Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ฯ จวก กรมเหมืองแร่ฯ เป็นข้าราชการแต่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน ยอมเปิดห้องประชุมให้ชี้แจง ทั้งที่ชาวบ้านค้านกระบวนการทำอีเอชไอเอไม่ถูกต้อง กลุ่มอนุรักษ์ฯ เผยส่งข้อมูล สผ. และสช.พร้อมใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอรายงาน

 
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.56 แหล่งข่าวภายในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่ห้องประชุม กพร.ได้มีการประชุมกรณีกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้บริหารบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอเปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ผู้ยื่นขออนุญาตประทานบัตรโครงการฯ เข้าชี้แจงให้ข้อมูลกับข้าราชราชการระดับสูงของ กพร.
 
“เป็นการรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ ของบริษัทเอพีพีซี ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีการจัดทำรายงานอีเอชไอเอ ซึ่งบริษัทได้จัดทำรายงานเสร็จแล้วและได้นำส่งไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้มีการพิจารณาตามขั้นตอน ดังนั้น การประชุมในวันนี้จึงเป็นการรับฟังความเห็นหรือข้อเสนอแนะจาก กพร. ต่อการจัดทำรายงานอีเอชไอเอดังกล่าวด้วย” แหล่งข่าวระบุ
 
ทั้งนี้ บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ได้ว่าจ้างคณะศึกษาวิจัยของ บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้นำรายงานเสนอต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณา ก่อนนำไปประกอบการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ตามพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545
 
ในขณะที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ไม่เข้าข่ายโครงการรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ทว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดทำรายงานดังกล่าว ตามคำแนะนำของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
 
ด้านนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กพร.ซึ่งเป็นข้าราชการ มักจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายทุนที่จะมาแย่งชิงเอาทรัพยากรจากชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร อยู่เสมอ ดังเช่นในครั้งนี้ถึงกับยอมเปิดห้องประชุมของกรมฯ ให้บริษัทฯ ได้เข้าชี้แจงถึงการทำรายงานอีเอชไอเอ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านคัดค้านกันอย่างมาก ว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ส่งข้อมูลไปยัง สผ. และสช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) แล้ว พร้อมกันนี้ ก็ยังทำหนังสือคัดค้าน และใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อขอรายงานอีเอชไอเอ ฉบับดังกล่าวด้วย
 
“กระบวนการจัดทำรายงานอีเอชไอเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านมา บริษัทเอพีพีซี และบริษัทที่ปรึกษา ได้ดำเนินการโดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยบริษัทฯ จะเลือกเอาเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนโครงการให้เข้าร่วมกระบวนการ และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้าน โดยการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งกลุ่มมวลชนในพื้นที่ให้คอยขัดขวาง ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องและเป็นธรรม หรือไม่ กพร.และสผ.ต้องพิจารณา” นางมณีกล่าว
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net