Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในช่วงขณะนี้กระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงศึกษามีความเข้มข้น และเป็นที่จับตาในสังคมอย่างมากทีเดียว การตื่นตัวของสังคมครั้งใหญ่ที่หันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทางกระทรวงศึกษาธิการของไทยมีการแก้ไขกฎระเบียบเรื่องทรงผม1 การลดคาบเรียน2 และมีการออกแบบทำหลักสูตรใหม่ในเวลา 6 เดือน3 เป็นต้น TDRI ออกมาเสนอแผนปฏิรูประบบการศึกษา4 นอกจากนี้ก็มีเวทีคุยเรื่องการศึกษาเกิดขึ้นอย่างมากมาย

ในส่วนตัวของผู้เขียนแล้วก็มีความสนใจใคร่ที่จะเสนอเป็นข้อสังเกตเพื่อเป็นแนวทางในการอภิวัฒน์การศึกษา ในฐานะที่เป็นผู้เขียนเป็นนักเรียนคนหนึ่งซึ่งกำลังดำเนินต่อไปในระบบการศึกษาไทย ซึ่งมีความดีใจที่เกิดการตื่นตัวเรื่องการศึกษาอย่างมากมาย แต่ดูจะจำกัดไปในทาง“ห้องเรียน”หรือ“ภายในโรงเรียน”เท่านั้น โดยลืมไปในเรื่องสภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ชีวิตจริงหรือเรียกสั้นๆว่าสภาพแวดล้อม ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ การเรียนในห้องเรียนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และการดำรงชีวิตเป็นผลจากการศึกษา อีกนัยหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจกับระบบการศึกษาภายในสังคมเดียวกันมิได้เป็นไปในลักษณะเป็นเส้นตรงทางเดียว ( Corresponding Principles) แต่เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะวิภาษวิธี (Dialectic Relationship)5 การเปลี่ยนแปลงจึงต้องดำเนินไปพร้อมกันและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะ ทั้งสองส่งผลต่อกัน

เมื่อเราพิจารณาดูแล้วสภาพแวดล้อมที่ปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนนั้นก็สำคัญไม่แพ้กันเลย เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเหล่านี้ 1) ครอบครัว – มีเวลาและเอาใจใส่ลูกของตนแค่ไหน มีรายได้-รายจ่ายที่เพียงพอหรือไม่ พ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหรือไม่ 2) ผู้สอน – มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่ มีชั่วโมงการสอนที่มากเกินไปหรือไม่ ตำแหน่งวิทยฐานะหนักใจหรือไม่ 3) ตัวผู้เรียนเอง – มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเองหรือไม่ ปฏิสัมพันธ์ที่เห็นได้ชัดนี้มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้และสภาพจิตใจของนักเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหานักเรียนนอกระบบ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บสถิติ การขึ้นทะเบียนเด็กใหม่เข้าสู่ระบบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่6 พบว่า เด็กนักเรียนที่เข้าเรียน ป.1 ตั้งแต่ปี 2544 จำนวน 1,073,212 คน อัตราการคงอยู่ของเด็ก ป.1 เมื่อเลื่อนชั้นถึง ป.6 ในปี 2549เหลือเพียง 974,265 คน พบว่า ช่วงเวลานี้เด็กมีอัตราคงอยู่ถึง 90.75% ออกกลางคัน 98,947คน และเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับชั้น ม.ต้น อัตราคงอยู่ 873,970 คน หรือ 93.13% ในปี 2552 มีนักเรียนออกกลางคัน 100,295 คน และอัตราการคงอยู่ชั้น ม.ปลาย เหลือเพียง 643,821 คน หรือ 93.04% มีนักเรียนออกกลางคันในช่วงนี้ถึง 230,149 คน รวมแล้วอัตราคงของของนักเรียนทั้ง 12 ปี พบว่า มีนักเรียนที่หลุดออกนอกระบบ 429,391 คน หรือ 59.99% ซึ่งในจำนวนตัวเลขนี้ยังไม่รวมโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของสังกัดอื่น
       
       “จากสถิติอัตราการคงอยู่ของนักเรียนทั้งช่วงชั้น พบว่า สูงขึ้นจาก 90 % เป็น 95% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น และพบว่า จำนวนที่เด็กออกกลางคันลดลงในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูจำนวนนักเรียนที่ออกกลางคัน พบว่า จำนวนที่ออกการคันก็ยังเป็นหลักแสน เพราะมีการสะสมมาหลายปี ดังนั้น คิดว่าประเด็นนี้ทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกันป้องกันและแก้ไข” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว 6

เหตุการณ์ดังกล่าวโยงกับสภาพแวดล้อมเชิงประจักษ์และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ จากค่าสัมประสิทธิ์จีนี(Gini coefficient) ซึ่งมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 ถ้าค่าดัชนีใกล้ 0 คือความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ต่ำ ตรงกันข้าม ถ้าค่าสัมประสิทธิ์ไปทาง 1 คือความเหลื่อมล้ำในทางการกระจายรายได้สูง จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำทุก 2ปี พบว่าระหว่าง พ.ศ.2529-2549 ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ในสังคมไทยอยู่ในระดับสูงมาตลอด คืออยู่ในระดับ 0.48 ถึง 0.53 ปี 2550 ค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 0.57

ถ้าเราพิจารณาแล้ว การปฏิรูปการศึกษาจะไม่มีทางสำเร็จเลยถ้าปัญหาในทางสภาพแวดล้อมเชิงประจักษ์และเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไข หลักสูตรที่ทันสมัยแต่คุณภาพชีวิตของประชากรไม่ได้ดีขึ้นไปด้วยเลย ในส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเช่นกัน ริชาร์ด วิลกิลสัน(Richard Wilkinson) และเคท พิคเกตต์ (Kate Pickett) เขียนไว้ในหนังสือชื่อความ (ไม่)เท่าเทียม(The Spirit Level)8 ของเขา เรามักจะคิดกันไปเองว่า ความปรารถนาที่จะยกระดับมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ในสาขาอย่างเช่นการศึกษานั้นเป็นคนละเรื่องกับความปรารถนาที่จะลดระดับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาภายในสังคม แต่ความจริงอาจเกือบตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าการยกมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้สูงขึ้นจะต้องอาศัยการลดทอนความลาดชันทางสังคมของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละประเทศ โดยเราพิจารณาคะแนน PISA ของประเทศต่างๆ9 เราจะเห็นได้ชัดเจน ในหนังสืออ้างถึงงานวิจัยของนักระบาดวิทยา อาร์จูแมน สิดดีฆี(Arjumand Siddiqi)กับเพื่อนร่วมงานพิจารณาความลาดชันทางสังคมในทักษะการรู้หนังสือของเด็กวัย 15ปี โดยใช้ข้อมูลจาก PISA ปี2000 พวกเขาพบว่าเด็กในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการมายาวนานมีทักษะดีกว่า และรายงานว่าประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคือประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมของทักษะการอ่านน้อยกว่า10 ดังนั้น ประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์สูงจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือค่าสัมประสิทธิ์จีนิต่ำ เรียกได้ว่า ระบบเศรษฐกิจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทักษะการเรียนรู้แทบทุกด้านเลย

ระบบวัฒนธรรมก็เป็นส่วนสำคัญ ในวัฒนธรรมของเรานั้นมีความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่มาก ย่อมพัฒนาไปสู่ความงอกงามยาก เพราะมีการห้ามตั้งคำถามและตรวจสอบ โดยอิงไปกับไสยเวทและราชาชาตินิยมด้วยแล้วย่อมน่ากลัวอย่างยิ่งถ้าไม่ทะลุทะลวงและทำลายมายาภาพอันเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาการศึกษา

อีกส่วนหนึ่งวัฒนธรรมของเราและเศรษฐกิจเป็นไปในทางระบบทุนนิยม(สะสมทุน กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล) ซึ่งมีข้อเสียเช่น เน้นการแข่งขัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ผลกำไรสูงสุดเหนืออื่นใด เป็นต้น การแข่งขันเพื่อความมั่งคั่งของตนไม่ได้เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการแล้ว ย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ชนะย่อมมีส่วนน้อยดังเห็นจากสภาพเศรษฐกิจที่มีคนรวยเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นเอง ขณะที่คนยากจนมีมากกว่าสามพันล้านคน11

จึงเป็นที่ต้องคิดว่าจะหันเหจากการแข่งขันด้วยค่านิยมอย่างนี้ได้อย่างไร การไปสู่การแข่งขันแบบมีมนุษยธรรมหรือการร่วมมือกันแทนได้อย่างไร การแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศและรับใช้สังคมได้อย่างไร ถ้าระบบเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาจมีข้อถกเถียงว่าการไม่แข่งขันหรือแข่งขันแบบน้อยลงนักเรียนจะมีแรงกระตุ้นเรียนได้อย่างไร ก็ขอให้ฟังคำของ อดัม เคิร์น นักการศึกษาและสันติศึกษา

อาจจะมีการโต้แย้งในที่นี้ได้ว่า การศึกษาที่ขาดการแข่งขัน อาจจะทำให้ผู้ศึกษาปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ซึ่งก็คงมีส่วนจริงอยู่บ้างที่ความต้องการจะประสบความสำเร็จ และความกลัวต่อความล้มเหลว อาจจะเป็นสิ่งเร้า ที่กระตุ้นให้มนุษย์มีความพากเพียรพยายาม แต่เราก็รู้กันดีว่าการงานที่มีคุณค่ามากๆนั้น จะได้มาจากการงานที่เกิดจากความสนใจ คือผู้ทำพอใจที่ได้ทำงานนั้นๆและเราก็รู้เป็นอย่างดีด้วยว่า ไม่มีอะไรจะทำลายความสนใจของเด็กได้ดีกว่าการเคี่ยวเข็ญเด็กอย่างไม่เหมาะสมกับธรรมชาติของเขา12 การเรียนการสอนจึงต้องเป็นไปในรูปแบบที่ก้าวพ้นห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ซึ่งแนวคิดการศึกษาที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้ก็มีมากมาย และเกิดเป็นรูปธรรมแล้วอาทิ 21stSkill13 ที่เมืองไทยกำลังเห่ออยู่ หรือแนวคิดสายอื่นที่น่าสนใจเช่น วอลดอร์ฟ14 และการศึกษาสร้างคุณค่า(Soka Education)15 เป็นต้น ในส่วนสำคัญคือวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวไปแล้วนั้นก็จะต้องมีอยู่ตลอดเวลา Teach Less Learn more นั้น แต่ประเทศต้นแบบของแนวคิดนี้ ก็มีแค่พรรคเดียวที่ปกครอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเรื่องคนไม่เห็นด้วยก็มีมาก16 แสดงว่าการเรียนรู้ถูกจำกัดในกรอบ เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ของเรานั้นจะต้องเป็นการเรียนรู้ที่มีความเท่าทัน การตระหนักรู้ในภาวะวิกฤติทางนิเวศที่กำลังเกิดขึ้น อาเซียนด้วยแล้วผลกระทบของ AECที่มีต่อเราและสิ่งแวดล้อม ต่อคนอื่นจะเป็นอย่างไร ก็ควรจะมีการเรียนการสอนมากกว่าบูชาตลาดงานอย่างเดียว คือต้องมีความเข้าใจและตื่นรู้ในสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่อยุติธรรมและรุนแรงทั้งภายในประเทศและในโลก  อีกนัยหนึ่งก็ดังที่ อุทัย ดุลยเกษม กล่าว ระบบคุณค่าและการพัฒนาบุคลิกภาพให้บัณฑิตมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวคือ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการและเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม มิใช่เพื่อการผลิตแรงงานชั้นสูงเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจการตลาดเพียงอย่างเดียว17 (ในส่วนนี้ที่เป็นเป้าหมายทางอุดมคติของ ผู้เขียนเสนอไว้ในบทความ “ อภิวัฒน์ระบบการศึกษาไทย เพื่อพ้นจากการศึกษาแบบอัปรีย์ไป จัญไรมา” ซึ่งตีพิมพ์ลงในจุลสารปรีดี เมื่อปีที่แล้ว18)

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อเสนอว่าการแก้ไขหรือปฏิรูปการศึกษาอย่างเดียวไม่พอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างลึกซึ้งครบถ้วน ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ โดยวัฒนธรรมนั้นก็เป็นไปทางการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้ ในทางเศรษฐกิจก็จะต้องลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาไปในแนวทางรัฐสวัสดิการที่เป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกคน หรือที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนอมาแต่เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”19 นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องไม่มาจากผู้เชี่ยวชาญ พวกข้าราชการชั้นสูง หรือรัฐมนตรี แบบ “บนลงล่าง” อย่างเดียวซึ่งการเดินตามวิธีนี้ไม่ยั่งยืนอย่างแน่นอน! แต่ต้องจากกลุ่มคนทุกระดับในสังคม ซึ่งนับว่าน่าสนใจที่มีกลุ่มสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น(ในส่วนเฉพาะของนักเรียน) เช่น สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย20 , กลุ่มแนวคิดเสรีปฏิวัติการศึกษา เป็นต้น และในหมู่โรงเรียนทางเลือกเองก็ดี หรือกลุ่มมหาลัยเถื่อน ล่าสุดก็จะมีการรวมกลุ่มเป็นสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาวิชาชีพครูขึ้นมาอีก ในส่วนของแรงงาน ครู ผู้ปกครอง และองค์กรเอกชนต่างๆก็ดี ต่างสนใจต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ เราจำเป็นต้องมารวมพลังกันและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องรัฐสวัสดิการ ผลักดันให้มีรัฐสวัสดิการ ซึ่งคือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพลเมือง และการเรียนในสถาบันการศึกษา ไปพร้อมๆกัน อาจไม่เรียกว่าปฏิรูปแต่เรียกว่าอภิวัฒน์เลยก็ว่าได้

บรรณานุกรม (ในส่วนอินเทอร์เน็ตเข้าถึง 28 – 3 – 56)

1)                  เฮ!'ศธ.'ปรับระเบียบทรงผมนร.ใหม่ (http://www.komchadluek.net/ detail/20130109/149050/เฮ!ศธ.ปรับระเบียบทรงผมนร.ใหม่.html#.UVLA_Rdno0W)

2)                 เล็งหารือ ร.ร.ปรับจำนวนคาบเรียนต่อวัน (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000100912)

3)                 "ภาวิช"ขอแค่6เดือนทำหลักสูตรใหม่ (http://www.thaipost.net/news/110313/70685)

4)                 ทีดีอาร์ไอเสนอแผนปฏิรูปการศึกษาครบวงจร (http://tdri.or.th/priority-research/educationreform)

5)                 อุทัย ดุลยเกษม , การแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่13 การศึกษากับการสร้างสังคมสันติประชาธรรม น.45, 2556

6)                  อึ้ง! ยอดเด็กนอกระบบศึกษามากถึง 4 แสนคน เหตุยากจน (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000012511)

7)                 ชาย โพธิสิตา และคณะ , ฝ่าวิกฤติ “ความเป็นธรรม”นำสังคมสู่สุขภาวะ น.30-31, 2553

8)                 มีความน่าสนใจมากในหนังสือเล่มนี้ ดู ริชาร์ด วิลกิลสัน , สฤณี อาชวานันทกุล แปล, ความ (ไม่) เท่าเทียม, open world 2555

9)                  ดู บทที่ 8 น.146-163 ริชาร์ด วิลกิลสัน , สฤณี อาชวานันทกุล แปล, ความ (ไม่) เท่าเทียม, open worlds 2555

10)              อ้างแล้ว , น.154

11)              ดูรายละเอียด http://www.globalissues.org/article/26/poverty-facts-and-stats

12)              อดัม เคิร์น , การศึกษาเพื่อความเป็นไท, มูลนิธิเด็ก

13)             ดู เจม เบเลนกา , ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21, open worlds 2555

14)             ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Waldorf_education

15)             ดู http://www.joseitoda.org/education/soka_edu

16)              ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Human_rights_in_Singapore#Freedom_of_expression_and_association

17)             อุทัย ดุลยเกษม , อ้างแล้ว, น.72

18)             ดูบทความของผู้เขียน จุลสารปรีดี ปีที่2 (2555) ฉบับสันติภาพและรัฐสวัสดิการ    น.33-46

19)              ดู http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/social_welfare/05.html

20)             แถลงการณ์ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนฯ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352873734&grpid=03&catid=03     

ติดตามความเคลื่อนไหวhttps://www.facebook.com/Thailandstudentmovement

กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ http://www.thaisocialhealth.net/ เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net