WORK AND LIFE BALANCE: สมดุลระหว่างงานกับชีวิต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเด็นความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work and Life Balance) ได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และได้รับการกล่าวถึงทั้งในแวดวงวิชาการ หรือแม้แต่กระทั่งในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป เราก็คงเคยได้รับฟัง หรืออาจได้เคยร่วมวงสนทนากับการตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนฝูงเกี่ยวกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต

 
ความสุขในชีวิตของคนเรานั้นคืออะไร 
การทำงานหนัก และทุ่มเททั้งชีวิตไปเพื่อการทำงานนั้น นำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตจริงหรือ
คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายคนสงสัย
และพยายามหาคำตอบ
คนจำนวนไม่น้อยเริ่มค้นพบว่า การสร้างสมดุลระหว่างหน้าที่การงานและชีวิตเราเป็นสิ่งสำคัญ
แม้ว่าจะตระหนักว่า การสร้างสมดุลนั้นมีความสำคัญ
แต่กระนั้นก็ยังมีคำถามตามมา
ความสมดุลนั้นอยู่ตรงไหน….
และเราจะสร้างสมดุลได้อย่างไร….
 
ช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา  ประเด็นความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work and Life Balance) ได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และได้รับการกล่าวถึงทั้งในแวดวงวิชาการ หรือแม้แต่กระทั่งในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป เราก็คงเคยได้รับฟัง หรืออาจได้เคยร่วมวงสนทนากับการตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนฝูงเกี่ยวกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต
 
ข้อเท็จจริงพื้นฐานก็คือว่าคนเรานั้น ไม่ว่าจะสูงวัยหรือเยาว์วัย จะรวยหรือจะจน สิ่งหนึ่งที่คนเราทุกคนมีเหมือนกัน ก็คือ จำนวนชั่วโมงในแต่ละวันที่มีอยู่ 24 ชั่วโมงเท่ากัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนเราทุกคนบนโลกใบนี้จะมีเวลาในแต่ละวันเท่ากัน แต่เราก็แบ่งการใช้เวลาของเราไปกับกิจกรรมที่หลากหลายด้วยเวลาที่แตกต่างกัน  การแบ่งหรือจัดสรรเวลานี้เองที่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุข (wellbeing) ของคนเรา
 
ความสมดุลระหว่างการงานและชีวิต หมายถึง จุดดุลยภาพระหว่างการทำงานของบุคคลและชีวิตส่วนตัว (ตามคำนิยามของ European Foundation for the Improvement of Living and Working Conditions)   การทำงานที่น้อยเกินไปอาจทำให้คนเรามีรายได้ไม่เพียงพอที่จะอยู่ได้ภายใต้มาตรฐานการครองชีพหนึ่งๆ  ในขณะที่ การทำงานที่มากเกินไปก็อาจเกิดผลในทางลบของคนได้ ทั้งผลต่อด้านสุขภาพหรือชีวิตส่วนตัว ดังจะเห็นได้ว่าในประเทศญี่ปุ่นมีการบัญญัติถึงปรากฎการณ์ที่คนทำงานหนักจนตายมาแล้ว หรือที่เรียกว่าโรคคาโรชิ (ทั้งที่ในอดีต คนญี่ปุ่นไม่ได้ทำงานหนักขนาดนี้)  การสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของความอยู่ดีมีสุขของคนเราเลยทีเดียว
 
สำหรับครอบครัวหนึ่งๆ แล้ว การสร้างสมดุลระหว่างหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ชีวิตส่วนตัวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่อความอยู่ดีมีสุขสำหรับสมาชิกในครัวเรือน และยังส่งผลต่อเนื่องถึงสังคมโดยรวมอีกด้วย โดยเฉพาะหากสามารถจัดสรรเวลาที่เพียงพอในการเข้าสังคมและการมีส่วนร่วมในชุมชน
 
ในทางวิชาการเองก็ได้มีความพยายามอธิบายในเรื่องราวการสร้างสมดุลของชีวิตเช่นกัน โดยในรายงานการศึกษาของ OECD  (2011a) ได้นำเสนอดัชนีชี้วัดเพื่ออธิบายถึงการใช้เวลาของคนเราระหว่างการทำงาน การใช้เวลากับครอบครัว การสื่อสาร การพักผ่อน และการดูแลเรื่องส่วนตัว  การสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการงานนั้นได้รับความสนใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ได้จากการพักผ่อนและการลดเวลาทำงานลงมากยิ่งขึ้น
 
การให้ความสนใจกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่มีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากแนวโน้มด้านประชากร สังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น หรือคนทำงานมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น
 
ในประเด็นเรื่องเพศนั้น แม้ว่าเพศหญิงจะทำงานนอกบ้านมากขึ้น แต่ภาระหน้าที่การทำงานภายในครอบครัว ก็ยังมีการกระจายงานภายในครอบครัวโดยได้รับอิทธิพลเรื่องเพศแบบเดิมอยู่ โดยผู้ชายมีแนวโน้มที่จะทำงานเป็นเวลานานจากการทำงานที่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน (paid work) ในขณะที่ผู้หญิงยังคงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อไปในงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน (unpaid work) ที่บ้าน  ในขณะที่ความไม่สมดุลทางเพศยังคงถูกกำหนดโดยปัจจัยเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย
นอกจากนี้ ความอยู่ดีมีสุขของเด็กก็เป็นเรื่องที่ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรเวลาที่ไม่เหมาะสมของผู้ปกครองเช่นกัน โดยกลุ่มเด็กได้รับผลกระทบจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองของตนเองทำงานหนักและมีเวลาให้กับเด็กๆ น้อยเกินไป  ทั้งที่การดูแลเด็กของพ่อแม่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก
 
การวัดความสมดุลระหว่างงานและชีวิต
 
การวัดสมดุลชีวิตการทำงานเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก  เพราะการแบ่งแยกระหว่างคำว่า "มากเกินไป" และ "น้อยเกินไป" จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะให้ค่าลำดับความสำคัญกับสถานการณ์ของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกัน นอกเหนือจากการจัดสรรเวลาในการจัดกิจกรรมต่างๆ แล้ว   ปัจจัยสำคัญคือการดูว่าคนมีประสบการณ์  "time crunch"  หรือ ความรู้สึกเครียดที่มีเวลาไม่เพียงพอในการต้องทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวันหรือไม่  มากน้อยแค่ไหน   การวัดความสมดุลของชีวิตการทำงานในทางวิชาการมักมาจากผลการสำรวจการใช้เวลา การสำรวจเหล่านี้ให้รายละเอียดแสดงภาพว่าคนใช้เวลาของเขาในกิจกรรมที่แตกต่างกันอย่างไร 
ดัชนีชี้วัดที่ใช้กันทั่วไปคือ
 
•           ชั่วโมงทำงาน
•           เวลาสำหรับการพักผ่อนและการดูแลส่วนบุคคล
•           เวลาในการเดินทาง
•           ความพึงพอใจกับการจัดสรรเวลา
•           อัตราการจ้างงานของมารดาที่มีเด็กอยู่ในวัยเรียนภาคบังคับ
 

 

 
The quality of work-life balance indicators
 
 
จากการสำรวจ OECD พบว่า ในประเทศส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจมีเพียพนักงานไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำงานเป็นเวลานานเกินไป (มากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) โดยแม้ว่าสัดส่วนของพนักงานประจำทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ แต่สัดส่วนของคนทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง มีขนาดไม่มากนัก มีขนาดไม่มากนัก โดยประเทศตุรกี ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนทำงานที่ทำงานเป็นเวลานานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานรวม    ตามด้วยประเทศเม็กซิโกและอิสราเอล ที่มีคนทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ประมาณหนึ่งในห้าของคนทำงานทั้งหมด
 
Percentage of employees working 50 hours or more per week
 
 
Sources: OECD Labour Force Statistics database; and Swiss Federal Statistical Office.
 
ในประเทศกลุ่ม OECD คนทำงานใช้เวลาต่ำกว่า 15 ชั่วโมงต่อวันเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและชีวิตส่วนตัว  (หมายถึงทำงานอย่างน้อย 9 ชั่วโมงต่อวัน)  โดยในทุกประเทศ คนส่วนใหญ่ได้ใช้เวลาเพื่อชีวิตส่วนตัวมากกว่าการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะคนเราต้องมีการนอนเฉลี่ยประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการรับประทานอาหารอย่างเดียว
 
ประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน  นอกจากนี้จากการสำรวจในกลุ่ม OECD พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนทำงานใช้เวลาประมาณ 38 นาทีต่อวัน ในการเดินทาง (ในขณะที่คนกรุงเทพต้องเดินทางมากกว่า 1-2 ชั่วโมงต่อวัน) ทั้งนี้ในประเทศกลุ่มยุโรป  กว่าสามในสี่ของคนทำงานไม่พอใจกับบางแง่มุมของสมดุลชีวิตการทำงานของพวกเขา
 
Time devoted to leisure and personal care
Hours per day, persons in full-time employment
 
 
โดยสรุป ความสมดุลของงานและกิจกรรมที่ไม่ใช่งานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  โดยในปัจจุบันมีการคำนึงถึงความสุขหรือประโยชน์จากการพักผ่อนและการลดชั่วโมงทำงานโดยรวมลงมากยิ่งขึ้น ที่ทำงานแบบใหม่ๆ เลยให้คุณค่ากับความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตมากขึ้น บางแห่งไปไกลถึงขนาดให้ความสำคัญของความยืดหยุ่นในการทำงาน (Work-Life Flexibility) ที่ทำให้คนทำงานสามารถเลือกและค้นจุดสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวได้ตลอดเวลา เช่น เราอาจขอลาหยุดไปปฏิบัติธรรม หรือเดินทางท่องโลกได้ช่วงหนึ่ง หรือสามารถใช้ที่ทำงานในการทำงานอย่างหนักในบางช่วง โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานแบบ 9.00 – 5.00 อันเป็นมรกดตกค้างของวิธีคิดหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับโลกยุคหลังที่เน้นการทำงานโดยใช้ความรู้และการให้ค่ากับสิทธิของมนุษย์
 
หากเราต้องการให้ “ความอยู่ดีมีสุข” (Wellbeing) เป็นเป้าหมายทั้งในส่วนบุคคลและประเทศชาติ เราคงต้องคิดกันให้มากขึ้นถึงระบบการทำงานในปัจจุบัน การจัดสรรเวลาของคน สวัสดิการในการทำงาน ความยืดหยุ่นในการทำงาน เวลาที่เสียไปกับเรื่องไร้สาระและการเดินทางที่ยาวนานเกินไป และอีกหลายๆ มิติในชีวิตการทำงาน    เพราะรากฐานของการพัฒนาประเทศก็อยู่ที่การที่คนแต่ละคนสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ อย่างมีความสุข และมีเวลามากพอสำหรับการใช้ชีวิตส่วนตัวเพื่อพักผ่อน เรียนรู้ เดินทาง และสร้างสรรค์ชีวิตอย่างรื่นรมย์ตามวิถีทางของแต่ละคน ประเทศที่น่าอยู่คงไม่ใช่ประเทศที่ทำงานหนักเกินไปหรือทำงานน้อยเกินไป แต่น่าจะเป็นประเทศที่เอื้อให้เราทำงานได้อย่างชาญฉลาด และมีโอกาสได้ใช้เวลาอย่างเหมาะสม ให้คุ้มค่ากับการได้ “เวลา” ที่มาเป็นของขวัญคนละ 24 ชั่วโมงต่อวันอย่างเท่าเทียมกัน
 
 
เอกสารอ้างอิง
OECD  (2011a) HOW’S LIFE? MEASURING WELL-BEING 2011, OECD Publishing, Paris.
OECD (2011b), Doing Better for Families, OECD Publishing, Paris.
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท