Skip to main content
sharethis

เสวนา ศาลกับ “ความยุติธรรม” ในคดีมาตรา 112 โดย วาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก สาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ชี้แจงกติกาและคำเตือน ว่าจำเป็นต้องอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบางท่อน มีหลายท่อนที่ยอพระเกียรติกษัตริย์ เวลาอ่านอย่าโห่ร้อง ภายใต้ระบอบปัจจุบัน การจะแสดงออกในที่สาธารณะทุกเรื่องเป็นเรื่องลำบาก การอภิปรายนี้เป็นการอภิปรายภายใต้ข้อจำกัด มาตรา 112

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ผู้ต้องหาคดี 112 สมยศ พฤกษาเกามสุข และเอกชัย หงส์กังวาน โต้แย้งไปที่ศาล รัฐธรรมนูญว่า มาตรา 112 ขัดมาตรา 3 ซึ่งเป็นหลักนิติธรรม ขัดมาตรา 25 ประกอบมาตรา 29 กระทบกับเสรีภาพมากจนเกิดไป

ตุลาการมีสองชุด ชุดหนึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม และแบบประชาธิปไตยซึ่งตัดสินคดีไม่เหมือนกัน ถ้าเป็บแบบแรก ผลลัพธ์จะเห็นตามที่เห็น

เวอร์ชั่นแรก
คำวินิจฉัยฉบับนี้ ยาวประมาณ 10 หน้า ให้เหตุผลโดยนำสถาบันกษัตริย์ไปโยงกับความมั่นคงของชาติ และอธิบายลักษณะพิเศษ ลักษณะเฉพาะ และเอามาตรา 112 ไปผูกกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่เขียนว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่ เคารพสัก การะผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระ มหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้" แล้ววินิจฉัยออกมาว่า มาตรา 112 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเหตุผลดังกล่าว ดังนั้นโทษที่สูงเช่นนี้จึงไม่เกินกว่าเหตุ

ทำไมแบบนี้เป็นแบบกษัตริย์นิยม เหตุผลในคำวินิจฉัยชัดแจ้งว่า กษัตริย์มาก่อนสิทธิเสรีภาพ มาก่อนทุกอย่างในประเทศนี้ การแสดงความสำคัญของกษัตริย์ ในคำวินิจฉัย บรรยายยืดยาวไปหมดแต่ไม่ใช่เหตุผลในทางกฎหมาย เป็นการยอพระเกียรติ พบได้ในหนังสืออาเศียรวาท แบบเรียนมาตรฐานไทย

แม้ศาลรัฐธรรมนูญไทยพยายามโฆษณาว่า ตนเองมีบทบาทสนับสนุนเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เห็นหลายกรณี เช่น การแจ้งภาษีของคู่สมรส ไม่เสมอภาค, การจดทะเบียนสามารถใช้นามสกุลตัวเองได้, คุณสมบัติผู้สอบอัยการ ผู้พิพากษา แต่สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ที่พยายามคุ้มครอง จะหยุดลงทันทีเมื่อเจอกับกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์

มันเหมือนหัวสมองของตุลการศาลรัฐธรรมนูญมีสวิทช์เปิดปิด ถ้าเจอกับสถาบันกษัตริย์ สวิทช์เสรีภาพจะปิดลง

เวลาวิจารณ์ศาล โดยพูดทั้งองค์คณะจะเป็นการเหมารวม ศาลรัฐธรรมนูญมีองค์คณะ 9 ท่าน ซึ่งต้องทำความเห็นส่วนตัว เราไปค้นมาแล้วลองพิจารณาดู

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำความเห็นโดยสรุปว่า กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องพิทักษ์รักษาไว้ กฎหมายกำหนดสถานะไว้ให้เป็นประมุข และมอบสถานะพิเศษให้แก่ตำแหน่งใกล้เคียงอย่างพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การละเมิดต่อประมุขของประเทศย่อมกระทบความมั่นคงของประเทศด้วย กษัตริย์นอกจากจะทรงเป็นประมุขแล้วยังเป็นศูนย์รวมจิตใจ อาจมีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ไม่มีความรู้สึกดังกล่าว ถ้าไม่กำหนดโทษไว้สูงกว่าอาจเกิดชนวนขัดแย้งก่อให้เกิดการแก้แค้นล้างแค้น

ด้านความเห็นของจรัญ ภักดีธนากุล สรุปได้ว่า มาตรา 112 กำหนดบทลงโทษไว้ กายกรรมและวจีกรรมของประชาชนที่ล่วงละเมิด เป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายจิตใจของชาวไทยอย่างกว้างขวางและรุนแรง จำเป็นต้องปราบปรามอย่างจริงจัง

จรูญ อินทจาร มีความเห็นโดยสรุปว่า ตีความมาตรา 8 ว่า ห้ามมิให้ฟ้องร้อง กล่าวหา ลบหลู่ดูหมิ่นพระองค์ (เขียนขึ้นมาเอง ม.8 ไม่ได้พูดแบบนี้) ประชาชนไทยผูกพันกับกษัตริย์ทุกพระองค์ ทุกพระองค์มีหลักทศพิธราชธรรม มีโครงการพระราชดำริต่างๆ เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของไทย ที่มีกษัตริย์เป็นประมุขแม้มีการปกครองประชาธิปไตยเหมือนกันก็ตาม การหมิ่นกษัตริย์เป็นความผิดพิเศษ เพราะเป็นประมุขถาวร เป็นศูนย์รวมคนในชาติ

ความเห็นของ เฉลิมพล เอกอุรุ โดยสรุประบุว่า กษัตริย์สูงส่งทั้งทางศาสนาและสังคม โดยเฉพาะองค์ปัจจุบัน กษัตริย์ไทยทรงเป็นพ่อที่คนไทยรัก ผูกพันมากกว่าประเทศอื่นที่ผูกพันกับประมุขตัวเอง หลักนิติธรรมไม่ใช่การปกครองโดยกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปโดยความถูกต้องโดยธรรม การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กระทบต่อความมั่นคง การกำหนดโทษจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เป็นไปตามหลักนิติธรรมของกฎหมาย

ความเห็นของ ชัช ชลวร โดยสรุประบุว่า พระเกียรติคุณของกษัตริย์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ความจงรักภักดีอยู่ในจิตวิญญาของปวงชนชาวไทย สืบทอดมารุ่นสู่รุ่น หากกระทำการหมิ่นประมาท ย่อมเกิดความเกลียดชังกันระหว่างหมู่ชน เกิดความแตกแยก

ความเห็นของ นุรักษ์ มาประณีต และ บุญส่ง กุลบุปผา แสดงความเห็นคล้ายกัน โดยย้อนไปตั้งแต่ก่อนรัตนโกสินทร์ พูดถึงเรื่องเอกราช และเรื่องโครงการพัฒนาต่างๆ พร้อมระบุว่า มาตรา 112 เป็นมาตรการปกป้องสถาบันที่เหมาะสมแล้ว

ความเห็นของ สุพจน์ ไข่มุกด์ โดยสรุประบุว่า กษัตริย์มีบทบาทสำคัญยิ่ง ศูนย์รวมความรัก สามัคคี ไม่ควรที่บุคคลใดจะละเมิด เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ

อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ทำความเห็นโดยสรุปว่า กษัตริย์มีสถานะแตกต่างจากบุคคลธรรมดา หากให้วิจารณ์จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการวิจารณ์กระทบต่อพระเกียรติ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นผลร้ายต่อสังคมไทย วัฒนธรรมไทย กระทบต่อสถาบันซึ่งรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง


ปิยบุตร กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอุดมการณ์ที่เสมือนอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช หากตนเองเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย จะวินิจฉัยว่า มาตรา 112 มีผลจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งรัฐธรรมนูญรับรอง กฎหมายที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ตามที่รัฐธรรมนูญระบุ ต้องเขียนไปว่า จำกัดเพื่ออะไร และจำกัดให้สมควรแก่เหตุ มาตรา 112 จำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียงของบุคคลอื่นเช่นเดียวกับการหมิ่นประมาทบุคคล การจะจำกัดต้องเท่าที่จำเป็นห้ามกระทบกระเทือนต่อหลักเสรีภาพ

เขาจะต้องวินิจฉัยว่า การจำกัดเสรีภาพ บรรลุวัตถุประสงค์เพราะคุ้มครองผู้อื่น แต่เกินความจำเป็น กระทบกระเทือนต่อสาระของเสรีภาพ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ทั้ง 4 ตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่เป็นสถาบันการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ หลีกเหลี่ยงไม่ได้ที่ต้องถูกวิจารณ์บ้าง การลงโทษบุคคลที่เผยแพร่ความเห็น แล้วต้องเอาคนเหล่านั้นไปติดคุก ถือเป็นโทษที่มากจนเกินไปเมื่อเทียบกับการกระทำความผิด เป็นการจำกัดเสรีภาพมากจนเกินไป อัตราโทษ 3-15 ปี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์โทษยังน้อยกว่านี้ แสดงว่าระบอบประชาธปไตยจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ มากเสียกว่าระบอบเก่าเสียอีก และเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ กฎหมายนี้ยังจำกัดเสรีภาพ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันที่แต่ละคนต้องอดทนอดกลั้นต่อการถูกวิจารณ์ได้

สุดท้าย การวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัด ถ้าเป็นแบบประชาธิปไตยก็ว่าขัด แบบกษัตริย์นิยมก็ว่าไม่ขัด ดังนั้น มันจึงแล้วแต่ศาลที่มีความคิดแบบไหน เป็นศาลระบอบอะไร

"คำวินิจฉัยนี้เป็นการเปลือยแก้ผ้าให้เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าท่านว่ามีความคิดแบบใด ความสามารถในการใช้และตีความรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีเพื่อคุ้มครองเสรีภาพบุคคล จะสิ้นสุดลงทันที ไร้ความสามารถทันที เมื่อเจอกับกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันกษัตริย์"

ปิยบุตรอ่านคำปฏิญญาการรับตำแหน่งตุลาการ พร้อมระบุว่า นี่อาจเป็นคำตอบของปัญหาทุกวันนี้

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า มาตรา 112 กลายเป็นภาพแทนของสภาวะของระบอบนี้ ไม่ใช่แค่กฎหมายธรรมดา ไม่ใช่ความผิดอาญาทั่วๆ ไป เพราะท่านสามารถตีความแตกต่างกันได้ทุกเรื่อง แต่พอเรื่องนี้ มันหยุดทันที เป็น exception (ข้อยกเว้น) ตลอดเวลา เลยไปถึงโครงสร้างของสถาบันกษัตริย์ในสถานการณ์ปัจจุบันด้วย

คนที่เคยมีเหตุผล เคยวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างได้ แต่วิธีคิด ชุดเหตุผล มันหยุดลงทันทีเมื่อท่านเจออะไรก็ตามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนซึ่งมีสติ มีเหตุผล มีความผิด หยุดคิดทันทีเมื่อเจอกับประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์

กฎหมายไม่สามารถทำให้คนหนึ่งรักอีกคนหนึ่งได้ คุกไม่สามารถทำได้ เขียนให้ประหารชีวิต เอาคนอีกเป็นแสนติดคุกก็ไม่มีทางทำได้ ด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ถ้าหยุดใช้ มันอาจกลับมาเคารพอยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าใช้ต่อไป นอกจากไม่รักแล้วอาจจะยิ่งบานปลายเตลิดเปิดเปิงไปได้มากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net