Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมเคลื่อนเรียกร้องสิทธิแรงงาน ที่สถานทูตออสเตรเลีย สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ พรุ่งนี้ (13 มี.ค.)


(12 มี.ค.56) ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงข่าวเรื่อง "300 บาทรัฐจัดให้ แต่นายจ้างปล้นคืน" โดย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้รับเรื่องร้องเรียนหลายกรณี โดยเฉพาะความกดดันจากสถานประกอบการ ให้คนงานต้องยอมรับการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง และนำมาสู่การเลิกจ้างในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด มี 4 กรณีที่ประสบปัญหาหลังยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้าง ได้แก่

- กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ถูกเลิกจ้าง 129 คน หลังยื่นข้อเสนอขอปรับค่าจ้างตามนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้สอดคล้องกับฐานเงินเดือนและอายุการทำงานของลูกจ้าง และการบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไป ให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีและโบนัส

- สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ถูกยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท โดยบริษัทยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน จากเดิมพนักงานทำงาน 5 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เปลี่ยนเป็นให้ทำงาน 6 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันอาทิตย์เพียงวันเดียว โดยอัตราค่าจ้างยังเท่าเดิม ทั้งนี้ในระหว่างที่การเจรจายังไม่ยุติ มีการนำสภาพการจ้างงานแบบใหม่มาใช้กับพนักงานที่กำลังจะบรรจุเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานที่กำลังจะเลื่อนตำแหน่งงานเรียบร้อยแล้ว เพื่อกดดันลูกจ้าง โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังไม่รับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

- สมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทย ในฐานะลูกจ้างบริษัทลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย จำนวน 50 คน ถูกเลิกจ้าง ภายหลังจากที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงาน เพื่อเจรจาให้บริษัทมีการจัดสวัสดิการ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดประจำปี 13 วัน ให้แก่พนักงาน รวมถึงขอให้มีการจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดให้แก่พนักงานที่ต้องทำงานด้วย แต่ทางบริษัทไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว และบอกเลิกสัญญาจ้างพนักงานที่มารวมตัว 

- สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง ที่นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องขอปรับสวัสดิการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้าง โดยบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง รวม 4 ข้อ คือ (1) เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เวลาทำงานปกติ งานล่วงเวลาและการคิดค่าจ้างรายชั่วโมง วันลา ยกเลิกโครงสร้างตำแหน่งงาน โครงสร้างค่าจ้าง และตารางการขึ้นค่าจ้างจากการประเมินผลงาน (2) การเลื่อนตำแหน่งของพนักงานรายวันออกจากข้อตกลงสภาพการจ้าง (3) การยกเลิกเงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัยธรรมชาติ และ (4) ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีกำหนดเวลา 3 ปี   ทั้งนี้ ลูกจ้างเห็นว่าเป็นสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ชาลี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานหลายครั้ง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงความจำเป็นต้องยกระดับการต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อให้คนงานได้รับความเป็นธรรม โดยในวันพรุ่งนี้ (13 มีนาคม 2556) เวลา 08.30 น. คนงานกว่า 600 คน จะเดินทางไปยังสถานทูตของบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทย คือ สถานทูตออสเตรเลีย (ลินฟ้อกซ์) สถานทูตอเมริกา (จีเอ็ม) และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ (เอ็นเอ็กซ์พี) เพื่อให้สถานทูตดังกล่าวรับทราบว่าคนของประเทศตนเองมาทำกับแรงงานในไทยอย่างไร โดยสาเหตุที่ไม่ได้ไปสถานทูตสวีเดน เพราะล่าสุด สถานทูตสวีเดนและสหภาพอีเลคโทรลักซ์ที่สวีเดนได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย จึงอยู่ระหว่างรอผล ขณะที่ช่วงเย็น ขบวนการแรงงานจะเดินทางไปร่วมชุมนุมกับพี่น้องแรงงานที่อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลและจะประกาศแนวทางการต่อสู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ชาลี ประเมินว่า คนงานที่ได้รับผลกระทบนั้น น่าจะมีประมาณหนึ่งหมื่นกว่าคนจากทั้งสี่สถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กระทบกับครอบครัวของคนเหล่านั้นอีก 2-3 คนด้วย ฉะนั้น จึงน่าจะกระทบไม่น้อยกว่า 30,000-40,000 คน และแม้ว่านายจ้างจะได้รับผลกระทบด้วย แต่เนื่องจากสายป่านยาวกว่า ลูกจ้างจึงได้รับผลกระทบก่อน

ยงยุทธ เม่นตะเภา กรรมการ คสรท.และประธานที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระยะหลัง สังเกตว่าปัญหาที่เกิดมาจากทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยเฉพาะยุโรป ทุนเริ่มก้าวร้าวค่อนข้างมาก มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนกับลูกจ้างตลอดโดยไม่สนใจว่าชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างจะเป็นอย่างไร กรณีเจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนสภาพการจ้างโดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของลูกจ้างจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนงานในบริษัทผลิตชิ้นส่วนอีกหลายพันบริษัท รวมถึงขณะนี้ที่มีการปิดงาน ไม่ได้ผลิต บริษัทที่ทำชิ้นส่วนอื่นๆ ก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ รัฐเองก็เกรงใจทุนค่อนข้างมาก ส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ โดยไม่สนใจว่าคนงานจะอยู่อย่างไร ในอนาคตไทยจะพัฒนาสู่จุดไหน

ยงยุทธ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเป็นดีทรอยต์ส่งออกรถมาตรฐานเดียวกับทั่วโลก แต่มาตรฐานชีวิตคนงานกลับแตกต่างกัน คนงานจีเอ็มในสหรัฐฯ ทำงานได้ 4,000-5,000 บาทต่อวัน แต่คนงานจีเอ็มที่ระยองทำงานวันละ 300 บาท นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนค่อนข้างมาก และรัฐยังปล่อยให้มีทหารนอกรีตมาข่มขู่ทำร้ายคนงาน ให้คนงานต้องรับสภาพ ขณะที่กฎหมายแรงงานที่มีก็ไม่เป็นธรรม จำกัดสิทธิ จนคนงานไม่สามารถต่อรองในภาพใหญ่ได้เลย

ยงยุทธ กล่าวว่า นโยบาย 300 บาทไม่ใช่ไม่ดี ยังไม่พอด้วยซ้ำ แต่นายจ้างขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์มากจากการช่วยเหลือของรัฐบาล เช่น ลดภาษี  ขอคืนค่าใช้จ่าย กลับมาเอาประโยชน์จากคนเล็กคนน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะต้นทุนรถยนต์หนึ่งคันนั้นเพียง 2% การขึ้นค่าจ้าง 300 บาทจึงไม่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่แล้ว ทั้งนี้ กังวลว่า หากที่หนึ่งทำแบบนี้ได้ ต่อไปที่อื่นก็คงเอาคนงานเป็นเครื่องมือในการแข่งขันแบบเดียวกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net