Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เราชาวไทยทั้งหลาย เมื่อเราได้รับชมรายการ 'ตอบโจทย์ประเทศไทย' ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไปครบแล้วทุกตอน หากพ้นค่ำคืนนี้ไป เราอาจสังเกตเห็นบางสิ่งได้ ดังนี้
 
1. รุ่งเช้าที่เราตื่นมา ราชอาณาจักรไทยก็ยังคงเป็นราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ไทยก็ยังคงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดิม เรายังคงจ่ายตลาด  นั่งรถเมล์หรือขึ้นทางด่วนไปทำงานได้ตามปรกติ เรามิได้ออกมารบราฆ่าฟันกันอย่างบ้าคลั่งและไร้สติ ดังนั้น การถกเถียงกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุด้วยผล อย่างตรงไปตรงมา และเปิดเผย แม้อาจเป็นสิ่งที่เรายังไม่คุ้นชิน แต่มันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่บางฝ่ายต้องการข่มขู่ให้เรากลัว จริงหรือไม่ ?
 
2. รุ่งเช้าที่เราตื่นมา เราเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับ ‘สื่อมวลชน’ มากขึ้นหรือไม่ ?
 
- การกดดันให้งดฉายรายการ กลับส่งผลให้รายการนั้นเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น ใช่หรือไม่ ?
 
- การไปชุมนุมประท้วงที่สถานีโทรทัศน์ นำพามาซึ่งสิทธิประโยชน์ในการรับประทานอาหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช่หรือไม่ ?
 
- วงการสื่อไทย มีความเหลื่อมล้ำ ความริษยาหมั่นไส้ระหว่างลูกจ้างประจำ กับ ทีมงานที่รับผลิตรายการจากภายนอกสถานี มากน้อยเพียงใด ?
 
- งบประมาณมหาศาลที่รัฐได้จัดสรรให้แก่ ไทยพีบีเอส และ สถานีตำรวจในพื้นที่นั้น เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของไทยพีบีเอส จากกลุ่มคนที่มาชุมนุมกดดัน ณ สถานีประมาณไม่เกิน 100 คน (และอาจเพิ่มขึ้น) มากน้อยเพียงใด ?
 
- การที่คณะกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส ได้ออกแถลงการณ์ว่า การชะลอการออกอากาศโดย ผู้อำนวยการสถานีถือเป็นการทำผิดจริยธรรมของวิชาชีพ แต่มีเหตุผลรับฟังได้ แปลว่าอะไรกันแน่ ? เราสามารถอ้างเหตุผล เพื่อทำผิดจริยธรรมได้ด้วยหรือ ?
 
ฯลฯ
 
3. รุ่งเช้าที่เราตื่นมา เราเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับ ‘คนไทย’ ด้วยกันเองมากขึ้นหรือไม่ ?
 
- หากเราไม่กล้าวิจารณ์โต้เถียงกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา เราจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าตัวเรานั้นเคารพรักหรือไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริง ?
 
- การแบ่งแยกคนไทย ออกเป็น คนรักเจ้า คนไม่รักเจ้า คนโหนเจ้า เป็น royalist หรือ ultra-royalist นั้น สามารถแบ่งได้จริงหรือ และแบ่งแยกกันอย่างไร หรือมันแล้วแต่ใครจะเรียก ?
 
- คนเช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ถูกบางคนมองว่าพูดจาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์รุนแรงนั้น แท้จริงแล้ว เมื่อได้มีโอกาสพูดในโทรทัศน์สาธารณะ ก็มีวิธีพูดจาที่นุ่มนวลเสียยิ่งกว่าคนที่เรียกตนเองว่ารักเจ้า เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ใช่หรือไม่ ?
 
- คนที่อ้างว่าตนมีเสรีภาพในการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้จริงแล้วกลับไม่เคารพเสรีภาพของผู้อื่นจะวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ตรงกับตนใช่หรือไม่ ? เช่น ตนอ้างเสรีภาพว่าตนวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ แต่พอมีผู้อื่นวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในทางอื่น กลับกลายเป็นผู้นั้นเป็นผู้อวยเจ้า โหนเจ้า หรือ เป็นนักแท็กเพื่อโหนประเด็น ? สุดท้ายแล้ว คนที่อ้างเสรีภาพเหล่านี้ จึงอ้างเพื่อมาเป็นหน้ากากบังหน้าอคติและความหมั่นไส้ริษยาที่มีต่อผู้อื่นที่คิดเห็นหรือวางตัวต่างไปจากตน ใช่หรือไม่ ?
 
- หากสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถถูกวิจารณ์ได้มากขึ้น คนไทยบางคนบางกลุ่ม เช่น องคมนตรี ผู้พิพากษาตุลาการ หรือ พระสงฆ์ ก็ควรสามารถถูกวิจารณ์ได้มากขึ้นเช่นกัน ใช่หรือไม่ ?
 
ฯลฯ
 
4. ที่สำคัญ รุ่งเช้านี้ เราเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ มากขึ้น หรือไม่ ?
 
- เมื่อสังคมไทยนิยมการนินทา และคนไทยคงหยุดการนินทาไม่ได้ เราควรเรียกร้องให้ประเทศไทยมี ‘โฆษกประจำพระราชสำนัก’ เพื่อชี้แจงแถลงไขในเรื่องราวที่ประชาชนสงสัย หรือข้องใจ ให้ชัดเจน หรือไม่ ?
 
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ควรคงไว้ตามเดิม หรือ ควรแก้ไขให้มีการลดโทษให้เบาลง มีวิธีการฟ้องที่รัดกุมมากขึ้น หรือ ยกเลิกไปเสีย ?
 
- สิ่งที่มีผู้กล่าวว่าเป็น ‘เพลี้ย’ หรือ ‘กาฝาก’ ที่กำลังเกาะกินสถาบันพระมหากษัตริย์ นั้นมีจริงหรือไม่ และควรได้รับการจัดการอย่างไร ?
 
- มาตรา 112 ได้สร้างความกลัว หรือสร้างสภาวะ ‘บังคับ’ ที่ทำให้คนไทยไม่สามารถมี ‘ความสมัครใจ’ (consent) ที่จะรู้สึกหรือแสดงออกที่จะเคารพรัก หรือไม่เคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จริงหรือ ?

ฯลฯ
 

ข้อวิจารณ์ต่ออาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
 
ประเด็นทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนสมควรได้รับการครุ่นคิดและถกเถียงกันเพิ่มเติม แต่ผู้เขียนจะขอยกประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งมาถกเถียงต่อ ได้แก่ ประเด็นใหญ่ที่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  (“สศจ.”) พยายามเน้นย้ำตลอดมาว่า เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยนั้น เป็นเรื่องของ 'การบังคับ' กล่าวคือ สศจ. เห็นว่า มาตรา 112 ได้สร้างความกลัว หรือสร้างสภาวะ ‘บังคับ’ ที่ทำให้คนไทยไม่สามารถมี ‘ความสมัครใจ’ (consent) ที่จะเลือกรู้สึกหรือแสดงออกที่จะเคารพรัก หรือไม่เคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างแท้จริง
 
ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่เป็นความคิดรากฐานที่ สศจ. นำมาสร้างเงื่อนไขในการอธิบายว่า การบังคับ คือ การไม่มีทางเลือกที่สมบูรณ์ (ที่จะแสดงออกในการไม่รักหรือต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์) และ การมี มาตรา 112 ก็คือ การไม่มีทางเลือก และย่อมไม่มีความสมัครใจอย่างแท้จริง ดังนั้น สำหรับ สศจ. แล้วคนไทยทุกคนจึงตกอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีใครสามารถแสดงออกในเชิงไม่รักหรือต่อต้านสถาบันได้เต็มที่ และย่อมไม่มีคนไทยที่สามารถเลือกหรือแสดงออกที่จะรักหรือไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริงได้เลย

ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลของ สศจ. ข้อนี้ฟังสะดวก เข้าใจง่าย และอาจถูกใจใครหลายคน แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าเป็นเหตุผลที่ลวกและรวบรัดเกินไป และไม่ได้เป็นผลดีต่อการยกระดับสติปัญญาของสังคมในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าใดนัก

และที่แย่ที่สุดก็คือ ผู้เขียนยังไม่ค่อยเห็นผู้ใดออกมาโต้แย้งหักล้าง สศจ. ในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

ผู้เขียนขอเสนอข้อโต้แย้งว่า แม้วันนี้ มาตรา 112 จะยังดำรงคงอยู่ แต่ในทางหนึ่ง คนไทยทุกคน ก็ยังมีเสรีภาพที่จะไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในการคิด และการแสดงออก ทั้งนี้ เพราะการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในความคิด และการแสดงออกนั้น ย่อมมีได้หลายรูปแบบและไม่อาจตกอยู่ภายใต้การจำกัดความโดย สศจ. หรือ ใครได้ เช่น การไม่สนใจใยดี การไม่คิดแม้แต่จะวิจารณ์หรือพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่การเสแสร้งแอบอ้าง ก็ล้วนเป็นวิธีการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทั้งสิ้น

(ผู้อ่านโปรดแยกความต่างให้ชัดระหว่าง การ ‘บังคับ’ ห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ซึ่งผู้เขียนมิได้ปฏิเสธ กับอีกส่วน คือ การ ‘บังคับ’ ให้ต้องรู้สึกหรือแสดงออกในทางความเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งผู้เขียนกำลังปฏิเสธว่าการ ‘บังคับ’ ที่ สศจ. อธิบายอบ่างหลังนั้น อาจไม่มีอยู่จริง)
 
ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การที่ผู้ใดไม่ไปแสดงออกในทางที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย หรือแม้แต่ในทางวิพากษ์วิจารณ์นั้น ไม่ได้แปลว่าผู้นั้น 'กลัว' หรือ 'ไม่กล้า' หรือไม่มี ‘ความสมัครใจ’ ที่จะเลือกไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่การดำรงอยู่ของ มาตรา 112 นั้นย่อมทำให้พิสูจน์เชิงพฤติกรรม ‘ความสมัครใจ’ ที่จะเลือกไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำได้ยากเท่านั้น
 
นอกจากนี้ แม้ผู้เขียนจะเห็นว่า มาตรา 112 ได้สร้างอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลในทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และย่อมนำมาสู่ความไม่เท่ากันในการพิจารณาข้อมูลมาตัดสินใจ แต่นั่นก็มิได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าจะไม่มีผู้ใดที่สามารถคิดใคร่ครวญหรือแสวงหาข้อมูลเพื่อมีความคิดหรือแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแบบที่ตนเอง ‘สมัครใจ’ ได้ 

หากจะอธิบายให้เห็นภาพ สมมติว่าเราทำการทดลองโดยบังคับให้คนไทย 100 คน ต้องรับชมข่าวในพระราชสำนักทุกวัน และบังคับเขาเหล่านั้นให้ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 112 แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่พิสูจน์ได้ว่า จิตใจเขาเหล่านั้นจะต้องเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามเนื้อหาที่นำเสนอในข่าวพระราชสำนัก โดย คน 10 คน จาก 100 คนนั้น อาจจะไม่เคยเอ่ยปากชื่นชมหรือแสดงออกในทางที่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เลย ก็เป็นได้ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่วัดความหมายของการแสดงออก หรือการไม่แสดงออกของเขา (ในการปฏิบัติตาม มาตรา 112) ได้อย่างแน่ชัดว่าดหมายความถึงการเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไม่ อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า พฤติกรรมที่ใครบางคนอาจเข้าใจว่าเป็นการเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 หรือประเด็นความเคารพรักแม้แต่น้อย แต่อาจเป็นผลจากการตัดสินใจด้วยความสมัครใจเพื่อประโยชน์ของตนเอง ยกตัวอย่าง หากเราพิจารณาผู้ทำธุรกิจขายดอกไม้ ขายเสื้อเฉลิมพระเกียรติ หรือทำโรงพิมพ์ปฏิทิน เขาเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นผู้ที่ยกเคารพหรือยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาอาจไม่ได้เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์เลยแม้แต่น้อย หรืออาจเคารพเป็นบางวัน แต่เหตุที่เข้าแสดงออกในทางเคารพยกย่องทุกวันเช่นนั้น อาจเป็นเพราะเขาเห็นว่าการแสดงออกในทางที่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อตัวเขา เขาจึงตัดสินใจโดยเหตุผลและความสมัครใจที่จะแสดงออกในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง

และในตัวอย่างดังกล่าวนี้เอง แม้สมมติว่า มาตรา 112 ได้ถูกยกเลิกไป ผู้เขียนก็ขอเสนอสมมติฐานโต้แย้งว่า ผู้ที่ทำธุรกิจขายดอกไม้ ขายเสื้อเฉลิมพระเกียรติ หรือทำโรงพิมพ์ปฏิทินเหล่านั้น แม้ใจจริงเขาจะไม่ได้ต้องการแสดงออกเพื่อเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เลยก็ตาม แต่สุดท้าย เขาอาจตัดสินใจเลือกด้วยตัวเขา ด้วย ‘ความสมัครใจ’ ที่จะแสดงออกในทางเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดิม เพื่อให้เขายังคงได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมิได้ใส่ใจว่า มาตรา 112 จะถูกยกเลิกไปแล้วหรือไม่


หากให้ยกระดับของกรณีตัวอย่างที่ไปไกลยิ่งกว่ามิติทางเศรษฐกิจ เช่น มิติความคิดในทางวิชาการ สมมติฐานของผู้เขียนก็ยังคงใช้ได้ในลักษณะเดียว เช่น นักวิชาการที่ ‘สมัครใจ’ เห็นด้วยในคำอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประโยชน์ต่อระบบกฎหมายและการปกครอง เขาอาจเลือกที่จะเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ คือสะพานเชื่อมระหว่างยุคก่อน พ.ศ. 2475 และ หลัง พ.ศ. 2475 และเขาอาจไม่นึกว่า พ.ศ. 2556 จะเปลี่ยนแปลงช้าเพียงนี้ หรือเขาอาจจะคิดว่า มันกำลังช้าพอดีแล้ว ฯลฯ สุดแท้แต่เหตุผลที่เข้าจะเลือกเชื่อ โดยปราศจากความเกรงกลัวต่อ มาตรา 112

จากตัวอย่างนี้ นักวิชาการที่เลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อนั้น มิได้จำเป็นต้องเชื่อเพราะผลของความกลัว หรือถูกบังคับ เพียงแต่เขาเลือกที่จะเห็นต่างจากนักวิชาการรายอื่น ที่อาจปฏิเสธความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เคยแสดงความเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  เลยแม้แต่น้อย อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ปฏิเสธก็คือ มาตรา 112 ได้ทำให้ความเชื่อของนักวิชาการฝ่ายแรก ถูกโต้แย้งได้อย่างจำกัด และทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งนั้นโต้แย้งได้อย่างเสียเปรียบ ภายใต้เงื่อนไข มาตรา 112 แต่สภาวะนี้ก็ไม่ได้แปลว่านักวิชาการฝ่ายใดจะต้องถูกบังคับ หรือกลัว มาตรา 112 หรือ และยิ่งเป็นการไม่เป็นธรรม หากจะสรุปว่านักวิชาการฝ่ายแรกเชื่อเพราะเพราะเขาเองไม่สามารถคิดเองได้อย่างรอบด้านเท่าเทียมกับอีกฝ่าย ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ มาตรา 112 เท่ากัน
 
จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างของมิติทางเศรษฐกิจ และมิติความคิดในทางวิชาการ จะเห็นได้ว่า มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ ‘บังคับ’ การคิดหรือการแสดงออกในเชิงเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของทุกคนเสมอไป แต่การจะเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไม่ มีปัจจัยอื่นที่สลับซับซ้อนมากไปกว่า ‘ความกลัว’ หรือสภาวะ ‘บังคับ’ ตามที่ สศจ. อ้างอีกมาก

ผู้เขียนขอย้ำให้ชัดเจนอีกครั้งว่าสิ่งที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นการสนับสนุน มาตรา 112 หากแต่เป็นการอธิบายว่า การจะเสนอยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 112 นั้น ไม่อาจอ้างเหตุผลเรื่องการ ‘บังคับให้เคารพรัก’ หรือ การทำลาย ‘ความสมัครใจ’ ได้ดังที่ สศจ. พยายามจะอ้างได้ เพราะในท้ายที่สุด หากเราไม่อาจพิสูจน์เข้าไปในใจของใคร ว่าเคารพรักหรือไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ฉันใด เราก็ย่อมไม่อาจไปสรุปว่าการแสดงออกหรือไม่แสดงออกของผู้ใด นั้นหมายถึงการเคารพรักหรือไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ฉันนั้น

ปรากฏการณ์จากรายการ "ตอบโจทย์" นั้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มาตรา 112 หรือ ความมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่อาจบังคับอะไรต่อใครในลักษณะที่ สศจ. อ้างได้ และแม้ผู้ใดจะอ้างว่าบังคับได้ ผลการบังคับนั้นก็แสนจะหลวม จนคนไทยแต่ละคนสามารถคิดเห็นและแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้อย่างแตกต่างและหลากหลายมาก 
 
ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด หากสถาบันพระมหากษัตริย์ จะล้มพังหรือไม่พัฒนา ก็คงไม้ได้เป็นเพราะมีผู้ที่คิดเห็นแบบ สศจ. แต่คงเป็นเพราะเรายังขาด royalist หรือคนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หลักแหลมเพียงพอที่จะทำให้สังคมไม่หลงคล้อยตามความคิดรวบรัดในทำนองที่ สศจ. นำเสนอ จนในที่สุด ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องซ้ำเดิมกับความหมั่นไส้กันว่าใครรัก ใครกลัว ใครถูกบังคับ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นภาพลวงตาที่ชวนเสียเวลาทั้งสิ้น.
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net