จูด ฮาวเวลล์ : เอ็นจีโอในทุกวันนี้ยังหมาะกับบทบาทรณรงค์เรียกร้องอยู่หรือไม่

บทความของ ผ.อ.โครงการวิจัยปฏิบัติการสาธารณะฯ จากอังกฤษ ตั้งคำถามเกี่ยวกับเอ็นจีโอที่เอาตัวเองไปผูกกับรัฐหรือองค์กรธุรกิจ รวมถึงมีตำแหน่งในนั้น ทำให้ต้องแลกกับความอิสระและน่าสงสัยว่ายังคงทำหน้าที่ปกป้องภาคประชาสังคมอยู่ได้จริงหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2013 ศาตราจารย์ จูด ฮาวเวลล์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยปฏิบัติการสาธารณะจากกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ ของ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน ได้เขียนบทความในเว็บไซต์เดอะ การ์เดียน ซึ่งตั้งคำถามว่า องค์กรเอ็นจีโอเป็นผู้ที่เหมาะสมกับบทบาทในการเรียกร้องและรณรงค์หรือไม่

เจ้าของบทความเริ่มตั้งคำถามดังกล่าวในวันเดียวกับที่มีเวิร์ลโซเชียลฟอรั่ม หรือการประชุมสมัชชาสังคม ในกรุงตูนิส ซึ่งเป็นการเน้นย้ำความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางการเมือง

จูดกล่าวถึงขบวนการต่อต้านการค้าทาสที่มีบทบาทสำคัญในการร่างกฏหมายเลิกทาสในช่วงศตวรรษที่ 19 ขณะที่ขบวนการสหภาพแรงงานในทั่วโลกก็มีบทบาทสำคัญเบื้องหลังการเรียกร้องสิทธิขั้นต่ำของแรงงานและการปรับปรุงสภาพการทำงาน ขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิวก็ทำให้ระบอบการปกครองแบ่งแยกสีผิวล่มสลายลงไปได้ในแอฟริกาใต้ในช่วงปี 1990s ทางด้านขบวนการผู้หญิงในหลายยุค หลายบริบท ก็สามารถเรียกร้องกฏหมายที่สร้างความเท่าเทียมกันทางเพศได้

"แต่ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมดจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ หรือบางครั้งความสำเร็จก็ไม่ได้มาจากขบวนการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว" จูดกล่าว "การเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจกลุ่มอื่นๆ รวมถึงการประสานงานกับสื่อและบุคคลทั่วไปก็เป็นสิ่งสำคัญ"

บทความกล่าวถึงกลุ่มประชาสังคมและกลุ่มเอ็นจีโอว่าเป็นกุญแจสำคัญในการท้าทายระบบให้กับคนที่เป็นเสียงส่วนน้อยมากกว่าเสียงข้างมาก และให้สิทธิกับคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง แต่จูดก็ตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ยังใช้กับปัจจุบันได้หรือไม่ กลุ่มเอ็นจีโอยังคงเหมาะสมกับหน้าที่นี้จริงหรือ?

จูดกล่าวว่า มีเหตุผลมากมายที่คนจะคิดว่าเอ็นจีโอไม่มีเครื่องมือที่ดีสำหรับการเรียกร้องและรณรงค์ จากที่ในปัจจุบันมีฝ่ายรณรงค์และหาทุน ขณะเดียวกันกลุ่มมืออาชีพ ผู้มีคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ และคนที่รู้ทางสื่อ ก็เป็นทีมงานที่มีบทบาทในการเรียกร้อง ทั้งนี้เนื่องจากมีการสื่อสารโทรคมนาคมที่ถูกและดี อย่างโซเชียลมีเดียกับอินเตอร์เน็ต ทำให้แม้แต่กลุ่มการกุศลที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักก็สามารถเข้าถึงข้อมูล, รูปภาพ, เรื่องราวจากภาคสนาม และทำให้มันกลายเป็นการรณรงค์ที่สื่อไปถึงผู้รับสารได้

"กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเป็นระบบ และเชื่อมต่อกับเครื่องมือได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน แตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรี กลุ่มต่อต้านการค้าทาส กลุ่มต่อต้านการเหยียดผิวที่ทำงานหละหลวมกว่า ช้ากว่า และ 'เป็นมืออาชีพ' น้อยกว่า" จูดกล่าว "แต่นั่นทำให้นักรณรงค์ในยุคปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงหรือ และทั้งหมดนี้เพียงพอแล้วจริงหรือ"

บทความของจูดกล่าวไว้ว่า แค่ความเป็นมืออาชีพอาจจะยังไม่เพียงพอ ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวในอดีตมาจากการมีผู้เข้าร่วมที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้า มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากความเชื่อ, ค่านิยม และวิสัยทัศน์ พวกเขาเป็นอิสระจากรัฐบาล พวกเขาไม่เคยพยายามหาเงินเกื้อหนุนจากรัฐ นอกจากนี้บางครั้งยังถูกจับตามองจากรัฐ การทำข้อตกลงใดๆ ก็ตามกับรัฐถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้กลยุทธอย่างมาก

จูดเปรียบเทียบว่ากลุ่มขบวนการในอดีตแตกต่างจากปัจจุบันที่มีมืออาชีพมากขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในระบบราชการ ผู้ชำนาญการที่มีทักษะและฝีมือ ทำให้พวกเขามีโอกาสได้ฝึกงานแฃะพัฒนาอาชีพตัวเอง มีลูกจ้างหลายคนออกจากองค์กรเอ็นจีโออีกแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง วันนี้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม อีกวันหนึ่งทำงานด้านเยาวชน บางครั้งก็ย้ายที่จากรวันดา ต่อไปก็ไปเวียดนาม นักรณรงค์เอ็นจีโอยุคใหม่บางคนก็ย้ายสายงานไปสู่งานรัฐบาลหรืองานธุรกิจ แล้วก็กลับมาเป็นเอ็นจีโออีก กลายเป็นช่างฝีมือที่มีประสบการณ์การทำงานหลากหลาย การทำงานกับเอ็นจีโอกลายเป็นอาชีพหนึ่งซึ่งเป็นทางเลือกใหม่จากภาคส่วนของรัฐหรือเอกชน

ในบทความระบุว่า การทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลโดยที่เอ็นจีโอเป็นผู้ของบจากรัฐ กลายเป็นรองผู้อำนวยการด้านสวัสดิการ การพัฒนา และงานด้านความมั่นคง ก็เป็นเรื่องชวนให้ตีประเด็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระและจุดยืนทางการเมือง จูดเปิดเผยว่ามีเหตุการณ์สองเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ที่แสดงให้เห็นข้อจำกัดและความถูกต้องของนักเรียกร้องมืออาชีพที่กลายเป็นตัวหลักของเอ็นจีโอในทุกวันนี้

จูดกล่าวถึงเหตุการณ์แรกคือ มาตรการพิเศษที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ที่ทำให้คนมองเรื่องการกุศลที่ดูมี)ระโยชน์และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่างจากเดิม โดยการที่นักการเมืองอาศัยความกลัวหลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อเชื้อชวนให้รู้สึกสงสัยต่อโครงการการกุศล  เช่นในเดือน ต.ค. 2006 รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยนั้นคือกอร์ดอน บราวน์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า "การกุศลและผู้บริจาคหลายรายเคยหรือกำลังตกเป็นเครื่องมือของการก่อการร้าย" ทำให้การกุศลของอิสลามได้รับผลกระทบจากข้อกล่าวหานี้

"ในสหรัฐฯ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตกเป็นเป้าองค์กรต้องห้ามหลัง 9/11 มีแต่องค์กรการกุศลของอิสลาม รวมถึงองค์กรใหญ่อย่าง มูลนิธิโฮลี่แลนด์" จูดกล่าว "และในหนังสือที่ฉันได้ร่วมเขียน คือ 'Counter-terrorism, aid and civil society' ฉันได้ศึกษาวิจัยข้อมูลพบว่า เอ็นจีโอในสหรัฐฯ อังกฤษ และหลายส่วนของยุโรปโดยส่วนใหญ่ออกมาปกป้องกลุ่มการกุศลของอิสลามช้ามาก ที่สำคัญกว่านั้นคือช้ามากที่จะออกมาปกป้องพื้นที่ของภาคประชาสังคม เพราะว่าเรื่องความมั่นคงในชาติกลายเป็นสิ่งที่บดขยี้เสรีภาพที่ได้มาในประวัติศาสตร์"

จูดเปิดเผยว่าการขาดปฏิบัติการของเอ็นจีโอในแง่นี้เป็นเรื่องซับซ้อน แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือเรื่องความกลัวว่าจะสูญเสียความสัมพันธ์กับรัฐบาลที่เป็นแกนหลักในการจัดหาทุน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงนี้ยิ่งทำให้เรื่องนี้เห็นชัด

ผู้เขียนบทความได้กล่าวถึงการประชุมอภิปรายอิสระ (Independent Panel) ในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีหลักฐานว่าความเป็นอิสระของภาคส่วนงานอาสาสมัครกำลังอยู่ในอันตราย ในการอภิปรายมีการนำเสนอว่า "องค์กรหลายองค์กรกลัวเรื่องการอยู่รอด การเซนเซอร์ตัวเองจึงกลายเป้นปัญหาสำคัญ สำหรับคนที่กล้าพูดออกมาก็จะมีบรรยากาศของการแสดงความเห็นคัดค้านกิจกรรมรณรงค์การกุศลของพวกเขา"

"เกิดอะไรขึ้นกับการปกป้องอิสรภาพของภาคประชาสังคม การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม รวมถึงการปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อย เกิดขึ้นอะไรกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของภาคประชาสังคม เอ็นจีโอในทุกวันนี้ออกเริ่มตีตัวห่างจากการเคลื่อนไหวในอดีตที่มีความอิสระ ความตั้งใจแรงกล้า และความไม่หวั่นเกรง แต่พวกเขาจะกอบกู้สถานการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่" จูดกล่าว

จูดกล่าวว่า บางที่แล้วควรจะต้องมีการพิจารณาตนเองอย่างจริงจังในประเด็นหลักๆ เรื่องความอิสระและเรื่องจุดยืน ภาคส่วนเอ็นจีโอจะต้องตอบคำถามจำพวกว่า เอ็นจีโอมีเป้าหมายอะไรในการแข่งขันแย่งชิงแหล่งทุนจากรัฐบาลหรือจากภาคธุรกิจโดยเสี่ยงต่อการต้องสูญเสียคุณค่าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรและวาระของตนเอง เอ็นจีโอจะตะลุมบอนแย่งชิงทรัพยากรกันมากแค่ไหนทั้งที่ควรจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีการรณรงค์ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียพันธกิจในการปกป้องชนกลุ่มน้อยและคุ้มครองพื้นที่ของภาคประชาสังคมไปหรืออย่างไร

"...ในฐานะที่ได้กลายเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการในด้านสวัสดิการ, การพัฒนา และความมั่นคง เอ็นจีโอในตอนนี้อาจจะยังมีอะไรเหลือจะให้เสีย" จูดกล่าว "แต่ในระยะยาวแล้ว หากพวกเขาไม่ได้เผชิญกับความท้าทายพวกนี้ตรงๆ บทบาทของพวกเขาในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างอิสระจะถูกทำลายลงไป จริงๆ แล้วความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ก็ดูจะกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงแล้ว"

เรียบเรียงจาก

Are NGOs fit for the purpose of advocacy and campaigning?, The Guardian, 26-03-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท