ย้อนประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์ทั่วโลก และการนิรโทษกรรมในไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์มีต้นกำเนิดมาจากยุโรปตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนคริสตกาลควบคู่กับแนวคิดแบบประชาธิปไตย ต่อมามีการพัฒนาแนวคิดนี้เรื่อยมาจากนักคิดและนักปรัชญาหลายยุคหลายสมัย

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสูง แต่กลับได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้เริ่มเรียกร้องการปกครองที่พวกเขามีส่วนร่วมมากขึ้น แนวคิดการปกครองแบบคอมมิวนิสต์และแบบประชาธิปไตยล้วนถูกต่อต้านจากชนชั้นปกครองในยุคนั้นๆ นอกจากนี้แนวคิดทั้ง 2 แบบต่างก็ขับเคี่ยวกันเองเพื่อแย่งชิงมวลชน

หลายประเทศในยุโรปเริ่มเปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ระบอบประชาธิปไตยถือเป็นอันตรายต่อชนชั้นปกครองในยุคนั้นๆ แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงได้

แต่สิ่งที่ชนชั้นปกครองและนักประชาธิปไตยทั้งหลายกลัวยิ่งกว่ากลับเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ อาจเป็นเพราะเห็นว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ทำลายล้างระบอบทุนนิยมซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ระบอบคอมมิวนิสต์จึงกลายเป็นศัตรูสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศที่ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปและเอเชียเท่านั้น

  

จุดกำเนิดกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในไทย

15 มี.ค. 2460 พระเจ้าซาร์นีโคลัสที่ 2 (กษัตริย์รัสเซีย) ทรงสละราชสมบัติภายหลังการก่อรัฐประหารของรัฐสภาหลวงดูมา (Duma) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2460 รัฐสภาหลวงดูมาตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นปกครองรัสเซีย

8 พ.ย. 2460 พรรคบอลเชวิกร่วมมือกับกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลเฉพาะกาล วลาดีมีร์ เลนิน (หัวหน้าพรรคบอลเชวิก) ได้รับการแต่งตั้งเป็น "ประธานสภาที่ปรึกษาประชาชน"

สภาที่ปรึกษาประชาชนเปลี่ยนแปลงการปกครองรัสเซียเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "สหภาพโซเวียต" ในเวลาต่อมา นับเป็นประเทศแรกของโลกที่เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ สร้างความหวาดกลัวในลัทธิคอมมิวนิสต์ไปทั่วโลก

1 ธ.ค. 2464 กองทัพมองโกเลียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตสามารถขับไล่ผู้ปกครองจีน (พรรคก๊กมินตั๋ง) ซึ่งปกครองมองโกเลียโดยมีบอกด์ข่านเป็นกษัตริย์แบบหุ่นเชิดออกจากประเทศสำเร็จ
บอกด์ข่านทรงดำรงสถานะเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ก็แทบไม่มีพระราชอำนาจ เนื่องจากอำนาจส่วนใหญ่อยู่กับพรรคประชาชนมองโกเลีย (Mongolian People's Party) แดมเบียน ชากดาจาฟ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

มองโกเลียเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเป็นระบอบคอมมิวนิสต์อันมีกษัตริย์เป็นประมุข นับเป็นประเทศแรกของเอเชียที่เปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ สร้างความหวั่นวิตกต่อการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย (ภายหลังการสวรรคตของบอกด์ข่านในปี 2467 มองโกเลียยังคงมีตำแหน่งประมุขแห่งรัฐต่อไป แต่มาจากตำแหน่งต่างๆ เช่น ประธานรัฐขุราลใหญ่หรือประธานสภาปกครอง ก่อนที่จะยกเลิกและเปลี่ยนเป็นประธานาธิบดีในปี 2533)

ปี 2470 ร.7 ทรงตรา พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ.2470  เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.127 มาตรา 104 โดยเพิ่มโทษการกระทำที่เป็นการสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นกษัตริย์หรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้นเป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นับเป็นกฎหมายแรกที่มีบทลงโทษต่อการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

15 มี.ค. 2476 ปรีดี พนมยงค์ (รัฐมนตรี) นำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) เพื่อการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน (ในยุคนั้นไม่มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี/รมช. ตำแหน่ง "รัฐมนตรี" ที่ไม่มีกระทรวงจึงเป็นตำแหน่งที่สามารถทดแทนตำแหน่งต่างๆ ตามความเหมาะสม)

เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ถูกหลายฝ่ายมองเป็นรูปแบบเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์จนทำให้เกิดความแตกแยกในคณะราษฎรระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน ปรีดี พนมยงค์

1 เม.ย. 2476 รัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดาปรับคณะรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

2 เม.ย. 2476 พระยามโนปกรณนิติธาดาประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เนื่องจากเห็นว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข แต่ยังไม่ยกเลิกกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.127 มาตรา 104 

12 เม.ย. 2476 ปรีดี พนมยงค์ ถูกกดดันให้ต้องเดินทางลี้ภัยไปฝรั่งเศส (เค้าโครงเศรษฐกิจสร้างความขัดแย้งในคณะราษฎรจนเขาถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์)

20 มิ.ย. 2476 พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจากรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา เพื่อยุติความขัดแย้งในคณะราษฎรจากการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ

29 ก.ย. 2476 ปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับไทย และดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ในปี 2480 (ก่อนหน้านี้ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ตั้งคณะกรรมการฯเพื่อตรวจสอบ ปรีดี พนมยงค์ ต่อมาคณะกรรมการฯลงมติว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์)

1 ธ.ค. 2475 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นอย่างลับๆ โดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางชนชั้น, ชี้นำสังคมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และต่อสู้เอาชนะระบบทุนนิยม

 

จุดเริ่มต้นของสงครามเย็น

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียต (ฝ่ายสัมพันธมิตร) เข้ายึดครอง 6 ประเทศในยุโรปตะวันออกคือ ฮังการี, อัลบาเนีย, บัลแกเรีย, โรมาเนีย, เชคโกสโลวาเกีย และโปแลนด์ 

2 ก.ย. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีประเทศที่ให้การสนับสนุนหลัก 5 ประเทศคือ สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, สหภาพโซเวียต และจีนมีชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะซึ่งมีประเทศที่ให้การสนับสนุนหลัก 3 ประเทศคือ เยอรมัน, อิตาลี และญี่ปุ่น 

สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาพยายามขยายอิทธิพลของตนเองในยุโรปและเอเชียที่พยายามฟื้นตัวจากความย่อยยับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการช่วยเหลือด้านการเงิน และความร่วมมืือทางทหารในเวลาต่อมา นับเป็นจุดเริ่มของสงครามเย็น

สหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงการปกครอง 6 ประเทศในยุโรปตะวันออกเป็นระบอบคอมมิวนิสต์โดยการตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดคือ ฮังการี (2489), อัลบาเนีย (2489), บัลแกเรีย (2489), โรมาเนีย (2490), เชคโกสโลวาเกีย (2491) และโปแลนด์ (2495)

ข้อตกลงจากการประชุมที่ปอตสดัม (Potsdam Conference: 17 ก.ค.-2 ส.ค. 2488) ส่งผลให้เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เกาหลีในส่วนที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 38 องศา (เกาหลีเหนือ) ซึ่งปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์อยู่ภายใต้การอารักขาของสหภาพโซเวียต ส่วนเกาหลีในส่วนที่อยู่ใต้เส้นขนานที่ 38 องศา (เกาหลีใต้) ซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมอยู่ภายใต้การอารักขาของสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และจีน การแบ่งแยกสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในปี 2491 

การแบ่งเกาหลีครั้งนี้เป็นการแบ่งชั่วคราวเท่านั้น หลังจากนี้ 5 ปีจะจัดให้มีการลงประชามติในเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้เพื่อรวมประเทศอีกครั้ง

ส่วนเยอรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เยอรมนีตะวันตกซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมอยู่ภายใต้อารักขาของสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา และเยอรมันตะวันออกซึ่งปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์อยู่ภายใต้อารักขาของสหภาพโซเวียต การแบ่งแยกสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในปี 2492

 

จีนกับลัทธิคอมมิวนิสต์

29 ต.ค. 2489 รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 จากการกดดันของพรรคการเมืองต่างๆ และกลับไปใช้กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.127 มาตรา 104 เหมือนเดิม

5 มิ.ย. 2490 แฮร์รี เอส. ทรูแมน ใช้แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan) โดยให้การสนับสนุนด้านการเงินกับประเทศต่างๆ ในยุโรปในการฟื้นฟูประเทศ ทั้งในรูปแบบของเงินกู้และเงินช่วยเหลือ เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป 

แผนมาร์แชลล์ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกรีซและตุรกีเป็น 2 ประเทศแรก แผนมาร์แชลล์มีสมาชิกเพิ่ม อีกเป็น 15 ประเทศคือ สหราชอาณาจักร, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, ลักเซมเบิร์ก, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมันตะวันตก, ไอซ์แลนด์, อิตาลี, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, โปรตุเกส, สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ในเวลาต่อมา

25 ม.ค. 2492 โจเซฟ สตาลิน (เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต) จัดตั้งสภาเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจร่วมกัน (Council for Mutual Economic Assistance: Comecon) เพื่อตอบโต้แผนมาร์แชลล์ โดยมีประเทศสมาชิกเริ่มต้น 8 ประเทศคือ สหภาพโซเวียต, บัลแกเรีย, เชคโกสโลวาเกีย, ฮังการี, โปแลนด์, โรมาเนีย, อัลบาเนีย และเยอรมันตะวันออก (มองโกเลีย, คิวบา และเวียดนาม เข้ามาเป็นสมาชิกในภายเวลาต่อมา ต่อมาสภาแห่งนี้ถูกยกเลิกในปี  2534)

4 เม.ย. 2492 องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 7 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, โปรตุเกส, อิตาลี, นอร์เวย์, เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ (สหราชอาณาจักร, เบลเยียม, ฝรั่งเศส, ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมในเวลาต่อมา) โดยจัดตั้งความร่วมมือทางทหารเพื่อป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป

1 ต.ค. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตมีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ 

พรรคคอมมิวนิสต์เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "สาธารณรัฐประชาชนจีน" เหมาเจ๋อตุง ได้รับการแต่งตั้งเป็น "ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน" พรรคก๊กมินตั๋งเดินทางลี้ภัยไปไต้หวัน

10 ต.ค 2492 พรรคก๊กมินตั๋งก่อตั้ง "สาธารณรัฐจีน" ที่ไต้หวัน เจียงไคเช็ก ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดี (ไต้หวันซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาประกาศว่า รัฐบาลของตนเองเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของจีนจนมีสมาชิกภาพในองค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา ก่อนสูญเสียสมาชิกภาพในปี 2514)

สหรัฐอเมริกาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันแทน สร้างความไม่พอใจให้กับจีนอย่างมาก (สหรัฐอเมริกากดดันประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรให้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และให้การรับรองไต้หวันแทน ส่งผลให้ไทยต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในเวลาต่อมา)

 

สงครามเกาหลีกับ พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

25 มิ.ย. 2493 เกาหลีเหนือรุกรานเกาหลีใต้ เนื่องจากไม่พอใจที่เกาหลีใต้จับกุมเจ้าหน้าที่ทูต 3 คนที่เกาหลีเหนือส่งไปเจรจาเพื่อเตรียมการลงประชามติการรวมประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเกาหลี (จีนเปลี่ยนท่าทีหันมาสนับสนุนเกาหลีเหนือหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปกครองจีน)

22 ก.ย. 2493 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่งทหารเข้าร่วมทำสงครามเกาหลี ส่งผลให้นักข่าว, นักเขียน และประชาชนจำนวนมากร่วมรณรงค์ต่อต้านการเข้าร่วมสงครามเกาหลีในเวลาต่อมา

22 เม.ย. 2494 นักข่าว, นักเขียน และประชาชนร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านสงครามเกาหลี, ต่อต้านสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี และเรียกร้องให้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถอนตัวจากสงครามเกาหลี

10 พ.ย. 2495 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จับกุมนักข่าว, นักเขียน และประชาชนจำนวนมาก บุคคลสำคัญหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), มารุต บุนนาค (ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์), ครอง จันดาวงศ์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ภริยาของ ปรีดี พนมยงค์) ถูกจับกุมตัว

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กล่าวหาว่า บุคคลเหล่านี้มีพฤติกรรมก่อให้เกิดการแตกแยก, ปลุกปั่นแบ่งชนชั้นนายทุน/กรรมกร, ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรประเทศ และยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลีตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติให้เสื่อมเสียวินัย 

ผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกกล่าวหาหลายข้อหา ซึ่ง 1 ในนั้นคือ กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.127 มาตรา 104 หลายคนถูกตัดสินมีความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ (การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านสงครามเกาหลีครั้งนี้ถูกขนานนามว่า "กบฎสันติภาพ" ในเวลาต่อมา)

13 พ.ย. 2495 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 โดยมีบทลงโทษสูงสุดคือ การจำคุกตลอดชีวิต (พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกแก้ไขหลายครั้ง ซึ่งการแก้ไขแต่ละครั้งล้วนเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น)

27 ก.ค. 2496 ภายหลังจากการผลัดกันรุก-รับเพื่อแย่งชิงพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาหลี ในที่สุดฝ่ายคอมมิวนิสต์เกาหลีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีน และฝ่ายพันธมิตรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกายอมลงนามในข้อตกลงพักรบเกาหลี (Korean Armistice Agreement) 

เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยใช้เส้นขนานที่ 38 องศาเหมือนเดิม คิมอิลซุงเป็นนายกรัฐมนตรีของเกาหลีเหนือต่อไป (เขาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2491 แต่ในยุคนั้นคิมทูบองเป็นประธานสภาการปกครองสูงสุด ซึ่งเปรียบเสมือน "ประมุขแห่งรัฐ" เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดี หลังจากที่ตำแหน่งประธานสภาการปกครองสูงสุดถูกยกเลิกในปี 2515) และอีซึงมันเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ต่อไป (เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2491)

 

การนิรโทษกรรมการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 1

จากชัยชนะในเอเชียของลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้สหภาพโซเวียตและจีนต้องการขยายอิทธิพลของตนเองลงมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศในอินโดจีนซึ่งไม่ไว้วางใจชาติตะวันตก เนื่องจากเวียดนามและลาวไม่ต้องการเป็นประเทศในอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกต่อไป (ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมในอินโดจีนตั้งแต่ปี 2430 แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองอินโดจีน ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฝรั่งเศสจึงกลับเข้ามายึดครองอินโดจีนอีกครั้ง)

7 พ.ค. 2497 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามกับเวียดมินห์ที่เมืองเดียนเบียนฟู (เวียดนาม) ซึ่งเป็นช่วงระหว่างการประชุมเจนีวา 2497 (Geneva Conference 1954: 26 เม.ย.-20 ก.ค. 2497) จนนำไปสู่การทำข้อตกลงเจนีวา (Geneva Accords)

ข้อตกลงเจนีวาแบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ส่วนโดยใช้เส้นขนานที่ 17 องศา ฝ่ายเวียดมินต์ซึ่งใช้ระบอบคอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีนได้ปกครองเวียดนามในส่วนที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 17 องศา (เวียดนามเหนือ) โฮจิมินห์เป็นนายกรัฐมนตรี 

ส่วนรัฐเวียดนามซึ่งใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมและได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาได้ปกครองเวียดนามในส่วนที่อยู่ใต้เส้นขนานที่ 17 องศา (เวียดนามใต้) โงดินห์เดียมเป็นนายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระจักรพรรดิบ๋าวดั่ย (จักรพรรดิเวียดนาม) ทรงเป็น "ประมุขแห่งรัฐ" ของทั้งเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้ แต่พระองค์ต้องทรงประทับอยู่ในปารีส (ฝรั่งเศส) ต่อไป (พระองค์เสด็จออกจากเวียดนามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และทรงถูกลดฐานะเป็น "ประมุขแห่งรัฐ" ตั้งแต่ปี 2492) 

การแบ่งเวียดนามครั้งนี้เป็นการแบ่งชั่วคราวเท่านั้น หลังจากนี้ 2 ปีจะจัดให้มีการลงประชามติในเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้เพื่อรวมประเทศอีกครั้ง นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังยอมคืนเอกราชให้กับลาวและกัมพูชาด้วย แต่รัฐบาลของเวียดนามใต้, ลาว และกัมพูชายังเป็นหุ่นเชิดของฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาต่อไป

2 มี.ค. 2498 พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ (กษัตริย์กัมพูชา) ทรงสละราชสมบัติให้กับพระบาทสมเด็จพระนโรดมสุรามฤต (พระราชชนก) เพื่อทรงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

14 พ.ค. 2498 สหภาพโซเวียตจัดทำสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) เพื่อตอบโต้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ โดยมีประเทศที่เข้าร่วมสนธิสัญญา 8 ประเทศคือ สหภาพโซเวียต, อัลบาเนีย, บัลแกเรีย, เชคโกสโลวาเกีย, ฮังการี, โปแลนด์, โรมาเนีย และเยอรมันตะวันออก (ต่อมาสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกยกเลิกในปี 2534)

10 ก.ค. 2498 โงดินห์เดียมประกาศไม่ยอมรับข้อตกลงเจนีวาที่จะให้มีการลงประชามติเพื่อรวมประเทศเวียดนาม โดยอ้างว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงนี้ และไม่เชื่อว่า การลงประชามติจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม สร้างความไม่พอใจให้กับเวียดนามเหนืออย่างมาก

23 ต.ค. 2498 โงดินห์เดียมจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเวียดนามใต้จาก "ราชอาณาจักร" ไปเป็น "สาธารณรัฐ" โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม

ผลการลงประชามติซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนของโงดินห์เดียมลงมติเปลี่ยนประเทศเป็น "สาธารณรัฐ" โงดินห์เดียมได้เป็นประธานธิบดีของเวียดนามใต้ในเวลาต่อมา

ชาวเวียดนามใต้ที่สนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ไม่พอใจกับการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเจนีวาจนนำไปสู่การจัดตั้ง "แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ (เวียดกง)" ในเวลาต่อมาเพื่อต่อต้านรัฐบาลโงดินห์เดียม

1 พ.ย. 2498 เวียดนามเหนือเปิดฉากโจมตีเวียดนามใต้เพื่อการรวมประเทศเวียดนาม นอกจากนี้เวียดนามเหนือและจีนยังใช้การช่วยเหลือด้านเงินทุนและยุทโธปกรณ์ให้กับฝ่ายสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมา

13 พ.ย. 2499 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 และยกเลิกกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.127 ประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ไม่มีมาตราใดที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

17 ม.ค. 2500 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า

"บรรดาการกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 หากเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร ฐานก่อการจลาจล หรือตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าวแล้ว ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้กระทำความผิดฐานกบฏ ฐานก่อการจลาจล หรือความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ตัวมาเพื่อดำเนินคดีก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2499"

ชัดเจนว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับการก่อกบฏหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งกบฏสันติภาพ นับเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับแรกที่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ภายหลังการนิรโทษกรรม ผู้ต้องหากบฏสันติภาพหลายคนเดินทางลี้ภัยไปต่างประเทศในเวลาต่อมา เช่น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เดินทางลี้ภัยไปฝรั่งเศส และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เดินทางลี้ภัยไปจีน

5 พ.ค. 2501 เวียดนามเหนือแทรกซึมเข้าไปในเมืองเซโปน (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขตของลาว) และอีกหลายเมืองของลาวตามแนวชายแดนลาว-เวียดนามใต้เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์และแทรกซึมเข้าไปในเวียดนามใต้ (ปัจจุบันเส้นทางนี้ถูกขนานนามว่า "เส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail)") 

สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการฝึกอาวุธชาวลาวที่ยังภักดีต่อราชวงศ์ลาวเพื่อต่อต้านเส้นทางโฮจิมินห์ นอกจากนี้ยังมีการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายเส้นทางนี้หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

สหภาพโซเวียต-จีน มิตรภาพที่แปรเปลี่ยน

สหภาพโซเวียตและจีนเริ่มมีทัศนคติต่อลัทธิทุนนิยมที่แตกต่างกัน นิคิตา ครุสชอฟ (เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต) นำเสนอแนวคิดที่ลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิทุนนิยมจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ เหมาเจ๋อตุง (ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ไม่เห็นด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกร้าวของ 2 ประเทศในเวลาต่อมา

3 เม.ย. 2503 พระบาทสมเด็จพระนโรดมสุรามฤต (กษัตริย์กัมพูชา) สวรรคต สมเด็จพระนโรดมสีหนุ (นายกรัฐมนตรีกัมพูชา) ทรงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงดำรงตำแหน่ง "ประมุขแห่งรัฐ" ในเวลาต่อมา และทรงแต่งตั้งเจ้านโรดมกานตล (พระญาติของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ) เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

16 ก.พ. 2502 ฟีเดล กัสโตร ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคิวบา (มานูเอล อุุรุสเตีย เลโอ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี) และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ 

สหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรกับคิวบาในเวลาต่อมา สร้างความระแวงต่อสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในสหรัฐอเมริกาจนนำไปสู่การคว่ำบาตรคิวบาในเวลาต่อมา ต่อมาสหรัฐอเมริกาติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธในตุรกีและอิตาลี สร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกัน

8 ก.ย. 2505 สหภาพโซเวียตแอบส่งขีปนาวุธเพื่อติดตั้งในฐานยิงขีปนาวุธ 9 แห่งในคิวบา เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐอเมริกาติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธในตุรกีและอีตาลีก่อนหน้านี้ 

14 ต.ค. 2505 สหรัฐอเมริกาส่งกองทัพเรือปิดล้อมคิวบา ความขัดแย้งบานปลายจนจะเกือบเกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ แต่วิกฤตการณ์ยุติลงโดยสหภาพโซเวียตยอมรื้อฐานยิงขีปนาวุธออกจากคิวบา ขณะที่สหรัฐอเมริกายอมรื้อฐานยิงขีปนาวุธออกจากตุรกีและอิตาลีเช่นเดียวกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากจีนซึ่งเคยเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหภาพโซเวียตกลับเพิกเฉยที่จะให้ความร่วมมือกับสหภาพโซเวียต สร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพโซเวียตอย่างมาก

ปี 2505 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.การควบคุมตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2505 เพื่อให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวผู้ต้องหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ได้นานถึง 180 วัน (พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกแก้ไขหลายครั้ง ก่อนที่จะถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2512 เพื่อรวมอำนาจการควบคุมตัวเอาไว้ด้วยกัน)

 

จุดหักเหของสงครามเย็น

จากผลของสงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี และความพยายามทำลายศาสนาพุทธของโงดินห์เดียม (เขานับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิค และต้องการเปลี่ยนชาวเวียดนามใต้ให้นับถือศาสนาคริสต์) สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเวียดนามใต้อย่างมากจนเกิดการประท้วงหลายครั้ง สหรัฐอเมริกาจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อโงดินห์เดียม

1 พ.ย. 2506 กองทัพเวียดนามใต้ (Army of the Republic of Vietnam: ARVN) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลโงดินห์เดียม โงดินห์เดียมถูกจับกุมตัวและถูกสังหารในวันต่อมา เซืองวันมิญ (รองประธานาธิบดี) ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา โดยการสนับสนุนของกองทัพเวียดนามใต้

30 ม.ค. 2511 เวียดนามเหนือและเวียดกงซึ่งแทรกซึมอยู่ทั่วเวียดนามใต้ร่วมมือกันโจมตีเมืองต่างๆทั่วเวียดนามใต้ รวมทั้งกรุงไซ่ง่อน (เมืองหลวงของเวียดนามใต้ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "โฮจิมินห์") เป็นเวลาหลายวัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาเวียดนามเหนือและเวียดกงร่วมกันโจมตีทั่วเวียดนามใต้อีก 2 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเดียวกัน

การโจมตี 3 ครั้งนี้สร้างความประหลาดใจต่อสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้อย่างมาก เนื่องจากไม่มีผู้ใดเชื่อว่า เวียดนามเหนือและเวียดกงจะมีความสามารถก่อกวนได้ขนาดนี้

ชาวอเมริกันที่ต่อต้านสงครามเวียดนามชุมนุมประท้วงรัฐบาลอเมริกันหลายครั้ง เนื่องจากไม่พอใจต่อความโหดร้ายและการทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากไปกับการทำสงครามเวียดนาม ในที่สุดรัฐบาลอเมริกันประกาศเตรียมถอนทหารออกจากเวียดนาม

2 มี.ค. 2512 เกิดการปะทะกันระหว่างสหภาพโซเวียตและจีนที่เกาะเซนเบ๋าในภาษาจีน (珍寶島) หรือดามันสกี้ในภาษารัสเซีย (о́стров Дама́нский) ซึ่งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ผลของการปะทะทำให้ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาสงบศึกในเวลาต่อมา เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายหวั่นจะเกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ (ปัจจุบันเกาะนี้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน) นับเป็นจุดแตกร้าวสำคัญของสหภาพโซเวียตและจีน

ภายหลังความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียตและจีนในครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนท่าทีเป็นมิตรกับจีนมากขึ้นเพื่อคานอำนาจกับสหภาพโซเวียต ทั้ง 2 ฝ่ายมีการพบปะทางการทูตอย่างลับๆ หลายครั้งในเวลาต่อมา

18 มี.ค. 2513 ลอนนอล (รมว.กลาโหมกัมพูชา) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์สิริมตะ (พระญาติของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ) และสหรัฐอเมริกาก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเจ้านโรดมกานตล ขณะที่สมเด็จพระนโรดมสีหนุกำลังเสด็จเยือนต่างประเทศ 

สมาชิกสภาแห่งชาติกัมพูชาลงมติปลดสมเด็จพระนโรดมสีหนุออกจากตำแหน่งประมุขรัฐในเวลาต่อมา โดยไม่มีการแต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งต่อ

สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงลี้ภัยไปจีน และทรงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นร่วมกับกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนและเวียดนามเหนือที่กรุงปักกิ่งเพื่อตอบโต้รัฐบาลลอนนอลในเวลาต่อมา

9 ต.ค. 2513 สมาชิกสภาแห่งชาติเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก "ราชอาณาจักรกัมพูชา" ไปเป็น "สาธารณรัฐเขมร" แต่ไม่มีความชัดเจนในระบอบการปกครอง ลอนนอลได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี และสัญญาที่จะจัดการเลือกตั้งภายใน 2 ปี 

5 มี.ค. 2514 สหรัฐอเมริกาเริ่มถอนทหารออกจากเวียดนาม สร้างความกังวลใจต่อเวียดนามใต้อย่างมาก แต่สหรัฐอเมริกายังคงสัญญาจะปกป้องเวียดนามใต้ต่อไป

6 เม.ย. 2514 ในระหว่างการแข่งขันปิงปองชิงแชมป์ โลกครั้งที่ 31 (28 มี.ค.-7 เม.ย. 2514) ที่เมืองนาโกยา (ญี่ปุ่น) เกลนน์ โคเว่น (นักกีฬาปิงปองอเมริกัน) พลาดรถโดยสารที่จะเดินทางไปแข่งขันที่สนามกีฬากลาง แต่นักกีฬาปิงปองจีนชวนให้เขาขึ้นรถโดยสารของพวกเขาเพื่อเป็นสนามกีฬากลางร่วมกัน นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาการทูตของทั้ง 2 ประเทศในเวลาต่อมา (มิตรภาพครั้งนี้ถูกขนานนามว่า "การทูตปิงปอง (Ping Pong Diplomacy)" ในเวลาต่อมา)

25 ต.ค. 2514 จีนได้รับการรับรองสมาชิกภาพจีนจากองค์การสหประชาชาติ และยังได้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา, สหภาพโซเวียต, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และจีน) และสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ ส่งผลให้สมาชิกภาพของไต้หวันสิ้นสุดลง

21 ก.พ. 2515 ริชาร์ด นิกสัน (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ นับเป็นการก้าวแรกของการสร้างความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามเย็น (สหรัฐอเมริกาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน และหันมาเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแทนในปี 2522)

ก.ย. 2515 กัมพูชาจัดการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปไตย (อินตัมเป็นหัวหน้าพรรค) และพรรคสาธารณรัฐ (นักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์สิริมตะเป็นหัวหน้าพรรค) ถูกกีดกันไม่ให้ลงเลือกตั้งจึงประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง 

พรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม (ลอนนอลเป็นหัวหน้าพรรค) ชนะการเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว ลอนนอลได้เป็นประธานาธิบดีต่อไป และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น "ระบอบสังคมนิยม" ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อลอนนอล

เวียดนามเหนือโจมตีและยึดครองหลายเมืองของกัมพูชาตามแนวชายแดนกัมพูชา-เวียดนามใต้เพื่อใช้เป็นเส้นทางโฮจิมินห์ ขณะที่รัฐบาลพลัดถิ่นของสมเด็จพระนโรดมสีหนุและกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตยยึดครองหลายเมืองในชนบทของกัมพูชาจากการสนับสนุนของจีนและเวียดนามเหนือ

27 ม.ค. 2516 สหรัฐอเมริกาและเวียดนามเหนือบรรลุข้อตกลงสันติภาพปารีส (Paris Peace Accords) โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงหยุดยิง, สหรัฐอเมริกาจะถอนทหารออกทั้งหมดภายใน 60 วัน และจะจัดให้มีการลงประชามติอนาคตทางการเมืองของเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้ นอกจากนี้ข้อตกลงฉบับนี้ยังมีผลยุติการรุกรานของเวียดนามเหนือต่อลาวและกัมพูชาด้วย

7 ก.พ. 2516 เวียดนามเหนือละเมิดข้อตกลงสันติภาพปารีส โดยโจมตีหลายเมืองตามชายแดนกัมพูชา-เวียดนามใต้อีกครั้ง เพื่อเตรียมโจมตีเวียดนามใต้

13 ธ.ค. 2517 เวียดนามเหนือเคลื่อนกำลังที่อยู่แทรกซึมในกัมพูชาโจมตีเมืองฟวกลอง (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ จ.บิ่ญฟวก เวียดนาม) และเคลื่อนกำลังปิดล้อมกรุงไซ่ง่อนในเวลาต่อมา

เจอรัลด์ รูดอล์ฟ ฟอร์ด จูเนียร์ (ประธานธิบดีสหรัฐอเมริกา) ร้องของบประมาณช่วยเหลือในการปกป้องเวียดนามใต้จากรัฐสภา แต่รัฐสภาปฏิเสธ

17 เม.ย. 2518 กรุงพนมเปญ (เมืองหลวงกัมพูชา) ถูกกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตยตีแตก ลอนนอลลี้ภัยไปอินโดนีเซีย ส่วนนักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์สิริมตะทรงลี้ภัยไปจีน

กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตยแต่งตั้งให้สมเด็จพระนโรดมสีหนุเป็นประมุขแห่งรัฐอีกครั้ง, เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น "ระบอบคอมมิวนิสต์" และเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สาธารณรัฐเขมร" เป็น "กัมพูชาประชาธิปไตย" ในปีต่อมา 

สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงขัดแย้งทางความคิดกับกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตยแต่งตั้ง พลพต (ผู้นำกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย) เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา สมเด็จพระนโรดมสีหนุจึงเสด็จกลับจีนอีกครั้ง

30 เม.ย. 2518 กรุงไซ่ง่อนถูกกองกำลังของเวียดนามเหนือตีแตก ชาวเวียดนามใต้จำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมประเทศสำเร็จ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น"ระบอบคอมมิวนิสต์" ในปีต่อมา

1 ก.ค. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (นายกรัฐมนตรีไทย) เดินทางเข้าพบเหมาเจ๋อตุงที่กรุงปักกิ่ง (จีน) นับเป็นการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอีกครั้งอย่างเป็นทางการ (รมว.ต่างประเทศไทยเคยพบปะกับนายกรัฐมนตรีจีนอย่างไม่เป็นทางการในการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) ในปี 2498 จนนำไปสู่การการพบปะทางการทูตอย่างลับๆหลายครั้งในเวลาต่อมา)

26 พ.ย. 2518 สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา (กษัตริย์ลาว) ทรงสละราชสมบัติภายหลังการก่อรัฐประหารของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2518 จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น "ระบอบคอมมิวนิสต์" ในเวลาต่อมา

 

การนิรโทษกรรมการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 2

จากความสำเร็จของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีชัยชนะต่อประเทศในอินโดจีนทั้ง 3 ประเทศในปีเดียวกัน สร้างความหวาดวิตกให้กับไทย หลายฝ่ายมองว่า ไทย, มาเลเซีย และพม่าจะต้องถูกเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ตาม "ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory)" 

กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตยแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากเวียดนามเหนือจนสามารถปกครองกัมพูชา แต่ก็ระแวงว่า เวียดนามกำลังจะครอบงำอินโดจีนทั้งหมด ทั้ง 2 ประเทศจึงมีกรณีพิพาทตามแนวชายแดนหลายครั้ง แต่ก็จบลงด้วยการเจรจาทุกครั้ง

6 ต.ค. 2519 นักศึกษา/ประชาชนใน ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกฝักใฝ่ในระบอบคอมมิวนิสต์ ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯจนเกิดเหตุการณ์การนองเลือดและมีผู้ถูกจับกุมนับพันคน ต่อมาเกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในคืนเดียวกัน

นักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากที่ไม่ถูกจับกุมหลบหนีเข้าป่าในหลายจังหวัดภาคอีสาน และร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพื่อต่อสู้กับรัฐบาล (พคท. เคยจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิติขจร ในปี 2508 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ)

ผู้ต้องหา 18 คนซึ่งถูกจับกุมจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ถูกกล่าวหาว่า กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์และถูกส่งฟ้องศาลทหารกรุงเทพ (คดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ) ในเวลาต่อมา

30 เม.ย. 2520 กัมพูชาชิงลงมือโจมตีเวียดนามก่อน แต่กองกำลังที่ไม่เข้มแข็งพอจึงถูกเวียดนามโจมตีกลับ การต่อสู้ยืดเยื้อข้ามปีจนจีนต้องเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเวียดนามเห็นว่า จีนเข้าข้างกัมพูชามากเกินไป 

เวียดนามและสหภาพโซเวียตตัดสินใจให้การสนับสนุนแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา (Front d'Union nationale pour le salut du Kampuchéa: FUNSK) ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย

15 ก.ย. 2521 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 4 ซึ่งระบุว่า

"ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา

บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องในคดีตาม วรรคหนึ่งถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย"

ชัดเจนว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหา 18 คนซึ่งถูกกล่าวหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์จากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมให้กับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา/ประชาชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก พคท.

 

จุดเสื่อมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย

แม้ พคท. จะได้นักศึกษา/ประชาชนจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เข้าร่วมขบวนการนับพันคน แต่กลับพบความขัดแย้งหลายอย่างภายใน พคท. เนื่องจากผู้นำรุ่นเก่า-ผู้นำรุ่นใหม่มีมุมมองการต่อสู้ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผู้นำรุ่นเก่าที่มองสังคมไทยเป็นแบบกึ่งศักดินากึ่งทุนนิยม ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ส่งผลให้นักศึกษา/ประชาชนเหล่านี้เริ่มตีตัวออกห่าง

8 ม.ค. 2522 กรุงพนมเปญถูกเวียดนามตีแตก พลพตและผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อพลพตแอบหลบหนีเข้ามาอยู่ในแนวชายแดนไทย ชาวกัมพูชาจำนวนมากอพยพมายังแนวชายแดนไทย

เวียดนามแต่งตั้ง เฮงสัมริน (ผู้นำแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา) เป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิด และเปลี่ยนชื่อประเทศกัมพูชาจาก "กัมพูชาประชาธิปไตย" เป็น "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" ในเวลาต่อมา สร้างความไม่พอใจให้กับจีนอย่างมาก

จีนรุกรานเวียดนามเพื่อตอบโต้การรุกรานกัมพูชาของเวียดนามจนเกือบถึงกรุงฮานอย (เมืองหลวงของเวียดนาม) ก่อนถอนกองกำลังกลับโดยไม่ทราบสาเหตุ เวียดนามอ้างชัยชนะและยังคงยึดครองกัมพูชาต่อไป 

ซอนซาน (นักการเมืองกัมพูชาที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์) ก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร (Khmer People's National Liberation Front: KPNLF) โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

กองซิเลียะห์ (อดีตทหารเรือที่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระนโรดมสีหนุ) จัดตั้งขบวนการเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชา (Mouvement pour la Liberation Nationale du Kampuchea: MOULINAKA) โดยได้รับการสนับสนุนจากจีน

กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย, แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร และขบวนการเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชาร่วมกันต่อสู้เพื่อขับไล่เวียดนามออกจากกัมพูชาในเวลาต่อมา

สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาไม่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติจากการไม่สนับสนุนของจีน, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้การดำเนินการทางการทูตกับต่างประเทศทำได้อย่างจำกัด

11 ก.ค. 2522 สถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของ พคท. ในจีนปิดตัวลง (รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อให้จีนกดดัน พคท. ในปิดสถานีวิทยุแห่งนี้) 

นอกจากนี้เวียดนามและลาวตัดความช่วยเหลือ พคท. ในเวลาต่อมา สถานะของ พคท. เริ่มสั่นคลอน (พคท. อ่อนแอลงมากจนต้องย้ายฐานไปในหลายจังหวัดในภายใต้และภาคตะวันตกนำไปสู่การล่มสลายในปี 2534)

23 เม.ย. 2523 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยใช้หลัก "การเมืองนำการทหาร" เพื่อต่อสู้กับการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย

คำสั่งฉบับนี้มุ่งเน้นขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และปฏิบัติต่อสมาชิก พคท. อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ นอกจากนี้ยังสัญญาที่จะให้สมาชิก พคท. ที่ยอมมอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) และมีการมอบให้สิทธิทางการเมืองเหมือนประชาชนทั่วไป, จัดหาที่ดินที่เหมาะสมให้จำนวนหนึ่ง และจัดสร้างที่อยู่อาศัยตามความจำเป็นของบุคคล 

สมาชิก พคท. จำนวนมากยอมมอบตัวเพื่อเป็น ผรท. แต่ยังมีสมาชิก พคท. จำนวนหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับ พคท. ต่อไป

1 ก.พ. 2524 สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงก่อตั้งพรรคฟุนซินเปก ซึ่งมีขบวนการเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชาเป็นกองกำลัง โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติในอาเซียน (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN)

22 มิ.ย. 2525 กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย, แนวร่วมปลดปล่อยแห่ง ชาติประชาชนเขมร และพรรคฟุนซินเปก ลงนามร่วมกันจัดตั้ง "แนวร่วมเขมร 3 ฝ่าย" เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของ "กัมพูชาประชาธิปไตย" แนวร่วมเขมร 3 ฝ่ายมีสมาชิกภาพอยู่ในสหประชาชาติในเวลาต่อมา

แนวร่วมเขมร 3 ฝ่ายแต่งตั้งสมเด็จพระนโรดมสีหนุ (พรรคฟุนซินเปก) เป็นประธานาธิบดี, ซอนซาน (แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร) เป็นนายกรัฐมนตรี และเขียวสัมพัน (กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย) เป็นรองนายกรัฐมนตรี

 

จุดจบของสงครามเย็น

สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตมุ่งเน้นการพัฒนานิวเคลียร์มาหลายสิบปีจนสร้างความหวาดวิตกต่อวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ทั่วโลก แต่สหภาพโซเวียตละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคกสิกรรมและอุตสาหกรรม ส่งผลให้สหภาพโซเวียตต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเวลาหลายปี

ก.พ. 2529 มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต) นำเสนอแผนการปรับโครงสร้างประเทศจนนำไปสู่การเปิดเสรีภาพทางการเมือง (Glasnost), การวางโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (Perestroika), การพัฒนาประชาธิปไตย (Demokratizatsiya) และการเร่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (Uskoreniye) ในเวลาต่อมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการยุติสงครามเย็นในเวลาต่อมา

8 ธ.ค. 2530 มิคาอิล กอร์บาชอฟ และ โรนัลด์ เรแกน (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) ลงนามในสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Force Treaty: INF) ซึ่งนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Arms Reduction Treaty: START) เพื่อลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของทั้ง 2 ฝ่ายในปี 2534 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ

15 เม.ย. 2532 นักศึกษาจีนชุมนุมประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์และเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยมีผู้ร่วมชุมนุมนับแสน จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงในวันที่ 4 มิ.ย. 2532 (ภายหลังการปราบปรามรัฐบาลจีนเริ่มมีท่าทีผ่อนคลายความเข้มงวด และเปิดประเทศมากขึ้นในเวลาต่อมา)

1 พ.ค. 2532 สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "รัฐกัมพูชา" แต่การสู้รบจากแนวร่วมเขมร 3 ฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป

19 ส.ค. 2532 ระบอบคอมมิวนิสต์ของโปแลนด์ล่มสลายเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศหลายครั้งตั้งแต่ปี 2531 โปแลนด์เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ ส่งผลให้หลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เปลี่ยนแปลงการปกครองคือ ฮังการี (2533), เยอรมันตะวันออก (2533), เชคโกสโลวาเกีย (2533), บัลแกเรีย (2533), โรมาเนีย (2533), อัลบาเนีย (2535) และมองโกเลีย (2535) ส่งผลให้ความกลัวในลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลกลดลง

24 ส.ค. 2532 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า

"บรรดาการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2531 หากการกระทำนั้นเป็นความผิดดังต่อไปนี้
      (1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
      (2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
      (3) ความผิดฐานอื่นที่เป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม (1) หรือ (2) ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษา ถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง"

ชัดเจนว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่ยังตกค้างอยู่ ซึ่งรวมถึงสมาชิก พคท. ที่ไม่ยอมมอบตัวตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523

12 มิ.ย. 2533 สภาประชาชนแห่งสาธารณรัฐประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบ "สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย" โดยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบรวมศูนย์มาเป็นการแบ่งเขตการปกครองหลายระดับ และเตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใน 1 ปี มิคาอิล กอร์บาชอฟ เป็นประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย

16 ก.ค. 2533 ยูเครนประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเป็นประเทศแรก ตามมาด้วยอาร์เมเนีย (2533), เบลารุส (2533), จอร์เจีย (2534), เอสโตเนีย (2534), ลัตเวีย (2534), ลิธัวเนีย (2534), มอลโดวา (2534), คาซัคสถาน (2534), อุซเบกิสถาน (2534), เติร์กเมนิสถาน (2534), คีร์กิซสถาน (2534), ทาจิกิสถาน (2534) และอาเซอร์ไบจาน (2534)

12 มิ.ย. 2534 บอริส เยลต์ซิน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน และเตรียมตัวขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อจาก มิคาอิล กอร์บาชอฟ

19 ส.ค. 2534 คณะกรรมการฉุกเฉินแห่งรัฐ (State Committee of the State of Emergency) ก่อการยึดอำนาจจาก มิคาอิล กอร์บาชอฟ โดยอ้างว่า นโยบายปฏิรูปของเขามีผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างหนัก มิคาอิล กอร์บาชอฟ ถูกจับกุมตัว 

บอริส เยลต์ซิน นำชาวโซเวียตออกมาชุมนุมประท้วงการรัฐประหารครั้งนี้ทั่วประเทศจนเกิดการปะทะกับผู้ก่อการรัฐประหารใกล้ทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายคน การก่อยึดอำนาจโดยคณะกรรมการฉุกเฉินแห่งรัฐสิ้นสุดลงในวันที่ 21 ส.ค. 2534 

23 ต.ค. 2534 เวียดนามยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติ ภาพปารีส (Paris Peace Agreement 1991) เพื่อยุติความขัดแย้งในกัมพูชา เวียดนามยอมรับแนวร่วมเขมร 3 ฝ่ายร่วมรัฐบาล และเตรียมจัดการเลือกตั้งภายใน 2 ปี

14 พ.ย. 2534 รัฐกัมพูชาจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชา (Supreme National Council) เพื่อปกครองกัมพูชา และแต่งตั้งสมเด็จพระนโรดมสีหนุเป็น "ประธานสภาสูงสุดแห่งชาติ" ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าประมุขแห่งรัฐ

8 ธ.ค. 2534 เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ก่อตั้งขึ้นจากการเจรจากันของรัสเซีย, เบลารุส และยูเครน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้า, การเงิน, ความร่วมมือด้านกฎหมาย และความมั่นคงของเป็นประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต

21 ธ.ค. 2534 อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน, คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, มอลโดวา, เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือรัฐเอกราช (ปัจจุบันเครือรัฐเอกราชมีสมาชิกที่ได้รับการรับรอง 9 ประเทศคือ รัสเซีย, อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน, เบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, มอลโดวา, ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ส่วนประเทศสมาชิกที่ยังไม่ได้รับการรับรอง 2 ประเทศคือ เติร์กเมนิสถาน และยูเครน)

25 ธ.ค. 2534 มิคาอิล กอร์บาชอฟ ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามเย็น

สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "สหพันธรัฐรัสเซีย" บอริส เยลต์ซิน ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี

พ.ค. 2536 กัมพูชาจัดการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ โดยมีพรรคการเมืองสำคัญ 4 พรรคคือ พรรคฟุนซินเปก, พรรคประชาชนกัมพูชา (เวียดนาม), พรรคพุทธเสรีประชาธิปไตย (แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร) และพรรคเอกภาพแห่งกัมพูชา (กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย) (พรรคเอกภาพแห่งกัมพูชาขอถอนตัวจากการเลือกตั้งในเวลาต่อมา เนื่องจากระแวงข้อตกลงฉบับนี้ที่ต้องมีการวางอาวุธก่อน)

พรรคฟุนซินเปกชนะการเลือกตั้ง สร้างความไม่พอใจให้กับพรรคประชาชนกัมพูชาอย่างมากจนประกาศจะแยกประเทศ ส่งผลให้สมเด็จพระนโรดมสีหนุต้องทรงไกล่เกลี่ย และทรงยอมให้ฮุนเซน (ผู้นำพรรคประชาชนกัมพูชา) เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกันในเวลาต่อมา

24 ก.ย. 2536 สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์อีกครั้ง (กัมพูชาแก้ไข รธน. เพื่อฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขอีกครั้ง)

13 พ.ค. 2543 รัฐบาล ชวน หลีกภัย ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ส่งผลให้ข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จบสิ้นลง

28 พ.ค. 2551 สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทรวีรวิกรมศาหเทวะ (กษัตริย์เนปาล) ทรงสละราชสมบัติภายหลังการก่อรัฐประหารของกองทัพเนปาล เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2549 (กองทัพเนปาลแต่งตั้ง คีรีชา ปราสาท โกอีราละ เป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2550 ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทรวีรวิกรมศาหเทวะทรงถูกปลดออกจากตำแหน่งกษัตริย์ แต่ไม่ทรงยอมสละราชสมบัติ) 

10 เม.ย. 2551 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (กบฎนิยมลัทธิเหมา) ชนะการเลือกตั้ง และเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก "ราชอาณาจักร" เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ นับเป็นประเทศแรกของโลกที่พรรคคอมมิวนิสต์ชนะการเลือกตั้ง

 

ความเห็นจากผู้เขียน

ผู้เขียนเห็นว่า หลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่ดี แต่สาเหตุการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดจากการยึดมั่นในหลักการเกินไปจนไม่สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำลายลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง

ในตอนแรกลัทธิคอมมิวนิสต์พยายามแย่งชิงมวลชนกับลัทธิประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านระบอบศักดินา แต่ลัทธิประชาธิปไตยสามารถปรับตัวให้เข้ากับระบอบทุนนิยมได้ง่ายกว่า จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนจำนวนมาก รวมทั้งระบอบศักดินาที่ผันตัวเองไปเป็นระบอบทุนนิยมทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศที่เปลี่ยนไปใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่ชนชั้นปกครองบางส่วนและนายทุนยังสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่มุ่งที่จะทำลายล้างชนชั้นปกครองและนายทุนให้สูญสิ้น

ความกลัวในลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์จนทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ดูน่ากลัวเกินจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ลัทธิคอมมิวนิสต์พยายามสร้างภาพให้ตนเองดูดีเกินจริงเช่นเดียวกัน

ผู้เขียนเห็นว่า ไม่มีระบอบการปกครองใดที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุด ทั้งระบอบคอมมิวนิสต์และระบอบประชาธิปไตยต่างก็อ้างว่า อำนาจการปกครองเป็นของประชาชนทุกคน แต่ในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า อำนาจการปกครองกลับตกเป็นของผู้ปกครองเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างระบอบคอมมิวนิสต์และระบอบประชาธิปไตยคือ "ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ" ในระบอบประชาธิปไตยประชาชนค่อนข้างมีเสรีภาพในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน, การประกอบอาชีพ และการแสดงความคิดเห็น ประชาชนจึงสามารถตักตวงผลประโยชน์เหล่านี้ได้ แม้จะไม่เท่าเทียมกันก็ตาม 

แต่ในระบอบคอมมิวนิสต์กลับตรงข้าม ระบอบคอมมิวนิสต์อ้างว่า ประชาชนทุกคนจะได้รับปัจจัย 4 อย่างเพียงพอ และมีอาชีพที่มั่นคง สิ่งนี้อาจเป็นจริงในช่วงต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขาดประสิทธิภาพ/การพัฒนาในการผลิตสินค้า, การไม่พัฒนาระบบการเงิน/การคลัง สิ่งนี้จึงทำให้ระบอบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (ระบอบสังคมนิยม) มีแต่ถดถอยลงเรื่อยๆ

หลายคนอาจแย้งว่า ช่วงสงครามเย็นสหภาพโซเวียตใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการทำสงครามขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ จนทำให้ระบบเศรษฐกิจของตนเองต้องประสบกับปัญหา แต่ผู้เขียนเห็นว่า สหรัฐอเมริกาก็ใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการทำสงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน แถมอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ แต่กลับไม่ประสบปัญหาเศรษฐกิจเท่ากับสหภาพโซเวียต เพราะสหรัฐอเมริการู้จักใช้ประโยชน์จากระบอบทุนนิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จนทำให้ตนเองสามารถหาเงินมาใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอ

ส่วนการที่ระบอบคอมมิวนิสต์ควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็ถือเป็นสิ่งเลวร้ายไม่ต่างไประบอบประชาธิปไตยที่ห้ามประชาชนแสดงออกถึงการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งสงครามเย็นยุติลงระบอบประชาธิปไตยจึงยอมผ่อนคลายข้อห้ามนี้

ในยุคสงครามเย็นมีชาวไทยจำนวนมากถูกกล่าวหาว่า กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ หลายคนถูกลงโทษ หลายคนต้องจบชีวิตลง ทั้งจากการประหารชีวิต เช่น ศุภชัย ศรีสติ (2502) และ ครอง จันดาวงศ์ (2504) หรือจากการสังหาร เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ (2509) และ บุญสนอง บุณโยทยาน (2519) สิ่งนี้ถือเป็นความเลวร้ายของระบอบประชาธิปไตย

เมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ที่ปิดตนเองมาหลายสิบปีเริ่มยอมรับความจริงได้แล้วว่า จำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง แต่การเปิดรับระบอบทุนนิยมที่เร็วเกินไปของสหภาพโซเวียตนำไปสู่การล่มสลายของโซเวียตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน จีนจึงเลือกที่จะเปิดรับระบอบทุนนิยมและให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างช้าๆ เพื่อรักษาระบอบคอมมิวนิสต์ต่อไป

ปัจจุบันทั่วโลกมีประเทศที่ยังคงปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เพียง 6 ประเทศคือ จีน, เกาหลีเหนือ, เวียดนาม, ลาว, เนปาล และคิวบา แต่ประเทศเหล่านี้เปิดประเทศเพื่อต้อนรับระบอบทุนนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ส่วนเนปาลที่เพิ่งเป็นคอมมิวนิสต์ในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับประเทศคอมมิวนิสต์ก่อนหน้านี้ 

นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศประยุกต์นำเอาระบอบสังคมนิยมมาใช้ร่วมกับระบอบทุนนิยมจนกลายเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare state) โดยการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นให้กับประชาชนฟรีอย่างทั่วถึง เช่น สุขภาพ, การศึกษา, การทำงาน และบำนาญหลังการเกษียน ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันตกซึ่งในช่วงสงครามเย็นต่อต้านระบอบสังคมนิยมอย่างแข็งขัน

ปัจจุบันลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปเริ่มยอมรับลัทธิคอมมิวนิสต์มากขึ้น เห็นได้จากที่หลายประเทศในยุโรปตะวันตกอนุญาตให้มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับไทยไม่มีกฎหมายใดที่ลงโทษการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกต่อไป แต่ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีแนวทางแบบคอมมิวนิสต์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าจะมีบุคคลบางกลุ่มอ้างว่า ได้ทำการฟื้นฟูพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งเคยล่มสลายไปตั้งแต่มี 2534 ขึ้นมาใหม่ และมีอดีตสมาชิก พคท. ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแกนนำ นปช. และ พธม. เข้าร่วมเป็นสมาชิกก็ตาม 

 

 

อ้างอิง

-------------------------------------------------

1. ขบวนการคอมมิวนิสต์; สมศักดิ์ เตชะเกษม

2. สงครามเย็น; ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช 

3. http://th.wikipedia.org/wiki/คอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

4. http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb_main11.htm

5. http://politicalbase.in.th/index.php/พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
6. http://turnleftthai.blogspot.com/2010_11_01_archive.html
7. http://www.thairath.co.th/column/pol/kumpee/265270

8. http://en.wikipedia.org/wiki/Cold_War

9. http://en.wikipedia.org/wiki/Korean_War

10. http://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam_War

11. http://en.wikipedia.org/wiki/Sino-Soviet_split

12. http://politicalbase.in.th/index.php/คำสั่ง_66/2523

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท