Skip to main content
sharethis

เสวนา ศาลกับ “ความยุติธรรม” ในคดีมาตรา 112 โดย วาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก สาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์
คำพิพากษาของศาล เตรียมมาหลายประเด็น อาจไม่ได้เจาะจงคดีใดคดีหนึ่ง จะมุ่งเน้นตัวความหมายของกฎหมาย งานวันนี้เกิดขึ้นเพราะใน พ.ศ.นี้ ภายหลังมีตุลาการภิวัตน์ เราต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า บทบาทและการทำหน้าที่ของตุลาการต้องถูกตั้งคำถาม คุณธรรมความดีทั้งหลายที่ยกขึ้นอ้างเสมอไม่ว่าสถานการณ์ใด วันนี้ถูกท้าทายแล้ว ว่าความดีที่พูดถึงมันสอดคล้องหรือเปล่ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ ความท้าทายนี้ไม่ได้เกิดจากประชาชนอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมขององค์กรตุลาการเองที่ทำตัวเอง ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อจริยธรรมและการใช้หลักกฎหมายในการตัดสินคดี

ปัญหาที่จะพูดถึง จะแบ่งเป็น 5 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 คำพิพากษา หลายคดีถูกตั้งคำถามว่าขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายที่สำคัญหรือไม่
คงยังจำกันได้ มีคดีใหญ่ก่อนคดีสมยศ คือ คดีของอากง (อำพล ตั้งนพกุล)  ประเด็นในคดีนี้มีปัญหาทางกฎหมายค่อนข้างมาก ในทางอาญามีหลักใหญ่ที่บอกว่า จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเขาเป็นผู้มีความผิด หลักนี้นำสู่หลักอื่นที่คุ้มครองผู้กระทำ มาตรา 227 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น การที่ศาลจะลงโทษใครในทางอาญา โจทก์จะต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แต่ในคดีของอำพล มีหลายประเด็นที่ยังไม่สิ้นสงสัย และมีลักษณะพิพากษาไปโดยขาดไร้ประจักษ์พยาน คดีเทคโนโลยีไม่มีประจักษ์พยาน แต่จะลงโทษ 20 ปี จะต้องมี “พยานแวดล้อมกรณี” ที่หนักแน่นพอที่จะพิสูจน์อย่างสิ้นสงสัยได้ว่าบุคคลผู้นี้กระทำความผิด แต่พยานแวดล้อมไม่มีเลย ที่จะชี้ว่า อำพลเป็นผู้กดส่งด้วยตัวเอง เป็นการขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายอาญา  ที่พูดถึงสิทธิของจำเลย

ความสงสัยนี้เช่นเดียวกับคดีสมยศ เราบอกว่าคนเขียนตีความแบบนี้ ศาลและโจทก์จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคนอ่านแล้วจะตีความอย่างคนเขียน มีลักษณะการไม่สิ้นสงสัย ถ้าหยิบคำพิพากษาสมยศมาดู จะมีการเชิญพยานโจทก์และจำเลยมาสืบสู้กัน ในคำพิพากษาประมาณ 20 กว่าหน้า ประมาณเกือบ 10 หน้าจะพูดถึงพยานฝ่ายโจทก์ว่าอ่านบทความแล้วรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร ฝ่ายจำเลยนำพยานผู้เชี่ยวชาญมาสืบบ้าง ในคำพิพากษาเขียนไว้ 5 บรรทัดที่กล่าวชัดๆ ว่าพยานฝ่ายจำเลย มีปิยบุตร แสงกนกกุล สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ด้วย ซึ่งให้การตีความแตกต่าง แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานระหว่างฝ่ายโจทก์และจำเลย นำสู่คำตัดสินทำนองว่า สันนิษฐานไว้เลยว่า เมื่อคุณเป็นบรรณาธิการย่อมต้องรู้ความหมายของผู้เขียน

ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นสำหรับการตีความ การที่ศาลจะลงโทษสมยศได้ต้องเกิดในกรณีที่ชี้ชัดได้เท่านั้นว่าสมยศเห็นข้อความทั้งหมด และมีพยานแวดล้อมอื่นที่ตีความได้ว่าอ่านแล้วเห็นเป็นเช่นเดียวกันกับคนเขียน ลักษณะเช่นนี้ยังพอจะชี้เจตนาเผยแพร่บทความได้ สุดท้ายศาลลงโทษ 10 ปี น่าจะขัดกับหลักพิสูจน์พยานจนสิ้นสงสัย

ถ้าเปิดดูคำพิพากษา “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ทำผิดลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมต้องปกปิดการกระทำของตนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ และจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น” เหมือนกับจะผลักภาระการพิสูจน์ให้จำเลย นอกจากขัดกับเรื่องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้ว ยังขัดกับหลักที่ว่า ในคดีอาญา ฝ่ายโจทก์มีภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้ศาลเห็นจนสิ้นสงสัย เมื่อโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ศาลมีเหตุสงสัยตามสมควร ศาลต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

ประเด็นที่ 2 กระบวนการพิจารณา เช่น กรณีการตัดพยาน ที่จะพูดถึงคือ กระบวนการที่จะให้สิทธิจำเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ มาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการพิสูจน์อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ถามว่ากระบวนการดำเนินคดี มาตรา 112 มีใครบ้างที่ได้รับการปล่อยตัว มีแต่ผู้มีชื่อเสียง

สมยศ ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว 13 ครั้ง โจ กอร์ดอน 9 ครั้ง  คดีคุณสุรภักดิ์ ถูกฟ้องแล้วตัดสินยกฟ้อง เพราะยังไม่สิ้นสงสัย แต่คุณสุรภักดิ์ติดอยู่ในเรือนจำหนึ่งปีกว่าๆ คดีอำพล ทำคำร้องขอปล่อยชั่วคราว รวม 8 ครั้ง, ครั้งแรกที่ขอขอชั้นสอบสวน ตำรวจปล่อย แต่ในชั้นพิจารณา ศาลเรียก คุณอำพลมา แต่กลับสั่งขัง แล้วภายหลังอย่างน้อย 7 ครั้งศาลไม่ปล่อย โดยอ้างว่า เป็นคดีความผิดร้ายแรง, เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี, เป็นคดีสะเทือนจิตใจกับประชาชน เหตุผลนี้มีอยู่ตลอด อันหนึ่งที่มีอยู่สม่ำเสมอ คือ กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน อย่างนี้เป็นเหตุในการไม่ปล่อยตัวได้ไหม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ระบุว่า การส่งไม่ปล่อยชั่วคราวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้  1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี 2.จะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่มีความน่าเชื่อถือ การปล่อยชั่วคราวจะก่ออุปสรรคให้เกิดกความเสียหายต่อการดำเนินคดี ไม่มีที่เขียนว่า “สะเทือนขวัญประชาชน” ถ้ามีคำแบบนี้ คดีฆ่าคนตายไม่ได้ประกันทั้งนั้น เพราะล้วนเป็นเหตุสะเทือนขวัญ

ท่านก้าวล่วงไปในอำนาจนิติบัญญัติโดยกำหนดเหตุแห่งการปล่อยตัวชั่วคราวขึ้นมาเอง เป็นการบัญญัติกฎหมาย บัญญัติเหตุขึ้นมาเอง

ประเด็นที่ 3 การตีความและการให้ข้อสันนิษฐานที่ถูกตั้งคำถามได้ว่าไม่สอดคล้อง กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 
มาตรา 112 "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" คำว่า หมิ่นประมาทและดูหมิ่น ต้องตีความตามกฎหมาย เช่นเดียวกับกฎหมายที่ใช้กับประชาชนคนธรรมดา แต่มีหลายกรณีคำพิพากษามีการตีความเกินกว่ากฎหมาย เช่น คดีเจ๋ง ดอกจิก หรือ ยศวริศ ชูกล่อม ทำท่าทางหนึ่ง คือ ปิดปาก ตัวเองเพราะบอกว่าพูดไม่ได้ แล้วชี้มือขึ้นไป ศาลตีความว่า สิ่งนี้หมายถึงใครไม่ได้เลย อีกคดีหนึ่ง คดีนางสาวปภัชนันท์ ที่เขียนคำว่า "พระองค์ท่าน..." แล้วอีกบรรทัด เขียน "พล.อ.เปรม ...." เขียนติดที่โลงศพจำลองแล้วนำไปเผา เกิดที่ จ.โคราช คำว่าพระองค์ท่านแปลเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ลักษณะแบบนี้ เป็นเรื่องการตีความเกินไปจากตัวบท สิ่งที่ควรจะเป็น จากนี้ไปไม่ใช่แค่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่เพียงแสดงความไม่เคารพ ก็จะถูกฟ้องคดีด้วย

ทำไมตีความแบบนี้ เพราะผู้พิพากษาใช้อุดมการณ์การตีความแบบยุคที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ใช้อุดมการณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในการตีความสิ่งเหล่านี้

อีกอันหนึ่ง ตอนหลังกฎหมายหลายฉบับ พยายามบัญญัติให้องค์คณะประทับตราอะไรบางอย่าง เพื่อจะบอกว่าดุลยพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐเป็นเรื่องถูกต้องไม่สามารถโต้แย้งอะไรได้ กรณีที่เกิดกับนิติราษฎร์เอง มีบทความหนึ่งถูกปิดกั้น คำปิดกั้นนี้มาจากไอซีที ปิดกั้นประกาศคณะราษฎรที่เปลี่ยนประเทศไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย โดยให้เหตุผลว่า ขัดต่อความมั่นคง ตาม มาตรา 20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลสั่งปิดกั้นหน้านี้ คำถามคือ ศาลเป็นคนประทับตราสั่งปิดกั้น เท่ากับศาลบอกว่าเจ้าพนักงานมีดุลยพินิจเรื่องการขัดความมั่นคง มียูอาร์แอลทั้งหมด 175 เว็บเพจเป็นลิสต์ยาว นิติราษฎร์อยู่ลำดับที่ 111 แล้วทั้ง 175 ยูอาร์แอลก็ถูกปิดกั้น โดยคำสั่งศาลฉบับเดียวกันนั้นเอง สรุปแล้ว ประกาศคณะราษฎรขัดต่อความมั่นคงหรือ

ถ้าไปดูภายหลังที่นิติราษฎร์ถูกปิด แล้วเสิร์ชหาประกาศคณะราษฎร ยังมีอีกมากมายหลายร้อยเว็บที่ประกาศฉบับนี้แสดงอยู่ หมายความว่า กฎหมายที่ต้องการให้ศาลกลั่นกรองดุลยพินิจของเจ้าพนักงานนั้นไม่ได้ผล ไม่ได้ช่วยกลั่นกรองเลยแม้แต่น้อย

สุดท้าย  ศาลถูกตั้งคำถามดังกล่าวมา อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราตั้งคำถามกันตามประสาประชาชน เราทำอะไรได้ไม่มากเพราะศาลมีกฎหมายคุ้มครอง มาตรา 198 ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี เขามีสิ่งนี้คุ้มครองไว้ แต่ว่าต้องดูดีๆ เขาไม่ได้คุ้มครองให้ตัดสินแบบขัดกับหลักกฎหมาย เขาคุ้มครองให้ท่านทำหน้าที่โดยอิสระเท่านั้น มีหลายคนคิดผิดพลาดไป ความเป็นอิสระไม่ได้หมายความว่าตรวจสอบไม่ได้ ศาลต้องถูกตรวจสอบได้

ขอยกคดีนี้ปิดท้าย คดีนานแล้ว ฎีกา 1650/2514 เกี่ยวกับมาตรา 198 ว่าด้วยการดูหมิ่นผู้พิพากษา ตัดสินลงโทษจำเลย คดีนี้ จำเลยถูกฟ้องคดีอาญา ชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ จำเลยพิมพ์กล่าวถึงพฤติกรรมของอธิบดีผู้พิพากษาทำให้คดีรวบรัด ว่า “ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย ความยุติธรรม ประชาชนที่เดือดร้อนจะวิ่งไปขอความยุติธรรมต่อศาลเพื่อให้สิ้นเปลืองเงินทองเพื่อประโยชน์อันใด”

พูดแบบนี้ศาลลงโทษ มาตรา 198 อย่างนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าตัดสินแบบนี้ ที่ขึ้นมาเวทีวันนี้โดนหมด นี่คือลักษณะของการตีความเพื่อจะคุ้มครององค์กรของตนเอง พูดกันตรงๆ

นอกจากนี้ กรณีการแบนรายการตอบโจทย์ ส่วนตัวคิดว่า ถึงแม้ผู้บริหารจะออกมาบอกว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ไม่มีคำสั่งศาล ทหารไม่ได้ตบเท้า ทางวังไม่ได้ยุ่งอะไรทั้งสิ้น เป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่อยากตั้งประเด็นว่า ในประเทศที่มีบรรยากาศประชาธิปไตยจริงๆ การเซ็นเซอร์ตัวเองจะไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ตอบโจทย์เอามาพูดหลายตอน เป็นนักกฎหมายตอบว่าไม่มีอะไรผิดกฎหมายเลย เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ปกติ  ประเทศเราอยู่ในบรรยากาศของความกลัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น บรรยากาศแบบนี้จึงเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้น
 
ถามว่าบรรยากาศแบบนี้มาจากไหน ไม่ได้มาจากสื่อ แต่ส่วนสำคัญมาจากบรรดาคำพิพากษาของศาลแบบที่เราวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ มาจากทหารที่จะตบเท้าตลอดเวลา มาจากรัฐบาลที่ไม่กล้าจะแตะต้องมาตรา 112 เลย แม้ประชาชนเรือนหมื่นจะเข้าชื่อแก้ไข สิ่งเหล่านี้มันสะสมมา กลายเป็นบรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย การเซ็นเซอร์ของสื่อจึงเกิดขึ้น แม้จะบอกว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่บรรดาสถาบันการเมืองทั้งหลายก็ไม่พ้นไปจากความรับผิดชอบต่อการแบนเรื่องนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net