Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดหรือผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้น (electronic monitoring of prisoners) ตาม กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัด การเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556 มิใช่เรื่องใหม่สำหรับการบริหารงานยุติธรรมของสากลแต่ประการใด หากแต่หลายประเทศ ได้อาศัยเทคโนโลยีจากเครื่องอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือใดๆ ที่ใช้ติดตามตัวนักโทษหรือผู้เคยต้องโทษ รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมประพฤติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับงานราชฑัณฑ์หรืองานคุมประพฤติ สามารถติดตามพฤติกรรมของนักโทษหรือผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมประพฤติตามเงื่อนไขหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้

ตัวอย่างเช่น กระทรวงยุติธรรมของประเทศอังกฤษได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการฝังไมโครชิปในร่างกายของนักโทษหรือผู้ถูกคุมประพฤติ (microchip implanting) โดยไมโครชิปดังกล่าวมีระบบการชี้เฉพาะด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification - RFID) ที่บรรจุข้อมูลส่วนตัวและประวัติอาชญากรรมของนักโทษและผู้ถูกคุมประพฤติ รวมไปถึงผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัวในกรณีอื่นๆ และไมโครชิปยังมีระบบการทำงานที่สอดรับกับเทคโนโลยีติดตามความเคลื่อนไหวนักโทษหรือผู้ถูกคุมประพฤติผ่านระบบการชี้เฉพาะด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID  prisoner tracking technology) อันทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่คุมประพฤติสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและติดตามความเคลื่อนไว้ของนักโทษได้จากเครื่องมือดังกล่าวจากระบบเทคโนโลยีบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (Global Positioning System - GPS) จากดาวเทียมได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดหรือผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้นนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ถูกจำกัดหรือผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทาง และอาณาเขต ที่เข้าเงื่อนไขหรือเหตุแห่งความจำเป็นสี่ประการที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ ได้แก่ ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก ผู้ซึ่งต้องจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และขาดผู้อุปการะ ผู้ซึ่งต้องจำคุกเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ซึ่งต้องจำคุกมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จำคุกด้วยเหตุอื่น ๆ การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวยังเป็นส่งผลดีต่อการลดจำนวนนักโทษให้เรือนจำ อันทำให้เป็นการลดความแออัดของเรือนจำ (prison overcrowding) ภายใต้เงื่อนไขหรือเหตุที่กฎหมายได้กำหนดไว้

ภาพที่ 1 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดที่สวมใส่ไว้ที่ข้อเท้าในประเทศบราซิล (electronic monitoring anklets)                                                    

ที่มา http://infosurhoy.com/cocoon/saii/xhtml/en_GB/features/saii/features/main/2011/05/17/feature-02

 

ภาพที่ 2 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดที่สวมใส่ไว้ที่ข้อมือของประเทศอิสราเอล (electronic monitoring bracelets)

ที่มา http://www.haaretz.com/print-edition/news/fearing-budget-cuts-israeli-prisons-dump-electronic-bracelets-1.404225


อย่างไรก็ดี อาจมีข้อวิพากษ์บางประการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ได้แก่ ประเด็นแรก การตรวจสอบการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัด ย่อมอาจสร้างภาระงานที่ยุ่งยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่คุมประพฤติที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงฉบับนี้ นอกจากนี้ อาจเป็นการยากที่จะพิสูจน์ในกรณีที่มีการดัดแปลง ทำให้เสียหาย ทำลาย เคลื่อนย้าย หรือถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะในความเป็นจริงแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่คุมประพฤติไม่ได้อยู่ร่วมสังเกตพฤติกรรมของผู้ถูกจำกัดตามกฎกระทรวงตลอดเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวทำได้เพียงแค่ตรวจสอบผู้ถูกจำกัดตามสมควร ได้แก่ การตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกจำกัดฝ่าฝืนเงื่อนไข หรือสอบถามบุคคลที่อยู่ในที่นั้น ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ อุปนิสัย และความประพฤติของผู้ถูกจำกัด รายงานข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันเป็นเหตุควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดแก่เจ้าพนักงานทราบเพื่อดำเนินการต่อไป สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือผู้ถูกจำกัดตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ และตรวจสอบการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ เงื่อนไข และแผนดำเนินการที่ศาลให้ ความเห็นชอบ

ประเด็นที่สอง ในปัจจุบันยังมีข้อสงสัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพว่าการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดหรือผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตหรือไม่ เพราะผู้ถูกจำกัดจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตลอดเวลาตามที่ศาลได้มีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง (โปรดดูเพิ่มเติมใน Dodgson, K. et al. (2001). Home Office Research Study 222 Electronic monitoring of released prisoners: an evaluation of the Home Detention Curfew scheme. London: Home Office, p7)

นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาจหมายความรวมถึง การฝังไมโครชิปในร่างกายของผู้ถูกจำกัดได้ เพราะกฎกระทรวง ข้อ ๑ ได้ให้นิยามของ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจหมายความรวมทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดได้ ซึ่งรัฐสภาของหลายประเทศได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้งานอุปกรณ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทไมโครชิปในร่างกายกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง (risks to cancer) ต่อตัวผู้ถูกจำกัด (โปรดดูเอกสารของรัฐสภาสก็อตแลนด์ได้ในเอกสาร The Scottish Parliament PUBLIC PETITION NO. PE1251. Public Petitions Committee)

ประเด็นที่สาม การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดหรือผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้น อาจกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล (privacy rights) เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดได้ ย่อมทำให้ผู้ถูกจำกัดโดนตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา อย่างไรก็ดี หากข้อมูลส่วนตัวและประวัติต่างๆของของผู้ถูกจำกัดโดนจารกรรมก็ย่อมอาจกระทบต่อข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล รวมไปถึงสวัสดิภาพส่วนบุคคล โดยผู้ถูกจำกัดอาจถูกตามล่าตัวจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สามารถล้วงข้อมูลติดตามความเคลื่อนไว้ของนักโทษได้จากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก

การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดหรือผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้นแม้ว่าจะมีผลดีต่อการลดปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำหรือการช่วยให้ผู้ซึ่งต้องจำคุกที่มีเหตุจำเป็นในเรื่องของสุขภาพ อนามัยและภาระเลี้ยงดูครอบครัวสามารถกลับไปรับการรักษาตัวหรือดูแลครอบครัวได้ ซึ่งในอนาคต กระทรวงยุติธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรออกระเบียบหรือประกาศ เพื่อกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัด หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือเงื่อนไขอื่นใด เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง โดยศึกษาผลดีและผลเสียให้รอบด้าน ที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้

 

 

จากชื่อบทความเดิม "วิพากษ์กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัด การเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net