Skip to main content
sharethis

 

13 มี.ค.56 สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร (ส.บอ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาในหัวข้อ "คนรุ่นใหม่กับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม" โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยกับสังคมที่เป็นธรรม โดยกล่าวถึงความประทับใจในการทำงานกับป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดี มธ.บทบาทและความสำคัญของป๋วยต่องานบัณฑิตอาสา

ในช่วงเวทีเสวนา “คนรุ่นใหม่กับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อุเชนทร์ เชียงเสน อดีตเลขาธิการสหพันธ์ นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย , ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw , เพียงคำ ประดับความ อดีตบัณฑิตอาสาสมัคร กวี-นักเขียน , ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ThaiPBS ดำเนินรายการโดย ดร. ภาสกร อินทุมาร อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เพียงคำ ประดับความ อดีตบัณฑิตอาสาสมัคร กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเองตกอยู่ในภาวะที่ไม่เชื่อว่า ตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ ความใฝ่ฝันที่เคยมีก็เก่าลงไปด้วย ความดี ความงาม ความจริง เริ่มพร่าเบลอ และไม่ค่อยเชื่อว่ามันมีอยู่ เมื่อเจอโจทย์นี้จึงไม่เชื่อว่าจะมีใครจะสถาปนาตัวเองขึ้นมาสร้างสังคมนี้ให้เป็นธรรมได้ โดยเฉพาะปิดประตูคุยในห้องแอร์ในสถานศึกษานั้นยิ่งสะท้อนว่า การจะสร้างสังคมเป็นธรรมนั้นทำได้โดยคนมีการศึกษาเท่านั้น เหตุที่คิดอย่างนี้ เพราะเราได้ร่วมยุคสมัยกันในช่วงที่มีเหตุการณ์เชิงประจักษ์ทิ่มตำลูกตาเรา แล้วเกิดความสงสัยว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในประเทศที่บอกตัวเองเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเกือบร้อยปี ท้ายที่สุดได้ก่อเกิดคำถามว่า “เราเป็นคนหรือยัง”

“เรื่องความเป็นธรรม ไม่ต้องซับซ้อน เราย้อนกลับไปที่ความเท่าเทียมกันใหม่ ยังไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่น และอย่างน้อยที่สุด เราต้องเท่าเทียมกันทางกฎหมายก่อน เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของเราคือ การมองคนไม่เท่ากัน เรายังต้องกลับมาเถียงกันอีกว่าใครมีสิทธิเลือกตั้ง อย่าเพิ่งไปฝันถึงอะไรถ้าเรื่องพื้นฐานแค่นี้ยังมองคนอื่นเป็นเท่ากันเรายังทำไม่ได้” เพียงคำกล่าว

เธอยังกล่าวถึงประสบการณ์ในฐานะบัณฑิตอาสาสมัครเก่าว่า ตอนนั้นวาดฝันว่าตัวเองจะเข้าไปในหมู่บ้านที่ลำบากที่สุด ไฟฟ้าไม่มี ชาวบ้านใสซื่อ ไม่ถูกครอบงำด้วยทุนนิยมอันเลวร้าย แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่าบ้านของชาวบ้านเป็นตึกเป็นปูน จึงรู้สึกผิดหวังและขอย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านชนเผ่าตองเหลืองที่ต้องปีนเขาขึ้นไปเดินทางด้วยความยากลำบาก โดยคิดว่าตัวเองจะไปทำอะไรให้หมู่บ้านเขาดีขึ้น แต่ที่ไหนได้กลายเป็นภาระชาวบ้านเสียด้วย สิ่งเดียวที่ได้ในการลงพื้นที่ 7 เดือน ตามหลักสูตรบัณฑิตอาสาคือ การรู้จักการรอคอย

“ตรงนี้มันบอกว่า ตอนนั้นโคตรดัดจริตเลย เรามองว่าชาวบ้านเป็นอะไรที่ต่างจากเราหรือ ทำไมเราอยากจะสตาฟฟ์เขาไว้ในสังคมแบบเก่า ทัศนคติแบบนี้ คนจน ชาวบ้าน คนต่างจังหวัด เป็นได้แค่รอคอยการพัฒนา คนที่ทำอะไรได้มากกว่านั้นคือคนที่เป็นบัณฑิต ที่จะลงไปพัฒนาพวกเขา กรอบคิดแบบนี้ นำชาวบ้านสู่ โง่ จน เจ็บ แล้วมันสร้างปัญหา เมื่อเขาหย่อนบัตรเลือกตั้ง เสียงของเขาก็กลายเป็นเสียงไม่มีคุณภาพ มาจากมันสมองที่ไม่มีคุณภาพ”

“เราจะไม่สามารถสร้างสังคมที่เป็นธรรมได้ ตราบใดที่เราไม่สามารถมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่ทิ่มตาเราอยู่ สิ่งที่ทำก็คือ การที่เราเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความไม่เป็นธรรม”

เพียงคำยังเล่าเชื่อมโยงถึงประสบการณ์การเก็บข้อมูลญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่า สิ่งที่กระแทกอย่างจังคือ คนพวกนี้เป็นคนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นคนใช้ คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ คนเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในวรรณกรรมไทย เขาเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศแต่เรามองไม่เห็นว่าเขาอยู่ที่ไหน หากเป็นเช่นนั้นก็ควรเลิกพูดถึงสังคมที่เป็นธรรม

นอกจากนี้เพียงคำยังพูดถึงกรณีที่ตัวเธอถูกรุ่นพี่บัณฑิตอาสาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเพจของโครงการบัณฑิตอาสาว่าเธอไม่เหมาะสมที่จะควรมาพูดในงานนี้ว่า พวกเขาให้เหตุผลว่าเพราะเธอ “แดง” นอกจากนี้ยังรื้อประวัติมามาว่าเคยเขียนกวีโต้กวีรัตนโกสินทร์ชิ้นที่เขียนก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ชื่อว่า “กบเลือกตั้ง” โดยเธอตั้งคำถามว่า การหมิ่นเนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นั้นผิดด้วยหรือ และระบุเหตุผลที่ต้องวิจารณ์ ประณามบทกวีของเนาวรัตน์ว่า เป็นทัศนะที่มองคนไม่เท่าเทียม และทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ThaiPBS เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า แม้ไม่ได้เรียนจบด้านข่าวโดยตรงแต่ก็ทำงานด้านนี้มาโดยตลอด เมื่อทำงานที่มติชนก็มีโอกาสเจอกับชาวบ้านที่เจอปัญหา ซึ่งอาจนิยามได้ว่าพวกเขาได้รับความไม่เป็นธรรม การจัดการโดยรัฐทำให้ชีวิตเขายากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านปากมูล กะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหลายๆ กลุ่ม เป็นต้น 2 ปีจากนั้นได้ไปทำข่าวหลายชิ้นที่เกี่ยวพันกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่ได้รับความไม่เป็นธรรม และนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายในทางที่ดีขึ้น จากนั้นไอทีวีก็ถูกซื้อหุ้นไป เธอและเพื่อนนักข่าวจำนวนหนึ่งได้เขียนแถลงการณ์คัดค้านการขายหุ้นของไอทีวี แล้วถูกไล่ออก แต่ยังคิดว่าสักวันหนึ่งจะมีสื่อที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานเกี่ยวกับชาวบ้านอีก คิดแต่ว่าคงมีสื่อที่ไม่ปล่อยให้ใครมาเทคโอเวอร์ได้อีก วันที่มีการตั้งไทยพีบีเอส ก็ไปสมัครงาน แม้หลัง 2549 เชื่อมาตลอดว่า ไม่มีดอกไม้งอกมาจากปลายกระบอกปืน แต่มันกลับมีไทยพีบีเอส และสุดท้ายต้องทำเพราะมันเป็นโอกาสแบบที่ต้องการ

ณาตยาเล่าต่อว่า งานแรกคือการทำข่าวบางสะพาน ชาวบ้านสองกลุ่ม ลงพื้นที่จัดเวทีคุย งานที่ทำต่อเนื่องต่อประเด็นนี้นำสู่ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนเป็นแผนของประจวบฯ


เธอกล่าวถึงช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์รุนแรงกลางกรุงเทพฯ ด้วยว่า ตอนนั้นมีไทยพีบีเอสแล้ว เธอทำข่าวและดูสถานการณ์ในเรื่องนี้โดยมองว่ามีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่เกิดความรุนแรงได้ไหม ส่วนเรื่องของอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายนั้นเป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งนั้น ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าสมัยใดคนตายมากกว่าย่อมผิดมากกว่า เพราะเพียงรัฐบาลเปิดช่องให้ใช้ความรุนแรงก็ผิดแล้ว นอกจากนี้ในช่วงนั้นไทยพีบีเอสยังถูกมองว่า พวกนำเสนอสันติวิธีอ่อนหัดเกินไปหรือเปล่า จนมันกลายเป็นเรื่องน่าอาย เรื่องนี้ก็คงถกเถียงกันไม่จบ แต่ก็ยังยืนยันจะทำงานต่อ

นอกจากนี้เรายังตั้งสมมติฐานว่า ความยากลำบาก ความไม่เป็นธรรมในชีวิตชาวบ้านเป็นต้นเหตุให้เขามาร่วมชุมนุม จึงเดินไปถามชาวบ้านซึ่งเขาก็ระบุถึงสาเหตุว่าเพราะรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม และมีปัญหาในพื้นที่ เช่น กลุ่มปัญหาที่ดินที่ลำพูน แต่บนเวทีของแกนนำก็ไม่ได้เปิดให้พวกเขาได้มีโอกาสสะท้อนปัญหาเหล่านี้ ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีเผาศาลากลาง เราก็ได้เดินทางตามเขาไปแล้วฟังเสียงเขาพูด เป็นลักษณะการทำงานแบบทำไปคิดไปว่าจะทำอะไรที่จะทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น มันอาจยังไม่ได้คำตอบที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยเราก็คิดอ่านกันว่าจะทำอะไร

อุเชนทร์ เชียงเสน อดีตเลขาฯ สนนท. ได้อ่านสิ่งที่เตรียมมาโดยเริ่มต้นจากการถกเถียงกันในเฟซบุ๊กเรื่องการคัดสรรวิทยากรว่า จากทัศนะดังกล่าวอาจสะท้อนได้ว่าหากนี่เป็นทัศนะส่วนใหญ่ของบัณฑิตอาสาอาจมีปัญหา เพราะพื้นฐานที่สุดในการเรียนด้านสังคมศาสตร์คือ ต้องทำให้คนคิด เข้าใจโลกภายนอก เข้าใจสังคมที่สลับซับซ้อนได้ คนมีพื้นฐานแบบนี้ไม่น่าพูดได้ว่า อาจารย์แดงเป่าหูให้นักศึกษาแดง หรือเชื่อว่าวิทยากรจะมาเป่าหูคนอื่นได้ เพราะการคิดแบบนี้เป็นพื้นฐานของการคิดง่ายๆ ว่า คนชนบทที่ลงคะแนนเสียงให้กับคนหรือพรรคที่ตนเองไม่ชอบนั้น ถูกหลอกลวง ขายเสียง ฯลฯ วิจารณ์ชาวบ้านที่ตัวเองเข้าไปจัดตั้งตามอุดมการณ์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือชาวบ้านทั่วๆไป ว่าขาดจิตสำนึก และดังนั้น ภารกิจของนักพัฒนาคือ การสร้างจิตสำนึกให้กับพวกเขาเหล่านั้น

นอกจากนี้เขายังระบุว่าจะพูดในหัวข้อสังคมที่เป็นธรรมในแง่กระบวนการการเมืองและประชาธิปไตย โดยเชื่อมโยงกลับมาที่ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ปัญหาข้อขัดแย้งที่สำคัญ อยู่ที่ “สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์” และ ตามคำอภิปรายของศิษย์เก่านั้น อัตลักษณ์ความเป็นแดงถูกผูกไว้กับประเด็นนี้โดยตรง อย่างความไม่พอใจต่อความเป็นแดงของวิทยากรบางคนที่ผูกกับบทบาทของเขาในการรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งพวกเขาเห็นว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

เขากล่าวต่อว่า นอกจากนี้เมื่อคิดถึงความเป็นธรรมทางสังคมก็สนใจในแง่ของมิติกระบวนการด้านการเมือง-ประชาธิปไตย เพราะเป้าหมายหรือรูปแบบของสังคมที่เป็นธรรมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเราไม่สามารถที่จะบังคับคนอื่นให้มีเหมือนเราได้ แต่ในแง่กระบวนการนั้นไม่คำนึงถึงเป้าหมาย สังคมที่เป็นธรรม ต้องเปิดให้ผู้คนมีเสรีภาพ ได้แสดงออกซึ่งความเห็นของตนเองอย่างเต็มที่และอย่างเปิดเผย อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเราเองจะเห็นด้วยหรือไม่รวมทั้งการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อไปสู่จุดหมาย อย่างสันติ ผ่านขบวนการเคลื่อนไหว การจัดตั้งพรรคการเมือง หรือผ่านสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้รวมทั้งประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวให้ปฏิรูปหรือยกเลิก เปลี่ยนจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐก็ตาม โดยไม่ต้องกลายเป็นอาชญากร ถูกดำเนินคดีหรือต้องโทษจำคุก

กระบวนการเหล่านี้สำคัญ เพราะ 1) จะไม่มีใครต้องสูญเสียเลือดเนื้อและอิสรภาพ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อุดมการณ์ ที่แตกต่างกัน เพราะ 2) เปิดโอกาสทุกคนสามารถแสวงหา “สังคมที่เป็นธรรม” ในแบบฉบับของตนเองได้ และผลักดันไปสู่เป้าหมายได้ ด้วยการแข่งขันกับคนอื่นๆ เพราะ 3) เปิดโอกาสให้การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือการปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างสันติเป็นไปได้

อุเชนทร์กล่าวว่า บทเรียนที่อยากฝากไปถึงมิตรสหายบางส่วน ที่เคยคบค้าสมาคมด้วยก่อนการเกิดขึ้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการรัฐประหาร คือ ภายใต้สังคมที่เปิดมีเสรีภาพในการแสดงคิดเห็น และเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เราและคนอื่นในฐานะเสียงข้างน้อยมีโอกาสที่จะกลายเป็นเสียงข้างมากได้ สามารถรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ผลักดันให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมในแบบฉบับของตัวเองได้

"ไม่ว่าจะวิจารณ์การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร แต่ท้ายที่สุด นี่คือ วิธีการที่ดีที่สุด ในการกำหนดชะตากรรมร่วมกันของคนในสังคมการเมือง โดยไม่ใช่ความรุนแรง บีบบังคับ และทำลายเป้าหมายและอุดมคติเสียเอง ยกเว้นเสียแต่เราจะยึดหลักว่า เพื่อเป้าหมายอันสูงส่งในความคิดของเราแล้ว อะไรก็ได้ แต่อย่าลืมว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน วันหนึ่ง เราและลูกหลานของเราเอง อาจตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ตกอยู่ในฐานะแบบเดียวกับคนที่อยู่ตรงข้ามกับเรา แล้วเราสะใจอยู่ในตอนนี้ก็ได้" อุเชนทร์กล่าว

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์กล่าว ถึงพลังของเยาวชนผ่านประสบการณ์ส่วนตัวด้วยว่า เป็นวัยที่พร้อมจะสามารถทุ่มเทพลังทั้งหมดเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างที่ฝันไว้ได้ เพราะมองเห็นโลกมาจำกัดจึงยังเชื่อว่าเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ แล้วจะเกิดผลเปลี่ยนแปลงสังคมได้ดังที่หวัง แต่คนรุ่นเก่ามองเห็นข้อจำกัดหลายๆ อย่างมากกว่า พลังจึงลดลง อย่างไรก็ตาม การมีความฝันและพยายามไปถึงคือลักษณะของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งไม่เกี่ยวกับอายุ ส่วน “สังคมที่เป็นธรรม” นั้น เห็นว่าเป็นสิ่งต่างคนต่างก็เชื่อแตกต่างกันไป และต่างคนต่างเดินไปตามเส้นทางที่ตัวเองเชื่อนั้นก็ไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญคือ “โครงสร้าง” ที่มีต้องทำให้คนเท่ากัน แม้ในความเป็นจริงคนจะไม่เท่ากันเพราะศักยภาพตัวเองไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร และหากมีใครรู้สึกว่าโครงสร้างทำให้เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมต้องสามารถส่งเสียงได้ หากคนอื่นๆ ในสังคมฟังเสียงนั้นแล้วร่วมกันแก้ไข นั่นคือสังคมอุดมคติที่เขาใฝ่ฝันถึง

สุดท้าย คนรุ่นใหม่ควรมีบทบาทใน 2 แง่มุม งานซ่อมแซมสังคมที่บิดเบี้ยวแล้ว ต้องการพลังสร้างสรรค์ สดใส คนใหม่ๆ ช่วยกันคิด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สร้าง ใช้เวลายาว ใช้พลังเยอะ ใช้ความคิดใหม่ๆ นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ต้องคำถามกับกรอบเก่าๆ ทั้งหมดที่มี ไม่ได้บอกให้ไม่เชื่อ แต่คิดเอง หาคำตอบของตัวเองแล้วก็ต้องเคารพคนอื่นที่เขามีความเชื่ออีกแบบด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net