Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บังซามลายู จากแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์

ลักษณะที่เป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ได้ส่งผลต่อแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ที่ได้พยายามนำเสนอ  บังซา มลายู หรือชาติของชาวมลายู  โดยมุนชี อับดุลลอฮ์   โดยสาระสำคัญของการนำเสนอประเด็นเรื่องของบังซามลายู ของมุนชี อับดุลลอฮ์นั่นก็คือ การรวมตัวกันของคนในการสร้างชาติ เรื่องของชาติพันธุ์มีความสำคัญที่สุด กว่าเรื่องอื่นๆ มุนชี อับดุลลอฮ์ได้นำเสนอแนวคิดบังซามลายูให้กับชาวมลายูโดยผ่านงานเขียนของเขา  แต่ด้วยแนวคิดของเขาได้ขัดต่อความเชื่อบางประการของคนมลายูส่วนใหญ่  แนวคิดของเขาจึงไม่ได้รับความนิยมจากชาวมลายูทั่วไป และรวมไปถึงรูปแบบของสังคมมลายูยังคงอยู่ในระบอบเกอราจาอัน  แนวคิดที่มาต่อต้านความเป็นอยู่ของชาวมลายูจึงถูกต่อต้านกลับไป

เป็นที่น่าสังเกตระหว่างแนวคิดบังซา มลายู กับการนิยามความเป็นมลายูในยุคจารีตสมัยมะละกาการเปรียบเทียบกันระหว่างสองแนวคิดนั่นก็คือ  “ความเป็นมลายู” ที่ถูกนิยามขึ้นในมะละกามีความหมายของอัตลักษณ์มลายูในลักษณะที่แคบคือ การให้ความหมายมลายูเฉพาะในพื้นที่มะละกาเท่านั้น  แต่ “ความเป็นมลายู”  ตามความหมายของมุนชี อับดุลลอฮ์ได้มีการเหมารวมผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายู  เกาะสุมาตรา  และบริเวณใกล้เคียงรวมไปถึงผู้ที่ใช้ภาษามลายู และวัฒนธรรมมลายู 

การให้ความหมายใน “ความเป็นมลายู” ของมุนชี อับดุลลอฮ์ในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นผลมาจากแนวคิดเชื้อชาตินิยมของเขาเอง อันเนื่องมาจากในช่วงเวลาดังกล่าวผู้อพยพทั้งชาวจีน และชาวอินเดียมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ด้วยสำนึกในความเป็นมลายูเกรงว่าผู้อพยพจะเข้ามาครอบงำทางด้านการเมืองและมีอภิสิทธิ์เหนือกลุ่มคนของตนเอง  จึงได้มีการรวมคนในพื้นที่บริเวณที่อยู่ใกล้เคียง

 

ฮิกายัต อับดุลลอฮ์ และกระบอกเสียงเผยแพร่แนวคิด

มุนชี อับดุลลอฮ์ได้วิจารณ์ระบบเกอราจาอันในงานเขียนของเขาที่มีความโดดเด่นทั้งสองชิ้นนั่นก็คือ กีซะห์ เปอลายาลัน  อับดุลลอฮ์  (Kisah Pelayalan Abdullah) และฮิกายัต อับดุลลอฮ์ (Hikayat Abdullah) ผลงานทั้งสองนี้ได้กล่าวโจมตีระบบเกอราจาอันว่า  เป็นเรื่องที่ล้าสมัยและเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมมลายูไม่มีการพัฒนาและยังคงล้าหลัง จนทำให้สังคมอ่อนแอและทำให้ต้องกลายเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตกในที่สุด

งานเขียนของมุนชี อับดุลลอฮ์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่ได้เกริ่นนำไว้แล้วช่วงก่อนหน้าคือ ฮิกายัต  อับดุลลอฮ์  เป็นงานเขียนที่มีความท้าทายและผิดแปลกไปจากงานเขียนที่เป็นเรื่องราวในยุคจารีตทั้งเซอจาเราะห์ มลายูและ ตุห์ฟัต อัลนาฟีร์  ที่มีการยกย่องสถานะของสุลต่าน  แต่ถ้ามองในเนื้อหาที่มีการระบุถึงการสำนึกใน “ความเป็นมลายู”  ตามทัศนะของนักวิชาการมาเลเซียศึกษาทั้งในอันดาย่าและแมตทีสัน  ทั้งสองท่านได้เปรียบถึงงานเขียนสองชิ้นระหว่างฮิกายัต อับดุลลอฮ์และตุห์ฟัต อัลนาฟีร์ แนวคิดใน “ความเป็นมลายู”  งานเขียนที่ระบุถึงอัตลักษณ์ของมลายูในลักษณะที่แท้จริงของชาวมลายูตามทัศนะของท่านทั้งสองคือ ตุห์ฟัต อัลนาฟีร์  อันเนื่องมาจากความคิดที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นนี้ที่มีความชัดเจนว่าเขียนขึ้นโดยราชาอาลี ฮะจี  สาระสำคัญของตุห์ฟัต อัลนาฟีร์  เป็นเรื่องราวประเพณีปฏิบัติดั้งเดิมที่จะทำให้อาณาจักรมีความยิ่งใหญ่  แต่ในงานเขียนของมุนชีเป็นงานเขียนที่ต่อต้านประเพณีแบบดั้งเดิมหรือ ประเพณีในราชสำนัก

นอกเหนือจากนั้นงานเขียนของมุนชี อับดุลลอฮ์ยังถูกมองว่าเป็นงานเขียนที่เกิดจากความคิดที่มีความนิยมตะวันตกมากเกินไป  รวมไปถึงในความที่เป็นลูกผสมอาหรับ-อินเดีย-มลายูงานเขียนของเขาจึงถูกมองว่าไม่ใช่เป็นงานเขียนที่เป็นตัวแทนของชาวมลายูที่แท้จริง  “ความเป็นมลายู” ตามแนวคิดของมุนชี อับดุลลลอฮฺก็ไม่ต่างจากการนิยามในการเป็นมลายูที่ต้องปฏิเสธในรูปแบบจารีตของตนเอง  แต่อย่างไรก็ตามในวิถีชีวิตที่ต้องคลุกคลีกับชาวต่างชาติอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับเป็นคนที่มีหลากหลายเชื้อชาติแต่มีความสำนึกในเรื่องเชื้อชาติมลายูอย่างจริงจังแม้ว่าจะยกย่องเชิดชูชาวตะวันตก

แต่เขาไม่ได้แสดงถึงการเหยียดหยามในเชื้อชาติมลายู  และไม่ได้ชี้นำให้ชาวมลายูต้องลอกเลียนวิถีชีวิตตามแบบอย่างของชาวตะวันตก

แม้ว่าแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ไม่ได้เป็นที่สนใจต่อชาวมลายูในช่วงเวลากลางศตวรรษที่ 20  เท่าใดนักแต่ภายหลังจากนั้นอิทธิพลทางแนวคิดของมุนชี  อับดุลลอฮ์ก็ได้รับการถ่ายทอดสู่ชาวพื้นเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มของยาวี เปอรานากันในกรณีของเจ๊ะมูอัมมัด อูนูส บินอับดุลลอฮ์ (ค.ศ. 1876-1933) ท่านผู้นี้ได้รับแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ผ่านทางสถาบันการศึกษาแรฟเฟิล (RafflesInstitution)  ท่านผู้นี้ได้มีส่วนร่วมในหนังสือพิมพ์อูตูสัน มลายู (Utusan Melayu)   โดยสาระสำคัญของเนื้อหาภายในหนังสือพิมพ์ชิ้นนี้นั่นก็คือ  การวิพากษ์ในการรุกล้ำในวิถีชีวิตของชาวมลายู  รวมไปถึงการตอกย้ำในความเป็นมลายูเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นของชาวมลายูภายใต้สังคมที่เริ่มเปลี่ยนไปจากการอพยพของชาวต่าชาติ

แนวความคิดหลักของ อูนูสต่อเขื้อชาติมลายูคือ  การเรียกร้องเพื่อสิทธิของคนมลายูในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจากคนเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย  รวมไปถึงประเด็นการสร้างแนวความคิดเรื่องบังสา มลายูต่อจากมุนชี อับดุลลอฮ์  และที่สำคัญการให้ความสำคัญต่อ “ความเป็นมลายู” ของผู้ที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากบริเวณอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันแต่แนวคิดของอูนูสมีความแตกต่างจากแนวคิดของมุนชี  อับดุลลอฮ์ตรงที่ว่า อูนูสไม่ได้มีแนวคิดที่โจมตีระบอบเกอราจาอันเช่นเดียวกันกับมุนชี อับดุลลอฮ์

 

สำหรับอีกท่านคือ อิบรอฮีม ยะห์กู๊บ(Ibrahim Jaacob)   แกนนำของขบวนการสหภาพมลายูหนุ่มหรือ  Kesatuan Melayu Muda ( Young Malays Union in Malay ) ท่านผู้นี้เคยโดนคุมขังในช่วงที่อังกฤษมีอิทธิพลเหนือมลายา KMM  ขบวนการนี้ได้ก่อตั้งข้นก่อนหน้าการเข้ามาของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1938  แต่ก็โดนคุมตัวโดยรัฐบาลเจ้าอาณานิคม   แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาก็ปล่อยตัว  และให้เข้ามาทำงานร่วมกันกับญี่ปุ่น  เป็นผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมแบบมลายู  โดยเขาต้องการรวมดินแดนที่มีชาวมลายูอยู่นั่นก็คือ มาลายา และอินโดนีเซีย รวมเข้าไว้ด้วยกันหรือแนวคิดที่ว่า อินโดนี เซีย รายา (มลายู รายา)

 

การดำเนินงานของอิบรอฮีม ยะห์กู๊บ และขบวนการของเขาได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในช่วงระยะเวลาแรก ๆ ของการปกครองภายใต้ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลือการดำเนินงานต่างๆ อย่างเช่น Warta Malaya เป็นวารสารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระจายแนวคิดชาตินิยมมลายูตามรูปแบบของ อิบรอฮีม  ยะห์กูบ  และ Kesatuan Melayu Muda  เป็นขบวนการที่มีความใกล้ชิดกลับญี่ปุ่น  แต่ญี่ปุ่นได้ใช้ขบวนการนี้เป็นเครื่องมือในการครอบครองมลายาแค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่ในการเผยแพร่แนวคิดของอิบรอฮีม ยะห์กู๊บไม่เป็นที่ได้รับการยอมรับจากทางฝั่งบริติช มลายาและดัตช์อีสต์อินดีส

บทสรุป

จากการนิยามแนวคิด “ความเป็นมลายู” ดูเหมือนว่าลักษณะของเชื้อชาตินี้จะมีความลื่นไหลบางครั้งเป็นอัตลักษณ์ที่มีความหมายในลักษณะที่แคบ แต่บางครั้งมีลักษณะที่กว้าง  ตามแนวคิดของนักวิชาการแต่ละท่าน  หรือบางครั้งใน “ความเป็นมลายู”  ต้องหลีกเลี่ยงถึงประเพณีจารีตดั้งเดิมของตนเอง  การให้คำนิยามต่ออัตลักษณ์นี้ได้กลายเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายมาก และมีความสับสนพอสมควร  อีกทั้งยังกลายเป็นปัญหาหนึ่งในการแบ่งผู้คนชาวพื้นเมืองอื่นๆ ในมาเลเซียช่วงเวลาที่เพิ่งได้รับเอกราช

 

บรรณานุกรม

กรุณา  กาญจนประภากูล.  วิวัฒนาการของความคิดเกี่ยวกับคำว่า “เมอลายู” ในประวัติศาสตร์มลายู. สารนิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์, 2537.

ชุลีพร วุรุณหะ. ฮิกายัต อับดุลเลาะห์. ใน บุหงารายา ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2540.

เทิร์นบุลล์, ซี. แมรี่.  ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน. ทองสุก เกตุโรจน์, ผู้แปล.กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2540. 

ไพลดา  ชัยศร, ผลกระทบของระบบการปกครองของอังกฤษต่อความคิดทางการเมืองของชาวมาเลย์ในรัฐมลายูที่เป็นสหพันธ์ ค.ศ.1896-1941 (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544

อันดายา, บาร์บารา วัตสัน. ลีโอนาร์ด วาย. อันดายา.  ประวัติศาสตร์ มาเลเซีย. ผู้แปล พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ; บรรณาธิการ มนัส เกียรติธารัย.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2549. 

Cornelius-Takahama, Vernon. “Munshi Abdullah”, website: National liberal Singapore. url: http://infopedia.nl.sg/articles/SIP_503_2004-12-27.html.

Hamzah Hamdani.  Hikayat Abdullah. Selangor: PTS Fotuna,2007

Milner, Anthony. Invention of politics in colonial Malaya: contesting nationalism and the expansion of the public sphere. Cambridge ;New York: Cambridge University Press, 1995. 

....................................................................................................................................................................

อธิบายภาพ

1. หนังสือ Hikayat Abdullah กระบอกเสียงเผยแพร่แนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ ภาพจาก http://www.goodreads.com/book/show/8608024-hikayat-abdullah

2. อิบรอฮีม ยะห์กู๊บ ภาพจาก http://unofficialversion.wordpress.com/2012/01/06/could-upsi-be-the-catalyst-for-change/

3. แผนที่อธิบายแนวคิดของอิบรอฮีม ยะห์กู๊บ ในจินตนาการอินโดนีเซีย รายา ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Greater_Indonesia

4. Kesatuan Melayu Muda ( Young Malays Union in Malay) ภาพจาก http://malayatimes.wordpress.com/tag/history/

 

 

ที่มา: PATANI FORUM

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net