ตอบโจทย์ เรื่อง 'ตอบโจทย์': ทีวีสาธารณะกับพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย

นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาเรื่อง "ตอบโจทย์ เรื่อง 'ตอบโจทย์': ทีวีสาธารณะกับบทบาทพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย" ผอ. ไทยพีบีเอสแจงจะเดินหน้า 'ตอบโจทย์' ต่อไป ในขณะที่ 'ปริญญา' ระบุ ไม่ควรเอาแรงกดดันมาทำให้วิชาชีพสื่อมวลชนไขว้เขว

 
20 มี.ค. 56 - ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานเสวนาเรื่อง "ตอบโจทย์ เรื่อง 'ตอบโจทย์': ทีวีสาธารณะกับบทบาทพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย" โดยมีวิทยากรอาทิ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ นักวิชาการอิสระ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์จากคณะเทศศาสตร์ จุฬาฯ
 
จากซ้ายไปขวา: จุมพล รอดคำดี, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, พิจิตรา สึคาโมโต้, สมชัย สุวรรณบรรณ, นที ศุกลรัตน์
 
'สมชัย' ย้ำไม่ยุติ 'ตอบโจทย์'
 
สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้ คือตอนนี้ทำอย่างไรให้รายการ 'ตอบโจทย์ประเทศไทย' ดำเนินต่อไป อย่างเมื่อคืนก็ยังฉายอยู่ ยังไม่ได้ยุบตามที่เข้าใจกัน เพราะเป็นรายการของสถานีดำเนินการ แต่ยังอยู่ในระหว่างปรับปรุงรูปแบบรายการใหม่ 
 
ผอ.ไทยพีบีเอสกล่าวว่า การที่ไทยพีบีเอสดำเนินอยู่มาเป็น 4-5  ปี อาจถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในประเทศ แต่ในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เช่นในยุโรปล้วนมีทีวีสาธารณะกันหมดแล้ว ทีวีสาธารณะเป็นดัชนีชี้ประชาธิปไตยว่ามีสุขภาพประชาธิปไตยดีแค่ไหน โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส และเป็นโมเดลที่หลายประเทศในภูมิภาคใช้เป็นตัวอย่าง 
 
เรื่องของรายการตอบโจทย์ มีคำถามว่าการออกอากาศในตอนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเร็วเกินไปหรือเหมาะสมหรือไม่ ตนคิดว่า การที่อยู่ตำแหน่งผู้อำนวยการมา 4 ปี มองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และถ้ารอให้หมดวาระไปแล้วก็ไม่รู้จะได้ทำไหม ตอนนี้แน่นอนว่ามีความแตกแยกในสังคม มีการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กันมากทั้งในอินเทอร์เน็ต มีการคุยอย่างใส่ร้ายป้ายสีในกลุ่มใต้ดิน เอาข้อมูลผิดๆ มาบิดเบือน 
 
แต่ถ้าเอาเรื่องการโต้เถียงมาอยู่บนดินมันเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้และตรวจสอบกันได้ เข้าใจว่าตอนนี้ก็มีการพูดโดยนักวิชาการในต่างประเทศ ในประเทศไทยก็น่าจะมีคุยกันได้ เพราะถ้ามีคุยในต่างประเทศก็อาจมีการใส่สีใส่ไข่ นักวิชาการต่างชาติทำเรื่องเมืองไทยไม่เท่าไหร่ไม่ทราบทำไมเอาไปพูด ตนก็คิดว่าถ้าไปเปิดเวทีที่อื่นได้ ก็ควรจัดให้มีการพูดคุยในประเทศแบบเปิดเผยบ้าง 
 
ต่อคำถามที่ว่า การนำเอาเรื่องนี้มานำเสนอซึ่งเป็นเรื่องร้อนแรงขึ้นมา คิดว่ามันก็เป็นธรรมชาติของวาระข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรบ. นิรโทษกรรม, กม. 112 โดยเฉพาะในขณะนี้กำลังมีการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภา เรื่องนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกันและเป็นเรื่องที่สำคัญ
 
"ฉะนั้น จะทำอย่างไรที่ให้มีการคุยกันอย่างมีเหตุมีผล ให้มีการพูดคุยหักล้างกันบนเวที มากกว่าให้มีการพูดกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะพวกนั้นตรวจสอบไม่ได้" สมชัยกล่าว
 
เขากล่าวต่อว่า การที่ไม่ได้ออกอากาศรายการตอบโจทย์ ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ก็ถือว่าไม่ได้เป็นการงด เพียงแต่เป็นการชะลอเท่านั้น เนื่องจากในฐานะเป็นผู้บริหารองค์กรและบรรณาธิการ เป็นหน้าที่ของตนที่ต้องดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สินของสถานที่ราชการ ไม่ให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย และในฐานะอีกหมวก ก็คือบรรณาธิการที่ต้องรักษาความเป็นอิสระ ก็ต้องมาถามว่าต้องใช้หมวกไหนคืนไหน สำหรับในคืนนั้น ขอใช้หมวกผู้บริหารองค์กร เพื่อการรักษาความปลอดภัยและไม่ให้มีการเผชิญหน้า เพราะทราบว่าในขณะนั้น ในโซเชียลมีเดียเองก็มีระดมคนเข้ามาเรื่อยๆ และมีการใช้คำพูดที่ข่มขู่รุนแรง
 
ในขณะที่เกิดการเจรจา กลุ่มที่กดดันได้เข้ามาขอดูเทปก่อนด้วย แต่นั่นเป็นเรื่องที่ผิดหลักการสื่อสารมวลชน ตนจึงให้กลุ่มดังกล่าวไปดูทั้งห้าเทปก่อนเพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งหมด ในโซเชียลมีเดียก็มีเอาโคว้ทมาใช้นอกบริบททำให้เกิดความเข้าใจผิดกันมาก จึงต้องสร้างความเข้าใจในตอนนั้น 
 
'ปริญญา' ชี้ การชะลอตอน 5 เป็นเรื่อง 'ชอบกล' ทางกฎหมาย
 
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม. ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อมองในแง่กฎหมาย จากการไปสอบถามกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอส ก็พอได้ข้อเท็จจริงว่า เทปที่ชะลอการออกอากาศ มีการดูและอนุมัติแล้วจากฝ่ายบริหาร แต่เนื่องจากมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มที่ไม่พอใจจากการพูดถึงเรื่องสถาบัน ไม่เพียงแค่ในประเด็นแต่ยังเรื่องบุคคลเรื่องความสมดุลด้วย ผู้อำนวยการจึงเชิญกรรมการฝ่ายนโยบายมาดู และเห็นว่าออกอากาศได้ แต่เสนอว่าหากยังมีความคิดเห็นไม่พอใจอยู่ ก็อาจออกเทปชี้แจงเพิ่มเติมได้ 
 
ซึ่งจุดนี้ ปริญญามองว่า แม้ความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้เป็นมติอย่างเป็นทางการ แต่ในฐานะความเห็น ก็มีความผูกมัดอยู่ระดับหนึ่ง แต่เพียงสิบนาทีก่อนเวลา ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่ให้ออกอากาศ จากเหตุผลสำคัญก็คือเรื่องผู้ชุมนุม ซึ่งผอ. ไทยพีบีเอส มองว่า ความปลอดภัยของนักข่าวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่อตนไปสอบถามจึงพบว่ามีผู้เข้ามาชุมมีราว 20-50 คน จึงตั้งคำถามว่ารปภ. มีน้อยกว่าหรือ เหตุใดจึงหามาตรการมาแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ จากจุดยืนทางวิชาชีพของสื่อมวลชน เมื่อเกิดความขัดแย้งในการตัดสินใจ ต้องมองว่าอะไรมาก่อน คิดว่าน่าจะมีมาตรการอื่นในการรองรับการตัดสินใจทั้งสองอย่างด้วย เรื่องความปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็ควรดำเนินการให้วิชาชีพสื่อสารมวลชนดำรงอยู่ได้
 
เขากล่าวว่า ตามแถลงการณ์ของผู้บริหารได้อ้างมาตรา 46 ของพ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ว่าด้วยหลักปฏิบัติตามหลักจริยธรรม ในการชะลอการออกอากาศ แต่ตามกระบวนการตามกฎหมาย จะเห็นว่า คณะอนุกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และได้ส่งต่อให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาเทปดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าสามารถออกอากาศได้แต่เสนอให้ทำตอนเพิ่มเติม แต่เมื่อผอ. ตัดสินใจไม่ออกอากาศเทปดังกล่าว ในทางกฎหมายจึงฟังดูเป็นเรื่อง "ชอบกล" 
 
ในขณะที่แถลงการณ์ของกรรมการนโยบายระบุว่า การตัดสินใจชะลอการออกอากาศเป็นการผิดข้อบังคับส.ส.ท. ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพ เกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ.2552 ข้อ 6.1 “ผู้บริหารหรือพนักงานต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริง จากรัฐบาล กลุ่มและพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้สาธารณชนเชื่อมั่นในความเป็นอิสระและความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย” ปริญญาจึงเห็นว่าเป็นคนละประเด็นกัน
 
ปริญญามองเรื่องรายการตอบโจทย์ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุยเรื่องสถาบันได้หรือไม่ แต่มองว่าคุยเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นการใช้หลักสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องใช้อย่างมีขอบเขต ซึ่งมากับความรับผิดชอบ เพราะเราอยู่ในสังคมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องเป็นการพูดคุยกันบนพื้นฐานของการรับฟังกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความอ่อนไหว ต้องทำให้เกิดความสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งเราต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ต้องเอามาคุยกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความขัดแย้ง 
 
จุมพล: หากตัดสินใจฉายแล้วต้องยืนหยัดในหลักการ
 
จุมพล รอดคำดี ผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สื่อมวลชนสาธารณะมีหน้าที่นำเสนอ และดูแลเรื่องประเด็นสาธารณะต่างๆ มาสร้างความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างถ่องแท้ แต่คงต้องดูในแง่การหยิบประเด็นด้วยว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน สำหรับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ควรต้องแน่ใจว่า ถ้าตัดสินใจแล้ว ต้องยืนอยู่บนหลักการของการมีเสรีภาพในการนำเสนอสื่อ ทำหน้าที่ที่ปราศจากการครอบงำในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ และก็ต้องยืนยันในการตัดสินใจนั้น 
 
"ในประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง เมื่อเลือกแล้วก็ต้องพร้อมจะเดินหน้า ถ้าเลือกทำงานด้านสื่อแล้ว ก็ไม่ต้องหวั่นไหวในหลักการ เพื่อเป็นการสร้างศรัทธาและความมั่นใจให้กับสังคมว่าเราจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด" จุมพลกล่าว
 
ในเรื่องของความกดดันที่มาจากภายนอก เป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องสร้างความสมดุล แต่ว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบนั้นก็เป็นเรื่องที่บอกไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องมีการโต้แย้งในสังคมอยู่แล้ว เป็นเรื่องของประชาชนที่จะต่างคนต่างคิดและมีความเห็นต่างได้ และเมื่อสื่อเอามานำเสนอ ก็ถือว่าเป็นการหยิบเรื่องนี้มาขยาย ให้มาอยู่ที่สว่าง นี่เป็นเรื่องที่สื่อต้องทำหน้าที่ โดยเฉพาะหน้าที่ของสื่อสาธารณะ 
 
กสทช. ระบุผอ. มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจยุติการฉาย
 
พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากผู้อำนวยการไทบพีบีเอสเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ออกอากาศ เช่นหากว่ามีการฟ้องร้อง ผอ. จะต้องเป็นจำเลยที่หนึ่ง ท่านจึงมีอำนาจสูงสุดในการยุติหรือไม่ยุติการออกอากาศรายการ ส่วนการให้คณะกรรมการนโยบายชมเทปดังกล่าว เป็นการขอความคิดเห็นเท่านั้น
 
ในแง่ที่เกี่ยวข้องผังรายการ หากจะยุติรายการ มีข้อกำหนดให้ยุติล่วงหน้าเจ็ดวันและต้องแจ้งให้กสทช. ทราบ หรือถ้าในกรณีสถานการณ์พิเศษต้องยุติกะทันหัน ก็สามารถยุติเลยได้และต้องแจ้งกสทช. แต่ถ้าออกอากาศไปแล้ว ต้องถามว่าเนื้อหาดังกล่าวเหมาะสมอยู่ในกรอบกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของคณะอนุกรรมการกสทช. ด้านผังรายการและเนื้อหาที่ต้องพิจารณาต่อไป
 
นทีกล่าวว่า ทั้งในกรณีของการงดฉายละครเหนือเมฆตอนสุดท้าย และรายการตอบโจทย์ จะถือว่าเป็นเรื่องที่ตั้งมาตรฐาน และเป็นกรณีศึกษาให้กสทช. ต่อไป เรื่องความละเอียดอ่อนก็ต้องมาวางกรอบว่าอะไรบ้างที่เหมาะสม ในแต่ละประเทศก็มีเรื่องการกำหนดเรื่องต้องห้ามไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศด้วย 
 
ตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางของ TPBS เหตุมาจากการรัฐประหาร
 
อุเชนทร์ เชียงแสน หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการพูดคุยในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ไม่ว่าจะในอินเทอร์เน็ต ในกลุ่มต่างๆ ที่สมชัยเรียกว่า "ใต้ดิน" ผู้พูดหรือผู้พิมพ์ก็ต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่พิมพ์อยู่แล้ว ด้วยกฎหมายพรบ. คอมพิวเตอร์และประมวลกฎหมายอาญาม. 112 เหตุใดต้องพูดราวกับว่าสื่อมวลชนหรือนักวิชาการสามารถใช้เหตุผลหรือเรียบเรียงการนำเสนอได้ดีกว่าคนอื่นในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ  
 
สำหรับเรื่องที่ปริญญากล่าวถึงฉันทามติในการก่อตั้งทีวีสาธารณะ ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่ามาจากการรัฐประหาร 2549 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ออกพรบ. ก่อตั้งไทยพีบีเอส ถ้าหากพรบ. ดังกล่าวออกมาจากกระบวนการทางรัฐสภาที่ปรกติ ก็คงพอยอมรับได้ ตนจึงมองว่า กระบวนการที่ออกจากรัฐประหาร จึงทำให้ไทยพีบีเอสมีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง จะเห็นจากกรณีล่าสุดเรื่องการนำเสนอข่าวเรื่องกลุ่มนักศึกษาสนนท. ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ ซึ่งตนมองว่าเป็นการนำเสนอที่ไม่รับผิดชอบ
 
ต่อเรื่องของการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ มองว่าต้องยอมรับว่าในสังคมไทยมีคนที่รักและไม่รักสถาบันอยู่ และก่อนหน้านี้คิดว่า ไทยพีบีเอส กำลังสร้างโอกาสให้เรื่องนี้สามารถพูดเรื่องนี้ในทีวีสาธารณะ แต่จากเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งการออกมาพูดของประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หรือความคิดเห็นของส.ว. สรรหาที่จะเรียกผู้ผลิตรายการมาชี้แจง ก็ทำให้โอกาสนั้นมันก็จบลงไปแล้ว ซึ่งก็คิดว่าการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในทีวีระดับชาติคงเกิดขึ้นไม่ได้อีกในรัชกาลนี้ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท