Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศาตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ได้รับการเลือกตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานของสมาคมเอเชียศึกษา หรือ Association for Asian Studies (AAS) ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการในการประชุม AAS ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคมนี้ ที่เมืองซานดิเอโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ศ.ดร.ธงชัย นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งที่ทรงเกียรตินี้ สืบต่อจาก ศ.ดร. Thoeodore C. Bestor แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

สมาคมเอเชียศึกษายังเป็นเวทีทางด้านวิชาการ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมถึงเป็นองค์กรที่ไม่ต้องการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ และยังเปิดให้บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับเอเชียหรือการศึกษาเรื่องของเอเชียสมัครเข้าเป็นสมาชิก ปัจจุบันนี้ สมาคมเอเชียศึกษามีสมาชิอยู่ทั่วโลกประมาณ 8,000 คน มาจากทุกภูมิภาคและทุกประเทศของเอเชีย และมาจากทุกๆ สาขาการศึกษาทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเอเชีย สมาคมเอเชียศึกษานับว่าเป็นกรอบทางวิชาการที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับสมาคมอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลก

สมาคมเอเชียศึกษานับเป็นการวางเครือข่ายที่เชื่อมโยงสมาชิกโดยผ่านสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ งานเขียนออนไลน์ การจัดการประชุมในระดับภูมิภาคและการประชุมประจำปี สมาคมนี้ได้รับการก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1941 ในระยะเริ่มแรกเป็นเพียงสมาคมที่จัดทำสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า Far Eastern Quarterly หรือปัจจุบันคือวารสารเอเชียศึกษา (Journal of Asian Studies) ต่อมาได้พัฒนาขึ้นมาเป็นสมาคมที่ขยายตัวกว้างขึ้น ทั้งในแง่สาขาวิชาและความสนใจในภูมิภาคที่กว้างขึ้นของกลุ่มสมาชิก

ในปี ค.ศ. 1970 ได้มีการจัดตั้งสภาเอเชีย (โดยมีสมาชิกที่ผ่านการเลือกตั้ง) ใน ภูมิภาค ได้แก่ จีร เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก การจัดตั้งสภาตามภูมิภาคนี้มีส่วนในการให้หลักประกันว่า การศึกษาเอเชียจะมีความครอบคลุมมากขึ้น และจะมีการส่งตัวแทนที่มาจากทุกภูทิภาคเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานของสมาคม ต่อมาในปี ค.ศ. 1977 สภาแห่งการสัมมนาได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวเชื่อมกับการประชุมในระดับภูมิภาคที่มีอยู่มากมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียในกลุ่มนักวิชาการทั้งที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯ และในต่างประเทศ

การประชุมในปีนี้ที่จะมีขึ้นอีกไมกี่วันที่เมืองซานดิเอโก้นั้น จะมีผู้เข้าร่วมการประชุมนับพันคนและจะมีการจัดการสัมมนา ทั้งในรูปของการเสนอผลงานเป็นรายบุคคล การจัดการสัมมนาแบบกลุ่ม (panel) หรือการจัดการถกเถียงแบบโต๊ะกลม (roundtable) ที่ครอบคลุมในทุกสาขาวิชาและทุกประเทศในเอเชีย

กรณีที่นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนายการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ได้ออกมากล่าวว่า “ในกลางปี 2556 นักล็อบบี้พวกนี้วางแผนผลักดันให้มีการอภิปรายเชิงวิชาการในที่ประชุมประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษา (Association of Asian Studies) ซึ่งมีคนไทยที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลอยู่ การอภิปรายดังกล่าวมีเป้าหมายมุ่งโจมตีสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นการเฉพาะ” ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูล การกล่าวอย่างไม่มีหลักฐานและเลื่อนลอย สะท้อนให้เห็นถึงการวิเคราะห์ข่าวแบบ “ชุ่ย” ของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อต้านการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไทยในเชิงวิชาการ เพียงเพื่อต้องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการ แม้ว่าการแสดงออกทางวิชาการนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม การวิเคราะห์ของนายภุมรัตน์นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งของกลุ่มที่ต้องการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประโยชน์ต่อการโจมตีกลุ่มนักวิชาการที่ต้องการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบัน

สมาคมเอเชียศึกษานี้ไม่ใช่มีเพียงการถกเถียงในทางวิชาการในเรื่องของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้กับการเสวนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ ในหัวข้อต่างๆ กันไปดังที่ได้กล่าวข้าวต้น การจัดการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องประเทศไทย หรือเรื่องสถาบันกษัตริย์ของไทยโดยเฉพาะนั้น จึงเป็นเพียงหนึ่งในการสัมมนาหลายๆ สัมมนาที่จะเกิดขึ้นที่ซานดิเอโก้

ที่สุด สำนักข่าวกรองเองก็น่าจะรู้ว่า สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ของไทยนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพราะต่างมีศัตรูร่วมกัน นั่นคือภัยจากคอมมิวนิสต์ การที่นายภุมรัตน์ออกมาระบุว่า ล็อบบี้อิสท์ของสหรัฐฯ ต้องการโจมตีสถาบันกษัตริย์จึงเป็นการกล่าวที่ขาดเหตุผลและหลักฐาน ไม่น่าเชื่อว่านายภุมรัตน์จะเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมงานข่าวกรองของไทยจึงไร้ประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การประโคมข่าวว่า สมาคมเอเชียศึกษาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักวิชาการไทยนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่เกินจริงแล้ว ยังเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ถือเป็นการกล่าวที่ไร้สติอย่างที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net