เครือข่ายประชาชนฯ ร้องหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ กรณีปิดซ่อมท่อก๊าซ ทำ ‘ค่าไฟฟ้าขึ้น’

เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน ยื่นหนังสือถึง ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน’ ร้องตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้น ‘ค่าไฟ’ ผ่าน ‘ค่าเอฟที’ จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า จี้เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อ-ขายก๊าซต่อสาธารณะ

 
เช้าวันที่ 29 มี.ค.56 เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน นำโดย นายวินัย กาวิชัย จากเครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน ตึกจามจุรีสแควร์ เพื่อเรียกร้อง ให้ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซ และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที
 
สืบเนื่องจากกระแส “วิกฤตไฟฟ้าดับ” โดยการแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการขาดแคลนก๊าซเนื่องจากการปิดซ่อมท่อก๊าซในพม่าในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยเฉพาะในวันที่ 5 เม.ย.56 ซึ่งอาจส่งผลให้ ‘ไฟดับ’ หรือ ‘ไฟตก’ แม้ภายหลังรัฐมนตรีพลังงานจะออกมาระบุว่าสถานการณ์คลี่คลายลงไปแล้ว เนื่องจากได้รับความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน
 
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาชนฯ ตั้งคำถามว่า การหยุดซ่อมท่อก๊าซ ซึ่งปกติจะมีกำหนดซ่อมทุกปีอยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงต้องกำหนดทำในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่าแทนก๊าซ ทำให้ต้อง ‘ขึ้นค่าไฟ’ ผ่าน ‘ค่าเอฟที’ อันเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้นตอของปัญหาเกิดจากฝ่ายผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
 
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ตรวจสอบว่า ผู้จัดหาก๊าซ ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาการจัดหาก๊าซหรือไม่ รวมทั้งให้เปิดเผยหลักเกณฑ์ในการคิด ‘ค่าเอฟที’ ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง โดยเครือข่ายประชาชนฯ เรียกร้องให้ทาง กกพ.ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน นับจากวันที่รับหนังสือ
 
ด้านนายประเทศ สีชมพู ผู้อำนวยการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้แทนประธาน กกพ.รับหนังสือพร้อมกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องใช้ข้อมูลหลายระดับในการตรวจสอบและชี้แจง โดยยืนยันว่า กกพ.จะตอบคำถามต่อประเด็นดังกล่าว ส่วนกระแสไฟฟ้าดับที่ออกมาพูดกันก่อนหน้านี้ ก็เป็นการสื่อสารของภาครัฐ ส่วนนี้จะไม่ขอพูดถึง 
 
 
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ โครงการจับตาพลังงาน กล่าวว่า มีข้อสงสัยว่า วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นวิกฤตธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าหรือไม่ เนื่องจากเป็นการหยุดจ่ายก๊าซพม่าในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซ้ำรอยกับปีที่แล้วที่กระทรวงพลังงานอ้างว่าเกิดวิกฤตไฟฟ้าจากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าในเดือนเมษายนเช่นกัน
 
นอกจากนี้ ข้อมูลของ กฟผ.ก็ขัดแย้งกันเองในกรณีที่ระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่าจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 4,100 เมกะวัตต์ แต่ข้อมูลของ กฟผ.เองก่อนหน้านี้ มีการระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่าจะทำให้กำลังผลิตหายไปเพียง 1,380 เมกะวัตต์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่รับก๊าซพม่าส่วนใหญ่สามารถใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนได้ นั่นหมายความว่าสถานการณ์ไม่ได้วิกฤตจริงดังที่เป็นข่าว เพราะกำลังผลิตอีกหลายพันเมกะวัตต์ไม่ได้หายไปจริง
 
นายวินัย กาวิชัย จาก จ.ตราด ยังตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติว่า กรณีสัญญาซื้อขายก๊าซแหล่งยาดานา มีการระบุถึงเงื่อนไขในการหยุดซ่อมเพื่อป้องกันความเสียหายว่า ผู้จัดส่งก๊าซยังต้องส่งก๊าซให้ ปตท.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของก๊าซที่ต้องส่งตามสัญญา แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นการหยุดจ่ายก๊าซโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเปิดเผยข้อมูลสัญญาต่อสาธารณะ
 
“การหยุดจ่ายก๊าซพม่าหรือก๊าซอ่าวไทยเป็นปัญหาในส่วนของผู้จัดหาก๊าซคือ ปตท.ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค แต่ทุกครั้งที่มีการหยุดจ่ายก๊าซ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระจากการขึ้นค่าเอฟทีมาตลอด ดังนั้น กกพ.ควรที่จะตรวจสอบสัญญญาซื้อขายก๊าซทั้งหมดว่ามีการกำหนดความรับผิดชอบของ ปตท.ไว้หรือไม่อย่างไร เป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่” นายวินัยกล่าว
 
นายวินัย เน้นย้ำด้วยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอีก 6 โรง ซึ่งจะต้องทำสัญญาซื้อขายก๊าซผูกพันไปตลอด 25 ปี หากสัญญาเหล่านี้ไม่เป็นธรรม ประชาชนผู้บริโภคก็ต้องถูกเอาเปรียบเพิ่มขึ้นไปอีก
 
อนึ่ง เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน เป็นการรวมตัวของประชาชนผู้ติดตามนโยบายพลังงานและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการด้านพลังงานในภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เครือข่ายจากจังหวัดราชบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง และกรุงเทพฯ เป็นต้น
 
 
ทั้งนี้ หนังสือกับ กกพ.มีรายละเอียดดังนี้
 

 

 
29 มีนาคม พ.ศ. 2556
 
เรียน ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
 
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย สัญญาซื้อขายก๊าซ (Yadana Export Gas Sales Agreement: GSA) ระหว่างผู้ผลิตก๊าซแหล่งยาดานา กับ ปตท.
 
สืบเนื่องจากกระแสข่าวเกี่ยวกับภาวะวิกฤตพลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในวันที่ 5 เมษายน 2556 ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเหตุการณ์วิกฤตไฟฟ้า ในครั้งนี้ นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่อ้างว่ามีสาเหตุมาจากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี ถือเป็นการวางแผนบริหารแหล่งเชื้อเพลิงอย่างไม่เหมาะสม
 
แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าความเสี่ยงต่อปัญหาไฟดับ ในวันที่ 5 เมษายน ได้คลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ผลพวงจากการหยุดจ่ายก๊าซพม่าในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนี้ ทำให้ต้องมีการใช้น้ำมันเตา และ/หรือ น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าทดแทน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของระบบเพิ่มขึ้น และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกส่งผ่านมายังผู้บริโภคผ่านค่าเอฟที ทั้งๆ ที่ต้นตอของปัญหาเกิดจากฝ่ายผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (ปตท.) ไม่ใช่ปัญหาที่ก่อขึ้นโดยผู้บริโภค
 
ในฐานะที่ท่าน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ทางเครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายด้านพลังงาน จึงขอร้องเรียนให้ท่านตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที พร้อมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะ ในประเด็นดังต่อไปนี้
 
1. จากเหตุการณ์ที่อ้างถึงการปิดซ่อมท่อก๊าซดังกล่าวข้างต้น มีผลให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีจำนวนเท่าใด และมีที่มาอย่างไร
 
2. ตามสัญญาซื้อขายก๊าซ ระหว่างผู้ผลิตก๊าซพม่าและ ปตท. มีเงื่อนไขว่า ในระหว่างการซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซ (ในกรณี Preventative Maintenance) ผู้ผลิตก๊าซยังมีภาระต้องส่งก๊าซให้แก่ ปตท. อย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณตามสัญญา แต่ในการหยุดซ่อมท่อก๊าซพม่าที่ผ่านมาทุกครั้ง เหตุใดจึงต้องหยุดจ่ายก๊าซอย่างสิ้นเชิง ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาข้างต้น
 
3. นอกจากกรณีก๊าซพม่าแล้ว ในกรณีที่ก๊าซอ่าวไทยหยุดส่ง ซึ่งเกิดขึ้นเสมอในทุกปี ผู้บริโภคมักจะต้องเป็นผู้แบกรับค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันเตาและเชื้อเพลิงทดแทนเสมอ ดังนั้นจึงขอให้มีการเปิดเผยสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่งอ่าวไทยที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าต่อสาธารณะ เพื่อร่วมกันตรวจสอบว่าสัญญาเหล่านี้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ และมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่
 
4. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการหยุดจ่ายก๊าซในการผลิตไฟฟ้า ปตท. ในฐานะผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ มีส่วนร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด และ อย่างไร
 
5. ขอให้เปิดเผยหลักเกณฑ์ในการกำหนดปัจจัยต่างๆ ที่นำมาคิดค่าเอฟที และสูตรคำนวนการคิดค่าเอฟที
 
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายด้านพลังงาน จึงเรียกร้องขอให้ท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้างต้น และชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมายังเครือข่ายฯ รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะชน ภายในระยะเวลา 15 วันนับจากที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้
 
ด้วยความนับถือ
 
รายชื่อ เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน
ตามรายชื่อแนบท้าย
 
รายชื่อเครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน
 
1. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก
นายสมนึก จงมีวศิน
 
2. เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
น.ส.คำพัน สุพรม
 
3. เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด อ.กันตัง จ.ตรัง
นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์
 
4. เครือข่ายรักษ์ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร
นายเด่น บุญยะกรณ์
 
5. กลุ่มอนุรักษ์ราชบุรี
นายธวัชชัย พลจันทร์
 
6. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์
 
7. กลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี
 
8. เครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด
นายวินัย กาวิชัย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท