Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การที่มีกลุ่มชายรักชายตระหนักถึงสิทธิตนเองมากขึ้นย่อมเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตามการบริจาคเลือดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับด้วยเช่นกัน

จากเหตุการณ์การปฏิเสธการบริจาคเลือดของกลุ่มชายรักร่วมเพศเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนในประเทศไทยส่งผลให้เกิดคำถามกับสังคมว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มชายรักเพศเดียวกันหรือเปล่า ซึ่งการคัดกรองเลือดที่อาจเป็นอันตรายกับผู้รับเป็นหลักการปฏิบัติทั่วไปที่ทุกประเทศปฏิบัติซึ่งประกอบด้วยการสอบถามประวัติและการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ จะแตกต่างในรายละเอียดแต่ละประเทศในเรื่องการกำหนดกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงและกำหนดระยะเวลาการแบนห้ามการบริจาคเลือด (deferral period) แตกต่างกันไป เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์กำหนดให้ผู้ที่เป็นชายรักชายจะไม่สามารถบริจาคเลือดตลอดชีวิต ประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ที่เป็นชายรักชายจะไม่สามารถบริจาคเลือดภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด ในขณะที่ประเทศอิตาลีไม่มีการแบนกลุ่มชายรักชาย[1]

ระบบการตรวจคัดกรองเลือดและการกำหนดระยะเวลาการแบนการให้เลือด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอดส์เริ่มต้นที่อเมริกาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US Centers for disease control and prevention, CDC) และ องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration (FDA))ในปี 1983 ซึ่งการจะเข้าใจถึงการเกิดได้ก็จำเป็นที่ต้องเข้าใจสภาพการณ์ในอดีตเมื่อปี 1981 ซึ่งอเมริกาเป็นประเทศแรกของโลกที่ตระหนักถึงการมีอยู่และแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1981 ได้พบเคสชายหนุ่มอายุ 20 ปีป่วยด้วยโรค Kaposi Sarcoma ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบเฉพาะในคนแก่ นอกจากนี้คนไข้มีโรคแทรกซ้อนฉวยโอกาสเช่น Pneumonia Carinii ซึ่งเป็นโรคพบในบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และที่น่าประหลาดคือพบผู้ป่วยที่มีลักษณะเดียวกันถึง 5 เคสในลอสแองเจลิส และทั้งหมดเป็นชายรักชาย นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยลักษณะเดียวกัน 5 ถึง 6 รายต่อสัปดาห์ทั่วประเทศ ซึ่งในขณะนั้นทางการแพทย์ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ไม่สามารถหาตัวเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคได้และเรียกโรคดังกล่าวว่า โรคมะเร็งของชาวเกย์ (gay cancer) จนกระทั่งปี1982 จึงมีการบัญญัติชื่อใหม่ว่ากลุ่มโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) นอกจากนี้ยังมีรายงานจากผู้ป่วยลักษณะเดียวกันอีกในกลุ่มประชากรที่เป็นโรคฮิโมฟิเลีย กลุ่มผู้อพยพชาวเฮติ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดผ่านทางฉีดยาเข้าเส้นเลือด เนื่องจากไม่สามารถพบสาเหตุได้ชัดเจนและพบมากในบางกลุ่มประชากร จึงมีการตีพิมพ์ในสื่อต่างๆว่าเป็นโรคของ 4H (Homosexuals, Heroin addicts, Haemophiliacs, Haitians) และส่งผลให้หมิ่นเหม่ที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเสี่ยงขึ้นในสังคม นักวิทยาศาสตร์เองในขณะนั้นก็ไม่สามารถพบเส้นทางและวิธีการแพร่กระจายเชื้ออย่างแน่ชัด และสันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก การมีเพศสัมพันธ์และการถ่ายทอดจากเลือดของผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ในปี 1983 มีเคสเด็กอายุยี่สิบเดือนตายเนื่องจากการติดเชื้อทางมารดายิ่งสร้างความโกลาหลให้กับสังคมมากขึ้นและยืนยันสมมติฐานว่าการแพร่เชื้อเอดส์สามารถผ่านทางกระแสเลือด และพบเคสผู้ป่วยโรคเอดส์ถึง 3,064 คน และมีผู้เสียชิวตถึง 1,292 คน ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทาง CDC กำหนดมาตรการในการบริจาคเลือดในปี 1983 โดยแบนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงรวมถึงกลุ่มชายรักชายโดยเป็นการแบนตลอดช่วงชีวิต นอกจากนี้ในปี 1985 รัฐบาลโรนัลด์ เรแกนกลับเลือกใช้นโยบายห้ามผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าประเทศอีกยิ่งสะท้อนการเลือกปฏิบัติมากขึ้นอีก

การตรวจคัดกรองเลือดและการกำหนดช่วงเวลาการแบนของผู้บริจาคที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นการกระทำที่วางอยู่บนฐานของหลัการระวังภัยล่วงหน้า (Precautionary Principle) ซึ่งเป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงสังคมรูปแบบหนึ่งที่วางอยู่บนฐานของการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นถึงแม้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดทางวิทยาศาสตร์แต่มีความน่าจะเป็นที่จะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายร้ายแรงและเป็นความเสียหายที่กลับคืนมาไม่ได้ ซึ่งในสถานการณ์ช่วงปี 1983 เป็นไปตามสถานการณ์ดังกล่าว และส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันในการเฝ้าระวังภัยล่วงหน้าก่อนการบริจาคเลือด ถึงแม้การให้เลือดของกลุ่มชายรักชายจะไม่จำเป็นเสมอไปว่าทุกเคสจะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด แต่การที่มีผู้บริจาคเลือดที่มีเชื้อเอชไอวีเพียงเคสเดียวก็สร้างความเสียหายแบบกลับคืนมาไม่ได้

อย่างไรก็ตามการกำหนดระยะเวลาในการแบนกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น และตามระบาดวิทยาของโรคเอดส์ที่เปลี่ยนไป ในปี 1985 องค์กรกาชาดอเมริกัน ได้ใช้เทคนิค Enzyme Immunoassays ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเลือดที่ติดเชื้อเอชไอวี และในปี 1999 องค์กรกาชาดอเมริกันได้ใช้เทคนิค Nucleic Acid ซึ่งช่วยลดข้อด้อยของวิธีเดิมซึ่งไม่สามารถตรวจพบเชื้อในช่วงระยะ Shadow Period ให้เหลือเพียงสิบสองวัน ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อลดช่วงเวลาการแบนกลุ่มชายรักชายจากเป็นตลอดชีวิตเหลือเป็นระยะเวลาจำนวนปีภายหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด เช่น ในปี 2008สมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Medical Association) ได้ทำรายงานแนะนำว่าควรลดระยะการแบนเป็น 5 ปี

นอกจากนี้ความต้องการเลือดเพื่อการรักษาที่สูงขึ้นในขณะที่มีผู้บริจาคน้อยลง การกีดกันผู้บริจาคโดยใช้หลักการระวังภัยล่วงหน้าส่งผลให้ประชากรทั้งกลุ่มถูกคัดออกจากระบบอุปทานเลือด รวมถึงกลุ่มชายรักร่วมเพศที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น และผู้สนับสนุนให้มีการทบทวนนโยบายการแบนกลุ่มเสี่ยงในการบริจาคเลือดได้ให้เหตุผลว่า นโยบายดังกล่าวไม่อิงอยู่กับวิทยาศาสตร์และข้อมูลสถิติทางระบาดวิทยา เช่น จากข้อมูลความชุกในกลุ่มชายรักชายสูงกว่าชายปกติ 44 เท่า และมีการกำหนดช่วงระยะเวลาการแบนตลอดชีวิต (ยกเว้นกลุ่มชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนปี 1977) ในขณะที่ความชุกของกลุ่ม Afro American ก็สูงเช่นกันแต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาของการแบน

การดำรงอยู่ของระบบแบนผู้บริจาคเลือดซึ่งถูกสร้างมาตั้งแต่ ปี 1983 ภายใต้สภาวะที่มีการระบาดของโรคเอดส์ และความหวาดกลัวในสังคม อาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีคัดกรองเลือดประสิทธิภาพสูง มีการให้การศึกษาป้องกันโรคเอดส์ และมีความต้องการเลือดและการขาดแคลนเลือดที่สูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามการยกเลิกการแบนกลุ่มชายรักชายโดยมีการควบคุมความเสี่ยงของการคัดกรองเลือดให้เหลือน้อยที่สุดโดยใช้เทคโนโลยีและแบบสอบถามที่ดี และความซื่อตรงต่อการตอบคำถามของผู้บริจาค จะส่งผลดีต่อระบบอุปทานเลือดอเมริกัน

บทเรียนประเทศไทย  

การที่มีกลุ่มชายรักชายตระหนักถึงสิทธิตนเองมากขึ้นย่อมเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตามการบริจาคเลือดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับด้วยเช่นกัน การจะทำให้เกิดสิทธิของชายรักชายในการบริจาคเลือดต้องอาศัยการต่อสู้ทางความคิดทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนความคิดเก่าที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีการคัดกรองเลือดในปัจจุบันของประเทศไทยว่ามีประสิทธิภาพดีพอหรือยัง สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนได้หรือยัง ข้อมูลทางระบาดวิทยาสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ผลได้ผลเสียที่จะตามมาของการยกเลิกหลักการระวังภัยล่วงหน้าในการคัดกรองเลือดเป็นต้น

การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิใดๆต้องมีการต่อสู้และวางแผนเป็นระบบ และมีความน่าเชื่อถือ

 

 

เชิงอรรถ

http://www.avert.org/aids-history-america.htm

http://www.americanprogress.org/issues/lgbt/news/2012/09/11/37294/discriminatory-donor-policies-substitute-stereotypes-for-science/

http://www.isnare.com/wp/MSM_blood_donor_controversy

http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=sex-rules-blood-donation-precautionary-or-discriminatory

 




[1] http://www.isnare.com/wp/MSM_blood_donor_controversy

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net