Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ปัญหามลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากมลพิษทางอากาศเป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน มีผลต่อการลดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชนลง  อีกทั้งยังเป็นที่มาของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ  เกิดภาระของการรักษาโรคจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอีกด้วย
 
ในปีหนึ่งๆ มีประชากรที่ต้องเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษทางอากาศหรือเสียเงินค่ารักษาสุขภาพจากอากาศเจ็บป่วยเป็นจำนวนไม่น้อย  โดยมลพิษทางอากาศที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (Indoor air pollution) และมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร  (outdoor air pollution) หรือมลพิษอากาศตามท้องถนนที่เรามักประสบพบเจอในชีวิตประจำวันนั่นเอง   
 
World Health Organization ได้ประมาณการว่า มลพิษทางอากาศภายในอาคารทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 2 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และจำนวนการเสียชีวิตเหล่านี้เกือบครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากอาการโรคปอดบวมในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในขณะที่คาดการณ์ว่ามีประชากรที่เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศภายนอกอาคารในชุมชนเมืองมีประมาณ 1.3 ล้านคนทั่วโลกต่อปี  ดังนั้นการลดระดับมลพิษทางอากาศลงจะช่วยลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
 
มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่หลายประเทศให้ความสนใจมากในขณะนี้ เพราะมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสุขภาพประจำปีเป็นจำนวนเงินที่สูง  ตัวอย่างเช่นในกรณีของประเทศอังกฤษ  ค่าใช้จ่ายสุขภาพของประชากรชาวอังกฤษสูงถึง  1.5 หมื่นล้านปอนด์
 
มลพิษทางอากาศส่วนหนึ่งเกิดจากธรรมชาติ อาทิ ไฟป่าธรรมชาติ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์เกือบทุกอย่างก็ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งเราอาจจำแนกแหล่งกำเนิดมลพิษได้เป็น 3 ประเภทคือ  1) แหล่งกำเนิดอยู่กับที่ (point sources) เช่น  การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอระเหยจากคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมัน 2) แหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ (mobile sources) ได้แก่ มลพิษจากยานพาหนะประเภทต่าง ๆ เช่น มลพิษที่ถูกปล่อยออกจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก เรือ เครื่องบิน และ 3) มลพิษทางอากาศที่ไม่มีแหล่งกำเนิดแน่นอน (non-point sources) เช่น การเผาพื้นที่การเกษตร การเผาป่า การเผาขยะ ฝุ่นละอองจากพื้นดินที่ถูกพัดพาโดยลม เป็นต้น
 
 
เมื่อพิจารณาสาเหตุของมลพิษทางอากาศ อาจกล่าวได้ว่า มีกิจกรรมหลายอย่างที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการขนส่งและการสร้างพลังงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่การเกิดมลพิษทางอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นเอง และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  ดังนั้นในการวางแผนพัฒนาทางด้านการขนส่งหรือพลังงานจึงจำเป็นต้องพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายเหล่านี้กับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจตามมา รวมทั้งหาวิธีบริหารจัดการเพื่อลดการก่อมลพิษทางอากาศลงให้เหลือน้อยที่สุดด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ลำพังเพียงประชาชนคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้   ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)   ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อการสร้างให้เกิดโอกาสที่ดีต่อเรื่องมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
ในกรณีของประเทศอังกฤษ ได้กำหนดภาระผูกพันที่จะสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low carbon economy) ตามที่กำหนดไว้ใน UK and Scottish Climate Change Acts  เพื่อลดมลพิษทางอากาศ   การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมก็เป็นนโยบายที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมไปด้วย หรือคิดเป็นตัวเงินมีมูลค่าสูงถึง 2.4 หมื่นล้านปอนด์ (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) ภายในปีค.ศ. 2050    นอกจากนี้ อังกฤษได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมนี้ โดยคำนึงถึงการบูรณาการกันระหว่างการปฏิบัติการในระดับนานาชาติ ในสหภาพยุโรป ในระดับภูมิภาค และในระดับท้องถิ่นเพื่อประโยชน์สูงสุดโดยรวม และเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการลดมลพิษทางอากาศลงได้ในอนาคต
 
การเปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดจากการขนส่งในเขตเมืองในประเทศอังกฤษ พบว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีก่อให้เกิดเป็นภาระต้นทุนที่ต้องรับผิดชอบสูงถึงหนึ่งในสี่  โดยประมาณการอันตรายของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์คิดเป็นเงินประมาณ 5 พันล้านปอนด์ถึง 1.1 หมื่นล้านปอนด์ต่อปี  
 
Comparison of the wider cost of transport in English urban areas (£ billion per annum, 2009 prices and values).
 
 
Note: The air quality estimate is based on the 2005 estimate of the harm to human health from manmade PM2.5. The pale blue colour represents the uncertainty of the figures, i.e. the range of £5-11 billion in the case of air quality. ที่มา: Department for Environment, Food and Rural Affairs.
 
นโยบายอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของประเทศอังกฤษคือ  การมุ่งดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปัญหามลพิษทางอากาศไปด้วยกันให้ได้ในปี 2020
 
อนึ่ง การดำเนินนโยบายหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นในการตัดสินใจเชิงนโยบายจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน  ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการพัฒนาทางด้านคมนาคมขนส่งที่นอกจากจะมีประสิทธิภาพในทางขนส่งแล้ว ยังมีผลกระทบในทางที่ดีหนุนเสริมกับเองคุณภาพอากาศ เช่นการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (Electric cars) รถยนต์พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen fuel-cell cars)  ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) อาจจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxides : NOx)  และ สารอินทรีย์ระเหยง่าย  (Volatile organic compounds (VOCs) ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อคุณภาพอากาศได้
 
 
Policy choices for delivering climate change targets for 2020-2050
 
 
 
Green = measure is positive for air quality.
Amber = measure can be positive and negative, or is uncertain.
Red = measure is likely to be negative.
Two colours indicates a likely impact between two classifications.
 
อังกฤษจึงได้สร้างทางเลือกนโยบาย  โดยได้สร้างทางเลือกภาพสถานการณ์ทั้ง กรณีที่ดีที่สุดและสถานการณ์กรณีที่เลวร้ายที่สุด  เพื่อแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2050 เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพอากาศ โดยภาพสถานการณ์ที่พึงปรารถนา ทุกฝ่ายจะต้องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้นโยบายการบริหารจัดการด้านอุปสงค์ การใช้รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ การใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน การใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์ เป็นต้น
 
Policy map displaying air quality/climate change interactions

 

 
 
ในปัจจุบัน ทวีปเอเชียเองก็ประสบปัญหามลพิษทางอากาศอยู่ค่อนข้างสูง  โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างประเทศจีน ที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง หลังจากที่กรุงปักกิ่งเผชิญกับปัญหามลพิษในระดับรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา  ปัจจุบันรัฐบาลจีนจึงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง   สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระดับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศจีน และเป็นเหตุให้คุณภาพอากาศไม่ดีขึ้น มีสาเหตุเนื่องมาจากการบริโภคพลังงานมากเกินไป  ปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมพึ่งพาถ่านหินมีจำนวนมาก รวมทั้งขาดมาตรการควบคุมมลพิษอย่างเพียงพอ
 
สำหรับประเทศไทย  มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งปัญหาหนึ่งในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย  โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบหายใจ และระบบหัวใจและปอด
 
จากการตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศ 5 ชนิด ที่เป็นตัวแทนคุณภาพอากาศของประเทศไทย ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน และโอโซน ในปี 2555 สารมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาหลักของประเทศ คือ ฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน พบปริมาณสูงกว่า ค่ามาตรฐานมาก รองลงมาคือ ก๊าซโอโซน ซึ่งพบปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐานไม่มากนัก แต่สูงกว่าค่ามาตรฐานในเกือบทุกพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต สำหรับมลพิษทางอากาศอีก 3 ชนิด อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง
 
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ยังคงเป็นปัญหาหลักเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฝุ่น PM10 และพื้นที่ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง การปรับเปลี่ยนมาตรฐานยานพาหนะใหม่ และการควบคุมการเผาในที่โล่ง  อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลายพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐาน เช่น สระบุรี กรุงเทพมหานครและจังหวัดในปริมณฑล โดยแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนส่วนใหญ่เกิดจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง และมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในบางพื้นที่
 
พื้นที่ที่มีปัญหาคุณภาพอากาศมาก ได้แก่ สระบุรี ทั้งนี้เนื่องจากในเขตจังหวัดสระบุรีมีอุตสาหกรรมโรงโม่ บดหิน  รองลงมา คือ จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบนในช่วงสถานการณ์หมอกควัน และกรุงเทพมหานครและจังหวัดในปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร เนื่องจากการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง
 
ทั้งนี้ สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือที่เป็นปัญหามากในขณะนี้ (และเกิดขึ้นในทุกปี)  จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือในเดือนมีนาคม 2556 พบคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ   ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมงบางพื้นที่มีค่าสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน  บางพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงถึง  300 ไมไครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร   
 
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ แม้กระทั่งประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม หรือในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ควรจะต้องสวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูก
 
ในช่วงหลังมานี้ ประเทศไทยประสบกับปัญหาสถานการณ์หมอกควันจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งเป็นประจำทุกปี  โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง  ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดหมอกควัน ฝุ่นละออง  เขม่าควันออกสู่บรรยากาศ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ส่งผลกระกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน   รวมทั้งบดบังทัศนวิสัยการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ  บางครั้งสายการบินจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินเพราะไม่สามารถบังคับเครื่องบินให้ขึ้นลงได้เนื่องจากเกรงว่าจะอันตรายจากทัศนวิสัยที่ไม่ดี   ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะหลายปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ติดตาม เฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันกันอย่างจริงจัง
 
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า  ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มลพิษทางอากาศ..  เป็นปัญหาที่ไม่เล็กสำหรับประเทศไทยอีกต่อไป  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร การเผาริมทาง และพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง  หรือมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน และดำเนินการอย่างเข้มงวด  รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน และประชาชนร่วมมือกันในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้  ในขณะที่ภาครัฐ นักการเมืองและผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายจะต้องมีความรอบคอบในการออกนโยบายต่างๆ มากขึ้น  เพราะการกำหนดนโยบายพัฒนาภาคการขนส่ง  หรือด้านพลังงานก็ดี ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเป็นกำลังสำคัญด้านหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยให้ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ. สถานการณ์และการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง 2554 . กรุงเทพมหานคร .
กรมควบคุมมลพิษ.2556.  (ร่าง) รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2555. กรุงเทพมหานคร .
Department for Environment, Food and Rural Affairs. 2010. Air Pollution: Action in a Changing Climate. Defra Publications

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net