ไม่ได้เปิดพื้นที่ ไม่ได้มีเสรีภาพ ตอบโจทย์ย้ำปัญหาทางตันในไทยพีบีเอส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลายคนถอนใจอย่างโล่งอกแทนไทยพีบีเอสที่หาทางออกให้ตัวเองในสถานการณ์อันน่ากระอักกระอ่วนลงได้ ด้วยการที่กรรมการนโยบายลงมติให้เอารายการตอบโจทย์ตอนสุดท้ายออกฉาย ลงโรงไปแล้วเรียบร้อยโรงเรียนจีนเมื่อคืนวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา

ถ้าเป็นหนังก็ต้องเรียกมันว่า happy ending  - ยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มคนที่ไปเรียกร้องให้เลิกฉายซึ่งนัดรวมตัวกันใหม่แล้วกะจะไปถล่มไทยพีบีเอสอีกวันสองวันข้างหน้านี้ ประกาศรวมตัวที่เห็นกันในเฟซบุ๊กของพวกเขาพูดไว้อย่างมีนัยว่า ไทยพีบีเอสไม่ทำตามสัญญาที่ว่าจะไม่เอารายการออกฉาย (ทำให้น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าแล้วใครกันในไทยพีบีเอสที่ไปให้คำมั่นอย่างนั้นไว้กับกลุ่มคนเหล่านี้)

สำหรับคนนอกไทยพีบีเอส หรือสำหรับคนที่สนใจประเด็นเสรีภาพสื่อ ดีกรีปัญหาในเรื่องนี้อาจจะทุเลาลง แต่สำหรับคนในของไทยพีบีเอสเรื่องนี้ยังเป็นประเด็น และเป็นประเด็นใหญ่ซะด้วย

การออกโรงของกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส – ซึ่งอันที่จริงแล้วเดินตามข้อเสนอของคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ที่พิจารณาปัญหาการถอดรายการตอบโจทย์ (หรือจะเรียกให้สุภาพตามที่ฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสนำเสนอว่า “ชะลอ”ก็ยังได้) และสรุปว่าเรื่องนี้เป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณในเรื่องของการคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ (เพราะว่าดันเซ็นเซอร์ตัวเอง) แต่ทว่าพิจารณาโทษอย่างอะลุ้มอล่วยกล่าวคือตัดสินว่า เหตุผล (ที่ใช้ในการเซ็นเซอร์ตัวเอง) นั้นรับฟังได้ เพราะอ้างความปลอดภัยของพนักงานเนื่องจากเห็นว่าภัยคุกคามที่จะมีมาถึงตัวนั้นหนักหนาสาหัส (แต่ข้ออ้างอันนี้ฟังไม่ขึ้นสำหรับคนนอกคนอื่นๆ -ฮา) และคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์เสนอให้เยียวยาผู้ชมด้วยการนำรายการออกฉายทันที เมื่อมติของคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้รับการนำเสนอไปสู่กรรมการนโยบาย และกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบด้วยเมื่อเย็นวันที่ 18 ผลสรุปจึงออกมาให้นำตอบโจทย์กลับมาฉายในเวลาเดิมอย่างที่สาธุชนทั้งหลายได้เห็นกันไปแล้ว

มีประเด็นที่น่าสนใจจากบทเรียนนี้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือวิธีแก้ปัญหาของผู้บริหารไทยพีบีเอสที่เลือกจะใช้วิธีการตัดสินใจเป็นคณะเข้าแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว กล่าวคือกระทำผ่านคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์และกรรมการนโยบาย

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาอันเกิดขึ้นระหว่างไทยพีบีเอสกับผู้ชม โดยเฉพาะปัญหาความเป็นมืออาชีพและจริยธรรมความเป็นสื่อ

มองในแง่ดีนี่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผลและสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่มองอีกด้านจะพบว่าการเลือกใช้วิธีการนี้แสดงให้เห็นจุดอ่อนในการบริหารงานบางส่วน

ในประเด็นแรกคือเรื่องรายงานชิ้นนักศึกษากับบีอาร์เอ็น  เป็นรายงานที่เชื่อมเรื่องของนักศึกษาว่าโยงใยขบวนการก่อเหตุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือบีอาร์เอ็น อันที่จริงรายงานชิ้นนั้นแม้แต่คนเริ่มเรียนเรื่องการทำข่าวก็มองออกว่าไม่สมประกอบอย่างแรง ไม่จำเป็นต้องถึงมือคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์และถึงกับต้องใช้เวลานานกว่าสัปดาห์ที่ฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสจะออกมาพูดจา “เยียวยา” ปัญหาที่เกิดขึ้นกล่าวคือยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาด

รายงานที่ไม่แสดงความรับผิดชอบกับข้อมูลที่กล่าวหาคนด้วยข้อหาร้ายแรง ไม่บ่งบอกที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน ชี้นิ้วตัดสินและกล่าวหากลุ่มบุคคลโดยถ้อยคำในตัวรายงานเองอย่างชัดแจ้ง ไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขข้อกล่าวหาอย่างสมน้ำสมเนื้อ แถมไม่มีชื่อผู้ทำรายงาน – นักข่าวที่ปรากฏใบหน้าในรายงานเป็นผู้ชาย แต่เสียงบรรยายกลายเป็นเสียงผู้หญิง สิ่งที่ข่าววงในเปิดเผยก็คือรายงานชิ้นนี้เป็นฝีมือของนักข่าวจากศูนย์ข่าวของไทยพีบีเอสในภาคใต้ ผสมด้วยความพยายามของคนในฝ่ายข่าวในส่วนกลาง

สิ่งที่เราได้เห็นตลอดห้วงระยะเวลาที่มีปัญหาเรื่องข่าวนักศึกษากับบีอาร์เอ็นก็คือการแก้ตัวของคนกลุ่มฝ่ายข่าวของไทยพีบีเอสที่ออกมาปกป้องตัวเองในรายการของไทยพีบีเอสเองว่าข่าวของตนมีการถ่วงดุลแล้ว ไม่มีปัญหาใดๆ ในขณะที่ฝ่ายข่าวของไทยพีบีเอสและผู้บริหารปากแข็ง ฝ่ายอื่นๆ ของไทยพีบีเอสกลับพยายามอย่างยิ่งที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา

ความผิดพลาดในการทำข่าวหนนี้หากจะบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ในตอนแรกอาจพอฟังขึ้น แต่เมื่อมีการท้วงติงแล้วย่อมมองเห็นได้ว่าผิดจริงแต่กลับไม่ยอมรับจนถึงกับต้องให้เรื่องไปถึงมือคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ แสดงว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ – ตีความได้ไม่ยากว่า เป็นไปได้สองเรื่องเท่านั้น คือไม่รู้หรือไม่ก็เจตนา ซึ่งถ้านี่เป็นข้อกล่าวหาก็ต้องนับว่าอุกฉกรรจ์สำหรับคนทำข่าวที่ไม่รู้จักคุณค่าข่าว แต่จะยิ่งอุกฉกรรจ์กว่าถ้าเป็นเรื่องของเจตนา เพราะต้องถามว่าเจตนาอะไร จะเล่นงานนักศึกษาแทนฝ่ายความมั่นคง  หรือว่าต้องการเล่นใครในไทยพีบีเอส

และเป็นเรื่องเข้าใจยากหากจะบอกว่าคนระดับสมชัย สุวรรณบรรณที่ผ่านงานข่าวมามากรวมทั้งในระดับบีบีซีที่จะไม่รู้ในข้อนี้ และถ้าอนุโลมว่าสมชัยรู้แต่ทำไก๋ คำถามก็คือมันเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการแก้ปัญหาภายใน และวิธีรับมือกับความผิดพลาดของสมชัยซึ่งดูเหมือนจะมีปัญหา หรือว่ามีระยะห่างอันมีนัยสำคัญระหว่างสมชัยและฝ่ายข่าวในองค์กรของตัวเองหรือไม่ 

ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก ปัญหาที่สองที่ไทยพีบีเอสเจอคือเรื่องการถอดรายการตอบโจทย์ รายการนี้ไทยพีบีเอสรู้ตัวว่าโดนด่ามาตั้งแต่เริ่มออกอากาศจากบรรดาแฟนานุแฟนกลุ่มที่มองว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควร ผลของเสียงค้านที่ลอยมาทั้งในและนอกองค์กร ทำให้คณะกรรมการนโยบายต้องประชุมพิจารณาว่าควรเอาออกหรือไม่ แล้วก็มีมติว่าให้นำเสนอต่อไป

ในวันที่จะออกอากาศมีเหตุการณ์สองสามอย่างเกิดขึ้น นั่นคือ อย่างแรก มีการเรียกประชุมกลุ่มคนระดับบรรณาธิการให้ร่วมกันพิจารณาว่าควรทำอย่างไร ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ยังมีข้อสรุปให้เดินหน้าฉายต่อ ประการที่สองในวันนั้นมีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติยี่สิบกว่าคนไปรวมตัวกันที่ไทยพีบีเอสประท้วงให้ถอดรายการ แอคชั่นอีกอย่างที่เกิดขึ้นก็คือการ “ตบเท้า” เข้าพบ ผอ.ของบรรณาธิการจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการสั่งถอดรายการ แต่เมื่อมีเสียงด่าขรมตามมา รวมทั้งมีประกาศวางมือจากทีมตอบโจทย์ทำให้ข่าวและเสียงตำหนิระบาดอย่างรวดเร็วราวไวรัสไข้หวัดนก ผอ.ไทยพีบีเอสก็จึงออกมาแก้เกี้ยวว่า เป็นเรื่องของการให้ชะลอไม่ใช่ถอดรายการ

คำให้สัมภาษณ์แรกของสมชัย สุวรรณบรรณที่บอกกับวอยซ์ทีวีบอกเล่าชัดเจนว่า “มีความขัดแย้งภายใน” และมีข้อถกเถียงกันในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการทำรายการนี้

ในขณะที่สเตตัสในเฟซบุ๊กของเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง และณาตยา แวววีรคุปต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบรรณาธิการสามรายที่ข่าวของศูนย์ข่าวอิศราอ้างว่า “ตบเท้า” ไปพบสมชัยนั้นก็บอกเล่าให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยของทั้งสองรายต่อการทำประเด็นข้อถกเถียงเรื่องสถาบันในรายการตอบโจทย์ เสริมสุขถึงกับเท้าความดั้งเดิมว่า ภิญโญนั้นพยายามจะทำประเด็นที่ไม่ควรทำมานานแล้วตั้งแต่เรื่องจักรภพ ทักษิณ แต่ดีที่เทพชัย หย่อง อดีต ผอ.ยับยั้งไว้ได้

เป็นที่รู้กันว่าในสมัยที่เทพชัย หย่องดูแลไทยพีบีเอส ภิญโญเคยไปสัมภาษณ์ทักษิณแต่สถานี “ชะลอ” หรือดองอยู่นาน ตอนแรกเข้าใจกันว่าโดนทิ้งลงถังไปแล้ว จนเจอเสียงวิจารณ์ทนไม่ได้จึงได้เอาออก – กล่าวอีกนัยหนึ่งสเตตัสของเสริมสุขในเฟซบุ๊กยืนยันความพยายามเซ็นเซอร์ตัวเองของไทยพีบีเอสว่ามีมาตั้งแต่สมัย ผอ.คนเดิม

ในขณะที่สเตตัสเฟซบุ๊กของณาตยาก็แสดงความกังขาเรื่องวิธีการทำงานของภิญโญว่าไม่ตกผลึกในเรื่องห้วงเวลาและวิธีการไม่รอบคอบ เสริมสุขตั้งคำถามเรื่องการให้พื้นที่กับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลว่ามากเกินพอดี และว่านี่เป็นความไม่เป็น “มืออาชีพ” ของภิญโญ (แล้วเจอใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ของประชาไทตำหนิเอาว่าเสริมสุขควรจะย้อนกลับไปดูตัวเองสมัยรายงานข่าวรันเวย์ร้าวในบางกอกโพสต์  - หุหุ)

น่าสังเกตว่าประเด็นเดียวกันนี้ถูกตั้งคำถามโดยเทพชัย หย่อง ในบทความที่เขาเขียนลงเดอะเนชั่นในวันรุ่งขึ้นหลังมีการระงับการออกอากาศ บทความของเทพชัยรับลูกสอดคล้องกันอย่างเหมาะเหม็งกับความเห็นของณาตยาและเสริมสุขว่า การเชิญสมศักดิ์นั้นเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะสมศักดิ์เป็นคน extreme แข็งกร้าวมากที่สุดในเรื่องสถาบันซ้ำยังติดคดีหมิ่น ข้อความในบทความของเทพชัยขานรับน้ำเสียงของเสริมสุขที่ย้อนรำลึกความหลังอันน่ายกย่องสมัยเทพชัย โดยบอกว่า การถอดรายการตอบโจทย์นับเป็นการกระทำที่ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรในฐานะสื่ออิสระที่สั่งสมมานานตลอดห้าปีที่ผ่านมา – อันเป็นเวลาที่เทพชัยครองตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส เทพชัยชี้ว่า เรื่องนี้ฝ่ายจัดการต้องรับผิดชอบ

ผสานกับท่าทีภายในของบรรดา บก.ที่ต่างเริ่มแสดงอาการถอยตัวเองจากเหตุการณ์ ต่างบอกว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสมชัย “เดี๊ยนไม่เกี่ยว”

ทั้งๆ ที่แหล่งข่าวภายในไทยพีบีเอสระบุชัดว่า ในวันที่จะออกอากาศ บก.หนึ่งในกลุ่มที่ตบเท้าเข้าพบสมชัยได้ลงไปพบปะกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านยี่สิบคนที่ไปประท้วงในไทยพีบีเอส แถมยังให้สัญญากันไว้ว่าจะไปดำเนินการเพื่อไม่ให้มีการออกอากาศตอบโจทย์ตอนสุดท้ายนี้

สมชัย สุวรรณบรรณอ้างว่าการตัดสินใจ “ชะลอ” รายการตอบโจทย์ก็เพราะเกรงอันตรายที่จะเกิดกับสถานีและพนักงาน เขาบอกว่าคนกลุ่มนี้กำลังเรียกระดมพลดูแล้วน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่สมชัยพูดนั้นอาจถือได้ว่าเป็น perceived threat คือภัยในสายตาของสมชัย ทว่าภัยจริงๆ อาจจะไม่ถึงขั้นนั้นก็ได้  (หลายฝ่ายแนะไปแล้วว่า สิ่งที่ไทยพีบีเอสควรทำคือขอกำลังคุ้มครองจาก ตร. ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างถอดรายการดั่งที่เห็น)   เรื่องนี้กลายมาเป็นเหตุผลหลักในการถอดรายการ แต่ในการให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวี สมชัยเอ่ยถึงความขัดแย้งภายในและปัญหาต้นทุนในการทำรายการตอบโจทย์ว่าเป็นประเด็นด้วย เมื่อมาภายหลังกลับย้ำเรื่องเหตุผลเรื่องความปลอดภัย รวมความแล้วดูเหมือนว่าความขัดแย้งภายในและประเด็นโต้เถียงเรื่องต้นทุนทำรายการที่ทำให้ บก.หลายคนไม่พอใจได้รับการยืนยันจากคนในว่าเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกกันจริงแม้ในนาทีสุดท้ายก่อนถอดรายการ

หากเป็นเช่นนี้จริง ก็น่าเสียดายที่ว่า ชื่อเสียงของสถานีไม่ได้เป็นเรื่องหลักของ บก.เหล่านี้มากเท่ากับการต้องการเห็นรายการถูกถอดออกไป เพราะถ้าเลือกออกอากาศรายการอีกตอนเดียวแล้วไปจัดการปัญหาอื่นกันทีหลังย่อมรักษาชื่อขององค์กรดีกว่ากันมาก

การอ้างเหตุผลต่างๆ นี้มีอาการปรับเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของสาธารณะอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนปัญหาการบริหารงานในภาวะวิกฤติและภายใต้แรงกดดันภายใน และไม่ใช่ไทยพีบีเอสคนเดียวที่ผีเข้าผีออก อาการนี้ก็เกิดขึ้นกับสื่ออีกรายคือศูนย์ข่าวอิศรา กล่าวคือในตอนแรกเมื่อมีการถอดรายการ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรารายงานว่า การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มี บก.สามคน มีณาตยา แวววีรคุปต์ บุตรรัตน์ บุตรพรหม และณัฏฐา โกมลวาทิน “ตบเท้า” ไปพบสมชัย ข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่แหล่งข่าวในไทยพีบีเอสอีกหลายรายระบุ แต่ในวันรุ่งขึ้นเมื่อกลุ่มสาม บก.โดนรุมวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจนอ่วมไปแล้ว เว็บไซต์นี้ก็ออกข่าวใหม่เป็นการยูเทิร์นทันทีว่า ไม่มีการตบเท้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะณัฏฐานั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเนื่องจากไปออกอากาศอยู่ในระหว่างที่มีการประชุม พร้อมอ้างแหล่งข่าวในไทยพีบีเอสท้วงติงความคิดที่ว่า การถอดตอบโจทย์นั้นเป็นเรื่องไม่สมควรด้วยการระบุว่า ตอบโจทย์เป็นรายการที่ไทยพีบีเอสจ้างทำ ในเมื่อจ้างทำก็ขึ้นอยู่กับสถานีที่จะเป็นผู้ตัดสินใจนำมาออกอากาศหรือไม่ – กูมีสิทธิว่างั้นเหอะ – ซึ่งยิ่งเป็นการแก้ตัวที่ประหลาดล้ำ แฝงทัศนะนายจ้างผู้ยิ่งใหญ่

แต่ที่น่าสังเกตคือมันเป็นการเปิดทาง “ถอย” ให้กลุ่มคนที่มีข่าวเกี่ยวข้องกับการ “ตบเท้า” หนนั้นออกจากสถานะการเป็นผู้มีส่วนออกแรงกดดันให้มีการตัดสินใจถอดรายการโดยทันที

สอดรับกับบทความของเทพชัย หย่อง ที่สรุปอย่างเรียบง่ายว่า ไม่ว่าจะมีปัญหาภายในอย่างไร คนที่ต้องรับผิดชอบคือฝ่ายจัดการ – ซึ่งก็ย่อมหมายถึงสมชัย สุวรรณบรรณ เป็นการร่วมด้วยช่วยเปิดทางถอยให้กับกลุ่มลูกน้องเก่ากลุ่มหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวในหนนี้

เป็นที่รู้กันว่า เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรานั้นผลิตโดยสมาคมนักข่าวซึ่งในปัจจุบันเกาะกุมโดยกลุ่มคนในวงการสื่อที่เป็นทีม “เสื้อเหลือง” และโดนตำหนิมาตลอดเรื่องการมีท่าทีเป็นมืออาชีพเฉพาะกรณี กล่าวคือเรียกร้องให้ปกป้องเสรีภาพสื่อทุกครั้งที่มีการคุกคามสื่อเสื้อเหลือง แต่เพิกเฉยทุกครั้งที่สื่อเสื้อแดงเป็นเหยื่อการคุกคาม

ส่วนหนนี้เป็นอย่างไรก็ดูกันเอาเอง

เว็บข่าวอิศราภายใต้การนำของคนในสมาคมนักข่าว ดูแลโดยประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีต บก.มติชน นอกจากนั้น ครั้งหนึ่ง เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บก.ข่าวความมั่นคงของไทยพีบีเอสก็เคยเป็น บก.โต๊ะข่าวภาคใต้ให้กับเว็บอิศรามาแล้ว

งานมหกรรมยำผู้บริหารไทยพีบีเอสในเรื่องนักศึกษากับปัญหารายการตอบโจทย์ ส่งผลสองอย่างในไทยพีบีเอส  อันแรกคือช่วยรวมพลคนเกลียดสมชัยซึ่งเริ่มสะสมขึ้นมาจำนวนหนึ่งจากการที่สมชัยเข้าไปทำงานหักดิบในเรื่องการใช้งบประมาณเกินตัวในหลายจุด รวมทั้งอาการไม่พอใจของพนักงานทั่วไปที่ไม่ได้เงินเดือนขึ้น ให้สามารถหลอมรวมกับอีกปีกที่ไม่พอใจสมชัยจากกรณีเบียดพื้นที่คนในไปให้คนนอกทำรายการ และที่สำคัญทำรายการอย่างรายการตอบโจทย์ที่เปิดพื้นที่ให้กับประเด็นสถาบันที่พวกเขาทั้งไม่ชอบและที่เครือข่ายของพวกเขาก็ไม่ชอบด้วย มันช่างสะดวกดีแท้

อีกอย่างหนึ่งก็คือ มันทำลายขวัญและกำลังใจคนที่ตั้งใจทำงานจริงในไทยพีบีเอส พนักงานจำนวนหนึ่งถึงขั้นคิดว่าจะเปิดหมวกอำลาองค์กรแห่งนี้เพราะหมดความภาคภูมิใจในตัวเอง ผสมผสานกับความรู้สึกว่า ไทยพีบีเอสไม่มีทางจะแก้ปัญหากลุ่มแก๊งค์อิทธิพลที่คอยครอบงำกำหนดทิศทางการทำงานขององค์กรให้รับใช้กลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์อันเดียวกันพร้อมทั้งพากันสร้างอาณาจักรของตัวเองอันเป็นปัญหาเก่าที่สะสมมานานได้ คนเหล่านี้คือคนที่กำลังเจอวิกฤติศรัทธาในองค์กรของตัวเอง

ปัญหาว่ากลุ่มคนที่สร้างอาณาจักรในไทยพีบีเอส มีเครือข่ายเพื่อนสื่อทั้งในและนอกองค์กรและเพราะความเป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ทำให้การเคลื่อนไหวในองค์กรของพวกเขาไม่มากก็น้อยเป็นการสอดรับประเด็นกลุ่มการเมืองจากภายนอกที่จะทำให้การทำงานของพวกเขาตอบสนองแรงขับเคลื่อนทางการเมืองมากกว่าประเด็นความเป็นมืออาชีพ – กับผู้บริหารที่ทำงานไม่สอดคล้องกับประเด็นของพวกเขาที่มีจุดอ่อนในการบริหารงานอย่างสมชัยจะอยู่ในองค์กรนี้ได้อย่างไร

เรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่จะฝังตัวอยู่ในไทยพีบีเอสสร้างสมการการช่วงชิงกันอย่างไม่รู้จบ ส่งผลให้คนทั่วไปยังเบื่อหน่ายบทบาทของไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะอีกต่อไป สื่อมืออาชีพนอกจากจะอำลาจากไปเหมือนกรณีภิญโญ คนอื่นที่จะเข้าไปก็จะไม่กล้า คนกล้าที่อยู่ภายในก็จะเงียบ

กรณีฉายรายการตอบโจทย์จึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น

เว้นเสียแต่ว่าจะต้องมีการทำความสะอาดบ้านกันครั้งใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท