จอม เพชรประดับ: ไทยพีบีเอส ควร หรือ มิบังควร วิจารณ์ “กษัตริย์”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการ “ตอบโจทย์”  ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ตอนที่ 5  ซึ่งออกอากาศต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 11 – 15  มีนาคม โดยตอนที่ 4 ได้ออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา   มีการเชิญ อาจารย์ ส.ศิวลักษณ์ และ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างน่าสนใจยิ่ง

แม้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่รายการ ตอบโจทย์ พยายามที่จะนำประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดของสังคมไทย  และเป็นประเด็นที่มีผลอย่างสำคัญที่สุดต่ออนาคตของประเทศไทย มานำเสนอ  ผ่านการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีความรู้ในเรื่องนี้จริง มาพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยพยายามให้น้ำหนักในเหตุผล และข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและสมดุลที่สุด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในฟรีทีวี.ช่องใดมาก่อน

แต่ครั้งนี้ แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา จนนำมาซึ่งการชุมนุมต่อต้านของกลุ่ม “คนไทยหัวใจรักชาติ”
นั่นเป็นเพราะว่า  ความแรงของ แขกรับเชิญ ทั้ง อาจารย์ ส.ศิวลักษณ์  และอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่แรงทั้งคำพูด แรงทั้งความเห็น และข้อเสนอก็รุนแรงเกินกว่าที่จะทำให้คนไทยโดยทั่วไป จะทำใจรับได้   แม้ว่า อาจารย์ทั้งสองท่าน จะมีทรรศนะแตกต่างกันบ้างในประเด็นปลีกย่อย   แต่เป้าหมายหรือหลักการใหญ่ทั้งสองท่านเห็นตรงกันคือ   ถึงเวลาแล้วที่ สถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้สอดคล้องกับสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

ทำอย่างไรถึงจะให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัยในสังคมไทยที่จะเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นนับจากนี้ไป  ขณะเดียวกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งนับวัน ยิ่งเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ลงไปเรื่อย ๆ

ถ้ามองอย่างคนที่เห็นคุณค่าของ สถาบันพระมหากษัตริย์  จะเข้าใจ และรู้ได้ทันทีว่า อาจารย์ทั้งสองท่าน หรือ แขกรับเชิญท่านอื่น ๆ ที่เชิญมาออกอากาศก่อนหน้านี้ ล้วนแล้ว พยายามที่จะค้นหาวิธีการในการที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์  และทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ไม่เป็น ปฎิปักษ์ กับ กระแสโลกาภิวัตน์ 

นี่ต่างหากละ ที่เป็นวิธีการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่ดีที่สุด แต่ทำไม หน่วยงาน หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถึงได้นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ ไม่ได้ใส่ใจอย่างจริง ต่อ กระแสแห่งความผลิกผัน  ความเปลี่ยนแปลง ที่โหมกระหน่ำ กระแทก สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ตลอดเวลา

แน่นอน เป็นเพราะ ทุกคนกลัว  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ความกลัวนำมาซึ่งความเสียหาย ความเสื่อม และความล่มสลายในที่สุด  พอเข้าใจได้หากเป็นความกลัวที่เป็นประชาชนทั่วไปรู้สึก แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะไร องค์กร หรือ บุคคลที่มีบทบาท มีความรู้และหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ กลับถูกครอบคลุมไปด้วย “ความกลัว” เช่นกัน

แม้จะเป็นเรื่องที่ น่าเสียดาย ที่สุดท้ายแล้ว ผู้บริหารไทยพีบีเอส ต้องยอมกลืนเลือดตัวเอง และ การยอมละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน  ด้วยการยุติการออกอากาศ  ตอนที่ 5

แต่ก็เข้าใจในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคม  อย่างไรก็ตาม  เมื่อผู้บริหารไทยพีบีเอส ได้พิจารณาถึงความเที่ยงตรง ความเป็นธรรม ความเป็นกลาง ของการเป็นสื่อสาธารณะแล้ว  ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  ผู้บริหารและพนักงานไทยพีบีเอส  จะได้กลับมายืนอยู่บนหลักการและข้อบังคับแห่งจริยธรรมวิชาชีพอย่างเข้มแข็ง ต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้ต่อสู้กับ พลังอำนาจ หรือ กลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ กลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง กลุ่มใด  มาทำให้หลักการสำคัญแห่งวิชาชีพต้องบิดเบี้ยวไปอีกในอนาคต

เพราะหาก ไทยพีบีเอส ซึ่งถูกออกแบบให้เป็น สื่อสาธารณะ ที่เป็นต้นแบบ หรือ เป็นแม่แบบของสื่อมวลชนทุกแขนงในประเทศไทย  แต่หากยอมจำนน ต่อการข่มขู่ คุกคาม จากกลุ่มพลังทางการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ  ได้แล้ว  ก็ยิ่งจะเป็นการทำลาย ความเชื่อถือศรัทธา ที่ประชาชนมีต่อสื่อสารมวลชนทุกแขนงในประเทศนี้ในอนาคตอย่างแน่นอน 

หลายคนอาจจะตั้งคำถาม หรือ สงสัยว่า ความเป็น ทีวีสาธารณะ ของ ไทยพีบีเอส นั้น ควร หรือ ไม่ควร ที่จะนำประเด็นที่อ่อนไหว ต่อความรู้สึกของคนไทย หรือ ประเด็นที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ  คำตอบคือ  เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ ไทยพีบีเอส ที่จะนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดความเห็น ที่เป็นประโยชน์ อย่างเที่ยงตรง ซื่อสัตย์ และเป็นธรรม ในอันที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา ผ่อนคลายวิกฤติของบ้านเมือง และการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และสงบสุข  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศที่สังคมไทยปกคลุมไปด้วยความกลัว

ด้วยภารกิจที่สำคัญและยิ่งใหญ่นี้เอง  ไทยพีบีเอส  จึงถูกออกแบบให้มีกฎหมาย คุ้มครองความเป็นอิสระของการปฎิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพไว้อย่างชัดเจน ทั้งในตัวพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ( ม.42 และ ม43 ) รวมทั้งข้อบังคับที่ว่าจริยธรรมขององค์กรที่เน้น เรื่องความยุติธรรม ความเป็นอิสระ หลักสิทธิมนุษยชน และความเป็นประชาธิปไตย

โดยเฉพาะเรื่องของ “ความเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง หรือ กลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ”
แม้ว่า การถือกำเนิดขึ้นของ ไทยพีบีเอส  อาจจะไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชน ที่คัดค้านการทำรัฐประหาร  เพราะเห็นว่า ไทยพีบีเอส ถือกำเนิดมาจาก ปลายกระบอกปืน และทีมผู้บริหารชุดและพนักงานชุดแรก ปฎิเสธไม่ได้ว่า เป็นคู่ขัดแย้งของสังคมในขณะนั้น 

แต่ครั้งนี้ ต้องให้กำลังใจ และยอมรับว่า ผู้บริหารของ ไทยพีบีเอส พยายามพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า  ดอกไม้ แม้จะออกมาจากปลายกระบอกปืน แต่หากสังคมไทยไม่ติดยึดกับที่มาจนไร้เหตุผลจนเกินไป   ดอกไม้  ก็สามารถหน้าที่สร้างโลก ให้สวยงาม และสร้างความหวังให้กับมวลมนุษย์ได้เช่นเดียวกับดอกไม้ทั่วไป   

ขอเป็นกำลังใจ ให้กับ ผู้บริหาร และพนักงาน ไทยพีบีเอส ทุกคน โดยเฉพาะ รายการตอบโจทย์  ให้ ยืนหยัด ต่อสู้อยู่บนหลักแห่งจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อสาธารณะให้มั่นคงตลอดไป  ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า  จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน คืออันเดียวกันกับ ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท