่ช่วยชุมชน ถ้าครูออกไป อาจส่งผลถึงคนอื่นๆ ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์อาสาสมัครในพื้นที่ฟูกูชิมะ พบว่า มีผู้เป็นไทรอยด์มากขึ้นในระยะ 1 ปี เด็กอ่อนเพลียง่าย จู่ๆ เลือดกำเดาก็ไหล ไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งเล่นนอกอาคาร มีอาการซึมเศร้า และตัวเป็นจ้ำ ซึ่งอาการนี้ตรงกับที่ผู้ที่เคยทำงานซ่อมบำรุงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้สัมภาษณ์ไว้

นอกจากนี้ พรศิริ พบว่า มีผู้อพยพไปภูมิภาคอื่น อาทิ คิวชู ตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เช่น อดีตเจ้าของผับในฟูกูชิมะที่ย้ายไปทำการเกษตรปลูกผัก เพื่อส่งกลับไปให้พ่อและแม่ที่ฟูกูชิมะซึ่งไม่ได้ย้ายมาด้วย เนื่องจากเชื่อว่าน้ำ ผัก และดินที่นั่นไม่ปลอดภัย หรืออดีตพนักงานร้านสะดวกซื้อ ซึ่งย้ายมา เพราะไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลอีกแล้ว โดยเขาซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผักในร้าน พบว่าผักมีค่ากัมมันตรังสีสูงกว่าที่รัฐบาลบอกมาก จึงหาข้อมูลด้วยตัวเอง และเชื่อว่ารัฐบาลปกปิดข้อมูล จึงตัดสินใจย้ายออกมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net