เมื่อแท็กซี่หนีเที่ยว ไปแอบฟัง “ลาว คำหอม” คุยเรื่อง Silly Silly

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โทรศัพท์จากน้องนักข่าวสาวจากประชาชาติธุรกิจดังขึ้นขณะที่ผมกำลังขับแท็กซี่ทำมาหากินในบ่ายวันหนึ่ง แจ้งว่าคงต้องใช้รถผมเพื่อจะเดินทางไปสัมภาษณ์ลุงคำสิงห์ ศรีนอก นักเขียนและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2535 เจ้าของนามปากกา “ลาว คำหอม” และล่าสุดกับรางวัลนักเขียนอมตะคนที่ 6 ประจำปี 2555 ที่ไร่ธารเกษม ปากช่อง หลังจากผมได้แนะนำให้เธอได้รู้จักลูกสาวคนโตของคุณลุงคำสิงห์ผ่านเครือข่ายสังคมบนเส้นเมื่อไม่กี่วันก่อน

เรา หมายถึงน้องจากประชาติธุรกิจ มติชน ข่าวสด เพื่อนสาวคนสนิทของน้องในกลุ่มและผม รวม 5 ชีวิต  เดินทางถึงปากช่องคืนวันก่อนนัด เพื่อไปอาศัยนอนที่บ้าน “ดาบแป๊ะ” ในตัวอำเภอปากช่อง ก่อนจะเดินทางเข้าไปที่ไร่เป้าหมาย ที่แยกออกจากถนนมิตรภาพหลบสายตาผู้คนไม่ไกลนัก ในสายของวันนัดพฤหัสฯที่ 14 มีนาคม

เราเจอป้าตุ่น ซึ่งกำลังง่วนกับการเตรียมของว่างให้กับแขกผู้มาเยือน เธอคงต้องต้อนรับผู้มาเยือนในหลายลักษณะมามิใช่น้อย ตลอดการใช้ชีวิตคู่กับนักเขียนอาวุโสท่านนี้

“ลุงเขาเดินเล่นอยู่ในไร่ เดี๋ยวก็ออกมา” ป้าตุ่นบอกพวกเรา ก่อนยกหูหาคุณลุงเพื่อบอกว่าแขกมาถึงบ้านแล้ว

“ลุงเขาเดินเล่นแบบนี้ทั้งวันหรือครับ” น้องจากข่าวสดถาม ”ถ้าเดินทั้งวัน เขาไม่เรียกเดินเล่นแล้วล่ะครับ” ผมไม่วายกวนตีนผู้โดยสาร

ลุงคำสิงห์เดินออกมาจากไร่ในเสื้อยืดคอปกสีดำ มีด้ายขาวปักคำว่านิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อประชาชนบนหน้าอกด้านซ้าย ชวนหาที่นั่ง ส่วนผมแยกออกมานั่งนอกวง แต่พยายามยื่นหูให้ใกล้วงมากที่สุด ตามประสาคนชอบสอดรู้สอดเห็น

”นักเขียนควรเขียนงานจากภาษาแม่ของตัวเอง ยกเว้นแขกเพราะเขามีรากภาษาจากบาลี สันสกฤต ซึ่งมีรากร่วมกับภาษาละติน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นภาษาชาติต่างต่างอย่างทุกวันนี้” ลุงคำสิงห์ เล่าให้พวกเราฟัง ก่อนจะโยงว่าแกเคยบอกกับชาติ กอบจิตติ นักเขียนสองซีไรท์อย่างนี้ สมัยที่ชาติกลับจากสหรัฐอเมริกาใหม่ใหม่

“ตอนนั้นชาติเขาอยากเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ เคยมานอนเขียน ‘เวลา’ ที่นี่แหละ เช้ามาก็หนีบเหล้าสองขวดใส่รักแร้เดินไปเดินมา หาที่ที่จะนั่งนอนเขียนหนังสือ ลุงก็เลยบอกเขาว่านักเขียนควรจะมีที่ทางของตัวเอง เขาฟังแล้วก็ไม่ได้ว่าอะไร ที่จริงลุงว่าจะชวนเขามาอยู่ใกล้ใกล้กัน แต่เขาก็หาที่ทางของเขาได้เอง ไม่ไกลจากที่นี่เท่าไหร่ มีเวลาก็แวะไปเยี่ยมเขาบ้าง” ลุงคำสิงห์เล่า บางคนในกลุ่มที่เคยแวะเวียนไปหาน้าชาติอยู่บ่อยบ่อยในบางปีก่อน และทันได้ถ่ายรูปคู่กับผู้พันแซนเดอร์ส* ที่ไร่น้าชาติ ยิ้มน้อยน้อยไม่กล่าวอะไร

ลาว คำหอม เล่าให้ผู้มาเยือนฟังว่าเมื่อสองสามวันก่อนมีกลุ่มนักเขียนจากอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเยี่ยม หลายคนเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทย วรรณกรรมไทยในมหาวิทยาลัย และใช้ “ฟ้าบ่กั้น” เป็นหนังสือประกอบการเรียน สอบถามถึง “ที่มีที่ไป” ของรวมเรื่องสั้นชิ้นนี้

”ลุงเคยนึกสงสัยเหมือนกันว่าเครื่องแบบของพระนี่มีที่มาที่ไปยังไง ไอ้เรื่องที่มาที่ไปนี่สำคัญมาก ถ้าเรารู้มันจะช่วยไขความกระจ่างในการอ่านเรื่องต่างต่างได้” คุณลุงคำสิงห์วาดมือไปที่หัวใจ พยายามหยีตาขึ้น

“สมัยก่อนการถวายผ้าบังสุกุลไม่ได้ทำอย่างทุกวันนี้ ลุงเดาว่าการใช้ผ้าบังสุกุลคือการเพ่งพินิจชีวิตจากความตาย การดึงผ้าของคนตายมาใช้แสดงว่าตนเองได้สละแล้ว ซึ่งถ้าเป็นที่อินเดียคงต้องไปเอาแถวแม่น้ำคงคา   เพราะคนไปเผาศพกันที่นั่น สมัยลุงเป็นเด็กวัดที่อีสานยังทันเห็นพระทอดผ้าบังสุกุลแบบเดิม ซึ่งคนที่มาถวายผ้าส่วนใหญ่เป็นคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เจ็บป่วย คล้ายคล้ายมาทำบุญเพื่อต่อชีวิต ลุงเคยคุยกับพี่เส(เสนีย์ เสาวพงศ์) ว่าอยากให้คนอ่านอ่านงานของลุงแบบว่าเขาเป็นพระ พระที่ทอดผ้าบังสุกุล คือได้เพ่งพินิจชีวิต” คุณลุงคำสิงห์อธิบายงานของลาว คำหอมให้เราฟัง

ลุงคำสิงห์เล่าต่อว่าสมัยยังหนุ่มเคยพาเพื่อนชาวกรุงสาวสาว ที่อยากตามมาดูชีวิตคนอีสาน เลยพาไปอำเภอบัวใหญ่ (จังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิดคำสิงห์ ศรีนอก) “พอไปถึงเขาก็ชื่นชมดอกไม้สวยสวย พวกบัวสาย ลุงเลยบอกว่ามันกินได้ด้วยนะ เพื่อนเลยบอกเราว่าคำสิงห์คุณนี่มันคนอีสานจริงจริง คือมันเป็นลักษณะเด่นของคนอีสาน คือเราต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ทางเดียวคือต้องกินง่าย อยู่ง่าย อะไรกินได้เรากินหมด” แกเล่าพลางหัวเราะชอบใจ

”ลุงเพิ่งกลับไปเขตปลดปล่อยซำเหนือในลาวกับเตือนและคำหอม (ลูกสาวคนโตและคนรอง) ซึ่งเราเคยหลบลี้หนีภัยสมัยก่อน เห็นดอกไม้สวยสวย ครูคนลาวที่พาเราเที่ยวก็บอกว่าชื่อดอกบาน กินได้ด้วยนะ ลุงก็หัวเราะ คือชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้วเราก็จำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ลูกสาวก็เป็นคนเมืองไม่มีสัญชาติญาณพวกนี้แล้ว พอเขาพูด เราก็เฮ้ย...นี่มันคนเหมือนเรานี่หว่า” ลุงคำสิงห์เล่าเอกลักษณ์คนอีสานที่นำมาใช้ในงานเขียน ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างอารมณ์ดี

ลุงคำสิงห์บอกน้องน้องนักข่าวว่าการเขียนคือการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ คุณลุงเล่าว่าเคยฟังนายฮ้อยวัวต่างเขาเล่าว่าถ้าจะข้ามดงพญาเย็นก็ต้องพกหม้อเก็บกระดูกมาด้วย เผื่อไม่รอดจะได้ให้เพื่อนเก็บกระดูกกลับไป เขาเล่าได้สนุกมากแต่ไม่เขียน หรืออาจจะเพราะเขาเขียนไม่ได้ แต่เราเขียนได้

“สมัยเด็กลุงเรียนโรงเรียนราษฎร์ เวลากลับบ้านก็จะสวนทางกับนักเรียนโรงเรียนหลวง ซึ่งเป็นลูกพ่อค้า ข้าราชการแต่งเครื่องแบบสวยงาม แต่เราเป็นลูกชาวบ้านแต่ตัวด้วยเสื้อผ้าที่ทอมือกันเอง สีดำดำมอมอ ยิ่งเราเรียนสูงไปเรื่อยเรื่อย ยิ่งเห็นความต่าง เรามีความต่าง และมองเห็นปัญหาบนความต่างเลยอยากเสนอบนความต่างนั้น แต่เราไม่ได้เล่าเรื่องพวกนี้ตรงตรง เราเลยจับบรรยากาศเพื่อเล่าเรื่องความต่างพวกนั้น”

คุณลุงคำสิงห์เล่าถึงช่วงชีวิตการเป็นนักเขียนในช่วงที่สองที่เป็นการเขียนอย่างเอาจริงเอาจังว่า สมัยนั้นคุณลุงติดสยามสมัย ต้องรับทุกฉบับเพราะตามอ่านเรื่องปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอนตอน ทำให้อยากเขียนในลักษณะนี้บ้าง เลยแอบเขียนเรื่องสั้นส่งในช่วงที่ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันค้นคว้ามหาวิทยาลัยคอร์แนล ประจำประเทศไทย ซึ่งกำลังวิจัยเรื่องชาวนาอยู่ที่บางชัน สมุทรปราการ ระหว่างนั้นคุณพจน์ สารสิน(นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) จะไปมอบวัวพันธุ์ที่จังหวัดขอนแก่น ผสมกับที่คุณลุงหมั่นไส้ฝรั่งอยู่ในทีอยู่แล้ว จึงเขียนเรื่องสั้น “คนพันธุ์” โดยเปลี่ยนจากวัวฝรั่งเป็นคนฝรั่ง และได้ผ่านเกิดในปิยมิตรสมใจ หลังจากนั้นจึงเขียนลงตีพิมพ์ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จนสามารถรวมเล่มและตีพิมพ์ฟ้าบ่กั้น ด้วยสำนักพิมพ์เกวียนทองที่คุณลุงตั้งขึ้นในปี 2501

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองเริ่มมีปัญหาจิตร ภูมิศักดิ์ โดนโยนบกช่วงเดียวกับที่ฟ้าบ่กั้นตีพิมพ์ ตอนนั้นนงเยาว์ ประภาสถิตที่เป็นนักเขียนและกวีหญิงที่มีชื่อเสียงเพิ่งกลับจากจีน และอาสาเขียนคำนำให้ ก็เกิดกลัวขึ้นมา เพราะสฤษดิ์ตอนนั้นมีอำนาจล้นฟ้าด้วย ม.17 เลยไปคุยกับคุณมาลัย ชูพินิจ คุณมาลัยเลยไปคุยกับตำรวจใหญ่ให้ เขาอ่าน ‘ไพร่ฟ้า’ แล้วเขาก็ขีดเส้นใต้ตรง อินถาสงสัยว่าคนจะเป็นเจ้าได้อย่างไร** สันติบาลเลยขอให้เก็บจากร้านอย่าวางประเจิดประเจ้อ” คุณลุงคำสิงห์ เล่าถึงชะตากรรมฟ้าบ่กั้นของลาว คำหอม

ลุงคำสิงห์เล่าต่อว่าหลังจากนั้นสฤษดิ์ก็ตาย เป็นยุคของถนอม กิตติขจร ก็ไม่มีใครกล้าพิมพ์ เพราะกลัวกันไปหมด เรื่องอย่างนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า “Silly”

“เขาเพ่งเล็ง ‘ฟ้าบ่กั้น’ เพราะลุงเขียนเรื่องคนยาก คนจน ชาวไร่ ชาวนาน่าจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เขาห้ามขายและสั่งเผาทิ้ง ลุงก็เอากลับมากองอยู่ที่บ้านปากช่อง วันหนึ่งคณะของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาเที่ยวที่บ้าน สุวรรณี สุคนธาก็ถามว่าหนังสือของใครทำไมมากองอยู่ตรงนี้ เลยหยิบมาอ่านแล้วบอกว่าดีมาก เทพศิริ สุขโสภาที่มาด้วยก็หยิบอ่านบ้าง แล้วก็สงสัยถามว่าทำไมหนังสือดีอย่างนี้ถึงไม่เคยได้อ่าน บอกว่าถ้าพิมพ์ก็จะเขียนปกให้ สุลักษณ์ที่นั่งเอ้เต้เป็นเจ้านายก็หัวเราะบอกว่าถ้าจะพิมพ์ก็อยากให้พิมพ์กับศึกษิตสยามที่เขาเพิ่งตั้งขึ้น” คุณลุงคำสิงห์ ย้อนประวัติวิบากกรรรมของฟ้าบ่กั้นที่กว่าจะได้ตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งกับศึกษิตสยามในปี 2512

คำสิงห์ ศรีนอกเล่าต่อว่าหลังจากฟ้าบ่กั้นได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่สองโดยศึกษิตสยาม ก็ถูกนำไปบรรจุในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง เพื่อให้นิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ปัญหาของบ้านเมืองโดยเฉพาะปัญหาของชาวนาในภาคอีสาน

“ต่อมาอาจารย์ป๋วย เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะตั้งมูลนิธิฯ*** สุลักษณ์ก็แนะนำให้มาคุยกับผม ตอนหลังแกก็ก่อตั้งบัณฑิตอาสาสมัครเพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบใช้เวลาช่วงนี้ไปเรียนรู้ปัญหาในชนบท หลายคนก็หนีบฟ้าบ่กั้นเข้าไปด้วย พอกลับออกมาก็มาร้องห่มร้องไห้กับผมบอกว่าชนบทในหนังสือกับของจริงมันเหมือนกันมาก ขบวนการนักศึกษา ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร ก็เริ่มเติบโตขึ้นในยุคนั้น จนกระทั่งเขาเห็นว่าควบคุมไม่อยู่ต้อง Get Rid เขาก็สร้างเรื่องเดิมเดิม Silly Silly ขึ้นมา มีทั้งเรื่องญวนกินหมา ป๋วยป่วย อุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ คอมมิวนิสต์ ไอ้พวกคิดทำลายสถาบัน สื่อบิดเบือน ตัดแต่งรูป ดาวสยาม จนนำไปสู่การฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนเมื่อ 6 ตุลา 19 มันก็ไม่ต่างกับยุคนี้แหละ เสื้อแดง พวกล้มเจ้า ชายชุดดำ มันเป็นเรื่อง Silly Silly ทั้งนั้นแหละ แต่คนตายจริงนี่ประชาชนทั้งนั้น”

ลุงคำสิงห์เล่าให้เราฟังด้วยท่าทีผ่อนคลายเสมือนฉายภาพนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนชาชิน และลุกไปหยิบภาพข่าวตัดแปะจำนวนไม่น้อยมาให้พวกเราได้ชม ทั้งภาพการ์ตูนล้อป๋วยป่วย ภาพการประชุมเรื่องเขื่อนผามองที่กลายเป็นการประชุมของคอมมิวนิสต์รัสเซีย ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเคจีบี ภาพข่าวการบุกค้นไร่ที่ปากช่องเพราะเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธของคอมมิวนิสต์ ฯลฯ 

”การเขียนวรรณกรรมของลุง ลุงไม่เคยคิดว่ามันเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะอะไร แต่มันเป็นการทำงานความคิด อาจจะเพราะลุงเคยไปสัมผัสกับคอมมิวนิสต์ ลุงก็เลยอยากตรวจสอบความคิด ทั้งความคิดเราและความคิดของคนที่เราได้พบปะ” ลุงคำสิงห์ เผยนัยยะของกระบวนการงานเขียนของแก

ลมฝนพัดกรูจนดอกยางนาร่วงพรูอย่างพร้อมเพรียง พวกเราหลายคนยกมือขึ้นปิดแก้วของตัวเองอย่างอัตโนมัติ มีเพียงคุณลุงคำสิงห์ที่ยังตาเหม่อลอยไปไกล มิได้นำพาต่อดอกยางนาที่หล่นใส่แก้วใสบรรจุโลหิตของพระเจ้าแต่อย่างใด จนคำหอมลูกสาวคนรองที่ร่วมแลกเปลี่ยนกับน้องน้องสื่อมวลชนต้องเอื้อมไปหยิบแก้วใช้ช้อนมาตักดอกยางนาออก ก่อนคืนแก้วเดิมไปให้เพราะพ่อบอกไม่ต้องเททิ้ง สุดท้ายป้าตุ่นต้องมาเตือนให้เรายุติวงสนทนาเพราะกลัวจะออกไปไม่ได้เนื่องจากฝนห่าใหญ่กำลังทำท่าจะมาเยือน

ระยะเวลาการพูดคุยกว่า 6 ชั่วโมง ดวงตาที่เหม่อลอยในบางช่วงยาม ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าในใจลึกลึกคุณลุงกำลังนึกถึงชะตากรรมในช่วงชีวิตไหน อาจจะเป็นช่วงระหกระเหินในป่าซำเหนือ ประเทศลาว ช่วงที่ได้รับการเรียกขานเชิงกล่าวหาว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีพลัดถิ่น” มีป้าตุ่นคู่ชีวิตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ช่วงพลัดจากครอบครัวคนละทิศละทาง ช่วงลี้ภัยที่สวีเดน ช่วงกระเตงลูกเลียบขั้วโลก หรือว่าสำนึกเสียใจในชะตากรรมของเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่าง ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน ฯลฯ แต่ทุกเรื่องลุงคำสิงห์บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ท้ายสุดแล้วเกิดจากสิ่งที่ฝรั่งบอกว่า “มันเป็นเรื่อง Silly Silly ทั้งนั้นแหละ”

“ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนนั่นแหละคือคำตอบ” เสียงสุดท้ายของคำสิงห์ ศรีนอก ยังก้องอยู่ในหัวของผม ขณะขับแท็กซี่พาน้องน้องสื่อมวลชนกลับเข้ากรุงเพื่อทำหน้าที่นักสื่อสารมวลชน.

 

 

หมายเหตุ

1. พันเอกฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส (Harland David Sanders) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ผู้พันแซนเดอร์ส เจ้าของไก่ทอดสูตรลึกลับ และภายหลังเป็นผู้ว่าการรัฐเคนตั๊กกี้ ร้านไก่ทอดของเขามีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก กว่า ๓๐,๐๐๐ สาขา หุ่นผู้พันแซนเดอร์สในชุดสูทขาว โบว์สีดำ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่เขาใส่ลงหลุมฝังศพ ยืนประจำการเป็นเอกลักษณ์อยู่หน้าร้านทุกสาขา แต่มีเรื่องเล่าว่าบางสาขาในไทย หุ่นผู้พัน “ถูกอุ้ม” หายไปอย่างลึกลับ

2. คำสิงห์ ศรีนอกน่าจะหมายถึงตรง “เอ นายนี่ อู้สับป้ะ เจ้าตี้ไหน? คนแต้ๆ ผมหันกิ๋นเข้าหยับๆตึงวัน กับตรง “นาย ทำไมคนถึงเป็นเจ้า?” ตามที่ปรากฏในเรื่องสั้นไพร่ฟ้า ที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับความหนาในการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก

3. มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่10 ตุลาคม พ.ศ.2510โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้ง

4. คุณลุงคำสิงห์ยังเตือนพวกเราอีกว่าท่านปรีดีก็ตายแล้ว อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ก็ลับ ทั้งท่านผู้หญิงพูนศุข เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ 94 ปีแล้ว คุณลุงก็ 82 ต่างก็เจียนไปเจียนอยู่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็ 80 แล้ว ถ้าไม่บันทึกปากคำคนเหล่านี้ไว้บ้าง อาจจะไม่เหลือความทรงจำที่ถูกต้องเลยก็เป็นได้

5. มีเรื่องอีกจำนวนมากที่ถูกตัดทอนออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่ตีพิมพ์แบบบนเส้นนี้ แต่มีบางเรื่องที่ Silly Silly เกินไปกว่าที่ผมจะเขียนถึงได้ เพราะชะตากรรมของผมก็น่าจะ “Silly Silly พอแรง” แล้วล่ะ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท